09 ก.พ. 2566 | 18:30 น.
/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง เธอกับฉันกับฉัน /
เพราะบางอย่างมัน ‘แบ่ง’ กันไม่ได้
“กูคงเห็นมึงทุกครั้งที่ส่องกระจก”
บนโลกที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่กำลังเผชิญหน้ากับความเหงาโดดเดี่ยว เป็นความรู้สึกว่าคงมีแค่ตัวเราที่เข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง แต่เมื่อได้ชมภาพยนตร์ เธอกับฉันกับฉัน (You & Me & Me) ที่กำกับโดย วรรณแวว-แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ เราจะได้เห็นความพิเศษของการเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้เคียงข้างกับใครอีกคนหนึ่ง คนที่หน้าเหมือนเรา อายุเท่าเรา แถมยังเติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกับเรา ทำให้เราได้เห็นว่าการมี ‘ฝาแฝด’ นั้นทำให้ชีวิตพิเศษขึ้นมากเพียงใด
ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเห็นชีวิตความเป็นอยู่และสายสัมพันธ์ของพี่น้องฝาแฝด ‘มี - ยู’ หญิงสาวสองคนที่เกิดออกมาจากไข่ใบเดียวกัน นอนเคียงข้างกัน อาบน้ำพร้อมกัน กินซาลาเปาสองลูกด้วยกัน (แต่อาจจะไม่ได้กินไข่แดงเหมือนกัน) และเพียงมองตาก็รู้ใจกันเสมือนว่ามองตัวเราอีกคนว่ากำลังคิดอะไรอยู่
ชีวิตแบบฝาแฝด (หรือแม้กระทั่งพี่น้องที่ไม่ได้เป็นแฝดกัน) ย่อมตามมากับการหารครึ่งและแบ่งปันสิ่งของกันอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นซาลาเปา ไอติม เสื้อผ้า และแน่นอน ความรักจากครอบครัว หลังจากที่ได้เห็นชีวิตของทั้งมีและยู เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแม้ร่างกายของเธอจะแยกเป็นสอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจิตใจของพวกเธอนั้นประกอบเป็นหนึ่ง ณ ตอนนั้น หากขาดใครคนหนึ่งไป อีกคนหนึ่งที่เหลืออยู่คงรู้สึกไม่สมบูรณ์ดังเดิม
“ถ้าเขาเจอกู เขาจะรู้ไหมว่าไม่ใช่มึง”
แต่แล้วเส้นทางชีวิตของแฝดทั้งสองก็ต้องเดินหน้ามาพบกับทางแยก เมื่อมีบางสิ่งบางอย่างไม่สามารถแบ่งกันได้ ไม่ว่าจะเหน็บหนาวยามค่ำคืนเพียงไหนก็สามารถแบ่งผ้าห่มกันได้ ไม่ว่าจะหิวไส้กิ่วเพียงใดก็แบ่งซาลาเปากันอย่างไร้ปัญหา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าเรื่องบางเรื่อง ‘มันแบ่งกันไม่ได้’ และ ‘ความรัก’ ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้หยิบยกมาให้เราได้ชม
ในแง่หนึ่ง เธอกับฉันกับฉัน ถือเป็นภาพยนตร์ Coming-of-Age ในช่วงวันปิดเทอมของหญิงสาวมัธยมต้นที่จะได้เห็นพวกเธอเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่กว่าเดิม แต่ในอีกแง่หนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เปรียบเสมือนการฉายภาพของชีวิตแบบฝาแฝดให้เห็นชัดว่าแม้จะมีข้อดีสุดพิเศษมากมายเพียงใด แต่ความดีทั้งหมดเหล่านั้นก็หักลบกลบหนี้กับข้อเสียที่อาจจะตามมาจนทำให้เราเห็นเหรียญทั้งสองด้านของการมีแฝด
ภาพยนตร์นำเสนอใจความสำคัญของเรื่องดังที่เรากล่าวไปได้อย่างน่าสนใจผ่านบทและโครงสร้างของเรื่อง ในคราวแรกคงมีหลายคนตะลึงกับการสลับตัวสอบซ่อมของเธอทั้งสอง เหตุการณ์นี้อาจจะเป็นฝันกลางวันของใครบางคนเสียด้วยซ้ำ แต่หารู้ไม่ว่าฟังก์ชันพิเศษนี้เองที่กลายเป็นดาบสองคมมาทิ่มแทงทั้งคู่ในภายหลัง (อดไม่ได้ที่จะนึกถึงภาพยนตร์อย่าง The Prestige (2006) และ Barbie as The Princess and the Pauper (2004) ในทันที)
ถ้าใครได้ชมภาพยนตร์แล้ว เราจะเห็นได้ว่าการสลับตัวไปสอบซ่อมได้ถูกนำเสนอกับคนดูว่าเป็นความพิเศษที่คนที่ไม่ได้เป็นแฝดกันคงทำไม่ได้ แต่กลายเป็นว่าจากจุดนี้เองที่จะเป็นคอนฟลิกต์สำคัญที่จะผลักทั้งคู่ไปอยู่ในสถานการณ์ที่ ‘ไม่สามารถแบ่งกันได้’ จนเป็นการชี้ให้เห็นถึงภาพชัดในด้านของข้อดี - ข้อเสียที่คู่แฝดต้องเผชิญ และเป็นปัญหาที่เพียงจินตนาการก็ปวดใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นคนใดในเรื่อง
คงเป็นเรื่องที่สวยงามที่มีคนเข้าใจและแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ กับเราอยู่เสมอ ๆ แต่ก็น่าปวดใจไม่น้อยที่บางอย่างมันแบ่งกันไม่ได้ ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งคนที่จะต้องกลับบ้านมือเปล่า
หวนถึงอดีต สไตล์ Y2K
นอกจากจะหยิบยกประเด็นดราม่าความรักที่คู่ฝาแฝดต้องเผชิญมาเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ทำให้เรื่องราวเข้มข้นแล้ว เธอกับฉันกับฉันก็ยังปรุงรสความอร่อย เปิดต่อมความคิดถึงของใครหลายคน (โดยเฉพาะกับคนที่ใช้ชีวิตผ่านช่วงเวลาดังกล่าวมา) ได้อย่างดีเยี่ยม นั่นก็คือการให้เรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งอยู่ในยุคก่อนก้าวข้ามไปสู่สหัสวรรษใหม่ - ก็คือปี 1999 ย่างเข้าสู่ปี 2000 นั่นเอง
ในเปลือกชั้นแรก ผู้ชมจะได้เห็นวัฒนธรรมสไตล์ Y2K เช่นภาพยนตร์ เพลง หรือของเล่นในยุคสมัยนั้น ๆ ที่ได้จางหายไปตามกาลเวลา แต่นอกจากจะเป็นหมุดหมายบันทึกวัฒนธรรมในยุคสมัยนั้นแล้ว มันก็ยังเป็นการหวนระลึกถึงทัศนคติของคนสมัยนั้นที่มีต่อเหตุการณ์ Y2K ที่ ณ ตอนนั้น ผู้คนต่างก็พากันคิดว่าการก้าวข้ามผ่านจากปี 1999 สู่ปี 2000 คือวันสิ้นโลกด้วยเหตุผลนานาประการ
ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเห็นถึงบรรยากาศในช่วงเวลาดังกล่าวว่าความเชื่อของวันสิ้นโลก (รวมถึงคำทำนายของ ‘นอสตราดามุส’ ด้วย) เป็นประเด็นที่ใครหลายคนให้ความสำคัญอย่างมาก มีคนหลายคนแห่กันไปถอนเงินมาเก็บไว้เอง แถมยังสะท้อนผ่านการที่ Y2K กลายเป็นคุณสมบัติที่ผุดขึ้นมาใหม่ของสินค้าในยุคสมัยนั้น ยกตัวอย่างเช่นโทรศัพท์มือถือที่สามารถใช้ได้แม้จะเข้าสู่ปี 2000 แล้ว หรือบัตรที่เอาไว้เสียบกับคอมพิวเตอร์ที่จะป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากวิกฤต Y2K ที่พ่อนางเอกมุ่งลงทุนและนำเข้าจากประเทศจีน
แม้จะไม่ได้ขยี้อย่างเข้มข้น แต่ก็ทำให้เราได้เห็นวิกฤตดังกล่าวผ่านจอภาพยนตร์อย่างน่าสนใจ และช่วยให้ผู้คนรำลึกได้ว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดความเชื่อและปัญหาแบบนี้ขึ้นจริง ๆ
(หากอยากทราบต่อถึงผลกระทบของความเชื่อใน Y2K กับวันสิ้นโลก สามารถอ่านต่อได้ในบทความนี้กับกรณีของ ‘คาร์ลอส โรอา ผู้เมินข้อเสนอ ‘แมนฯ ยูฯ’ เพราะเชื่อว่าโลกจะแตกซะก่อน’)
เมื่อเดินมาถึงทางแยก… เราจึงต้องเติบโต
ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าจะเกิดมาจากไข่ใบเดียวกัน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันจนคนสองคนที่เหมือนจิ๊กซอว์คนละชิ้นที่ต้องประกอบเข้าด้วยกันถึงจะรู้สึกสมบูรณ์ได้ แต่ไม่ว่าจะหน้าเหมือนกันหรือมีนิสัยแบบเดียวกันมากแค่ไหน มีและยูก็ยังเป็นคนสองคนที่ไม่มีทางเหมือนกันโดยสมบูรณ์อยู่ดี
หมากไม่เพียงเข้ามาในชีวิตของทั้งคู่เพื่อให้ทั้งคู่ได้ลองลิ้มรสของความรักครั้งแรก แต่หมากยังเป็นคนที่สอนให้ทั้งคู่ได้รู้จักกับการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตด้วยตัวเองโดยไม่ต้องประกอบกันถึงจะสมบูรณ์ หมากสอนให้ทั้งมีและยูได้เข้าใจว่า อาจไม่ใช่ทุกสิ่งที่ทั้งคู่จะสามารถแบ่งปันกันได้
เพราะแม้จะจับมือเดินเคียงข้างกันมาตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ แต่ไม่ช้าก็เร็ว ทั้งมีและยูก็ต้องเดินทางมาถึงจุดที่เธอทั้งคู่ต้องปล่อยมือจากกันและกัน และเดินไปตามเส้นทางของตัวเอง และเติบโตพอที่จะเข้าใจว่าจิ๊กซอว์ส่วนที่เหลือของทั้งมีและยู พวกเธอเหล่านั้นต้องเติมเต็มมันด้วยตัวเอง
เธอกับฉันกับฉัน จึงเหมือนเป็นภาพยนตร์ที่พาเราไปสำรวจการเติบโตของคู่ฝาแฝดมี - ยูที่ต้องเดินทางมาเผชิญกับรอยต่อของการเติบโตขึ้นของทั้งคู่ที่จำต้องเรียนรู้ที่จะเดินต่อไปข้างหน้าแบบไม่ต้องจับมือกัน เพราะการประกอบกันตลอดไป แม้จะดูสวยหรูและน่าพิสมัยกว่า แต่การแยกย้ายกันเดินคนละทางคือสัจธรรมที่วันใดวันหนึ่งพวกเธอทั้งคู่ก็ต้องเผชิญ
ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า มีและยูต้องลาจากกันจากความเป็นคู่แฝดที่มีสายสัมพันธ์แสนพิเศษที่ยากจะมีใครเหมือน เพราะในวันที่มีหรือยูเผชิญกับวันที่ไม่สวยงามในชีวิต พวกเธอย่อมตระหนักรู้อยู่เสมอว่ายังมีตัวเธออีกคนที่ยังพร้อมจะรอฟังเรื่องราวเหล่านั้นอย่างเป็นห่วงและเข้าใจ เวลาอันสวยงามอาจไม่คงอยู่ตลอดไป แต่ก็เป็นช่วงเวลาความทรงจำสุดวิเศษของคู่แฝดที่เคยใช้ชีวิตร่วมกัน
“เออ…กูไม่ไปไหนแล้วนะ”
ภาพ: ตัวอย่างภาพยนตร์ เธอกับฉันกับฉัน