The Whole Truth: รูที่มีทุกบ้าน เมื่อความจริงไม่ควรถูกอุด

The Whole Truth: รูที่มีทุกบ้าน เมื่อความจริงไม่ควรถูกอุด
/ *** บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง The Whole Truth (2021) / ภาพยนตร์ไทยแนวดราม่า - ระทึกขวัญเรื่องล่าสุดที่เพิ่งออกฉายใน Netflix เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม กลับกลายเป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก เมื่อรูปริศนาปรากฏอยู่บนผนังบ้านแบบงง ๆ รอให้ผู้ชมและตัวละครในเรื่องร่วมไขปริศนาไปพร้อมกัน  ‘The Whole Truth ปริศนารูหลอน’ เป็นผลงานกำกับของ ‘วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง’ ผู้เคยฝากผลงานไว้กับภาพยนตร์เรื่อง ‘ฟ้าทะลายโจร’ (2000) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับเลือกไปฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ (Cannes Film Festival) เรื่องราวของ The Whole Truth ดำเนินไปท่ามกลางความสงสัยและปริศนาเกี่ยวกับ ‘บ้าน’ และ ‘สมาชิกในครอบครัว’ ที่ค่อย ๆ คลี่คลาย ‘ความน่ากลัว’ ออกมาอย่างช้า ๆ โดยตัวละครหลักคือสองพี่น้อง ‘พิม’ (รับบทโดย ปันปัน - สุทัตตา อุดมศิลป์) และ ‘พัท’ (รับบทโดย แม็ค - ณัฐพัชร์ นิมจิรวัฒน์) พิมเป็นตัวละครที่ถูกแต่งแต้มให้มีความโดดเด่นเรื่องหน้าตา และมีตำแหน่งเป็นกัปตันของทีมลีดโรงเรียน เรียกได้ว่าเธอเป็นทั้งที่หมายปองและที่อิจฉาของคนรอบตัว ขณะที่พัทผู้เป็นน้องชายเกิดมาพร้อมความผิดปกติทางร่างกาย และต้องทนกับการดูถูกดูแคลนมาตลอด จะมีก็แต่เพียงแม่อย่าง ‘ใหม่’ (รับบทโดย นิโคล เทริโอ) ที่รักลูกทั้งสองอย่างบริสุทธิ์ใจ ชีวิตของสองพี่น้องดำเนินไปตามปกติ จนกระทั่งโชคชะตาเริ่มกลั่นแกล้งพวกเขาด้วยการนำ ‘ปัญหา’ ที่เป็น ‘ความจริง’ ในสังคมปัจจุบันมาถล่มใส่ถึงในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Work - Life Balance ช่องโหว่ของกฎหมาย ความเหลื่อมล้ำ การกลั่นแกล้งในโรงเรียน การล่วงละเมิดทางเพศ รวมไปถึงการเลือกปฏิบัติ และทัศนคติที่นำไปสู่การสนับสนุนความไม่เท่าเทียม หลังจากที่ใหม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง เธอกลับประสบอุบัติเหตุจนถึงขั้นนอนห้องไอซียู ทำให้พิมและพัทต้องย้ายไปอยู่บ้านตาและยายที่พวกเขาเพิ่งจะเคยเห็นหน้าเป็นครั้งแรก  ภายในบ้านหลังเก่าที่อบอวลไปด้วยเรื่องราวประหลาด สองพี่น้องต้องทนอยู่กับยายที่เข้มงวดกับพวกเขา โดยมี ‘ความเป็นห่วง’ เป็นทั้งเรื่องบังหน้าและการแสดงความรัก นั่นก็เพราะเธอรักหลานพิมที่หน้าตาดี และไม่ค่อยชอบพัทที่เกิดมาพิการ ซึ่งปมทั้งหมดเกิดจาก ‘กฤษณ์’ พ่อของเด็กทั้งสองที่เป็นศิลปินขี้เมา และเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้หลานคนโตอย่าง ‘พินยา’ เสียชีวิต แต่เดี๋ยวก่อน การที่พ่อปล่อยให้ลูกเสียชีวิตกลับไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ยายเสียใจมากขนาดนั้น เพราะแท้จริงแล้ว พินยาเป็นหลานที่เกิดมาพิการ มีใบหน้าบวมข้างเดียว ซึ่งยายผู้รักความสมบูรณ์แบบไม่ชอบเอาเสียเลย ส่วนสิ่งที่ทำให้เสียใจมากกว่ากลับกลายเป็นการที่ใหม่ ลูกสาวผู้เพียบพร้อมไปทุกอย่างหันหลังออกจากบ้านไปอย่างไม่หวนกลับ ความลับของยายถูกเปิดเผยในตอนท้ายสุดของภาพยนตร์ เช่นเดียวกับความจริงที่เป็นความลับของคนอื่น ๆ ในครอบครัว ซึ่งเรื่องทั้งหมดเกิดจาก ‘รู’ ปริศนาที่จู่ ๆ ก็ปรากฏบนผนังบ้านให้สองพี่น้องได้ส่องเข้าไปมอง ‘ความจริง’ อันน่าหดหู่ของบ้าน The Whole Truth: รูที่มีทุกบ้าน เมื่อความจริงไม่ควรถูกอุด รูที่มีทุกบ้าน รูบนผนังคือรูกระสุนที่สังหารพ่อของเด็กทั้งสอง ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่มองเห็น เช่นเดียวกับพิมและพัท พวกเขาค้นพบว่า รูบนผนังคือรูแห่งความจริงที่พาพวกเขาท่องไปยังอดีตที่ทางบ้านพยายามปกปิดไว้ แต่ไม่ว่ายายจะห้าม และตา (ผู้มองไม่เห็นรู) จะพยายามปิดด้วยวอลล์เปเปอร์หรือชั้นวางของ ความจริงในกำแพงก็ยังคงส่งเสียงออกมาเสมอ หากเปรียบ ‘รู’ เป็น ‘ความจริง’ ย่อมมีทั้งความจริงที่คนอยากปกปิดและเปิดเผย ยายปกปิดความจริงที่เธอค่อย ๆ ใส่ยาเบื่อหนูในนมให้พินยากิน เพียงเพราะเธอไม่ชอบที่หลานเป็นเด็กพิการ ตาปกปิดความจริงที่พ่อของหลานตายอยู่ในบ้านจากการถูกยิง และใหม่ปกปิดความจริงที่เธอเป็นคนลั่นไกใส่สามีตัวเอง ภาพยนตร์เรื่อง The Whole Truth สะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์ที่ถูกฉาบด้วยสีเทาอยู่ตลอดเวลา ไม่มีใครเกิดมาและใช้ชีวิตได้ดีพร้อมทุกอย่าง ทุกคนล้วนปกปิดความจริงบางอย่างเพื่อปกป้องตนเองและปกป้องคนที่พวกเขารัก ปกป้องทั้งในระดับจิตใจและในระดับร่างกาย บางครั้ง พวกเราปกปิดความจริงเพื่อหวังว่ามันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี ดังเช่นความสบายใจของตาที่เห็นลูกสาวใช้ชีวิตได้อย่างปราศจากความผิด ดังเช่นที่ยายฆ่าหลานเพื่อให้ตระกูลของตัวเองไร้มลทิน และดังเช่นที่พัททำตามคำสั่งของเพื่อนเพื่อให้พี่สาวไม่ต้องเผชิญกับความอับอายจากการปล่อยคลิปอนาจาร จากภาพยนตร์สู่ชีวิตจริง การเปรียบเปรยว่ารูคือความจริงที่ถูกปกปิดเอาไว้ของทุกบ้าน ทำให้หวนนึกถึงหลายเหตุการณ์ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มฆ่า การซ้อมทรมาน การเผาหนังสือ หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ Big Cleaning Day ปี 2553 เพื่อเก็บกวาดหลักฐานในการสังหารหมู่ ‘เมษา - พฤษภา 2553’ ทุกอย่างล้วนถูกปกปิดเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ส่งผลให้ความยุติธรรมกลับมาศักดิ์สิทธิ์ กฎหมายกลับมาน่าเชื่อถือ หรือมนุษย์กลับมาใช้ชีวิตอยู่อย่างเท่าเทียมได้เลย (อ๋อ! ลืมไปว่า เราไม่เคยหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า สังคมและผู้คนควรหยุดเดินหน้าต่อไปเพื่ออนาคตที่ดีกว่า) The Whole Truth: รูที่มีทุกบ้าน เมื่อความจริงไม่ควรถูกอุด รูใหญ่กลางสังคมที่มีคนพยายามอุด The Whole Truth นำเสนอปัญหาอันหลากหลายได้อย่างแนบเนียนในทุกตัวละครที่ปรากฏบนจอ ไม่ว่าจะปัญหาระดับบุคคล ครอบครัว สังคม หรือประเทศ ภายในบ้านหลังเล็กที่ถูกมองเป็นฉากธรรมดาของครอบครัวที่ไม่มีอะไรพิเศษ ทั้งตัวบ้านและสมาชิกกลับสะท้อนความจริงและปัญหาอันยิ่งใหญ่ออกมา ยกตัวอย่าง ความแตกต่างระหว่างช่วงวัย ตาและยายเป็นผู้ใหญ่ที่ถือว่าตนเองมีอำนาจมากที่สุดในบ้านจาก ‘วัยวุฒิ’ ที่พวกเขามี พวกเขาดูแลบ้านให้เป็นระเบียบด้วย ‘ความใส่ใจ’ ในแบบของตนเอง แต่นั่นกลับไม่ใช่ความใส่ใจในรูปแบบที่เด็กรุ่นใหม่อย่างพิมและพัทมองหา สิ่งนี้นำมาซึ่งความอึดอัดในจิตใจของเด็กทั้งสอง เพราะสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูของตายายช่างแตกต่างจากแม่ของพวกเขาเหลือเกิน แต่ภายใต้การดูแลของแม่ก็ยังมีบางสิ่งที่ขาดหายไปเนื่องมาจาก ‘Work - Life Balance’ ที่ (เริ่ม) บาลานซ์ไม่จริงหลังจากที่เธอเข้ารับตำแหน่งที่สูงกว่าเดิม ซึ่งเรื่องราวของใหม่ถือเป็นภาพสะท้อนปัญหาที่กำลังพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคม เมื่อทุกคนต่างต้องทำงานหาเลี้ยงชีพอย่างไม่ลืมหูลืมตา เนื่องมาจากนโยบายรัฐที่ไม่ได้ส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีและไม่มีการช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน เงินทองจึงเริ่มหายาก ประชาชนต้องทำงานกันหนักขึ้น ขณะที่เวลาสำหรับตัวเองและครอบครัวนั้นผันผวนไปในทางตรงกันข้าม บางคนอาจต้องสละเวลาที่มอบให้ลูกไปกับการทำงานล่วงเวลา หรือบางคนอาจพลาดโอกาสในการทำตามความฝัน โดยที่พวกเขาไม่รู้เลยว่าเวลาชีวิตของพวกเขาจะหมดลงเมื่อไร ปัญหาที่ The Whole Truth นำเสนอยังรวมไปถึงการกลั่นแกล้งในโรงเรียน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่พินถูกเพื่อนถ่ายวิดีโอขณะอาบน้ำ และพัทที่มีร่างกายไม่สมบูรณ์ถูกมองเป็นตัวประหลาด ทั้งยังกลายเป็นเบี้ยล่างของคนที่มองว่าตนเองร่างกายสมบูรณ์กว่า  นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังฉายให้เห็นความเหลื่อมล้ำและความอัดอั้นของชนชั้นล่าง จากตอนที่ตาเข้าไปทำร้ายลูกเจ้าสัวที่อยู่ในเหตุการณ์ขับรถชนลูกสาวของเขา บทพูดของลูกเจ้าสัวที่เมาแล้วขับแสดงให้เห็นว่า ทั้งกฎหมายและตำรวจในชุดเต็มยศต่างไม่อยู่ในสายตาของเขาทั้งนั้น ยิ่งในสังคมที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังไม่ถูกแก้ไข คนมีเงินก็ย่อมลอยตัวเหนือกฎหมายได้อย่างไม่ยากเย็น ประเด็นสุดท้ายที่เกี่ยวพันกันกับรูแห่งความจริงคือเรื่องทัศนคติและการตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งเหล่านี้ยังเกิดขึ้นจริง และส่งผลกระทบถึงการพัฒนาสังคมในปัจจุบัน หลายครั้งที่ผู้มีความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจถูกปฏิบัติอย่างแบ่งแยก ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตบนความเท่าเทียมได้อย่างที่สมควร ซึ่งสิ่งนี้ยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มชนชั้นแรงงาน กลุ่มชาติพันธุ์ และแม้กระทั่งคนชายขอบของสังคมด้วย การเรียกร้องนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การทำงาน และการใช้ชีวิตของพวกเขาไม่อาจทำได้อย่างง่ายดาย เพราะนอกจากจะต้องต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ พวกเขายังถูกขัดขวางด้วยทัศนคติและความไม่เข้าใจจากคนที่ไม่ได้พบเจอปัญหา ดังนั้น แทนที่รัฐบาลจะพยายามปัดปัญหาเข้าใต้พรม และปกปิดความจริงที่ว่า ‘มีปัญหา’ รัฐกลับควรที่จะยอมรับว่าสังคมของเรามีรูโหว่ที่ใหญ่แสนใหญ่ และพยายามหาทางทำให้รูเหล่านั้นเหลือเพียง ‘รอย’ มากกว่า “ความจริง บางครั้งก็เหมือนรูสีดำเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในความมืด มันอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา เพียงแต่เรามองไม่เห็น แต่ทันทีที่แสงสว่างสาดส่องไปถึง มันจะปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน” The Whole Truth: รูที่มีทุกบ้าน เมื่อความจริงไม่ควรถูกอุด เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: The Whole Truth (2021)