“โทมัส ซัวเรส” เด็กประถมที่เขียนแอปหาเงินบริจาคเพื่อการศึกษาของเยาวชน

“โทมัส ซัวเรส” เด็กประถมที่เขียนแอปหาเงินบริจาคเพื่อการศึกษาของเยาวชน
จำได้ไหมว่าตอน ป.6 ทำอะไรกัน? บางคนเล่นเกม หลายคนชวนเพื่อนเตะบอล มีบ้างที่ฟิตอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้าโรงเรียนมัธยมดัง ๆ แต่สำหรับไอ้หนู “โทมัส ซัวเรส” เขากำลังขึ้นพูดที่ TEDxManhattanBeach เรื่องการเป็นนักพัฒนาแอปพลิเคชันรุ่นจิ๋ววัย 12 ขวบ “แอปแรกของผม คือแอปดูดวงชื่อ เอิร์ธฟอร์จูน ซึ่งจะแสดงโลกสีต่าง ๆ ขึ้นกับดวงของคุณ แอปที่ผมชอบและประสบความสำเร็จสูงสุดก็คือ บัสติน จีเบอร์ ซึ่งเป็นแอปเกมตีตุ่นจัสติน บีเบอร์นั่นเอง ผมสร้างมันเพราะหลายคนที่โรงเรียน ไม่ค่อยชอบจัสติน บีเบอร์เท่าไร ผมเลยตัดสินใจทำแอปนี้ขึ้น ผมเริ่มเขียนโปรแกรม และปล่อยให้เล่นก่อนช่วงวันหยุดในปี 2010” “โทมัส ซัวเรส” (Thomas Suarez) พูดที่ TEDxManhattanBeach ในปี 2011 ซึ่งนอกจากแรงขับเคลื่อนจากความหมั่นไส้จัสติน บีเบอร์ แล้ว เด็กมหัศจรรย์คนนี้ยังมีความความหลงใหลในคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีมากพอที่จะทำให้เขาสนใจการเขียนโค้ดซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเนิร์ดพอสมควร “เด็กทุกวันนี้ชอบเล่นเกมส์ และตอนนี้พวกเขาต้องการสร้างมัน แต่มันยาก เพราะเด็กไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ว่าจะค้นหาวิธีการสร้างโปรแกรมจากไหน ถ้าเป็นฟุตบอลก็แค่ไปเข้าทีมฟุตบอล หรือไวโอลินก็ไปลงเรียนไวโอลิน แต่ถ้าอยากเขียนแอปล่ะ?” โชคดีของซัวเรส ที่เขาเกิดมาในยุคสมัยของสตีฟ จอบส์ ที่เปิดตัวไอโฟนในปี 2007 พร้อมกับชุดพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับไอโฟน และชุดพัฒนานั้นเป็นเครื่องมือสำหรับการเขียนโปรแกรมให้กับไอโฟน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาแอปให้กับเขา ซึ่งก่อนหน้านี้เด็กคนนี้ได้ศึกษาการเขียนโปรแกรมพร้อมกันหลายภาษา ทั้ง Python, Java และภาษา C เพื่อให้เข้าใจพื้นฐานของการเขียนโปรแกรม หลังจากพัฒนาแอปสำเร็จ ซัวเรสได้ขอเงิน ราล์ฟ และ มาร์กาเรต ซัวเรส พ่อแม่ของเขาไปจ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้แอปเปิลอีกปีละ 99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,100 บาท แล้วอัพแอปพลิเคชันแรกของเขาขึ้นให้สาวกแอปเปิลได้ดาวน์โหลดกัน ก่อนจะตามมาด้วยแอปอีกมากมาย ที่เขาพัฒนาหลังจากเก็บเงินซื้อ iPod Touch ได้ โดยแอปพลิเคชันทั้งหมดอยู่ภายใต้ชื่อบริษัท CarrotCorp ที่เขาควบตำแหน่งผู้ก่อตั้ง, CEO และ CTO ทำให้ชื่อของ โทมัส ซัวเรส เป็นที่สนใจของจากเพื่อน และคุณครู จากเด็กเนิร์ดนั่งเขียนโค้ดเลยกลายเป็นดาวเด่นของโรงเรียน เขาได้ก่อตั้งชมรมทำแอปที่โรงเรียน เปิดให้นักเรียนสามารถเข้าร่วมได้อย่างเสรี เพื่อช่วยกันศึกษาการพัฒนาแอปพลิเคชันร่วมกัน หลายแอปเกิดจากการที่เขาได้รวบรวมความเห็นจากครูในโรงเรียน แล้วนำไปพัฒนาต่อยอด แล้วขายในราคาแอปละ 99 เซนต์ หรือประมาณ 31 บาท เพื่อนำเงินที่ได้ไปให้กับมูลนิธิทางการศึกษาท้องถิ่น “ตอนนี้นักเรียนรู้เรื่องพวกเทคโนโลยี มากกว่าพวกครูนิดหน่อย” นักพัฒนาแอปวัยใสกล่าวตอนพูดใน TED เมื่อแปดปีที่แล้ว ปัจจุบันเด็กอัจฉริยะคนนี้กำลังทำอะไรอยู่? หลังจากการเวที TED ในวันนั้น สปอตไลท์แห่งโอกาสก็ฉายมาที่เขา มีคนได้ดูบันทึกการพูดของเขาเกือบสิบล้านคนทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เคร็ก แฮทคอฟฟ์ (Craig Hatkoff) ผู้ร่วมก่อตั้งเทศกาลฟรีทริเบคา ผู้เห็นอนาคตในแววตาของเด็กประถมคนนี้ เลยตัดสินใจเดิมพันด้วยการติดดาบให้กับซัวเรส โดยเขาให้เครื่องพิมพ์สามมิติไป ซึ่งซัวเรสใช้เวลาเรียนรู้ด้วยตัวเองอยู่เพียงสี่อาทิตย์ก่อนจะใช้งานได้คล่องมือ จากเครื่องพิมพ์สามมิติในวันนั้น ทำให้ตอนนี้ซัวเรส ถือสิทธิบัตรเกี่ยวกับวิธีพิมพ์สามมิติแบบใหม่ที่เร็วกว่าเดิมถึง 10 เท่า ที่เขาเรียกว่า ORB 3D ซึ่งอาจเป็นการปฏิวัติเล็ก ๆ ของวงการพิมพ์สามมิติ นอกจากนี้เขายังได้ก้าวเข้าสู่วงการ AR และ VR ด้วยการก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพชื่อ Teleportal ขึ้นมา ซึ่งเด็กน้อยที่ตอนนี้กลายเป็นหนุ่มแล้ว ได้บอกถึงความฝันที่เขาตั้งใจไว้คือ “สิ่งหนึ่งที่ผมอยากทำคือได้กลับไปสอนให้เด็ก ๆ เขียนโค้ดพัฒนาแอป เพราะผมรู้สึกดีสุด ๆ เวลาเห็นเด็ก ๆ ตื่นเต้นตอนที่เขียนแอปออกมาได้” ที่มา : https://www.ted.com https://tomthecarrot.com https://abcnews.go.com https://www.disruptorawards.com