สิงสู่: เมื่อ “ผี” ไม่น่ากลัวเท่ากับ “คน”

สิงสู่: เมื่อ “ผี” ไม่น่ากลัวเท่ากับ “คน”
ณ สำนักจิตต์อสงไขยบนยอดเขาอันโดดเดี่ยว นายแม่ พร้อมลูกศิษย์ทั้งหมดรวมตัวกันเพื่อทำพิธีกรรมปลุกวิญญาณโดยมีศพลึกลับเป็นเป้าหมาย แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่า พิธีกรรมนั้นได้ปลุกวิญญาณแปลกหน้าที่ไม่ได้รับเชิญให้เข้ามาในบ้าน นำมาซึ่งความสยองขวัญในบ้านปิดตาย ทุกคนต้องเผชิญหน้ากับวิญญาณร้ายที่ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่ามันจะสิงใคร เมื่อไหร่ และด้วยวิธีใด ที่สำคัญมันไม่ได้เข้าสิงเพื่อสร้างความหวาดกลัวอย่างเดียว แต่สิ่งที่มันต้องการคือการ “ฝังรากยึดวิญญาณ” ของทุกคน สิงสู่: เมื่อ “ผี” ไม่น่ากลัวเท่ากับ “คน” คนเดียวที่สามารถต่อกรวิญญาณนี้ได้คือ เดช ลูกศิษย์เอกของนายแม่ เขาเป็นคนเก่งกล้าวิชาที่สุดเนื่องจากนายแม่ถ่ายทอดวิชาทุกอย่างเองกับมือ ถึงแม้เขาจะเดินทางตามมาทีหลัง แต่แค่เพียงปรากฎตัวที่หน้าประตู ทุกคนในสำนักก็จะอุ่นใจว่าเดชสามารถช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นภัยแน่นอน วิญญาณสามารถได้กลิ่นของความกลัว พอรู้ว่าคนไหนกลัวมันจะจู่โจมทันที ความกลัวจะเปิดช่องให้มันเข้ามาสิงร่าง ฉะนั้นคนที่แสดงออกว่า “กลัว” จะถูกสิงบ่อยครั้งที่สุด แน่นอนว่าต้องเป็น สร้อย เด็กสาววัย 14 ปี ความน่ารักและความกลัวของเธอกลายเป็นเหยื่อชั้นดีของวิญญาณในการเล่นงานอย่างรุนแรง ขณะที่ลูกศิษย์คนอื่นก็ค่อยๆ ถูกสิงสลับไปมาทีละคน ความน่ากลัวอย่างหนึ่งคือเราไม่สามารถมองเห็นวิญญาณได้ เมื่อมันเข้าสิงใคร คนๆ นั้นก็จะเปลี่ยนแปลงทันที ทั้งร่างกายบิดเบี้ยว พูดภาษาโบราณ และกรีดร้องโหยหวน ภาพที่ออกมาจึงเป็นความสยองโดยไม่พึ่งเทคนิคพิเศษอะไร เป็นความสยองทางกายภาพที่มนุษย์ธรรมดาทำไม่ได้ อย่างไรก็ดี ความน่ากลัวหาใช่แค่นั้น เมื่อวิญญาณร้ายไม่ได้มีเพียงตัวเดียว เดชตรวจจับได้ว่ามีวิญญาณในบ้านถึง 2 ดวง และมันกำลังรอวิญญาณอีกดวงเสียด้วย สิงสู่: เมื่อ “ผี” ไม่น่ากลัวเท่ากับ “คน” คล้ายดั่งนิยายสยองขวัญในสถานที่ปิดตายแบบ อกาธ่า คริสตี้ เรื่องราวเกิดในขึ้นสถานที่เดียว ตัวละครไม่สามารถหลบหนีได้ ทำให้พวกเขาต้องติดอยู่กับความกลัวจนรู้สึกไม่มั่นคง ก่อนหนังจะค่อยๆ คลายปมตัวละครว่าพวกเขาทั้งหมดคือใคร? เข้ามาสำนักจิตต์อสงไขยทำไม? พิธีกรรมปลุกวิญญาณทำเพื่ออะไร? และวิญญาณร้ายที่ว่าเป็นวิญญาณของใคร? และเมื่อทุกอย่างเฉลยจนครบ จากที่หวาดกลัว “วิญญาณ” เราอาจหวาดผวากับพฤติกรรม “คน” แทน เหมือนดั่งบทสนทนาระหว่าง ปราง อีกหนึ่งศิษย์คนสำคัญของสำนักจิตต์อสงไขย กับ นพ หนุ่มหล่อลูกศิษย์คนใหม่ที่บอกว่า “จริงๆ แล้วคนน่ากลัวกว่าผี” ลูกศิษย์ทั้งหมดมีความลับที่เชื่อมโยงกันอย่างมีนัยยะสำคัญ ตัวละครมีปมชวนติดตาม บทสนทนาแฝงไปด้วยประเด็นจิตวิทยา ปรัชญา และความหมายซ่อนชวนตีความ เช่น ประเด็นความทรงจำเรื่องพ่อของสร้อยที่ถูกปลุกแต่งขึ้นมา ทั้งๆ ที่เธอไม่เคยเจอพ่อคนนั้นจริงๆ หรือปีก่อตั้งสำนักจิตต์อสงไขย พ.ศ. 2549 ที่อาจมีนัยยะเทียบเคียงสถานการณ์ "ยึด" บางอย่างซ่อนอยู่ ความที่หนังมีไอเดียจากปรจิตวิทยา (Parapsychology) หรือศาสตร์การศึกษาเรื่องเหนือธรรมชาติที่ใช้หลักวิทยาศาสตร์มาช่วยอธิบาย เราจะเห็นข้อความตั้งแต่เริ่มเรื่องว่า วิญญาณคือพลังงานไร้รูปร่าง สามารถย้ายจากร่างหนึ่งไปสู่ร่างหนึ่งได้ วิญญาณบางตัวอาจสลายไปเร็ว บางตัวอาจควบแน่นอยู่ได้นาน ขึ้นอยู่กับการ “ยึดติด” สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหมือนดั่งผีในเรื่องที่เป็นวิญญาณโบราณหลายร้อยปี พวกมันเคยอาศัยอยู่บริเวณนั้น โดยยึดติดความทรงจำที่ทำให้พวกมันยังไม่ไปผุดไปเกิด และยังคงควบแน่นจนถึงปัจจุบัน ครั้นพิธีกรรมได้ปลุกพวกมันขึ้นมา วิญญาณโบราณจึงกลับมายึดร่างมนุษย์ปัจจุบันเพื่อสานต่อความตั้งใจเดิมของตน การเปรียบเปรย “วิญญาณคือความทรงจำ” จึงเป็นการตีความ “ผี” แบบใหม่ที่แตกต่างจากหนังไทยเรื่องอื่น นับเป็นความหาญกล้าของผู้กำกับในการทดลองเล่นประเด็นใหม่ๆ ท่ามกลางความซ้ำซากของวงการภาพยนตร์ไทย สิงสู่: เมื่อ “ผี” ไม่น่ากลัวเท่ากับ “คน”