‘เชียร์-ฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์’ เมื่อสิ่งสำคัญกว่าการเลี้ยงสัตว์ คือ ‘ความพร้อม’ ก่อนการรับเลี้ยง

‘เชียร์-ฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์’ เมื่อสิ่งสำคัญกว่าการเลี้ยงสัตว์ คือ ‘ความพร้อม’ ก่อนการรับเลี้ยง
ก่อนหน้านี้เรารู้จัก ‘เชียร์-ฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์’ ในฐานะนักแสดง พิธีกร และอีกหลากหลายบทบาทในวงการบันเทิง แต่หากก้าวออกจากหน้ากล้องและแสงไฟ เธอเป็นเหมือนโลกทั้งใบของ ‘เจ้าไม้หมอนและเจ้าขาว’ สุนัขพิการทั้งสองตัวที่เชียร์รับมาดูแล  แม้การอุปถัมภ์สัตว์เลี้ยงพิการจะดูเหมือนการช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น แต่เชียร์กลับมองว่าเป็นการเกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์และสัตว์มากกว่า เพราะเธอเองก็ได้บทเรียนและความสุขจากสุนัขทั้งสองตัวเช่นเดียวกัน  “ธรรมชาติกับมนุษย์เป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกันบนโลก แถมธรรมชาติอยู่ก่อนเราซะอีก สัตว์อยู่มาก่อนเราซะอีก จะเป็นสายพันธุ์ไหนก็ตาม วิวัฒนาการอาจจะทำให้เราเห็นประเภทนั้นประเภทนี้ เเต่นี่คือพื้นที่ของเขาเช่นกัน ไม่ใช่เเค่พื้นที่ของสังคมมนุษย์อย่างเดียว” ด้วยเหตุนี้เธอจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสัตว์เลี้ยงไร้บ้าน โดยเน้นย้ำถึงสิ่งที่สำคัญกว่าการรับเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ นั่นคือ ‘ความพร้อม’ ก่อนการรับเลี้ยง   บทเรียนจากการเลี้ยงสัตว์ “ในชีวิตก็จะมีสัตว์เลี้ยงอยู่บ้าง ถ้าเป็นตอนเด็กจะเป็นกระต่าย พอโตมาหน่อยก็มีโอกาสได้เลี้ยงสุนัขอยู่ตัวหนึ่ง แต่ว่ามันมีอุบัติเหตุที่เขาต้องเสียชีวิตไปในกองถ่าย โดยที่ตอนนั้นเป็นพันธุ์ปอมฯ เขาเด็กและตกใจง่าย อุบัติเหตุมันไม่ได้ร้ายเเรง เเต่กลายเป็นว่าเขาตกใจ เเล้วหัวใจหยุดทำงานไปเลย” “จริง ๆ แล้วต้องยอมรับว่า ยังไม่มีโอกาสที่จะรู้จักนิสัย หรืออะไรที่มันเฉพาะทางมาก เพราะตอนนั้นน้องอยู่แค่หลักเดือนเอง ยังไม่นานมาก ก็เลยทำให้เราได้รู้ว่า เฮ้ย! จริง ๆ แล้ว อุปนิสัยหมาแต่ละพันธุ์เขาจะมีลักษณะการแพ้อะไรบางอย่าง หรือลักษณะเฉพาะว่าหมาชนิดนี้เขาจะเซนซิทีฟกับอะไร แม้กระทั่งบางชนิดตกใจง่าย ก็ทำให้เรารู้เหมือนกัน จริง ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมากเลยค่ะ เพราะบางทีความชื่นชอบในรูปลักษณ์เป็นสิ่งที่ถูกใจเราก่อน แต่บางทีการถูกใจกับถูกสุขลักษณะมันเป็นคนละเรื่องกัน” บทเรียนครั้งนี้ทำให้เชียร์ตระหนักถึง ‘ความพร้อม’ ของการรับเลี้ยงที่มีมากกว่าพื้นที่และค่าใช้จ่าย แต่ยังรวมถึงการศึกษาข้อจำกัดของสัตว์เลี้ยงแต่ละชนิด รวมทั้งใช้เวลาดูแลอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น   จุดเริ่มต้นของการดูแลสุนัขพิการ “เชียร์เริ่มเลี้ยงและผูกพันกับสัตว์อย่างจริงจังเต็มตัว คือ ไม้หมอนก่อน ตอนนั้นเราทำรายการคันปาก จะมีกองทุนสามัคคี คือในคันปาก พี่ท็อป-ดารณีนุชจะเป็นตัวตั้งตัวตีว่า เฮ้ย! พวกแก วันนี้ฉันมีเคสมาว่ะ อะไรแบบนี้ ทีนี้มาถึงเคสที่เราได้ยินและสะดุดหู คือมีหมาอยู่ตัวหนึ่ง 3 เดือนเอง แต่ว่ามันเกือบตาย เพราะโดนรถชน ขามันเน่ามากจนต้องตัดขา พอเราฟัง เราอยากไปดูเขาเลย พอไปปุ๊บก็คือไม้หมอนนี่แหละ กระต๊อกกระแต๊ก ตัวแค่แขนนี่เอง เหลือแค่ 3 ขา “เรื่องของเรื่องคือเขาเดินตามเชียร์ ทั้งที่เราไปกับเพื่อน เจ้าหน้าที่ก็อยู่หลายคน แล้วสัตว์เดินตามเราอยู่คนเดียว ประหนึ่งเรียก เรียกแบบอยากคุยด้วย แล้วพอมองตากัน ก็เกิดความรู้สึกว่า กลับบ้านกันเถอะ เหมือนมันเป็น destiny บางอย่างที่เราได้เห็นจากสัตว์สื่อสารอะไรมาแบบนี้ แล้วก็ต้องขอบคุณวันนั้นจริง ๆ ที่เขาสบตาเรา เพราะเราคิดไม่ผิดที่พาเขากลับบ้าน “สำหรับขาว ขาวถูกรถไฟเฉี่ยวปาก จนเกือบเสียชีวิตเหมือนกัน แล้วปากเขาขาด ทีนี้เราก็เลยรู้สึกว่า โห! ติดตาม เอาใจช่วยเขามาตั้งแต่สภาพยังแย่มาก อยากให้เขามีชีวิตรอด แล้วเชียร์รู้สึกว่า คล้าย ๆ กับไม้หมอน ไม่มีปากแล้วเขาจะมีน้ำลายไหลตลอด เราก็เอ...มันน่าจะหาบ้านยากเหมือนกันเนอะ เราก็เลยเอาเขามาอยู่บ้านเลย” เมื่อสัตว์เลี้ยงพิการมีข้อจำกัดบางอย่างที่ต่างไปจากสัตว์เลี้ยงทั่วไป แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับเชียร์ “คือบางทีเรามองรูปลักษณ์ อันนี้จะกินเลอะเทอะไหม น้ำลายจะเลอะบ้านหรือเปล่า อันนี้จะเดินยังไง เชียร์ว่าข้อจำกัดมันง่ายลงทุกอย่าง เมื่อมันแทนที่ด้วยความอิ่มเอมใจ ด้วยความสุขที่เราได้ดูแลเขา เพราะว่าเชื่อไหมคะ สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวไม้หมอน กับขาว เขามีความมหัศจรรย์บางอย่างที่เชียร์ก็คาดไม่ถึงเหมือนกันนะ ในความเข้าใจ ในความสื่อสารรู้เรื่อง หรือแม้กระทั่งเขาเติมอะไรบางอย่างให้เรา เวลาที่เรารู้สึกหดหู่ใจ ตรงนี้มันทำให้เรารู้สึกว่า โชคดีมากกว่าที่เจอพวกเขา ไม่ใช่โชคดีที่พวกเขาได้เจอเชียร์”   ความสุขที่ได้จากไม้หมอนและขาว เมื่อถามถึง ‘ความโชคดี’ ที่เชียร์ได้เจอไม้หมอนและขาว เธออธิบายด้วยคำว่า ‘ความมหัศจรรย์ของการอยู่ร่วมกัน’ เพราะสัตว์ไม่สามารถสื่อสารออกมาได้ด้วยคำพูด โดยเฉพาะตอนเจ็บป่วย ยิ่งเป็นไม้หมอนและขาวที่มีข้อจำกัดด้านร่างกาย เธอยิ่งต้องใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อยของพวกเขา นั่นทำให้เชียร์กลายเป็นคนละเอียดอ่อนและมีความสุขกับสิ่งเล็กน้อยรอบตัวมากขึ้น “มันเป็นความละเอียดอ่อนอะไรบางอย่างที่ค่อย ๆ ขัดเกลาไปอย่างไม่รู้ตัวเหมือนกัน มันคือการดูแลซึ่งกันเเละกัน ไม่ใช่แค่เราดูแลแต่เขาฝ่ายเดียว สิ่งสำคัญมาก ๆ ที่เชียร์ได้รับสำหรับสัตว์เลี้ยง คือเขาดูแลสภาพจิตใจเรา ซึ่งมันประเมินเป็นมูลค่าไม่ได้เลย เป็นความสุขรูปแบบหนึ่งที่เชียร์พูดได้เลยว่า มันหาได้จากเขาเท่านั้น และมันแตกต่าง “ไม้หมอนสอนให้เชียร์รู้สึกว่าธรรมชาติมันมีพลังวิเศษอะไรบางอย่างที่เก็บเกี่ยวได้นะ บางทีเชียร์เดินไปเจอน้องหมาข้างถนน แต่ก่อนถ้าเราเจอหมาดุ บางทีจะไล่เหมือนกัน ตอนเด็ก ๆ นะคะ แต่พอโตขึ้นมาเรามีความเข้าใจเขามากขึ้นแล้ว มันก็เป็นเรื่องลึก ๆ ที่เราเข้าใจแล้วไม่ได้รู้สึกดีนะ กลายเป็นว่ายิ่งเจ็บปวด เพราะเรามีความรู้สึกว่าคนกับสัตว์คือสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน แต่กลายเป็นว่า อะไรคือข้อตัดสินว่าตรงนี้เราอยู่ได้แต่เขาอยู่ไม่ได้ มันมีความแฟร์ตรงไหนเหรอ เขาจะมีสิทธิ์รู้ได้ไงว่าเขาอยู่ตรงไหนได้ หรืออยู่ตรงไหนไม่ได้” ทั้งหมดนี้คือที่มาของการสนับสนุนโครงการที่ดูแลสัตว์เลี้ยงไร้บ้านของเชียร์-ฑิฆัมพร รวมทั้งการเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงให้กับสังคมว่า ‘ไม่พร้อม ไม่เลี้ยง’ เพราะความพร้อมเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาสัตว์จรจัดหรือสัตว์เลี้ยงไร้บ้าน   ไม่พร้อม ไม่เลี้ยง “จริง ๆ เชียร์ชื่นชมนะ คนที่อยากเลี้ยงสัตว์ หนึ่งเลยมันคือความเมตตา ความรักความเอ็นดูในฐานะที่อยากดูแลสัตว์ เเต่กลายเป็นว่าในชีวิตจริงมันไม่ได้จบแค่นั้น เชียร์มองว่าปัญหาสัตว์เลี้ยงจรจัด เป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลามากเหมือนกัน แต่ถามว่าเป็นไปได้ไหม เป็นไปได้นะ ถ้าทุกคนตระหนักและมองเห็นปัญหาร่วมกัน “ตอนนี้ปลายเหตุที่มันเกิดขึ้น คือสัตว์จรจัดเยอะมาก สิ่งที่บางมูลนิธิพยายามจะสื่อสาร คือ ไม่พร้อมไม่เลี้ยง เพื่อไม่เพิ่มปัญหาออกไป อันนี้เป็นขั้นต้น ขั้นต่อมาที่เราได้เห็นกันคือ การทำหมัน ก็จะเป็นอีกทางที่ปิดปัญหาในช่วงขั้นปลาย แต่ถามว่ามันทำได้ครอบคลุมไหม ก็ยังไม่ครอบคลุม “อย่างน้อยที่สุดเชียร์ว่าเรากลับมามองที่ตัวเองวันนี้ดีกว่าว่า เราพยายามจะทำอะไรได้บ้าง หรือแม้กระทั่งตัวเชียร์วันนี้ เรามองว่าเราพร้อมเราถึงเลี้ยง ฉะนั้นกับใครก็ตามที่มีความสนใจในการเลี้ยงสัตว์ เชียร์ว่าความเมตตา เอ็นดู มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้วละ แต่เราต้องมองในระยะยาวด้วยว่า การนำสัตว์มาเลี้ยงมันคือการดูแลทั้งชีวิตเขาด้วยเช่นกัน”