ทิลลี ล็อคกีย์ สาววัยรุ่นกับแขนไซบอร์ก Alita นอกจอภาพยนตร์

ทิลลี ล็อคกีย์ สาววัยรุ่นกับแขนไซบอร์ก Alita นอกจอภาพยนตร์
หลายคนอาจเคยดูภาพยนตร์ Alita: Battle Angel ที่อำนวยการสร้างโดยเจมส์ คาเมรอนกันมาบ้าง Alita คือไซบอร์กสาวที่มีสมองเป็นมนุษย์ แต่ร่างกายส่วนอื่นเป็นเครื่องจักร แน่นอนว่านั่นคือภาพยนตร์ไซไฟ แฟนตาซี เทคโนโลยีไซบอร์กยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่มนุษย์เราได้ขยับเข้าใกล้ความจริงนั้นได้อีกหนึ่งขั้นแล้ว “สวัสดีค่ะ หนูชื่อทิลลี วันนี้หนูจะมาสาธิตการแต่งหน้าค่ะ” ทิลลี ล็อคกีย์(Tilly Lockey) เด็กสาววัย 13 จากเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ พูดกับกล้องก่อนที่หันไปหยิบแปรงมาทาอายแชโดว์สีม่วงอ่อนให้ที่เปลือกตาด้วยมือขวาอย่างคล่องแคล่ว นี่อาจเป็นวิดีโอสอนแต่งหน้าทั่ว ๆ ไป เว้นแต่ว่าแขนขวาของเธอนั้นเป็นเหล็กสีดำขลับ เช่นเดียวกับแขนซ้าย แม้ในสายตาคนทั่วไป การจับด้ามแปรงของแขนเหล็กนั้นอาจจะไม่เหมือนการจับของคนจริงๆ แบบเป๊ะ ๆ แต่ทิลลีใช้งานมันได้อย่างไร้ปัญหา จนได้ใบหน้าที่สวยตามที่เธอต้องการ ราวกับว่าแขนเหล็กนั้นเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ชีวิตที่เกือบไม่มีลมหายใจ เมื่อทิลลีอายุได้ 15 เดือน ซาราห์ คุณแม่ของเธอเห็นรอยช้ำเป็นจ้ำ ๆ ที่แขนและนิ้วของลูกสาว เธอรู้ทันทีว่าฝันร้ายกำลังคืบคลานเข้ามา นี่คือการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดขั้นรุนแรง หนึ่งในอาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซาราห์โทรเรียกรถพยาบาลทันที เมื่อถึงห้องฉุกเฉิน หมอบอกคุณแม่ของเธอให้ทำใจว่าลูกสาวของเธออาจไม่รอด ถึงอย่างนั้น ปาฏิหาริย์มีจริง... ทารกจากบริสตอลยังคงหายใจ แต่หมอต้องตัดแขนของเธอทั้งสองข้าง ตั้งแต่ข้อศอกไปจนถึงปลายนิ้ว เพื่อรักษาชีวิต ส่งผลให้ ตั้งแต่ทิลลีจำความได้ เธอไม่เคยเห็นแขนและมือตัวเอง เมื่อแขนเทียมคืออวัยวะที่ 32 ซาราห์แม่ของทิลลีรู้ดีว่า ทิลลีฝันอยากมีแขนและมือเหมือนคนอื่น ๆ เธอบอกกับลูกสาวว่าจะทำทุกอย่างเพื่อให้ความฝันของลูกให้เป็นจริง “เมื่อตอนที่หนูอยู่ที่โรงพยาบาล คุณแม่ได้สัญญากับหนูว่า วันหนึ่งหนูจะกลับมามีมืออีกครั้ง” ซาราห์ให้ทิลลีหัดใช้แขนเทียมตั้งแต่จำความได้ แต่แขนเทียมแบบทั่วไป เป็นแค่วัสดุรูปร่างคล้ายแขน สวมทับลงไปตรงที่อวัยวะถูกตัดออก ฟังก์ชั่นการใช้งานจะจำกัดตามรูปร่างของมือที่อยู่ในแขมเทียมนั้น เช่น เธอใช้แขนเทียมที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อเล่นเปียโน แขนขวามีนิ้วเทียมสองนิ้วไว้กดโน้ต ส่วนแขนซ้ายมีนิ้วเทียมสามนิ้วไว้กดคอร์ด ถ้าจะทำกิจกรรมอื่น ๆ ก็เปลี่ยนแขนเทียมอันใหม่ ซึ่งไม่สะดวกกับการใช้ชีวิตเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้ ตอนอายุ 3 ขวบ ซาราห์พาเธอเข้าร่วมโครงการพัฒนาแขนเทียม myoelectric hand (หรืออีกชื่อหนึ่งที่เราคุ้นเคยกันคือ bionic hand) ที่ทำงานเชื่อมโยงกับระบบประสาทของผู้สวมใส่ แค่ทิลลีคิดว่าจะขยับมืออย่างไร สัญญาณคลื่นไฟฟ้าจากสมองก็จะวิ่งไปยังต้นแขนของเธอ และส่งต่อคำสั่งนี้ไปยังวงจรไฟฟ้าภายในแขนเทียม ให้มันขยับได้ตามใจต้องการ แต่เมื่อ 10 ปีก่อน เทคโนโลยี myoelectric hand ยังอยู่ในช่วงลองผิดลองถูก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแขนเทียมแต่ละคู่สูงถึง 10 กว่าล้านบาท และทิลลีต้องใช้แขนเทียมแบบนั้นอย่างน้อย 2 คู่ต่อปี ตกปีละ 20 ล้าน ค่าใช้จ่ายดังกล่าวทำให้ครอบครัวล็อคกีย์ตระหนักว่า “ฝั่งฝัน” ยังอยู่อีกไกล ... หัวใจพ่อแม่ หลังจากนั้น ครอบครัวของทิลลีได้จัดกิจกรรมระดมทุนมากมาย ซาราห์ทำแคมเปญรณรงค์ร่วมกับ Meningitis Research Foundation เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ประเภท meningococcal septicaemia สายพันธุ์ B เพื่อหาวัคซีนป้องกันโรคและวิธีรักษา นอกจากรวบรวมเงินเข้ามูลนิธิ ซาราห์และสามีของเธอ ยังพาทิลลีเข้าร่วมโครงการผลิตแขนเทียมไฟฟ้าของบริษัทต่าง ๆ มากมาย แต่ก็คว้าน้ำเหลวมาเกือบ 10 ปี bionic hand ของหลาย ๆ องค์กรที่ผ่านมา ทำได้อย่างมากแค่ กำมือและแบมือออกเล็กน้อย ทิลลียังไม่สามารถสั่งการให้แขนเทียมหยิบจับสิ่งของได้ แถมดีไซน์ก็ดูใหญ่เทอะทะ ทำให้ทิลลีดูเหมือนตัวประหลาด เวลาไปโรงเรียน เธอรู้สึกอับอาย กลัวเพื่อนๆ จะเอามาล้อเลียน จนกระทั่งปี 2016 ความฝันของทิลลีก็เข้าใกล้ความจริง เมื่อแม่ของเธอเสิร์ช Google ไปเจอกับ Open Bionics ที่ตอนนั้นกำลังทำโครงการวิจัยและพัฒนาแขนเทียม bionic สำหรับเด็กอยู่ในตอนนั้นพอดี แถมยังตั้งอยู่ที่เมืองบริสตอล ใกล้บ้านของทิลลีอีกด้วย นี่คือโอกาสครั้งสำคัญของชีวิต “ดิฉันรู้สึกเหมือนถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งเลย เพราะเขากำลังมองหาเด็กที่สูญเสียแขนตั้งแต่ข้อศอกลงไป เพื่อสร้างแขนเทียมแบบ bionic ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติอยู่” แม่ของทิลลีกล่าว ฝันที่เป็นจริงกับ Hero Arms โครงการแขนเทียมของ Open Bionics มีชื่อว่า Hero Arms มันมาพร้อมกับดีไซน์ทันสมัย เหมือนอยู่ในโลกภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร Open Bionics ตั้งใจว่าเด็กที่ใส่แขนเทียม “ต้องรู้สึกว่าตัวเองเท่ ไม่ใช่มีปมด้อย” นอกจากความสวยงาม Hero Arm ทำงานร่วมกับระบบประสาทของทิลลีได้อย่างไร้ปัญหา เธอสามารถใช้สมองสั่งการให้แขนเทียมของเธอที่มีมอเตอร์และข้อต่อที่สลับซับซ้อน เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น กำมือ, แบมือ, ยกนิ้วโป้งกดไลค์, ทำนิ้วเป็นสัญลักษณ์โอเค, หยิบจับสิ่งของและจับมือกับคนอื่น ๆ ได้ เช่นเดียวกับการจับแปรงแต่งหน้า หรือระบายสีน้ำลงบนกระดาษ ความสำเร็จของ bionic arm ทำให้เธอเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ทั้งออกรายการโทรทัศน์ และได้ไปเดินพรมแดงในงานเปิดตัวหนัง Alita และทิลลีได้พบกับ เจมส์ คาเมรอน ผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์เรื่องนี้อีกด้วย และหลังจบงานทิลลียังได้ของขวัญสุดเซอร์ไพรส์ เมื่อ Open Bionics ร่วมมือกับทีมผลิตภาพยนตร์ Alita สร้างแขนเทียม Hero Arms รุ่นพิเศษ ที่มีดีไซน์เหมือนกับแขนของไซบอร์ก Alita ในหนังมาให้กับทิลลี แน่นอนว่า ฝันของทิลลีเรื่องการได้แขนเทียมกลายเป็นจริงแล้ว แต่สาวน้อยวัย 13 จากบริสตอล ก็ยังไม่หยุดฝัน เธอชอบการออกแบบ อยากเป็นสถาปนิก และแฟชั่นดีไซเนอร์ ด้วยสองมือ bionic ของเธอเอง เช่นเดียวกับ ซาราห์ ผู้ต้องการให้ความสำเร็จของทิลลี เป็นแรงบันดาลใจให้แต่ละบริษัทผลิตแขนเทียม bionic สำหรับเด็กกันมากขึ้น เพื่อให้ราคาในท้องตลาดจับต้องได้สำหรับคนทั่วไปอีกด้วย “เราหวังว่าสิ่งที่เราทำร่วมกับ Open Bionics จะช่วยให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงแขนเทียมชนิดนี้ได้ ให้มันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ นี่คือความฝันของพวกเรา” แม่ของทิลลีกล่าว ที่มา https://www.technology.org/2019/02/28/tilly-lockey-receives-bionic-arms-made-in-collaboration-with-the-production-team-of-alita-battle-angel/ https://openbionics.com/tilly/ https://www.dailymail.co.uk/news/article-6737707/Bionic-girl-Tilly-Lockey.html https://www.metro.news/teen-tilly-lockey-who-overcame-meningitis-now-trials-bionic-arms/1433172/ http://www.womanthology.co.uk/meet-tilly-lockey-bionic-girl-turning-disability-possibility-children-limb-differences/ http://www.womanthology.co.uk/giving-tilly-hand-double-amputee-tilly-lockey-tests-pioneering-bionic-hand-help-children-overcome-disabilities/ เรื่อง: ธัญญานันต์