A Thai Mirror: ละครเวทีสะท้อนสัมพันธ์ ‘ผี-คน’ แทรกเรื่องจริงจากผู้ลี้ภัย

A Thai Mirror: ละครเวทีสะท้อนสัมพันธ์ ‘ผี-คน’ แทรกเรื่องจริงจากผู้ลี้ภัย

A Thai Mirror กระจกไทย ละครเวทีลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศส ตีแผ่ความสำคัญของ ‘ผี’ ในชีวิตของ ‘คนเป็น’ ท่ามกลางฉากอันว่างเปล่าและบทพูดแฝงนัยยะ พร้อมนำเสนอความรู้สึกคิดถึงบ้านผ่าน ‘ผัดกะเพรา’ ที่บันดาลใจจากเรื่องจริงของผู้ลี้ภัยในฝรั่งเศส

ท่ามกลางพื้นที่วางเปล่าในโรงละคร พรมหลากหลายผืน แสงไฟหลายหลากสี ฉากขาวโพลนฉายซับไทเทิลบทพูดแฝงนัยยะนานาประการ และการแสดงจากนักแสดงเพียงสี่คน ก็เพียงพอที่จะทำให้ ‘A Thai Mirror’ หรือในชื่อภาษาไทย ‘กระจกไทย’ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มละคร B-Floor และ คณะละครจากฝรั่งเศส Compagnie franchement, tu นำเสนอประเด็นและตั้งคำถามที่คมคายถึงความตาย เสรีภาพ และความเป็นไทยอย่างสำเร็จลุล่วง ผ่านการกำกับโดย Nicolas Kerszenbaum ผู้กำกับละครเวทีชาวฝรั่งเศส

ละครเวทีแนวพูดเรื่องนี้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวชาวฝรั่งเศสที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเยือนประเทศไทยเพื่อมาเยี่ยมน้องชายและภรรยาของเขาที่อาศัยอยู่ ณ จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขากลับหายไปอย่างไร้ร่องรอย เรื่องราวพิศวงของผีและอดีตที่ยังไม่จางหายก็หวนกลับมาทักทายอีกครั้ง…

แม้จะไม่ได้ประดับประดาไปด้วยฉากอันสวยหรูสมจริง มีเพียงพื้นที่ว่างและฉากสีขาวเพื่อฉายแสงจากโปรเจคเตอร์ในการดำเนินเรื่องและคำแปลจากบทสนทนา แค่เพียงแค่ถ้อยคำบทพูดทั้งการสนทนา (Dialogue) และการพูดคนเดียว (Monologue) การล้วนแฝงไปด้วยความน่าสนใจให้คิดตามอยู่ไม่น้อย ซึ่งบทสนทนาก็มีด้วยกันถึงสามภาษา–ฝรั่งเศส ไทย และอังกฤษ

ในแง่หนึ่งบทพูดเหล่านั้นได้ฉายภาพบรรยากาศประเทศไทยและความเป็นไทยได้อย่างชัดแจ้งโดนไม่ต้องขึ้นภาพใดเลยแม้แต่ภาพเดียว รายละเอียดยิบย่อยเหล่านั้นถูกบรรจุไว้ในบทอย่างละเอียด ซึ่งจากจุดนี้จึงตั้งคำถามให้ผู้ชมที่ได้รับฟังได้คิดตามต่อว่าเนื้อหาเหล่านั้นแฝงนัยยะที่ผูกโยงกับเนื้อเรื่องอย่างไร 

ความพิเศษจากจุดนี้จึงทำให้การเปล่งเสียงของตัวละครทุกตัวทำหน้าที่มากกว่า ‘เล่าเรื่องให้รู้เรื่อง’ แต่เป็นการสื่อสารอารมณ์ผ่านสัญญะและวิธีการนำเสนอ ให้อารมณ์เหมือนดูหนังอาร์ทเฮาส์สักเรื่องหนึ่งที่มักแอบซ่อนความหมายเอาไว้ให้ผู้ชมได้ตามสืบต่ออย่างน่าสนใจ 

นอกจากนั้นความพิเศษของละครเวทีเรื่องนี้คือดนตรีประกอบที่เป็นการนำเอาวัฒนธรรมอีสานอย่างดนตรีหมอลำมาผสมผสานกับดนตรีอีเล็คทรอนิค และนำเสนออารมณ์ของตัวละครได้อย่างลึกล้ำและน่าสนใจ ในแง่หนึ่งโชว์ครั้งนี้ให้ประสบการณ์ผู้ชมในเชิงละครเวที แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็เปรียบเสมือนการชมโชว์ดนตรีที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

อย่างที่กล่าวไปว่าแม้ไม่ได้มีฉากที่ก่อร่างสร้างให้เกิดความสมจริงในการชม แต่มันก็ไม่ได้เป็นจุดบกพร่องในการรับชม เหตุเพราะการแสดง แสงไฟ และเสียง ที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นปลุกเร้าให้ผู้ชมสร้างภาพจินตนาการจนแทบจะไม่ต้องหาฉากใด ๆ มาจำลองให้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นหิมะ ป่า หรือบ้านเรือน เราก็สามารถจำลองมันได้ผ่านจินตนาการของเราที่ถูกชี้แนะโดยการเล่าเรื่องของละครเวทีเรื่องนี้

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจของละครเรื่องนี้ที่สามารถบอกเล่าได้โดยไม่เผยเนื้อหาของเรื่องก็คือการที่เรื่องราวที่เกี่ยวโยงกับการลี้ภัยไปต่างแดนนั้นได้รับแรงบันดาลใจมากจากประสบการณ์จริงของผู้ที่ต้องลี้ภัยไปที่ประเทศฝรั่งเศส โดยนิโคลัส ผู้กำกับก็ได้ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ชาวไทยที่ต้องลี้ภัยเป็นจำนวน 5 คน แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวของละครเรื่องนี้

/ เนื้อหาส่วนต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของละครเวทีเรื่อง A Thai Mirror กระจกไทย /

ผมมองว่ามันคือวิธีที่เราจัดการกับการที่คน ๆ หนึ่งหายไป ด้วยเหตุนี้ผมเลยคิดว่าเราต้องการผี ไม่งั้นเราอาจจะจัดการกับความรู้สึกที่คน ๆ หนึ่งหายไปไม่ได้…

นิโคลัสกล่าวตอบในบทสนทนากับ The People หลังการแสดงจบลง เราจะเห็นได้ว่าเรื่องราวของ A Thai Mirror ทำให้เราได้ลองผีในมุมต่าง ได้มองความตายในมุมอื่น ผีสางในบางแง่มุมดูจะเป็นอะไรที่น่ากลัวและขนหัวลุกจนผู้คนก็ต่างวิ่งหนีหายเมื่อพบเห็น แต่สำหรับบางคน ผีอาจจะเป็นหนทางเดียวของพวกเขาในการที่จะมีโอกาสพบกับบุคคลที่หายไปจากชีวิตเขาอีกครั้ง นี่คือการที่ละครเรื่องนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผีกับมนุษย์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ

มีหนึ่งคำที่แม้จะดูขัดแย้งกันแต่ก็จริงไม่น้อยที่นิโคลัสได้บอกกับเรา

ชีวิตจะสมบูรณ์ได้ก็ด้วยความตาย ผมเข้าใจนะว่ามันอาจจะดูขัดแย้งกันเอง แต่ก็นั่นแหละ มันคือแก่นหลักของละครเรื่องนี้เลย

นอกจากนั้นความรู้สึกคิดถึงบ้านจากผู้ที่ต้องจำใจย้ายบ้านไปต่างแดนเพราะต้องลี้ภัยก็ถูกนำเสนอผ่านความอยากกิน ‘ผัดกะเพรา’ นิโคลัสกล่าวว่า ‘อาหาร’ เป็นตัวแทนของหลายสิ่งหลายอย่างมากกว่ารสชาติหรือการกินเพื่ออิ่ม การที่ใครสักคนอยากกินอาหารไทยเมื่ออยู่ต่างแดนอาจแทนถึงการที่เขาฝีมือของใครสักคนที่ทำมันขึ้นมา คิดถึงบรรยากาศของร้านประจำที่เขาเคยไปนั่ง หรือแม้กระทั่งคิดถึงจังหวะชีวิตที่เขาได้ลิ้มรสผัดกะเพราจานนั้น