‘OMG! รักจังวะ..ผิดจังหวะ’ หนังของคนเห็นแก่ตัว ที่ชวนถามว่า ‘รักเขา’ หรือ ‘รักตัวเอง’

‘OMG! รักจังวะ..ผิดจังหวะ’ หนังของคนเห็นแก่ตัว ที่ชวนถามว่า ‘รักเขา’ หรือ ‘รักตัวเอง’

‘OMG! รักจังวะ..ผิดจังหวะ’ ภาพยนตร์โรแมนติค-คอมเมดี ที่ตีแผ่เรื่องเทา ๆ ของคนเห็นแก่ตัวกับรสชาติใหม่ที่เล่าเรื่องราวจากมือที่สามจนผู้ชม ‘เสียงแตก’

/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ /

ภาพยนตร์ถือเป็นสื่อที่นำเอาเรื่องราวของมนุษย์ ที่บ้างก็มหัศจรรย์ บ้างก็ธรรมดา มาบอกเล่าในรูปแบบที่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมระหว่างตัวละครในเรื่องและผู้ชมอย่างน่าสนใจ และตัวละครเอกก็เปรียบเสมือนกับปัจจัยชูโรงที่จะตะลุยเรื่องราวทั้งหมดเคียงข้างไปกับผู้ชม และแน่นอนว่าตัวละครเอกส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพระเอกหรือนางเอก ก็มักจะเป็นบุคคลฝั่งธรรมะ ประพฤติตามหลักศีลธรรมความถูกต้อง… ส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

แม้ว่าภาพยนตร์ขึ้นหิ้งหลายเรื่องมักมีตัวเอกเป็น ‘คนดี’ แต่ก็มีภาพยนตร์อีกมากมายที่นำเรื่องผ่านตัวละครที่ใครหลายคนคงอาจจะคิดว่าเลวกว่าตัวร้ายของหนังบางเรื่องเสียอีก (ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นอย่างประจักษ์ชัดก็คงเป็น A Clockwork Orange) แต่ที่เห็นอยู่มากที่สุดก็คงเป็นตัวละคร ‘เทา ๆ’ ที่ไม่ได้เป็นคนดี แต่การทำผิดของพวกเขาก็พอจะเห็นความเชื่อมโยงของที่มาที่ไปได้จนผู้ชมเข้าใจและยอมรับได้ (ยกตัวอย่างเช่น Joker, American Beauty, Fight Club หรือ Barry Lyndon)

แถมภาพยนตร์ที่ชูโรงโดยตัวละครเทา ๆ (หรือดำ) ก็สร้างความบันเทิงแก่ผู้ชมหลายคนได้ไม่แพ้เรื่องที่นำโดยตัวเอกคนดีเลยแม้แต่น้อย เพราะท้ายที่สุดแล้วการได้ชมภาพยนตร์ก็คล้ายกับการถอดตัวเองออกจากชีวิตเดิม ไปสวมในมุมมองคนอื่นเพื่อได้รับความบันเทิงในขณะที่นั่งหรือนอนอยู่กับที่ มาถึงจุดนี้เราจะเห็นได้ชัดว่า ‘ตัวละครเลว’ ไม่ได้สัมพันธ์กันโดยตรงกับ ‘บทเลว’

สำหรับ OMG! รักจังวะ..ผิดจังหวะ ที่กำกับโดย ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี ก็ถือเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่เหล่าผู้ชม ‘เสียงแตก’ ไม่น้อย ผู้ชมหลายคนมองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือการ ‘Romanticize’ มือที่สาม เป็นการระบายสีแห่งความถูกต้องและเข้าอกเข้าใจให้กับความพยายามที่จะ ‘แย่งแฟนคนอื่น’ แต่การที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีพระเอก ‘นิสัยไม่ดี’ ถือว่าภาพยนตร์เรื่องนั้น ‘ไม่ดี’ ด้วยหรือเปล่า…

ในบทความนี้เราจะพาไปสำรวจบางคำตอบของคำถามเหล่านั้น พร้อมทั้งหาว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ให้อะไรกับผู้ชมไปตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ หรือถกเถียงกันต่ออีกด้วย 
 

หนังเรื่องนี้เป็นหนังของคนเห็นแก่ตัว

คือคำที่ผู้คนรอบกายของผู้เขียนนิยามภาพยนตร์เรื่องนี้ ตามมาด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายที่หลายคนได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องราวในภาพยนตร์ที่เขียนมาเสมือนว่าให้ความหวังหรือเอาใจกลุ่มคนที่มุ่งแย่งของ ๆ คนอื่น หลังจากได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้เขียนก็เห็นตรงกับคำนิยามจากผู้คนรอบตัวว่าหนังเรื่องนี้คือหนังของ ‘คนเห็นแก่ตัว

ความชอบที่ผุดขึ้นตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยของ ‘กาย’ (สกาย-วงศ์รวี นทีธร) ที่มีแต่ ‘จูน’ (จูเน่-เพลินพิชญา โกมลารชุน) เป็นเรื่องที่ใครหลายคนก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะคงมีผู้คนไม่น้อยที่สักครั้งหนึ่งในชีวิตต้องเผชิญกับจังหวะชีวิตทำนองนี้ ด้วยเหตุนี้ ภาพยนตร์ในช่วงแรกจึงเต็มไปด้วยโมเมนต์แอบรักสลับผิดหวังของกาย ที่ได้แต่เฝ้ามองจูนมีคนอื่นเรื่อยไป

แม้จะมีเหตุการณ์ที่กายตัดสินใจทิ้งแฟนคนปัจจุบันเมื่อทราบว่าจูน — สาวคนโปรดที่กายแอบชอบมาโดยตลอด — อยู่ในสถานะที่ว่าง แน่นอนว่า ณ จุดนี้ผู้ชมหลายคนก็น่าจะเล็งเห็นความเห็นแก่ตัวของกายที่เล็ดรอดออกมา แต่เหตุการณ์สำคัญที่เสมือนเป็นเส้นทางแยกระหว่างผู้ชม (หลายคน) กับตัวละครเอกอย่างกาย ก็คงเป็นตอนที่เขาได้ส่งหลักฐานสำคัญเรื่องมือที่สามไปให้กับพีท (พีช-พชร จิราธิวัฒน์) แฟนคนปัจจุบันของจูนจนทุกอย่างแหลกสลายไม่เป็นท่า

เหตุการณ์แรกที่เราได้กล่าวถึง แน่นอนว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว — เพราะหากไม่รักสุดหัวใจตั้งแต่ทีแรก จะมาผูกสัมพันธ์กันไปทำไม — แต่การบอกเลิกแพทตี้เป็นสิ่งที่ วันใดวันหนึ่งก็ต้องเกิดและยังเป็นปัญหาที่กระทบเพียงคนสองคน… เพราะถ้าหากไม่รักแล้ว เลิกรากันไปน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับใครหลายคน แม้จะเห็นได้ชัดว่ากายตัดสินใจเลิกเพราะผลประโยชน์ส่วนตัว

แต่สำหรับกรณีหลังนั้นต่างออกไป… เมื่อกายเดินทางมาถึงทางแยกที่ต้องเลือกระหว่างปล่อยเขาไปมีความสุข (แม้ความสุขนั้นตัวเราไม่ได้เป็นคนมอบให้) กับทำลายความสัมพันธ์นั้นทิ้งซะ (หากฉันไม่ได้ ใครก็ห้ามได้) นอกจากจะเป็นหมุดหมายที่ชี้วัดศีลธรรมในใจได้อย่างชัดเจนแล้ว ในอีกแง่มุมหนึ่งมันก็เป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญเช่นเดียวกันว่า

ระหว่างเขากับตัวเราเอง รักใครมากกว่ากัน?

ณ จังหวะที่กายตัดสินใจข้ามเส้นกับจูนที่อควาเรียมหรือตอนที่ตัดสินใจส่งภาพนั้นไปให้พีท เขาก็ได้เลือกเส้นทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แถมยังเป็นการเผยตัวตนอย่างชัดเจนว่าเส้นทางที่เขาเลือกเป็นเส้นทางที่เดิน ‘เพื่อตัวเอง’ หาใช่จูน หญิงสาวในดวงใจที่เขาแอบรักเสมอมา หลังจากเหตุการณ์นี้ จูนจะสามารถเชื่ออย่างสนิทใจได้อย่างไร ว่าชายหนุ่มที่ชื่อกายที่แอบรักเธอเสมอมานั้นมุ่งหวังที่จะมอบความรักที่เอ่อล้นให้เธอจริง ๆ หรือว่าเพียงอยากจะสนองความต้องการของตัวเองเท่านั้น 

ไม่เพียงแค่จูนและความสัมพันธ์ของเธอจะจบลงแบบไม่สวย แต่พีทซึ่งเป็นแฟนคนปัจจุบันของจูน ณ ตอนนั้นก็พลอยเจ็บตัวไปด้วย พีทคือตัวอย่างของคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรแต่กลับต้องมาติดแหแห่งความทุกข์จากมือที่สามของความสัมพันธ์ หากมองดูดี ๆ ณ จุดนี้มีใครได้ประโยชน์อะไรบ้าง?

จูน—ความสัมพันธ์แหลกสลายและจมปลักกับความรู้สึกผิด

พีท—โลกทั้งใบที่ทุ่มหัวใจให้ มอดไหม้ไปต่อหน้าต่อตา ถาโถมด้วยความไม่เข้าใจในสรรพสิ่ง

กาย—แม้จะได้ทำลายความสัมพันธ์ตามใจสนอง แต่แล้วจูนก็ไม่ได้กลับมาอยู่ในอ้อมอกของเขาอยู่ดี

แทนที่กายจะปล่อยจูนไปเหมือนกับตอนที่ เซบาสเตียน (Sebastian) ปล่อย มีอา (Mia) ให้เดินตามทางของเธออย่างมีความสุข แม้ตัวของเขาเองจะไม่ได้มีส่วนของความสุขนั้นเลยก็ตาม ในภาพยนตร์รักแสนจุกอย่าง La La Land (2016) กายกลับกีดกันไม่ให้ใครเลยมีความสุขเพื่อสนองความหวังเล็ก ๆ ว่าทั้งสองอาจได้ครองรักกันจริง ๆ เสียที

หากมองตามหลักของ ‘ทฤษฎีเกม’ (Game Theory) การกระทำของกายช่างไม่สมเหตุสมผลและไม่เป็นประโยชน์เลยแม้แต่น้อย เพราะไม่ว่าจะเลือกทางไหน กายจะได้รับผลประโยชน์เทียบเท่าจุดเดิมหรือไม่ต่างจากจุดเดิมมาก แต่สำหรับจูนกับพีท ผลกระทบต่อทั้งสองต่างกันราวฟ้ากับเหว หากกายตัดสินใจเหมือนเซบาสเตียน อย่างน้อยที่สุดจะมีคนสองคนที่มีความสุขหรือไม่ต้องแหลกสลายเท่านี้ 

แต่ดังที่เราเห็นว่ากายไม่เห็นแก่ใครเลย… เพราะกายเห็นแก่ตัว

ไม่ว่าจะในแง่ศีลธรรมหรือในแง่เหตุและผล หลักฐานทั้งหมดก็ชี้ชัดไปที่จุดเดียวกันว่าตัวละครตัวนี้เห็นแก่ตัว เพราะหากรักจริง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเห็นคนที่เรารักมีความสุข เพราะหากคำนึงถึงอรรถประโยชน์ส่วนรวม (Total Utility) หรือการตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล (Rational Decision Making) เขาก็สมควรที่จะปล่อยเธอไป

แต่แม้ว่าตัวละครจะเลวเพียงไหน ก็ใช่ว่าผู้ชมอย่างเราจะพยายามทำความเข้าใจเขาไม่ได้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกแห่งความจริง คนแบบกาย (หรือแย่กว่า) มีอยู่จริง ๆ และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นการตีแผ่เรื่องราวของคนเห็นแก่ตัวที่ทำให้เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งของชีวิตที่น่าสนใจไม่น้อย แม้ว่าผู้ชมบางท่านจะเกลียดคนประเภทเดียวกับกายแบบเข้าไส้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการหยิบเอาเรื่องราวของคนแบบนี้มาเล่าก็สร้างประเด็นถกเถียงและรสชาติใหม่ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไม่น้อย

หากจะมีแต่ภาพยนตร์ที่พระเอกครองรักกับนางเอกตามศีลธรรม สำหรับบางคน ก็คงน่าเบื่อน่าดู รสชาติใหม่และแง่มุมที่ไม่ค่อยได้ถูกตีแผ่ถือเป็นวัตถุดิบชิ้นสำคัญที่ควรนำมาใช้อย่างมาก ไม่เพียงแค่มันจะเพิ่มความหลากหลายในเรื่องเล่าที่ผู้ชมจะได้รับ แต่มันยังเพิ่มรสชาติใหม่มาให้ใครหลายคนได้ลิ้มลอง — ส่วนจะชอบหรือไม่ชอบนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลล้วน ๆ เรื่องนี้ว่ากันไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ภาพยนตร์ที่ตัวเอกมีความ ‘เทา ๆ’ จึงเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศในโลกของ — ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์ — การตีแผ่เรื่องราว ดังที่เราได้เห็นในความนิยมของภาพยนตร์อย่าง Joker (2019), Parasite (2019), Barry Lyndon (1974), Fight Club (1999), American Beauty (1999), American Psycho (2000) หรือแม้แต่ The Godfather Trilogy (1972-1990)

แต่ถึงกระนั้น OMG! รักจังวะ..ผิดจังหวะ ก็ยังมีจุดบกพร่องที่ทำให้ส่งภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ไปไม่ไกลเท่าที่มันควรจะเป็น… Requiem for a Dream (2000) นับเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ตัวละครไม่น่าเอาอย่างมากที่สุด หนังได้เล่าเรื่องราวเส้นทางการทำลายตัวเองของเหล่าตัวละครทั้งหลาย ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยปลิดความหวังทั้งหมดทิ้งและชี้ให้เห็นถึงภัยร้ายของยาเสพติด

ที่อ้างอิงภาพยนตร์สุดจิตตกจาก ดาร์เรน อโรนอฟสกี (Darren Aronofsky) ไม่ได้เพื่อที่จะบอกว่าชะตากรรมท้ายที่สุดของกายควรจะจบลงอย่างน่าสลด แต่การที่ตอนจบสร้างภาพและสถานการณ์ให้กายมีความหวังอีกครั้งมันอาจจะเป็นบทเรียนที่เบาบางไปสำหรับการกระทำที่เขาได้ก่อเอาไว้ในอดีต และทำให้บทเรียนของการเป็นมือที่สามเบาบางลงไป

กลายเป็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เหมือนจะบอกกับผู้ชมว่า ให้ยืนหยัดมีความหวังอยู่ตลอด แม้จะเห็นแก่ตัว แม้จะทำลายความสัมพันธ์ แม้จะทำทุกวิถีทางที่จะแย่งเธอคนนั้นมาให้ได้ พระเจ้าที่อยู่บนฟากฟ้าจะมองเห็นและเมตตาคุณอยู่เสมอ… 

ผมจึงขอใช้คำนี้อีกครั้ง

 “ไม่แปลกเลยถ้าจะนิยามว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ ‘คนเห็นแก่ตัว

 

ภาพ: ภาพยนตร์ OMG! รักจังวะ..ผิดจังหวะ