ธิโอดอร์ เฮะเซล บิดาแห่งลัทธิก่อตั้งรัฐยิวสมัยใหม่

ธิโอดอร์ เฮะเซล บิดาแห่งลัทธิก่อตั้งรัฐยิวสมัยใหม่
ไซออนิสม์ (Zionism) คืออุดมการณ์ที่ผู้ยึดมั่นถือว่า ศาสนายูดาห์ (Judaism) เป็นทั้งชาติและศาสนา ชาวยิวจึงควรมีรัฐชาติเป็นของตนและที่ตั้งของรัฐแห่งนี้ก็ควรเป็นดินแดนบ้านเกิดของบรรพชน ที่มาของคำว่า "ไซออน" นั้นเดิมเป็นชื่อของป้อมปราการบนเนินเขาแห่งหนึ่งในเยรูซาเลม ซึ่งชนเผ่าดั้งเดิมในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ได้ยึดครองไว้จนกระทั่งกษัตริย์เดวิดสามารถโค่นล้มกลุ่มอำนาจเก่าและสถาปนาให้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางอาณาจักรที่รวบรวมชาวยิวเข้าไว้ด้วยกัน ไซออนิสต์จึงหมายถึงชาวยิวที่มีจุดมุ่งหมายที่จะกลับไปยัง ไซออน หรือ "เยรูซาเลม" ศูนย์กลางแห่งอาณาจักรยิวโบราณตามตำนานในพระคัมภีร์ ขบวนการนี้ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น เมื่อชาวยิวที่สิ้นชาติและกระจัดกระจายไปอยู่ในดินแดนต่าง ๆ ในหลายทวีปทั่วโลกหลายคนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวจนมีฐานะมีหน้ามีตาในสังคม แต่การรักษาอัตลักษณ์อันโดดเด่นของชนชาติ ไม่ยอมโอนอ่อนรับธรรมเนียมของคนท้องถิ่นก็ทำให้เจ้าถิ่นเดิมเกิดความหมั่นไส้ เมื่อถึงศตวรรษที่ 19 ลัทธิชาตินิยมเฟื่องฟู แต่ละชาติพากันหา "ศัตรู" ร่วมกันเพื่อให้คนเชื้อชาติเดียวกันหลอมรวมเป็นหนึ่งเพื่อต่อต้านศัตรูร้าย และชาวยิวก็กลายเป็นเหยื่อในหลายประเทศ ธิโอดอร์ เฮะเซล (Theodor Herzl) ชาวยิวที่เห็นเพื่อนร่วมเชื้อชาติถูกกดขี่จึงเรียกร้องให้มีการตั้งรัฐยิว ด้วยเห็นว่าเป็นทางเดียวที่จะทำให้พวกเขาอยู่รอดได้ เฮะเซล เกิดที่บูดาเปสต์ ฮังการี เมื่อ 2 พฤษภาคม 1860 (ไม่นานก่อนการก่อตั้งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี) เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นครอบครัวของเขาก็ย้ายไปอยู่เวียนนา เขาเรียนจบด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเวียนนา และได้ตั๋วทนายในปี 1884 แต่เขากลับให้ความสนใจกับงานเขียนมากกว่างานกฎหมาย เคยทำงานเป็นทั้งนักเขียนบทละครและนักข่าว แรกทีเดียวเฮะเซลเชื่อว่า ชาวยิวจะสามารถก้าวข้ามปัญหาการเหยียดชาวยิว (anti-Semitism) ไปได้เพียงแค่ชาวยิวในชุมชนนั้น ๆ ละทิ้งธรรมเนียมเฉพาะตัวบางอย่างและใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนไปกับเพื่อนบ้านก็เพียงพอ จนกระทั่งเขาย้ายมาเป็นนักข่าวอยู่ปารีสซึ่งเขาได้ศึกษาเรื่องราวด้านสังคมและการเมืองมากขึ้น ทั้งได้เห็นกรณีเดรย์ฟัส (Dreyfus Affair) กับตา (เหตุการณ์ที่นายทหารชาวยิวถูกใส่ร้ายว่าเป็นสายลับให้ศัตรู ซึ่งแม้จะมีหลักฐานยืนยันว่าไม่จริงแต่ศาลและสังคมก็ไม่ยอมรับฟัง) ทำให้เขาตระหนักได้ว่าตราบใดที่ลัทธิต่อต้านชาวยิวยังไม่หมดไป การใช้ชีวิตกลมกลืนไปกับสังคมของชาวยิวก็คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เช่นกัน และทางเดียวที่จะทำให้ชาวยิวพ้นจากภัยความเกลียดชังได้ พวกเขาต้องดูแลกันเองในรัฐที่ชาวยิวเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ทั้งนี้ แนวคิดการตั้งรัฐยิวเป็นสิ่งที่มีมานาน ชาวยิวออร์โธดอกซ์ก็สวดวิงวอนขอกลับสู่ไซออนเป็นธรรมเนียมปกติ นโปเลียนก็เคยคิด นักเขียนนิยายก็เคยเขียนเรื่องทำนองนี้มาก่อน แต่สิ่งที่เฮะเซลเป็นผู้ริเริ่มอย่างจริงจังก็คือ การก่อตั้งองค์กรทางการเมืองเพื่อผลักดันเรื่องนี้ให้สัมฤทธิ์ผล มิใช่เพียงหวังพึ่งความเมตตาจากปัจเจกบุคคลเรื่อยไป ความพยายามแรกของเฮะเซลเริ่มต้นจากการเดินทางไปพบกับบารอนมัวริซ เดอ เฮิร์ช (Baron Maurice de Hirsch) มหาเศรษฐีชาวยิวในยุคนั้นผู้ก่อตั้งโครงการที่มีเป้าหมายพาชาวยิวในยุโรปตะวันออกไปตั้งรกรากในอาร์เจนตินา เฮะเซลเตรียมเอกสารที่ร่างเหตุผลเพื่อโน้มน้าวให้เดอ เฮิร์ชเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งองค์กรทางการเมืองเพื่อขับเคลื่อนชาวยิวด้วยตัวของมันเอง แทนที่จะต้องหวังพึ่งเศรษฐีใจดีเป็นราย ๆ ไปเหมือนเช่นตัวบารอนเอง แต่เดอ เฮิร์ชปฏิเสธที่จะรับฟัง แม้จะถูกปฏิเสธแต่นั่นกลับทำให้เขาฮึกเหิมและคิดว่ามาถูกทางแล้ว เฮะเซลกลับไปร่างจุลสาร “The Jewish State” ออกเผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1896 ในเวียนนา เป็นงานที่เขาพยายามหาทางออกให้กับปัญหาของชาวยิว ซึ่งเขาไม่คิดว่าปัญหามันอยู่ที่ตัวศาสนา หรือสังคม แต่เป็นเรื่องของ “ชาติ” ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรึกษาหารือและหาข้อตกลงร่วมกันโดยบรรดาชาติอารยะในที่ประชุมโลก งานชิ้นนี้ถือเป็นงานชิ้นสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาเป็นอย่างมาก และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากสมาคมชาวยิวในหลายประเทศ ต่อจากนั้นในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน เฮะเซลได้เดินทางไปยังคอนสแตนติโนเปิลเพื่อขอพบสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันที่ปกครองดินแดนตั้งแต่คาบสมุทรบอลข่านไปถึงตะวันออกกลาง และยื่นฎีกาเรียกร้องให้พระองค์มอบดินแดนปาเลสไตน์ให้กับชาวยิว ระหว่างที่เขาเดินทางด้วยรถไฟมีชาวยิวจำนวนมากมาต้อนรับเขาในเส้นทางที่เขาเดินทางผ่าน แต่เมื่อมาถึงศูนย์กลางจักรวรรดิออตโตมัน แม้เขาพยายามเพียงใดเขาก็ไม่มีโอกาสได้พบหน้าสุลต่าน ผ่านไปได้ 11 วันเขาก็เดินทางกลับ เฮะเซลตั้งหน้าตั้งตาเดินทางไปพบปะชุมชนชาวยิวในหลายประเทศ ก่อนเรียกประชุมใหญ่ไซออนิสต์จากทั่วโลกในเดือนสิงหาคม 1897 ที่บาเซิล (ตอนแรกมีแผนที่จะจัดที่มิวนิก แต่ชาวยิวที่นี่ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ชีวิตกลมกลืนกับชาวเยอรมันทั่วไปแล้วคัดค้าน) ซึ่งมีผู้นำชาวยิวจากชุมชนต่าง ๆ เกือบ 200 คนมาร่วมประชุม ส่วนใหญ่มาจากยุโรปตะวันออกและรัสเซีย แต่ก็มีจากยุโรปตะวันตกและสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน หลังการประชุมจบลง ได้มีการจัดตั้งองค์กรไซออนิสต์ขึ้น ซึ่งเฮะเซลก็ได้รับตำแหน่งเป็นประธาน และเขาก็ได้จดลงบันทึกส่วนตัวถึงความสำเร็จในคราวนั้นว่า “ถ้าผมต้องสรุปการประชุมแห่งบาเซิลด้วยคำคำเดียวแล้วล่ะก็ -ซึ่งจริง ๆ ผมไม่ควรพูดอย่างนี้แบบโต้ง ๆ หรอกนะ- แต่มันก็คงต้องพูดว่า ที่บาเซิลผมได้ก่อตั้งรัฐยิวขึ้นแล้ว ถ้าผมพูดแบบนี้ในวันนี้ ทั้งโลกคงพากันหัวเราะเยาะใส่ แต่ใน 5 ปี หรือ 50 ปี ข้างหน้า ทุกคนจะได้เห็นกัน” (Britannica) แต่เฮะเซลมีชีวิตอยู่ต่อหลังการประชุมบาเซิลได้ราว 7  ปีก็เสียชีวิตลงด้วยวัย 44 ปี ซึ่งก่อนนั้นแม้จะมีความคืบหน้าไปบ้างกับการผลักดันรัฐยิวในดินแดนต่าง ๆ แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยความล้มเหลว จึงไม่มีโอกาสได้เห็นรัฐยิวที่เขาวาดภาพไว้เป็นจริงขึ้นมาในอีก 44 ปีให้หลัง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง (ซึ่งความสำเร็จนั้นก็นำไปสู่ปัญหาใหม่ ๆ ในตะวันออกกลาง)