ทิปเปอร์ กอร์ มารดาแห่งป้ายเตือนคำหยาบบนอัลบั้มเพลง

ทิปเปอร์ กอร์ มารดาแห่งป้ายเตือนคำหยาบบนอัลบั้มเพลง
ปี 1984 เป็นปีทองของ "Prince" ที่เริ่มเป็นที่รู้จักก่อนหน้านั้นไม่นาน แต่ในปีนี้ด้วยผลงานอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ "Purple Rain" จึงทำให้เขาเป็นที่รู้จักทั่วบ้านทั่วเมือง กับผลงานเพลงติดอันดับ 1 บนชาร์ตบิลบอร์ดนานถึง 24 สัปดาห์ติดต่อกัน และยังไปติดชาร์ตอันดับหนึ่งในอีกหลายประเทศทั่วโลก ตามมาด้วยรางวัลต่าง ๆ มากมายทั้งออสการ์ และแกรมมี่ ทิปเปอร์ กอร์ (Tipper Gore) ภรรยาของ อัล กอร์ (Al Gore) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเทนเนสซี (ตำแหน่งในขณะนั้น ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก ตามด้วยรองประธานาธิบดีภายใต้รัฐบาลบิล คลินตัน และเคยเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดี) ยังซื้ออัลบั้มดังระดับตำนานไปให้ลูกสาววัย 11 ปี ฟังตามสมัยนิยม แต่เมื่อแม่ลูกกลับบ้านมาเปิดเทปนั่งฟังด้วยกันก็ต้องรู้สึกหน้าชา ๆ ทำตัวไม่ถูก เมื่อเพลงที่ชื่อ “Darling Nikki” ดังขึ้นมา เหมือนที่เธอบรรยายในหนังสือ Raising PG Kids in X-Rated Society (อาจแปลได้ว่า การเลี้ยงลูกวัยใสในสังคมเรตเอ็กซ์) ว่า "เมื่อเราเอาอัลบั้มนี้กลับมาบ้านเปิดกับเครื่องเสียงสเตอริโอแล้วนั่งฟังพร้อมกัน เราได้ยินเนื้อร้องของเพลง 'Darling Nikki'ที่ว่า: 'ผมรู้จักสาวคนหนึ่งชื่อนิกกี/ ผมว่าอย่างเธอน่าจะเรียกได้ว่าเป็นพวกบ้ากาม/ ผมเจอเธอตอนกำลังเปิดนิตยสารนั่งตกเบ็ดอยู่ที่ล็อบบีโรงแรม' เนื้อร้องที่แสนหยาบโลนทำให้เราทั้งคู่รู้สึกอับอาย ตอนแรกมันทำให้ฉันอึ้งไปเลย แต่ตอนหลังฉันโกรธมาก! มีชาวอเมริกันเป็นล้าน ๆ คนที่ซื้อ Purple Rain โดยไม่รู้ว่าจะได้เจอกับอะไร พ่อแม่นับหมื่นแสนซื้ออัลบั้มนี้ให้กับลูก ๆ บางคนอายุน้อยกว่าลูกสาวฉันอีก" Purple Rain จึงกลายเป็นตัวจุดกระแสให้ ทิปเปอร์ กอร์ ออกมาทำสงครามกับดนตรีที่มีเนื้อหาโป๊เปลือย เรียกร้องให้มีการจัดเรตติงเหมือนภาพยนตร์ และการติดป้ายเตือนบนปกอัลบั้ม จากข้อมูลของ The New York Times ทิปเปอร์ กอร์ เดิมชื่อ แมรี เอลิซาเบธ แอตชิสัน (Mary Elizabeth Aitcheson) เกิดเมื่อ 19 สิงหาคม 1948 ที่วอชิงตัน "ทิปเปอร์" เป็นชื่อเล่นที่แม่เธอตั้งให้ตั้งแต่ยังแบเบาะ อายุได้ 4 ขวบ พ่อแม่ก็หย่ากัน แม่พาเธอไปอยู่กับตาและยาย พื้นฐานชีวิตจากครอบครัวที่แตกแยกในยุคที่การหย่าร้างยังต่ำทำให้เธอสนใจปัญหาสังคมและครอบครัว เธอเข้าเรียนในโรงเรียนหญิงล้วน เธอเคยบอกนักข่าวว่าเธอถูกเลี้ยงมาให้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อแต่งงานและมีลูก เธอได้เจอกับ อัล กอร์ ลูกชายวุฒิสมาชิกจากเทนเนสซี อัล กอร์ ซีเนียร์ ในงานพรอม (งานเต้นรำของนักเรียนมัธยมปลาย เป็นงานสำหรับฝึกออกสังคมครั้งแรกของวัยรุ่น) ที่โรงเรียนของอัลผู้ลูก  ทิปเปอร์จบการศึกษาด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบอสตันในปี 1970 หนึ่งเดือนหลังจากนั้นเธอก็กลายเป็น "นางกอร์" ในวัย 21 ปี ทิปเปอร์ต่างจากภรรยานักการเมืองร่วมสมัยอย่าง ฮิลลารี คลินตัน เพราะเธอยอมเป็นช้างเท้าหลังให้สามีตลอดเวลา ตั้งแต่ตัดสินใจล้มเลิกความฝันที่จะเป็นนักจิตวิทยาเด็ก แล้วมาเป็นช่างภาพข่าวแทน และหลังจากแต่งงานกันได้ราวหกปี สามีของเธอก็ได้เป็นผู้แทนในสภาคองเกรส เธอจึงลาออกมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว จากนั้นทิปเปอร์ก็หันมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น ช่วยสนับสนุนกิจการสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ โดยเฉพาะคนไร้บ้าน แต่บทบาทของเธอมาเด่นชัดและกลายเป็นที่รู้จักทั่วไปตั้งแต่ช่วงปี 1985 เมื่อเธอหันมารณรงค์ให้มีการจัดเรตติงอัลบั้มเพลงโดยได้รวมตัวกับบรรดาภรรยานักการเมืองรายอื่น ๆ ในชื่อกลุ่ม Parents Music Resource Center ยื่นคำร้องไปถึงคณะกรรมาธิการวุฒิสภาให้จัดการพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหานี้  "นี่เป็นเรื่องของฉันไม่เกี่ยวกับสามี ฉันไม่เห็นว่าเรื่องนี้จะกระทบสามีไม่ว่าในทางไหน ฉันเป็นนักกิจกรรมมาตั้งแต่ก่อนแต่งงาน ฉันประท้วงสงครามเวียดนาม ฉันทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ฉันไม่ใช่ภรรยาวุฒิสมาชิกที่อยู่ดี ๆ ก็สติแตกขึ้นมา" ทิปเปอร์กล่าว ในส่วนการอภิปรายของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาในเดือนกันยายน 1985 จอห์น เดนเวอร์, แฟรงก์ แซปปา และ ดี สไนเดอร์ สามศิลปินดังได้เข้าให้การกับทางคณะยืนยันถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็นของศิลปิน โดยสไนเดอร์จาก Twisted Sister ไม่เห็นด้วยกับแนวทางติดฉลากเตือนชี้ว่า เนื้อหาของแต่ละอัลบั้มก็พอจะดูออกจากหน้าปกหรือชื่อเพลงอยู่แล้ว และพ่อแม่ก็ควรจะฟังเองก่อน เขาเชื่อว่าให้พ่อแม่เป็นคนจัดการ เหมาะสมกว่าการให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซง ด้าน เดนเวอร์ ตำนานเพลงคันทรีซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องเนื้อหาอยู่แล้วก็เห็นคล้อยกับสไนเดอร์โดยบอกว่า การที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงเขาเกรงว่ามันจะนำไปสู่การเซ็นเซอร์อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งเขาเองยังเคยโดนมาแล้ว จากการเซ็นเซอร์ตัวเองของดีเจบางรายที่ไม่ยอมเปิดเพลง "Rocky Mountain High" เนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่า high ในที่นี้คือการเมายา (The New York Times แต่วุฒิสมาชิกไม่น้อยเห็นคล้อยกับทางคณะแม่บ้านนักการเมือง บางคนถึงกับบอกว่าถ้ากำจัดเพลงพวกนี้ให้หมดไปได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็คงทำไปแล้ว แต่ก็ยอมรับว่าในทางกฎหมายไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ จึงเรียกร้องให้อุตสาหกรรมดนตรีเซ็นเซอร์ตัวเอง ด้วยการติดฉลากเตือนให้รู้ว่าอัลบั้มไหนบ้างที่หากเด็กจะฟังควรได้รับแนะนำจากผู้ปกครองด้วย ซึ่งทางอุตสาหกรรมดนตรีก็ยินยอมคล้อยตาม จึงเป็นที่มาของฉลากที่มีข้อความว่า "Parental Advisory Explicit Content" ซึ่งเริ่มออกใช้จริงในยุค 90s เอริค นูซูม (Eric Nuzum) ผู้เขียนเรื่อง Parental Advisory: Music Censorship in America กล่าวกับ Vox ว่า ปัญหาเรื่องนี้เริ่มจาก ทิปเปอร์เป็นคนซื้ออัลบั้ม Purple Rain ให้กับลูกสาวเอง "เนื้อเพลงก็มีในอัลบั้ม มันเป็นอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์เรตอาร์ เธอเอาไปเปิดให้ลูกฟังโดยไม่ได้ฟังเองก่อน เธอไม่คิดโทษตัวเอง เธอไม่โทษลูกสาว แต่โทษ Prince ปัญหานี้เป็นความผิดของ Prince" ผลของการมีฉลากเตือนในระยะแรกก็คือ ค้าปลีกรายใหญ่อย่าง Walmart ซึ่งเป็นแหล่งกระจายอัลบั้มเพลงที่ใหญ่ที่สุด เลือกที่จะไม่เอาอัลบั้มใดก็ตามที่มีฉลากเตือนวางขาย เพื่อแสดงให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นว่าพวกเขาเป็นผู้ค้ามีจริยธรรม ผู้จัดจำหน่ายสื่อบันทึกเสียงต่าง ๆ จึงต้องหาทางแก้ด้วยการแก้ภาพปกที่ดูรุนแรงเลือดสาดให้ดูซอฟต์ลง เปลี่ยนชื่อเพลง หรือทำอัลบั้มแยกที่มีเนื้อหาเป็นมิตรกับเด็ก ๆ ขึ้นมาอีกอัลบั้มเพื่อขายได้โดยไม่ถูกกีดกัน  ปัจจุบันที่ช่องทางการรับสื่อไม่ได้ถูกจำกัดด้วยค้าปลีกรายใหญ่อีกต่อไป หากเป็นอินเตอร์เน็ตที่ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ในพริบตา ทิปเปอร์เห็นว่า การสื่อสารของพ่อแม่ผู้ปกครองกับเด็ก ๆ ยิ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าในยุคของเธอ "ในยุคของโซเชียลมีเดียและการเข้าถึงทางออนไลน์ มันคงจะดูโบราณที่พ่อแม่จะมาควบคุมลูก ๆ ว่าจะได้เห็นได้ฟังอะไร แต่ฉันคิดว่าการพูดคุยระหว่างพ่อแม่กับเด็ก ๆ ก็ยังมีความสำคัญในวันนี้ไม่ต่างจากในยุค 80 ดนตรีเป็นภาษาสากลที่ส่งผ่านชั่วอายุคน เชื้อชาติ ศาสนา เพศ และอื่น ๆ การสื่อสารและการทำความเข้าใจในเรื่องนี้จึงมีความจำเป็น ณ เวลานี้ ยิ่งกว่าเวลาไหน" (Rolling Stone