28 มี.ค. 2565 | 11:54 น.
/ บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง CODA (2021) / “ตอนหมอเดินมาบอกกับแม่ว่าหนูไม่ได้หูหนวกและได้ยินเหมือนคนปกติ ใจแม่นี่หล่นไปถึงพื้นเลย” “แม่กังวลว่าเราจะต่อกันไม่ติด” “แม่กลัวว่าแม่จะทำให้ลูกผิดหวัง แม่กลัวว่าการที่แม่หูหนวกจะทำให้แม่เป็นแม่ที่ห่วยแตก” ธรรมชาติคือหนึ่งสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เราไม่อาจหลีกหนีได้และหนึ่งสิ่งที่ถือเป็นซับเซตของธรรมชาติก็คือ ‘ความไม่สมบูรณ์แบบ’ ทุกสรรพสิ่งบนโลกไม่ว่าจะเป็นสิงสาราสัตว์ป่าดงพงไพร หรือแม้กระทั่งเทือกเขาหินผา สิ่งเหล่านี้ล้วนเต็มไปด้วยข้อบกพร่องและความไม่สมบูรณ์แบบ แต่หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คงต้องพูดถึงสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวอย่าง ‘มนุษย์’ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและความไม่สมบูรณ์แบบ แต่ความไม่สมบูรณ์แบบเหล่านั้นแปลว่าเราไม่สมบูรณ์แบบในฐานะมนุษย์หรือไม่? ต้นไม้ที่ใบเหลืองใบไหม้ไม่สามารถเป็นสร้างที่สร้างความร่มรื่นหรือออกผลออกดอกที่สวยงามหรือเปล่า? พ่อแม่ที่ไม่สามารถได้ยินคือครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์สำหรับลูกจริงหรือ? ให้ภาพยนตร์ฟีลกู๊ดอบอุ่นหัวใจ ผู้ชนะรางวัลออสการ์ 2022 สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เรื่องนี้จะพาคุณไปสำรวจประเด็นจากคำถามเหล่านี้ดู Child of Deaf Adults โดยชื่อภาพยนตร์อย่าง CODA เป็นอักษรย่อมาจากคำว่า ‘Child of Deaf Adults’ หรือ เด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่หูหนวก โดยเรื่องจะดำเนินไปพร้อมกับชีวิตของ รูบี้ รอซซี (เอมิเลีย โจนส์) ที่ต้องอาศัยอยู่กับครอบครัวที่ พ่อ แม่ และพี่ชายพิการทางการได้ยินทั้งหมด โดยมีเธอเพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีความสามารถในการได้ยิน ลึกลงไปแล้วเธอก็มีพรสวรรค์ในการร้องเพลงที่ตัวเธอเองไม่มั่นใจจนไม่กล้าแสดงมันออกมาเพราะเธอต้องเผชิญกับการถูกสังคมที่โรงเรียนรังแกและมองเป็นตัวตลกมาโดยตลอดเพราะเธอมีครอบครัวที่แตกต่าง อีกหนึ่งดาวเด่นของหนังเรื่องนี้ก็เป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจาก แฟรงค์ รอซซี (ทรอย คอตเซอร์) คุณพ่อชาวประมงลุคโหดแต่อบอุ่นที่มาพร้อมอารมณ์ขันที่เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้ในแทบจะทุกซีน เขามาที่ต้องไปหาปลาทุกเช้ากับลูกชายคนโตอย่าง ลีโอ รอซซี (แดเนียล ดูแรนต์) โดยที่ทั้งคู่พิการทางการได้ยิน ด้วยเหตุนี้เองในทุก ๆ วันตอนตีสามรูบี้จึงต้องตื่นจากเตียงเพื่ออาบน้ำแต่งตัวไปลงเรือพร้อมพ่อและพี่ชายเพื่อช่วยคัดแยกปลาและเป็นหูคอยฟังวิทยุจากเจ้าหน้าที่ท่าเรือ พอขึ้นฝั่งมาก็ต้องนำปลาไปขายและต่อรองกับพ่อค้าคนกลางที่มักจะเอาเปรียบผ่านการกดราคาปลาให้ต่ำลงกว่าเดิม หลังจากจัดการภารกิจทางบ้านสำเร็จก็ถึงเวลาที่รูบี้ต้องปั่นจักรยานไปเข้าเรียน แต่ความชอบของเธอไม่ได้ตกไปอยู่ในหมวดของวิชาการสักเท่าไหร่ ชีวิตของไฮสคูลของรูบี้ไม่ต่างจากวัยรุ่นในภาพยนตร์แนว Coming of Age มากนัก เธอต้องเจอกับการบูลลี่จากเหล่าเพื่อนผู้หญิงแถมยังถูกมองว่าเป็นตัวตลกอีกที่เธอเป็น CODA เรื่องก็เป็นอย่างนั้นจนกระทั่งโชคชะตาพาเธอมาลงเรียนวิชาร้องประสานเสียงตาม ‘ไมล์ส’ หนุ่มที่เธอแอบชอบและนำพาเธอมาเจอกับอีกบุคคลที่จะเปลี่ยนชีวิตเธอ เปิดประตูสู่ความฝันกับมิสเตอร์วี “มันใส่นมถั่วอะไรสักอย่างที่รสชาติแย่มากๆ ในกาแฟลาเต้ของครู เพราะฉะนั้นเช้านี้ครูอารมณ์บ่จอยมาก ๆ” “เอาล่ะ ครูชื่อเบียรนาร์โด วียาโลโบส” “เบียรรรรรนา เบียรรรรนา” “ถ้าพวกเธอกระดกลิ้นไม่ได้ล่ะก็ ขอร้องเถอะ เรียกครูว่า มิสเตอร์วี” รูบี้ชอบร้องเพลงมาตลอด ทุกเช้าเวลาออกหาปลากับพ่อและพี่ชายเธอจะร้องเพลงอยู่เสมอ แต่เธอไม่เชื่อมั่นในตัวเอง เธอไม่คิดว่าเธอทำได้ ครอบครัวเธอก็ไม่คิดเช่นนั้นเพราะเขาไม่สามารถที่จะได้ยิน จนกระทั่งเธอมาพบกับครูสอนวิชาประสานเสียงอย่าง เบียรนาร์โด วียาโลโบส (ยูจีโน เดอร์เบซ) หรือ มิสเตอร์วี (หากขี้เกียจกระดกลิ้น) ในแง่ของภาพยนตร์มิสเตอร์วีถือว่าเป็นตัวละครที่ผลัดกันถือไม้ต่อเรียกเสียงฮากับแฟรงค์ เพราะทุกครั้งที่มีพวกเขาโผล่มาในฉาก เสียงหัวเราะของผู้ชมก็มักจะดังลั่นโรง “รู้ไหมว่าคนที่กลัวการร้องเพลงเขาไม่มาสมัครร้องประสานเสียงกันหรอกนะ” มิสเตอร์วีกล่าวกับรูบี้ตอนที่เธอเดินเข้าไปพบเขานอกรอบหลังจากในคลาสแรกที่มีการทดสอบระดับเสียงแล้วเธอยืนนิ่งไม่เปล่งเสียงของเธอออกมาและวิ่งออกจากห้องไป ไม่ใช่เพราะเธอลืมเนื้อร้อง ไม่ใช่เพราะเธอร้องไม่เป็น แต่เธอ ‘กลัว’ กลัวที่ความรู้สึกที่เป็นบาดแผลในใจของเธอจะกลับมา เพราะครั้งหนึ่งเธอเคยถูกคนรอบข้างล้อหลังจากพูดสำเนียงตลก ๆ เหมือนที่คนหูหนวกพูด เธอกลัวว่าเหตุการณ์แบบนั้นจะหวนกลัยมาอีกครั้ง กลัวว่าเพื่อน ๆ รอบข้างจะหัวเราะขำขันกับเสียงของเธอ เธอกลัวว่าเธออาจจะค้นเจอความจริงว่าเสียงของเธอมันห่วย “เธอรู้ไหมว่า เดวิด โบวี่ บอกว่าอะไรเกี่ยวกับเสียงของ บ็อบ ดีแลน” “เสียงเหมือนทรายกับกาว” “มีเสียงอันไพเราะมากมายเลยนะที่ไม่มีเรื่องที่จะเล่า เธอมีเรื่องจะเล่าหรือเปล่าล่ะ?” แม้เสียงของบ็อบ ดีแลนอาจสากเหมือนกระดาษทราย แต่เสียง กีตาร์ และฮาร์มอนิก้าของเขา เมื่อมันถูกนำมาเป็นสื่อกลางในการเล่าเรื่องที่ทรงพลัง มันก็สามารถสร้างตำนานและส่งอิทธิพลไปทั่วโลก มิสเตอร์วีไม่สนใจว่าเสียงของรูบี้จะห่วยแตกหรือสากเป็นกระดาษทรายเพียงไหน มีเพียงสิ่งที่เขาสนใจคือความมุ่งมั่นในการอยากจะร้องเพลงและความรู้สึกที่อยากส่งผ่านออกมาเพียงเท่านั้น อาจบอกได้ว่ามิสเตอร์วีคือบุคคลที่เปิดประตูให้รูบี้เปลี่ยนจาก ‘ความกลัว’ เป็น ‘ความกล้า’ ที่จะดึงพรสววรค์ที่มีอยู่ในตัวเธอออกมา แม้ในคาบแรก ๆ มิสเตอร์วีอาจจะเรียกรูบี้ว่า ‘บ็อบ’ แต่หลังจากที่ได้เห็นเธอเปล่งเสียงออกมา เขาก็เรียกเธอไปคุยแล้วชวนเธอไปแสดงโชว์พิเศษร้องเพลงดูเอทคู่กับไมล์ส คนที่เธอแอบชอบ ดูเหมือนว่านอกจากที่มิสเตอร์วีจะเปิดประตูสู่ความฝันของเธอแล้ว ดูเหมือนว่าประตูความรักก็ถูกเปิดตามไปด้วย และมิสเตอร์วีก็ไม่เรียกเธอว่าบ็อบอีกต่อไป มิสเตอร์วีเห็นศักยภาพในตัวรูบี้และอยากที่จะดันเธอให้ถึงฝั่งฝัน เขาการชวนเธอให้ยื่นสมัครออดิชั่นชิงทุนศึกษาต่อที่วิทยาลัยการดนตรีเบิร์กลี (Berklee College of Music) โดยเขาจะอาสาเป็นครูผู้ฝึกซ้อมให้เธออย่างหนักหน่วง เพื่อดึงศักยภาพและทำให้เธอสามารถร้องเพลงได้อย่างมือโปรจริง ๆ เมื่อได้เห็นความสัมพันธ์แล้วก็อดนึกถึงหัวหน้าวงสุดโหดในตำนานอย่าง เฟลทช์เชอร์ (Fletcher) จากภาพยนตร์เรื่อง Whiplash (2014) แต่อาจจะไม่ได้เคร่งถึงขั้นที่ตบหน้านับจังหวะขนาดนั้น แต่มิสเตอร์วีก็เข้มงวดกับการตรงเวลาเป็นอย่างมาก และด้วยสถานการณ์บังคับบางอย่างที่ทำให้เธอต้องมาสายบ่อยครั้งจนมิสเตอร์วียื่นคำขาดว่าหากมาสายอีกจะขอยกเลิกการฝึกซ้อมให้เธอ ชาวประมง Vs พ่อค้าคนกลาง ในฐานะชาวประมง ครอบครัวรอซซีไม่ได้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงนัก แจ็คกี้ (มาร์ลี แมทลิน) แม่ของรูบี้เคยถามแฟรงค์ถึงเรื่องการขายเรือเนื่องจากปัญหาทางการเงิน แต่อย่างไรก็ตามอาชีพประมงก็เป็นสิ่งเดียวที่แฟรงค์และลีโอสามารถทำมาหากินได้ ถึงหาปลาได้เยอะในแต่ละวัน นั่นก็ไม่ได้การันตีว่าจะมีรายได้ที่มากพอหรือคุ้มค่ากับการออกเรือแต่ละครั้งด้วยสาเหตุหลายประการและหนึ่งในสาเหตุหลักนั้นก็คือ ‘พ่อค้าคนกลาง’ ที่มาคอยกดราคาปลาที่ชาวประมงหามาได้ให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ แล้วยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ยิ่งครอบครัวนั้นคือครอบครัวหูหนวก เพราะราคาจะถูกกดลงต่ำลงไปมากกว่าเดิมเสียอีก “คุณแม่งไม่แคร์เลยว่าพวกเขาจะปล่อยมาตรการออกมาบังคับใช้จนเราตายรึเปล่า เพราะคุณคือคนเดียวที่ได้ตังค์ไง ไม่มีใครเลยที่ได้ปลาคุ้มค่ากับที่เขาจับมา” ท่ามกลางสถานะชาวประมงที่จะหาเงินมาซ่อมเรือ จ่ายค่าน้ำมัน น้ำแข็งที่เป็นต้นทุนในแต่ละวันก็มากพออยู่แล้ว แถมยังไม่พอด้วยซ้ำจากการถูกกดราคา อุปสรรคใหญ่ถัดไปก็คือนโยบายจากรัฐบาลที่สั่งให้เรือประมงต้องมีผู้สังเกตการณ์ติดไปด้วยเพื่อตรวจสอบว่าพวกเขาประพฤติตามกฎหมายควบคุมจำนวนปลาในท้องทะเลหรือไม่ โดยชาวประมงเหล่านั้นต้องเสียค่าจ้างรายวันให้ผู้ตรวจสอบเหล่านั้นที่แพงกว่า 800 เหรียญสหรัฐฯ เองอีกด้วย เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากเพราะในวันแต่ละวันชาวประมงเหล่านี้ก็ลำบากมากพออยู่แล้ว ยังจะต้องเอาเงินไปใช้จ่ายกับการจ้างผู้ตรวจสอบที่แพงหูฉี่อีก การขูดรีดนี้เป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้แฟรงค์และลีโอตัดสินใจเปิดบริษัทเองเพื่อจัดการกับระบบพ่อค้าคนกลางและระบบที่กดทับชาวประมงตัวเล็ก ๆ โดยเขาก็ชักชวนชาวประมงทั้งหลายมาร่วมกันในธุรกิจครั้งนี้โดยการหาปลาแล้วส่งมาให้ทางครอบครัวรอซซีเพื่อจัดจำหน่ายกันเอง ซึ่งมันเป็นอะไรที่ยากและซับซ้อนกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะสำหรับครอบครัวหูหนวก รูบี้จึงเป็นเสาหลักและความหวังเดียวที่จะทำให้ธุรกิจนี้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เธอต้องทำหน้าที่ในการชักชวนชาวประมงให้เข้าร่วมและประสานงานต่าง ๆ ให้ธุรกิจสามารถเดินไปอย่างราบรื่น เธอต้องคอยช่วยงานที่บ้านจนไปซ้อมกับมิสเตอร์วีสาย พอบ่อยครั้งเข้า มิสเตอร์วี ผู้ที่เคร่งครัดในเวลาก็ยื่นคำขาดว่าหากมาสายอีก เขาจะถอนตัวจากการสอน เมื่อนำเรื่องนี้ไปคุยกับทางบ้าน แม่ของเธอก็กังวลเป็นอย่างมากเพราะรูบี้เปรียบเสมือนล่ามที่เป็นเสาหลักในการสื่อสารของทางบ้านมาตลอด แถมทางครอบครัวก็ไม่มั่นใจและไม่เข้าใจว่ารูบี้ร้องเพราะจริงหรือเปล่า ? ว่าเธออยากร้องเพลงจริง ๆ หรือเป็นเพียงความฝันช่วงวัยรุ่น? แล้วเธอต้องใช้ชีวิตแบบนี้ตลอดไปหรือ ? รูบี้ต้องเลือกระหว่างครอบครัวหรือความฝัน รันธุรกิจปลาหรือรีบไปซ้อมกับมิสเตอร์วีให้ทัน เธอตัดสินใจเลือกอย่างแรก… คลื่นเสียงที่สะเทือนถึงหัวใจ หนึ่งสิ่งที่น่าสนใจและทรงพลังมากของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการที่แฟรงค์ ผู้ที่พิการทางการได้ยิน อยากจะได้มีโอกาสฟังความไพเราะของลูกสาวเธอสักครั้งหลังจากที่ได้ไปชมโชว์พิเศษของวิชาประสานเสียงที่รูบี้ลงเรียนกับมิสเตอร์วี ในขณะที่เสียงร้องอันไพเราะของรูบี้ดังนั่นสนั่นโรงละคร หลายคนหลงใหล หลายคนหลั่งน้ำตา แต่แฟรงค์ได้แต่มองด้วยความสงสัยเธอท่ามกลางความเงียบสนิท ในฉากนั้น หนังตัดเสียงเงียบสนิทเปรียบดั่งผู้ชมสวมมุมมองเป็นแฟรงค์ที่มองรูบี้แสดงอยู่บนเวที ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่อธิบายได้ยาก ทุกอย่างเงียบสนิท ไม่ได้ยินเสียงร้อง ไม่ได้ยินเสียงบรรยากาศ ไม่ได้ยินแม้แต่เสียงจังหวะ ไม่เข้าใจว่าเธอร้องเพลงเกี่ยวกับอะไร ไม่รู้ว่าเสียงร้องเธอเป็นอย่างไร เป็นความรู้สึกอึดอัดที่ไม่มีทางใดเลยที่การร้องเพลงจะสื่อไปถึงผู้คนหูหนวกได้ เปรียบดั่งกำแพงที่คนเป็นพ่ออย่างแฟรงก์ไม่สามารถก้าวข้ามผ่านไปได้ “เพลงที่ลูกร้องมันเกี่ยวกับอะไรเหรอลูก” “มันเกี่ยวกับการที่เราต้องการใครสักคนมาอยู่ข้าง ๆ ค่ะ” “ร้องให้พ่อฟังได้ไหม” ทั้งสองคนสื่อสารกันผ่านภาษามือระหว่างดูดาวหลังจากกลับมาที่บ้าน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่คาใจแฟรงค์คงจะเป็นเรื่องของการที่เขาไม่สามารถชื่นชมหรือแม้แต่จะเข้าใจการแสดงของรูบี้ได้ผ่านหูของตัวเอง แฟรงค์จึงได้มีโอกาสมาฟังรูบี้ร้องเพลงอีกครั้ง ในครั้งนี้ ระหว่างที่รูบี้ร้องเพลงอยู่ที่ท้ายกระบะ แฟรงค์เอื้อมมือไปสัมผัสที่คอของเธอเพื่อสัมผัสกับการสั่นของเสียงที่ถูกเปล่งออกมา เขาจ้องมองลูกสาวของเขาด้วยความปลื้มปิติเพราะในที่สุดเขาก็สามารถเข้าถึงการแสดงของเธอเสียที แม้จะเป็นแค่การสั่นของเสียงว่ามันได้ทะลุถึงหัวใจแฟรงค์อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งกว่าการฟังเพลงแร็ปเบสดังกระหึ่มของเขาในครั้งไหน ๆ โอบกอดแสนอบอุ่นจากครอบครัวไร้เสียง พ่อ แม่ พี่ชาย มิสเตอร์วี และความฝันของเธอตั้งเด่นอยู่ข้างหน้าแล้ว เหลือเพียงเธอไปไขว่คว้ามาให้ได้ แม้ในเทคแรกเธอจะร้องได้ไม่ดี แต่มิสเตอร์วีก็ทำเป็นเล่นผิดเพื่อให้เธอลองใหม่อีกสักครั้ง และในเวลานั้นเองเธอก็เหลือบไปเห็นครอบครัวของเธอมาให้กำลังใจของเธออยู่ชั้นบนแม้พวกเขาจะไม่สามารถได้ยินก็ตาม ซีนนี้ถือเป็นจุด Climax ที่คลายปมทุกอย่างในเรื่องราวของชีวิตของรูบี้ รอซซี เธอได้มีโอกาสทำเพื่อฝันของตัวเองจากการฝึกของมิสเตอร์วีอย่างเต็มความสามารถและเธอก็ได้มีโอกาสร้องเพลงที่สามารถเชื่อมต่อครอบครัวของเธอโดยการทำภาษามือระหว่างร้องไปด้วยดั่งเอ็มวีของ เบิร์ด ธงชัย ในเพลงหมอกหรือควันที่คนไทยเราน่าจะรู้จักกันดี ซีนที่บีบน้ำตาและเปรียบเสมือน Cherry on top ของหนังเรื่องนี้คือฉากร่ำลาของครอบครัวในวันที่รูบี้ต้องย้ายเข้าบอสตันไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลับเบิร์กลี หลังจากเก็บของจากรถและบอกลาครอบครัวของเธอก่อนที่จะขึ้นรถเพื่อให้เพื่อนสนิทของเธอขับไปส่ง รถยังไม่ทันเคลื่อนถึงถนน เธอรีบบอกให้เกอร์ตี้เบรค “หยุด ๆๆ หยุดก่อน” รูบี้วิ่งเข้าสวมกอดกับครอบครัวของเธออย่างอบอุ่น ช่างเป็นหนึ่งในกอดที่อบอุ่นที่สุดที่ครอบครัว ๆ หนึ่งจะมอบให้ลูกได้ นี่คงเป็นกอดสุดท้ายก่อนบายเธอ กอดสุดท้ายของครอบครัวหูหนวกที่จะส่ง CODA ลูกสาวคนเล็กสู่บอสตัน คงเป็นกอดที่ย้ำเตือนรูบี้ได้ว่าครอบครัวของเธอช่างอบอุ่นและไม่ห่วยแตก คงเป็นกอดที่ตอบคำถามได้ว่าความพิการไม่ได้ทำให้ความเป็นครอบครัวที่ดีลดน้อยลงเลย “Go” แฟรงค์กล่าวด้วยน้ำเสียงของเขาเองไม่ใช่ภาษามือ เพื่อส่งรูบี้สู่เส้นทางความฝันของเธอโดยสวัสดิภาพ ภาพ: IMDB