พี่เตี้ย มช. : ตูบขาสั้น นักโบกขอขึ้นมอเตอร์ไซค์ในความทรงจำ

พี่เตี้ย มช. : ตูบขาสั้น นักโบกขอขึ้นมอเตอร์ไซค์ในความทรงจำ
ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ถ้าใครตามทวิตเตอร์อยู่บ้างก็น่าจะพอคุ้นหน้าคุ้นตากับแฮชแท็ก #เตี้ยมช ที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยตลอดทั้งวัน เข้าไปอ่านเนื้อหาในแฮชแท็กแล้วก็พอจะจับใจความได้ว่า เป็นเรื่องราวของสุนัขที่ชื่อ เตี้ย อาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยมาหลายวัน จนสร้างความกังวลให้กับนักศึกษาที่ดูแลเจ้าตูบขาสั้นตัวนี้เป็นอย่างมาก  กระทั่งช่วงเย็นของวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 คนรักเตี้ยก็ได้รับข่าวร้ายที่ไม่มีใครปรารถนาให้เกิดขึ้น... เตี้ยได้จากไปอย่างสงบแล้ว คำถามที่ตามมาเกี่ยวกับสาเหตุการตายของเตี้ยนั้น วิทยาศาสตร์การแพทย์อาจจะช่วยเราหาคำตอบได้หลังจากขั้นตอนชันสูตรศพแล้วเสร็จ แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ ทำไมเตี้ยจึงกลายเป็นที่รักของผู้คนได้มากขนาดนี้ เตี้ยไม่ได้เป็นเพียงสุนัขที่ได้รับความรักความเอ็นดูจากเด็ก ๆ และบุคลากรในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่กราฟความนิยมของมันยังพิสูจน์ได้จากยอดกดไลก์ กดติดตามเพจ ‘เตี้ยมช.’  ‘เตี้ยสตอรี่’ แฮชแท็ก #เตี้ยมช และหน้าฟีดเฟซบุ๊กในวันที่พบร่างไร้ลมหายใจของมัน ซึ่งทันทีที่ข่าวการเสียชีวิตของเตี้ยถูกประกาศออกไป สำนักข่าวไทยแทบทุกสำนักก็เสนอข่าวเตี้ยกันเกือบทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า คนรักเตี้ยมีมากมายกว่าที่เราคิดไว้เยอะมาก “เดิมทีเตี้ยไม่ได้ชื่อเตี้ยนะ” คำบอกเล่าที่น่าจะตรงกันที่สุดของนักศึกษา มช. ที่เห็นเจ้าเตี้ยมาตั้งแต่แรกเริ่ม เราไม่แน่ใจนักว่า จริง ๆ แล้วเตี้ยเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ช่วงปีไหนกันแน่ แต่จากหลักฐานยืนยันที่พอจะมีในตอนนี้ระบุไว้ว่า เตี้ยถูกพบในมหาวิทยาลัยครั้งแรกช่วงปี 2557 สถานที่แรกที่เจอเตี้ยคือ ร้านกาแฟคอฟฟี่แมนบริเวณอ่างแก้ว ด้วยความที่เตี้ยป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้นบ่อย ๆ มันจึงได้ชื่อแรกติดตัวมาว่า ‘ลาเต้’ ซึ่งน่าจะมีที่มาจากร้านกาแฟแห่งนี้  ต่อมาเตี้ยก็ย้ายมาอยู่ใกล้กับคณะมนุษยศาสตร์มากขึ้น ด้วยความที่โถงใต้คณะมนุษยศาสตร์เป็นที่ที่มีคนพลุกพล่าน กลางวันจะมีนักศึกษาต่างคณะมาเรียนรวมจำนวนมาก ตกเย็นถึงดึก โถงคณะมนุษย์ รวมถึงโรงอาหารคณะเองก็ถูกใช้ไปกับการทำกิจกรรมเป็นประจำ ที่นี่มีผู้คนอยู่ตลอด ทำให้เตี้ยมักจะชอบอยู่ใกล้ ๆ บริเวณนี้ เพราะเตี้ยชอบอยู่ในที่ที่มีคนเยอะ ๆ และที่สำคัญต้องมีของกินให้เตี้ยด้วย เตี้ยจะชอบมาก หลังจากเริ่มมีนักศึกษาถ่ายภาพของเตี้ยเผยแพร่ออกไปในปี 2558 ก็มีคนออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมกันมากมายเกี่ยวกับชื่อเล่นที่แท้จริงของมัน ‘เบิ้ม’ ‘ช้าง’ และ ‘เตี้ย’ คือชื่อที่ถูกโยนเข้ามาถกเถียงในวงสนทนาว่า แท้ที่จริงแล้วเจ้าตูบขาสั้นตัวนี้มีที่มาจากไหน และชื่ออะไรกันแน่ บ้างก็บอกว่าเตี้ยเป็นหมาจรที่อยู่ในมหาวิทยาลัยมาได้ระยะหนึ่ง บ้างก็ว่าจริง ๆ แล้วเตี้ยมีเจ้าของอยู่แถววัดเจ็ดยอด ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยมากนัก แต่ไม่ว่าเตี้ยจะมาจากไหน หรือชื่ออะไรมาก่อน เตี้ยก็ได้กลายเป็นสุนัขประจำ มช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าเตี้ยจะแฝงตัวอยู่แถวคณะมนุษยศาสตร์ หรือคณะสังคมศาสตร์บ่อย ๆ แต่อีเวนต์ที่ทำให้เตี้ยมีชื่อเสียงและกลายเป็น ‘หมาเซเลบฯ’ ในชั่วข้ามคืน กลับไม่ใช่กิจกรรมร่วมกับทั้งสองคณะข้างต้น แต่เป็นการวิ่งขึ้นดอยในงานประเพณีรับน้องขึ้นดอยปี 2559 ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะลำดับที่ 1 ในการรับน้องขึ้นดอยเป็นประจำทุกปี  มีคำบอกเล่าว่า อันที่จริงเตี้ยเคยร่วมวิ่งขึ้นดอยพร้อมกับนักศึกษามาก่อนหน้าปี 2559 แล้ว แต่ด้วยความที่ในปีนั้น เตี้ยเลือกที่จะวิ่งไปพร้อมกับขบวนเสลี่ยงช้างแก้ว ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลต์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่รุ่นพี่หลายคนตั้งตารอดู และถ่ายคลิปเก็บไว้เป็นจำนวนมาก ภาพจำของเตี้ยจึงกลายเป็นเจ้าหมาขาสั้นที่วิ่งนำหน้าขบวนเสลี่ยง โดยมีขบวนนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์วิ่งตามหลังมาติด ๆ คราวเดียวกันนั้น นอกจากเตี้ยแล้ว มช. ยังมีสุนัขเซเลบฯ อีกสองตัวที่ร่วมวิ่งขึ้นดอยด้วยอย่าง ‘พี่เบื่อ วิศวะ’ สุนัขประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ‘สิงโต แมสคอม’ สุนัขตัวปุกปุยประจำคณะการสื่อสารมวลชน ซึ่งปัจจุบันทั้งเบื่อและสิงโตได้เสียชีวิตไปแล้ว คณะที่เตี้ยสังกัดอยู่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ หลังจากพื้นที่ในมหาวิทยาลัยเริ่มมีสุนัขจรจัดเข้ามาอาศัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ริเริ่มโครงการจัดการปัญหาสุนัข มช. ซึ่งเตี้ยเองก็ได้เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย ตั้งแต่นั้นมาเตี้ยได้รับปลอกคอสีเขียว เป็นสัญลักษณ์ที่หมายความว่า สุนัขตัวนี้เป็นมิตร หากใครติดตามแฟนเพจของเตี้ยก็จะเห็นว่า นักศึกษาภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ดูแลเอาใส่ใจเตี้ยเป็นอย่างดี ทั้งการให้วัคซีนตามกำหนด รวมถึงการช่วยกันจับเตี้ยไปอาบน้ำ จนกลายเป็นภาพความน่ารัก ๆ ที่มีคนรักหมาเข้ามาชมกันอยู่บ่อย ๆ แต่เมื่อมีคนรักมากก็ต้องมีคนชังเป็นธรรมดา แม้เตี้ยจะได้รับปลอกคอสีเขียวที่สื่อว่าเป็นหมาเข้าถึงง่าย ปลอดภัย ไม่ดุ แต่ปรากฏว่า เตี้ยเองก็สร้างความไม่สบายใจให้กับนักศึกษาบางส่วนเช่นกัน จากนิสัยของเตี้ยที่มักจะชอบขอขึ้นรถมอเตอร์ไซค์นักศึกษา เพื่ออาศัยไปลงตามจุดต่างๆ ที่มันต้องการนั้น นักศึกษาบางกลุ่มกลับต้องประสบปัญหา เพราะเตี้ยชอบไล่เห่าสุนัขตัวอื่นระหว่างอยู่บนรถบ้าง ให้ลงจากรถแล้วไม่ยอมลง หรือกระทั่งลงไปแล้ววิ่งไล่เห่ารถที่มาส่ง จนถึงกับจะกัดเลยก็มีเหมือนกัน ประเด็นนี้ได้กลายเป็นข้อถกเถียงว่า ที่สุดแล้วเราควรจะมีวิธีจัดการหรือรับมือกับหมาแบบเตี้ย ที่มีความเหลื่อมกันอยู่ระหว่างหมาจรจัด และหมามีเจ้าของอย่างไร?  ในที่นี้อาจใช้คำว่า เตี้ยเป็นหมาสาธารณะ (public dog) ก็คงไม่ผิดนัก เพราะเตี้ยไม่ใช่สุนัขที่ไร้ที่อยู่อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ และอีกนัยหนึ่งหากนับว่าเตี้ยสังกัดภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์แล้ว ในกรณีที่เตี้ยทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ ภาควิชาจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมกันหรือไม่ ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ แนวคิดหมาสาธารณะประเด็นของเตี้ยก็ดูจะไม่ใช่เรื่องยากเท่าไร แต่หากไม่ใช่ เราคงต้องมาทบทวนถึงวิธีการในการอยู่ร่วมกันกับสุนัขของชุมชน เพราะแม้จะมีคนชื่นชอบเตี้ยจำนวนมาก แต่อย่าลืมว่า ก็ยังมีกลุ่มคนบางส่วนที่ไม่ได้มีใจรักหมาขนาดนั้น ฉะนั้น แนวคิดสุนัขสาธารณะที่มีเจ้าของร่วมกันจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และจะก่อให้เกิดผลดีมากกว่าผลกระทบทางลบหรือไม่ เมื่อเทียบกับสุนัขที่มีเจ้าของคนเดียวอย่างที่เราใช้กันมาตลอด เรื่องนี้คงต้องตกผลึกกันอีกสักระยะหนึ่ง แต่ไม่ว่าเตี้ยจะดี หรือแย่ไปในบางครั้ง ประเพณีรับน้องขึ้นดอยครั้งหน้าก็คงจะแปลกตาไปสักหน่อย เพราะนอกจากจะไม่มีพี่เบื่อกับสิงโตวิ่งไปพร้อมกับเด็ก ๆ แล้ว หน้าขบวนเสลี่ยงช้างแก้วที่เคยมีเตี้ยวิ่งนำก่อนปล่อยขบวน คงต้องปรับบริบทจากตั้งตาคอยดูพี่เตี้ย เป็นการระลึกถึงภาพทรงจำในวันเก่า ๆ แทนเสียมากกว่า ก็ได้แต่หวังว่าเตี้ยจะเดินทางไปหาพี่เบื่อกับสิงโตที่ดาวหมาอย่างปลอดภัยนะ ... เรื่อง: พิราภรณ์ วิทูรัตน์ ภาพ: แฟนเพจ เตี้ย มช.