ถึงคุณยายคิมอึลบุน ผู้ล่วงลับ: The Way Home - แด่ความทรงจำถึงคุณยายของทุกคน

ถึงคุณยายคิมอึลบุน ผู้ล่วงลับ: The Way Home - แด่ความทรงจำถึงคุณยายของทุกคน
เชื่อได้ว่า ในความทรงจำวัยเด็กของใครหลาย ๆ คน ในช่วงปิดเทอม พ่อและแม่มักจะชอบเอาเราไปทิ้งไว้ให้ปู่ย่าตายายที่ต่างจังหวัดเลี้ยงดูอยู่เสมอ จะด้วยเพราะเราซนจนพ่อและแม่ที่ต้องตรากตรำทำงานรับไม่ไหว หรือเหตุผลกลใดก็ตามแต่ ความเบื่อหน่ายที่ต้องถูกทิ้งให้อยู่ต่างถิ่นถือเป็นอีกหนึ่งในความทรงจำร่วมที่หลายต่อหลายคนมักจะประสบพบเจออยู่เสมอ และไม่มีใครที่จะลืมได้ลง  หรือหลายคน ด้วยความจำเป็นบางอย่างในครอบครัว อาจจะทำให้ในวัยเด็ก ต้องอยู่กับตายายจนเติบใหญ่เลยก็มี ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่หนัง The Way Home (2002) หนังเกาหลีที่เล่าความผูกพันที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ระหว่างเด็กแสบวัย 7 ขวบ กับคุณยายที่เป็นใบ้ จะดึงความทรงจำมากมายในวัยเด็กให้เราได้รำลึกถึงช่วงเวลานั้น  เรื่องราวของ ซังวู เด็กชายอายุ 7 ขวบสุดแสบจากกรุงโซล ที่ถูกเลี้ยงดูแบบสปอยล์เต็มที่จากแม่ซิงเกิลมัมที่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาแม้จะสอนให้เด็กรู้จักสิ่งไหนดีสิ่งไหนร้าย จนถึงช่วงเวลาปิดเทอมหน้าร้อน แม่ได้พาลูกชายผู้เอาแต่ใจมาทิ้งไว้ให้ผู้เป็นยายที่เป็นใบ้เลี้ยง ท่ามกลางชนบทที่ไร้ซึ่งแสงสีและความเจริญ ในช่วงต้นเรื่องเราจะเห็นความแสบซนเอาแต่ใจของลูกชายที่แม้กระทั่งแม่ยังต่อต้าน ไม่ต้องคาดหวังเลยว่าเด็กคนนี้จะดีกับยายแปลกหน้าหลังค่อม มือหยาบกร้าน ซ้ำยังเป็นใบ้ ที่ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อนได้อย่างไร  ซังวู ผู้ใช้ชีวิตตามประสาเด็กเมืองกรุงเต็มที่ ต้องแปลกใจ เมื่อแรกเห็นกระท่อมปลายนาที่จะพังแหล่มิพังแหล่ ทีวีที่มีแต่เปิดดูไม่ได้ ไม่ต้องคาดหวังสิ่งอำนวยความสะดวกเลย เอาแค่จะมองหาร้านซื้อถ่านมาใส่เกมกดยังห่างไกลลับหูลับตา การอยู่ด้วยกันระหว่างยายกับหลานจึงเต็มไปด้วยความอึดอัดคับข้องใจ ในขณะที่คุณยายก็พยายามเอาใจหลานสารพัด แต่การเอาใจในชนบทที่ซ้ายก็ทุ่งนาขวาก็ภูเขานั้น กลับไม่สามารถทำให้เด็กน้อยพอใจได้เลย แต่ยายผู้ไม่สามารถจะเอื้อนเอ่ยพูดอะไรได้กลับก้มหน้าก้มตาเอาใจเด็กน้อยเอาแต่ใจคนนี้อย่างเต็มที่ ยามที่เด็กน้อยปวดท้องยามค่ำคืนที่เงียบสงัดก็หากระโถนให้ หรือยามที่ต้องการสิ่งยาก ๆ อย่างไก่ทอดเคเอฟซี คุณยายก็พยายามจะหามาให้ แม้จะห่างไกลจากสิ่งที่เด็กน้อยคาดหวังก็ตาม เวลาผ่านไป แม้เด็กน้อยจะดื้อจะซนตามประสา แต่คุณยายกลับไม่ลดละที่จะเอาใจใส่หลานชายคนนี้อย่างเต็มที่เท่าที่แรงของหญิงชราอายุเข้าหลักเลข 8 จะทำให้ได้ กลับกลายเป็นเด็กชายที่ค่อย ๆ ทลายกำแพงอคติที่มีต่อหญิงชราจนสุดท้ายกลายเป็นความรักความผูกพันในวันสุดท้ายก่อนที่จะลาจากเพื่อกลับกรุงโซล The Way Home กำกับโดย อีจองฮยาง ผู้กำกับหญิงที่สร้างความประทับใจมาแล้วจากหนังอย่าง Art Museum by the Zoo (1998) ก่อนจะลงมือทำหนังเรื่องที่ 2 ในอีก 4 ปีต่อมา โดยใช้ความทรงจำในวัยเยาว์เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบทหนังเรื่องนี้  “มันคือเรื่องราวของยายของฉันเอง เธอมีลูกคนเดียวนั้นก็คือแม่ของฉัน ตอนวัยเด็กคุณตาท่านจากไป ยายของฉันจึงย้ายมาอยู่กับครอบครัว ฉันเป็นหลานคนโปรดของยาย ทั้ง ๆ ที่ฉันทำตัวไม่น่ารักเลย แต่ยายกลับรักฉันมาก ฉันได้เรียนรู้อะไรมากมายจากยายของฉัน เราอยู่ด้วยกันและดูแลกันจนกระทั่งท่านจากไประหว่างที่ฉันกำลังหาทุนเพื่อสร้างหนังเรื่องนี้...น่าเสียดายที่ท่านไม่ทันได้ชมหนังเรื่องนี้” อีจองฮยาง เล่าถึงความหลังที่มีต่อคุณยายที่รักที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับหนังเรื่องนี้  ส่วนหนังนั้นเธอได้ 2 นักแสดงหน้าใหม่มาก ๆ มาแสดง คนแรกคือผู้ที่มาสวมบทบาทหลานชายจอมดื้อนั้นเธอได้ ยูซึงโฮ เด็กน้อยอายุ 9 ขวบในตอนนั้นที่มีแววความแสบความซ่าและความจัดจ้านที่เธอนั้นเฟ้นหามานานจนได้เจอเด็กน้อยคนนี้ ซึ่งความซนนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ในจอ แต่นอกจอนั้นเจ้าหนูยูซึงโฮก็แสบไม่ต่างกัน ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้เปลี่ยนชีวิตของเด็กน้อยไปตลอดกาล ปัจจุบันเด็กน้อยคนนั้นเติบโตเป็นหนุ่มน้อยที่มีผลงานในวงการบันเทิงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ โดยเฉพาะซีรีส์ที่เขาได้รับบทนำในหลายต่อหลายเรื่อง  ขณะเดียวกันคุณยายนั้นก็เป็นนักแสดงหน้าใหม่เช่นกัน เพราะสำหรับคิมอึลบุน ภาพยนตร์ถือเป็นสิ่งใหม่มาก ๆ สำหรับเธอ เธอไม่เคยทั้งแสดง หรือแม้กระทั่งเข้าโรงเพื่อดูหนังเลยตลอดทั้งชีวิต  ผู้กำกับ อีจองฮยาง เล่าถึงการค้นหายอดฝีมือสุดเก๋าท่านนี้ว่า “มันเป็นปาฏิหาริย์มาก ๆ ค่ะ เพราะฉันตั้งใจจะใช้คนที่อยู่ในชนบทห่างไกลมารับบทบาทตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะคนในพื้นที่ย่อมเข้าใจในธรรมชาติและความรู้สึกบางอย่าง ฉันได้พบคุณยายคิมอึลบุนโดยบังเอิญ พร้อม ๆ กับที่ฉันได้เจอโลเคชันหนังเรื่องนี้...ทั้งสีหน้าและแววตาตรงกับสิ่งที่ฉันตามหาพอดี...ส่วนที่ฉันวางคาแรคเตอร์คุณยายเป็นใบ้นั้น แนวคิดหลักคืออยากให้คุณยายเป็นตัวแทนของธรรมชาติ คือพลังและความแข็งแกร่งของธรรมชาติ ที่ไม่อาจจะใช้ถ้อยคำใด ๆ บรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ ในหนังคุณยายคือคนที่มอบความรักให้หลาน และให้คนรอบข้างโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ ซึ่งการให้ของคุณยายนั้นยิ่งใหญ่และมีพลังมากกว่าคำพูดเสียอีก” ในความเป็นจริงคุณยายคิมอึลบุนนั้นพูดได้ ไม่ได้เป็นใบ้ แต่กลับมอบบทบาทการแสดงได้ประทับใจราวกับนักแสดงมืออาชีพเลยทีเดียว การแสดงของทั้งยายหลาน ส่งให้ทั้งสองได้เข้าชิงรางวัล Golden Bell แม้จะพลาดรางวัลไป แต่หนังก็กินใจมหาชนเกาหลีและในหลายประเทศทั่วโลก จนสามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ขณะเดียวกันก็สามารถทำเงินได้สูงเป็นอันดับ 5 ประจำปีนั้น โดยถือเป็นหนังที่ฮิตบิ๊กเซอร์ไพรส์ที่ทำกำไรอย่างมากเมื่อเทียบกับทุนสร้างที่จำกัดจำเขี่ยของหนังเรื่องนี้  เวลาผ่านไป ยูซึงโฮ กลายเป็นนักแสดงชื่อดัง แต่เขาก็ไม่เคยลืมนักแสดงร่วมต่างรุ่นคนนี้ เขายังไปมาหาสู่อยู่เสมอ ส่วนคุณยายคิมอึลบุน ต้องตกใจกับชื่อเสียงที่ได้รับจนขาดความเป็นส่วนตัว ลูกหลานจึงพาคุณยายย้ายจากเมืองชุงชองทางตอนเหนือมาอยู่ด้วยกันที่กรุงโซล  ที่สุดแล้ว The Way Home กลายเป็นหนังเรื่องแรกและเรื่องเดียวในชีวิตของคุณยายจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อครอบครัวได้แจ้งข่าวการจากไปของเธอในวัย 95 ปี ด้วยโรคชรา  หนังเพียงเรื่องเดียวในชีวิตการแสดงอาจจะไม่สามารถเรียกคุณยายคิมอึลบุนว่านักแสดงได้เต็มปาก หากแต่บทบาทการแสดงของท่านกลับดึงความทรงจำอันงดงามในวัยเยาว์ของคนทั้งโลก ความรัก ความเสียสละ และบทเรียนชีวิตครั้งสำคัญที่คุณย่าคุณยายทั้งโลกได้สอนเรานั้นช่างยิ่งใหญ่ The Way Home จึงเป็นหนังในความทรงจำที่ฉายภาพเราทุกคนในอดีตได้อย่างแจ่มชัดและงดงามตราบนานเท่านาน   ข้อมูลประกอบการเขียน บทสัมภาษณ์ผู้กำกับ อีจองฮยาง https://asiasociety.org/lee-jeong-hyang-shows-way-home