ทิโมธี เพรสเตโร : บทเรียนราคาแพงจากเจ้าของไอเดีย "ตู้อบทารกสุดล้ำ" ที่ไม่มีใครเคยได้ใช้งาน

ทิโมธี เพรสเตโร : บทเรียนราคาแพงจากเจ้าของไอเดีย "ตู้อบทารกสุดล้ำ" ที่ไม่มีใครเคยได้ใช้งาน
ถ้าคุณอยากจะสร้างโลกที่แตกต่าง คุณต้องออกแบบเพื่อผลลัพธ์ ไม่ใช่เพื่อชัยชนะ
ปี 2010 คือช่วงเวลาที่ ทิโมธี เพรสเตโร (Timothy Prestero) จะจดจำไปตลอดชีวิต เพราะนอกจากมันจะมอบบททดสอบแห่งการเป็นพ่อคนแก่เขา ทิโมธีก็ยังได้รับบทเรียนราคาแพง ในฐานะนักออกแบบที่อยากสร้างผลงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย ทิโมธี เพรสเตโร ซีอีโอของ Design that Matters บริษัทที่รับออกแบบผลิตภัณฑ์ บริษัทนี้ทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรและหน่วยงานการกุศลหลายแห่ง เช่นเดียวกับทิโมธี เหล่านักออกแบบหัวกะทิที่ทำงานในองค์กรนี้ ล้วนมีความฝันอยากจะนำความรู้ด้านการออกแบบมาสร้างงานที่มีคุณค่าและสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมได้ “ผมแค่อยากเห็นความยุติธรรม” ทิโมธีกล่าว “Design that Matters เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของคนที่อยากเห็นโลกดีกว่านี้ แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร” ก่อนหน้านี้ บริษัทของทิโมธีออกแบบผลงานเจ๋ง ๆ และคว้ารางวัลมามากมาย ทั้งประสบการณ์ที่หลากหลาย บวกกับการมีลูกคนแรก ทำให้ในปี 2010 เขาไม่ลังเลที่จะรับงานในโปรเจกต์ออกแบบ ‘ตู้อบเด็กทารก’ สำหรับใช้ในกลุ่มประเทศโลกที่สาม ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดอยู่ที่ปีละ 4 ล้านคน ทิโมธี เพรสเตโร : บทเรียนราคาแพงจากเจ้าของไอเดีย "ตู้อบทารกสุดล้ำ" ที่ไม่มีใครเคยได้ใช้งาน “ปีนี้ผมเพิ่งได้พบกับไอเดียที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้มา มันสุดยอดมาก สุดยอดจนคุณต้องอึ้งไปเลยล่ะ สิ่งนั้นก็คือ ลูกที่แสนน่ารักของผมเอง” ทุก ๆ คนชอบเด็กน่ารัก ทิโมธีบอกว่า คงไม่มีใครอยากเห็นเด็ก ๆ ที่เพิ่งลืมตาดูโลกต้องจากไป ทั้งที่ยังไม่ทันได้เริ่มใช้ชีวิตของพวกเขาเอง “ทุก ๆ ปี จะมีเด็กทารกตายโดยที่ยังมีอายุไม่ถึงปี หรือบางทีก็เสียชีวิตตั้งแต่เดือนแรก ที่จริงแล้วในจำนวนเหล่านั้น เด็กทารกประมาณ 1.8 ล้านคน จะมีโอกาสรอดชีวิตได้ ถ้าในช่วง 3 วันหรืออาจจะสัปดาห์แรก คุณให้ความอบอุ่นแก่พวกเขา” ทีมของทิโมธีได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจหน่วยงานที่คอยดูแลทารกแรกเกิดในกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล พวกเขาพบว่าที่นี่ใช้งานเครื่องอบทารกรุ่นอะตอม ซึ่งได้รับบริจาคมาจากประเทศญี่ปุ่น แต่แน่นอนว่าเพราะมันเป็นเครื่องเก่าที่จำเป็นต้องถูกดูแลรักษา การไม่มีผู้เชี่ยวชาญคอยซ่อม และไม่มีอะไหล่เตรียมไว้ จึงนำมาซึ่งปัญหา เพราะของบริจาคเหล่านั้นกลายเป็นขยะไร้ค่าไปอย่างรวดเร็ว “การให้ความอบอุ่นแก่ทารก มันไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์ที่ล้ำยุคอะไร เราก็แค่ต้องร่วมมือกับศูนย์วิจัยทางการแพทย์ในบอสตัน และใช้เวลาเป็นเดือน ๆ เพื่อออกแบบมันให้ลงตัวทั้งความสวยงามและกลไกที่ทำงานได้จริง และนี่ก็คือ เครื่องอบทารกรุ่น NeoNurture ที่มีของเจ๋ง ๆ อยู่ในตัวมันเพียบ” แต่ปัญหาก็คือ ไม่เคยมีเด็กทารกในประเทศโลกที่สามคนไหน มีโอกาสได้ใช้งานเจ้าเครื่องอบรุ่นใหม่นี่เลย ทิโมธี เพรสเตโร : บทเรียนราคาแพงจากเจ้าของไอเดีย "ตู้อบทารกสุดล้ำ" ที่ไม่มีใครเคยได้ใช้งาน ผลงานเครื่องอบทารกที่ทีมของทิโมธีแสนภูมิใจ เพราะมันไปไกลถึงขั้นได้รับเลือกให้เป็น 50 Best Inventions of 2010 ของ TIME Magazine กลับกลายเป็นเศษเหล็กไร้ค่า เพราะไม่มีโรงพยาบาลไหนกล้าซื้อเครื่องอบราคาแพง ที่ต้องลงทุนทั้งค่าแรง และค่าวัสดุการผลิต ทิโมธียกตัวอย่าง ผอ.โรงพยาบาลในบังกลาเทศที่ไม่มีอำนาจในการจัดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เขาต้องทำเรื่องขอเบิกเงินไปยังกระทรวงสาธารณสุข ไม่ก็รอให้มีผู้ใจบุญจากต่างประเทศซื้อมันมาบริจาคแก่โรงพยาบาลของพวกเขา และแล้ว…นั่นก็เป็นตอนจบของเครื่องอบงี่เง่าที่ได้รางวัล แต่ไม่มีใครได้ใช้งานมันจริง ๆ ทิโมธีบอกว่า บทเรียนจากการออกแบบครั้งนั้นถูกนำมาใช้ในโครงการต่อไปที่ Design that Matters ร่วมงานกับ MTTs จากเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเทคโนโลยีสำหรับดูแลทารกแรกเกิด และ East Meet West องค์กรจากที่เผยแพร่เทคโนโลยีจากอเมริกามาสู่โรงพยาบาลที่ยากจนในอาณาเขตใกล้เคียง คราวนี้ทิโมธีบอกว่า เขาไม่พลาดที่จะศึกษาก่อนว่ารอบนี้ใครเป็นคนใช้ และใครเป็นคนซื้อ และระวังเป็นอย่างดีในเรื่องต้นทุนการผลิต ครั้งนี้เขาต้องออกแบบเครื่องมือที่จะลดอัตราการเกิดโรคดีซ่านในเด็ก “โดยปกติ การรักษาของโรคดีซ่าน คือการใช้วิธีเปลี่ยนถ่ายเลือด ซึ่งทั้งค่าใช้จ่ายและความอันตรายของวิธีนี้ คุณก็น่าจะจินตนาการออก แต่มันก็ยังมีวิธีการรักษาอีกวิธีหนึ่งที่ล้ำยุคกว่านั้น นั่นคือการฉายแสงสีฟ้าให้เด็ก โดยเราต้องพยายามออกแบบให้แสงฉายคลุมผิวหนังของเด็กให้มากที่สุด เอาละ มันจะไปยากอะไร ทำเตียงฉายแสงมาอีกเตียงสิ” และมันก็เป็นอีกครั้งที่ทิโมธีเจอกับโจทย์การใช้งานที่เขาคาดไม่ถึง เพราะเมื่อเขานำเทคโนโลยีฉายแสงสุดล้ำจากอเมริกา ข้ามน้ำข้ามทะเลมาใช้งานในดินแดนที่มีประชากรแสนคับคั่งอย่างเอเชีย จากเดิมที่เด็กคนหนึ่งควรจะได้นอนฉายแสงทีละคนเพื่อการฉายที่มีประสิทธิภาพ พวกเขาก็ต้องนอนเบียด ๆ กันเพื่อรับแสงไปคนละนิดคนละหน่อย ทิโมธี เพรสเตโร : บทเรียนราคาแพงจากเจ้าของไอเดีย "ตู้อบทารกสุดล้ำ" ที่ไม่มีใครเคยได้ใช้งาน “เราเห็นตัวอย่างหนึ่งจากหน่วยอภิบาลผู้ป่วยแรกเกิด เมื่อมีแม่มาเยี่ยมลูกและเห็นพวกเขานอนเปลือยเปล่าอยู่ใต้แสงสีฟ้า โอ้! เขาช่างดูบอบบางเหลือเกิน เธอจึงเอาผ้าห่มมาห่มเด็กไว้ แน่นอนว่าจากจุดยืนของศาสตร์การบำบัดด้วยแสง นั่นไม่ใช่วิธีที่ดีเลย จริง ๆ แล้วมันเป็นวิธีที่โง่เลยละ แต่พวกเขาไม่รู้นี่ ผู้ใช้ของเราไม่รู้ว่าเจ้าเครื่องนี่ หรือแสงนี่มันทำงานอย่างไร เราจึงต้องเอาการบ้านใหม่นี้ไปหาคำตอบมาให้ได้” เป็นอีกครั้งที่ทิโมธีกลับมานอนคิดหาทางออกของปัญหาที่ไม่เคยคิดเลยว่าจะมีอยู่ เขาต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถออกแบบอุปกรณ์ที่ใช้งานจริงในประเทศโลกที่สามได้? เขาลองเปรียบเทียบผลงานออกแบบที่ทันสมัย กับผลงานเครื่องฉายความร้อนหน้าตาบ้าน ๆ ราคาไม่แพงที่เคยรักษาเด็กเวียดนามได้มากกว่า 50,000 คนว่ามันต่างกันอย่างไร ทิโมธีพบว่าอุปกรณ์บ้าน ๆ นั้น นอกจากจะมีกลไกไม่ซับซ้อน แค่มองก็รู้ว่าใช้งานง่าย มันก็ยังคิดไกลไปถึงคนที่อาจใช้งานมันอย่างผิด ๆ ด้วย ทิโมธี เพรสเตโร : บทเรียนราคาแพงจากเจ้าของไอเดีย "ตู้อบทารกสุดล้ำ" ที่ไม่มีใครเคยได้ใช้งาน ทิโมธีนำไอเดียนั้นมาออกแบบอุปกรณ์ฉายแสงบำบัดรุ่น ‘หิ่งห้อย’ (Firefly) ที่กลายมาเป็นเครื่องฉายแสงทารก ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในชีวิตของเขา คราวนี้ทั้งออกแบบโดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิต และกลุ่มผู้ใช้งาน เครื่องฉายแสงรุ่นหิ่งห้อย ที่กวาดรางวัลมาได้มากมาย ถูกออกแบบให้มีฐานรองแบบเปลเดี่ยวสำหรับวางทารกไว้คนเดียว ถ้าผู้ใช้จะอยากวางเด็กอีกคน ก็มีทางเดียวคือต้องวางทับคนแรก ด้วยรูปลักษณ์แบบนี้ การจะใช้งานมันให้ผิดเป็นเรื่องที่ยากมาก แถมถ้าคุณแม่ผู้เป็นห่วงเป็นใยลูกอยากจะห่มผ้าทารกเพื่อมอบความอบอุ่น ก็ไม่เป็นไร เพราะเขาเตรียมติดไฟไว้ทั้งเหนือและใต้เครื่องแล้ว ทิโมธี เพรสเตโร : บทเรียนราคาแพงจากเจ้าของไอเดีย "ตู้อบทารกสุดล้ำ" ที่ไม่มีใครเคยได้ใช้งาน กว่าจะมาถึงตรงนี้ ทิโมธีบอกว่า ทีมของเขาต้องผ่านบทเรียนแสนน่าอาย ที่เกือบจะทำลายอีโก้ของนักออกแบบแถวหน้าจากสถาบัน MIT ไปเสียหมด พวกเขาค้นพบว่าการออกแบบชิ้นงานกับการใช้จริงนั้นมีปัจจัยคั่นกลางอีกมาก และถ้าหากพวกเขาอยากจะข้ามผ่านข้อจำกัดเหล่านี้ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่เปลี่ยนแปลงอะไรได้ เหล่านักออกแบบก็ต้องเลิกมองปัญหาด้วยสายตาของคนนอก แต่ต้องมองมันในมุมของคนที่อยากจะอยู่ร่วมกันในโลกใบใหม่ที่พวกเขากำลังช่วยกันแก้ไขจริง ๆ “ผมต้องเปลี่ยนมาคิดแบบนักอัตถิภาวนิยม และยอมรับว่า มันไม่มีหรอก ผู้ใช้โง่ ๆ น่ะ จะมีก็แต่ผลิตภัณฑ์ห่วย ๆ เท่านั้น”         *อัตถิภาวนิยม คือ แนวคิดทางปรัชญาที่พิจารณาว่า ความเป็นปัจเจกของแต่ละคนเป็นสิ่งสำคัญ
ที่มา