Tie a Yellow Ribbon Round the Ole Oak Tree: เพลงรักที่แต่งจากเรื่องสั้นพื้นบ้าน และการแปลความหมาย ‘ริบบิน’ ผ่านบริบทโลก

Tie a Yellow Ribbon Round the Ole Oak Tree: เพลงรักที่แต่งจากเรื่องสั้นพื้นบ้าน และการแปลความหมาย ‘ริบบิน’ ผ่านบริบทโลก
“ทำไมคุณถึงเล่นเพลงขยะ ๆ แบบ ‘ริบบินสีเหลืองโง่เง่า’ นี่ ทั้งที่คุณมีเพลงที่ดีกว่านี้” คือคำที่ ‘อัล สเตกเลอร์’ (Al Steckler) เมเนเจอร์และโปรดิวเซอร์แห่ง ‘Apple Record’ ค่ายเพลงของวง ‘The Beatles’ พูดกับสองนักแต่งเพลง ตอนพวกเขาเอา ‘Tie a Yellow Ribbon Round the Ole Oak Tree’ ไปเล่นให้ฟัง เพราะหวังให้เพลงนี้เป็นของ ‘ริงโก สตาร์’ (Ringo Starr) คำปฏิเสธนั้นทำให้ แอล. รัสเซลล์ บราวน์ (L. Russell Brown) และ เออร์วิน เลวีน (Irwin Levine) หอบเพลงนี้ไปเสนอให้ค่ายอื่น และเมื่อถูกขับขานโดย ‘Dawn, Tony Orlando’ เมื่อปี 1973 เพลงที่เคยถูกเรียกว่า ‘ริบบินสีเหลืองโง่เง่า’ กลับกลายเป็นผลงานชิ้นโด่งดัง หวานซึ้ง และตรึงใจจนทะยานขึ้นอันดับหนึ่งทั้งในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และนานาประเทศ ท่ามกลางริบบินสีเหลืองที่ผูกห้อยนับร้อยเส้น เรื่องราวเบื้องหลังเพลงนี้ก็มีที่มาชวนฝัน เพราะมันถูกแต่งมาจากเรื่องสั้นในนิตยสารที่บราวน์บังเอิญอ่านในปี 1972   / I’m comin’ home, I’ve done my time Now I’ve got to know what is and isn’t mine If you received my letter telling you I’d soon be free Then you’ll know just what to do If you still want me, if you still want me /   I'm comin' home, I’ve done my time บนรสบัสคันเก่า ‘วินโก’ (Vingo) อดีตนักโทษชายที่เพิ่งถูกปล่อยตัวหลัง 4 ปีในห้องขัง กำลังกลับบ้าน ในใจนึกหวั่นว่า ‘มาร์ธา’ ผู้ภรรยาจะยังรักเขาอยู่ไหม ในจดหมายฉบับสุดท้าย วินโกเขียนบอกเธอเอาไว้พร้อมกำหนดพ้นโทษว่า “ถ้าฉันกลับมาและเธอยังรอ โปรดผูกผ้าเช็ดหน้าสีเหลืองไว้ที่ต้นโอ๊กหน้าบ้านเรา” เพราะไม่กล้ามองหาผ้าผืนนั้นด้วยตนเอง ผู้คนบนรถจึงขันอาสา วินโกหลับตาเมื่อรถแล่นผ่านหน้าบ้าน เสียงเฮของหนุ่มและสาวบนรถทั้งคันดังขึ้น เขามองไปนอกหน้าต่าง ผ้าเช็ดหน้าที่เขามองหาอยู่ตรงนั้น ด้วยดีใจสุดประมาณ วินโกกลับบ้าน และภรรยาสุดที่รักก็รอเขาอยู่เช่นกัน ข้างต้นคือเนื้อหาในเรื่องเล่าผ่านตัวอักษร ‘Going Home’ หรือ ‘กลับบ้าน’ ที่บราวน์ได้อ่านจากนิตยสาร Reader’s Digest ในปี 1972 (แต่เรื่องราวนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1971 ใน New York Post ในคอลัมน์ The Eight Million เขียนโดย พีต ฮามิลล์ (Pete Hamill) จากเรื่องเล่าปากต่อปาก) คำต่อคำที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องรักชวนยิ้มนั้นทำให้นักแต่งเพลงหนุ่มถึงกับขนลุกและอดอุทานออกมาไม่ได้เมื่ออ่านจบ “พระเจ้า มันต้องกลายเป็นเพลงที่เยี่ยมยอดมากแน่ ๆ”   ตัวหนังสือสู่เสียงเพลง หนึ่งค่ำหลังได้อ่านเรื่องราวของผ้าเช็ดหน้าสีเหลือง วันรุ่งขึ้นบราวน์รีบบึ่งรถไปหาเลวีน เพื่อนนักแต่งเพลงของเขา บราวน์เล่าเรื่องดังกล่าวให้เลวีนฟัง และผลตอบรับก็เป็นไปตามคาด ทั้งคู่คิดว่ามันจะกลายเป็นเพลงที่ดี แต่ติดอยู่เพียงหนึ่งเรื่องเท่านั้น “ผ้าเช็ดหน้า (handkerchief) เหรอ เห่ยชะมัดเลย” เลวีนว่า และบราวน์เห็นด้วย - การใส่คำ ‘handkerchief’ ลงในเพลงน่าจะออกมาชวนขันมากกว่าซึ้ง ชายหนุ่มจึงถ้อยถาม “แล้วเราจะทำไงดี” “เปลี่ยนเป็นริบบินดีไหม” บราวน์เพิ่งขึ้นจากสระว่ายน้ำในบ้านของเลวีน เปียกและหนาวสั่นเล็กน้อยตอนที่หยิบและเกากีตาร์ ท่อนแรกและทั้งเพลงร้อยเรียงไม่เร็วไม่ช้า เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น เลวีนและบราวน์แปะมือ (high-five) กันอย่างเริงร่าเหมือนเด็ก ๆ “เราทั้งคู่ลิงโลดใจ เพราะได้สร้างเพลงแบบที่เรารักออกมา” ‘Tie a Yellow Ribbon Round the Ole Oak Tree’ — ‘o-l-e’ บราวน์บอกว่าเลวีนอยากให้สะกดมันแบบนั้น สองคู่หูพกเพลงนี้ใส่กระเป๋า ตระเวนนิวยอร์ก ทว่ากว่าสิบเอ็ดเดือนของการพยายามขายเพลงให้ค่ายยักษ์ สิ่งที่พวกเขาได้รับมีเพียงเสียงหัวเราะและคำปฏิเสธ “สุดท้ายเราเลยไปหา ‘แฮงก์ เมเดส’ (Hank Medress) โปรดิวเซอร์ที่ทำเพลง ‘Knock Three Times’ เขาถูกใจเพลงนี้ และโปรดิวซ์มันให้ โทนี ออร์แลนโด (Tony Orlando)” หลังจาก ‘ผูกริบบินสีเหลืองบนโอ๊กต้นเก่า’ มาถึงฤกษ์ปล่อย บราวน์เล่าว่านักฟังผ่านวิทยุรักมันจนผู้จัดรายการต้องประกาศให้ผู้คนหยุดโทรฯ ขอเพลงก่อนที่สายโทรศัพท์ของรายการจะไหม้   / Tie a yellow ribbon ’round the ole oak tree It’s been three long years, do you still want me? If I don’t see a ribbon round the ole oak tree I’ll stay on the bus, forget about us, put the blame on me If I don’t see a yellow ribbon ’round the ole oak tree /   ริบบินสีเหลือง ราวปี 1975 ‘ริบบินสีเหลือง’ ที่ถูกส่งต่อจากเรื่องสั้นพื้นบ้านจนมาถึงโลกดนตรี ไม่ได้มีความหมายถึงการต้อนรับผู้ถูกปล่อยจากห้องขังนาม ‘วินโก’ เพียงผู้เดียวอีกต่อไป เมื่อผ้าเช็ดหน้าสีเหลืองในนิทานและริบบินในเพลงได้ถูกนำมาประดับเข้ากับต้นไม้ในโลกจริง เพื่อเป็นการต้อนรับเหล่าทหารที่ได้กลับบ้านหลังสงครามเวียดนามยุติ ริบบินสีเหลืองปรากฏขึ้นอีกครั้งในปี 1979 เมื่อ ‘เพนนี เลนเก็น’ (Penne Laingen) ภรรยาของ ‘บรูซ เลนเก็น’ (Bruce Laingen) หนึ่งในตัวประกันจากเหตุการณ์ ‘วิกฤตการณ์ตัวประกันอิหร่าน’ ได้รับแรงบันดาลใจจากเพลง ‘Tie a Yellow Ribbon Round the Ole Oak Tree’ และแขวนริบบินเหลืองเส้นแรกประดับต้นไม้เพื่อรำลึกถึงสามีของตน พาให้อเมริกันชนร่วมประดับริบบินแบบเดียวกันจนสะพรั่งอเมริกา ความหมายของ ‘Yellow Ribbon’ ค่อยแปรเปลี่ยนหลังจากนั้น โดยมากสื่อถึงบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งสูญหาย หลายครั้งเพื่อไว้อาลัยในเหตุการแสนเศร้า เช่นการอับปางของเรือเซวอล บางครั้งกลายเป็นหมุดหมายทางการเมืองของบางประเทศ เช่นเหตุการณ์ส่งตัวนักการเมือง ‘เบนิกโน อากีโน จูเนียร์’ (Benigno Aquino Jr.) กลับประเทศ ซึ่งเขาถูกลอบสังหารระหว่างนั้น และบางครั้งเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เช่นครั้งระย้าแขวนริบบินบนรั้วของผู้ประท้วงชาวฮ่องกง ริบบินสีเหลืองกลายเป็นสัญลักษณ์แทนบางสิ่งที่มีพลังและยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกัน เพลงที่บรรจุประโยค ‘A hundred yellow ribbons round the ole oak tree.’ อยู่ภายในก็ถูกยกให้เป็นหนึ่งในเพลงอมตะของโลกดนตรี และยังคงมนต์ขลังอยู่แม้จะผ่านมาเกือบ 50 ปีแล้วก็ตาม   / Now the whole damned bus is cheerin’ And I can’t believe I see A hundred yellow ribbons round the ole oak tree I’m comin’ home /   ที่มา: https://www.bbc.com/news/uk-29521449 https://www.tennessean.com/story/entertainment/music/story-behind-the-song/2018/11/09/tie-yellow-ribbon-tony-orlando-dawn-l-russell-brown/1895280002/ https://www.songfacts.com/facts/tony-orlando-dawn/tie-a-yellow-ribbon-round-the-ole-oak-tree ที่มาภาพ: (Michael Ochs Archives/Getty Images) (Photo by Andrew Parsons - PA Images/PA Images via Getty Images)