ทิปปี ดีเกร: เด็กหญิงเจ้าของฉายา ‘เมาคลีในชีวิตจริง’ ที่ช้างป่ายอมให้ขึ้นขี่ และเสือดาวยอมให้กอด

ทิปปี ดีเกร: เด็กหญิงเจ้าของฉายา ‘เมาคลีในชีวิตจริง’ ที่ช้างป่ายอมให้ขึ้นขี่ และเสือดาวยอมให้กอด
เสียงหมู่นกกำลังขับขาน พระอาทิตย์แห่งดินแดนแอฟริกาทอแสงเจิดจ้าอยู่กลางฟ้า ในยามที่เด็กหญิงฮึมฮัมบทเพลงภาษาฝรั่งเศส สองเท้าเล็กจ้อยของเจ้าหนูในวัยไม่เกินห้าหรือหกขวบย่ำตรงไปหาเจ้าเสือดาวตัวเขื่อง เด็กหญิงเปล่งเสียงเล็ก ๆ และไพเราะของเธอเรียกชื่อเจ้าสัตว์ป่าตระกูลแมว “เจนบี มานี่” ราวรู้ภาษา สี่เท้าของมันเยื้องย่างช้า ๆ ไว้ลายเสือ ทว่าไร้อันตราย ไม่นานนักสองเพื่อนซี้ต่างวัยและต่างสายพันธุ์ ก็นั่งและนอนเอกเขนกตามประสาสัตว์และมนุษย์ด้วยกันใต้ร่มไม้ใหญ่ นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ความมหัศจรรย์ของหนูน้อยทิปปี เด็กหญิงชาวฝรั่งเศสที่เกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กในแอฟริกา ดินแดนที่เธอเรียกว่าบ้าน ผ่าน ‘Le monde selon Tippi’ สารคดีรวมฟุตเทจของเธอและเหล่าสัตว์ป่าที่ถูกเผยแพร่เมื่อปี 1997   กำเนิดทิปปี มหานครปารีสคือดินแดนที่ ‘อาเลียน ดีเกร’ (Alian Degré) และ ‘ซิลวี โรเบิร์ต’ (Sylvie Robert) สองสามีภรรยาที่ยึดอาชีพช่างภาพและภาพยนตร์เป็นงานหลักจากมา โดยมีการบันทึกภาพความเขียวชอุ่มและนานาชีวิตของสัตว์หลากสายพันธุ์ในวินด์ฮุก นามิเบีย เป็นจุดหมาย ท่ามกลางคืนและวันที่เจตจำนงของสัตว์ดังเท่า ๆ กับเสียงของคน ปี 1990 สองสามีภรรยาได้ให้กำเนิดหนึ่งชีวิตเล็ก ๆ ด้วยยินดี และตั้งชื่อลูกสาวที่เกิดกลางป่าของพวกเขาว่า ‘ทิปปี เบนจามิน โอคันติ ดีเกร’ (Tippi Benjamine Okanti Degré) โดยเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทิปปีได้เคยเล่าถึงชื่อของตัวเองเอาไว้ในเว็บไซต์ของเธอว่า “อีกชื่อของฉันคือ ‘โอคันติ’ ที่แปลว่า ‘พังพอน’ ในภาษาโอวัมโบ หนึ่งในชนเผ่านามิเบีย มันอาจจะดูแปลก ๆ สักหน่อยที่จะตั้งชื่อลูกสาวว่า ‘พังพอน’ แต่นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นแห่งเรื่องราวของฉัน”   พังพอนขี่หลังช้าง แม้จะไร้เพื่อนวัยเดียวกันให้เล่นซนและหยอกเย้าอย่างมนุษย์ นับตั้งแต่วันลืมตาดูโลกที่เด็กหญิงทิปปีถูกรายล้อมไปด้วยสัตว์ เริ่มจากลูกลิงตัวเล็ก ๆ และลูกสัตว์บาดเจ็บอย่างคาราคัล (ลิงซ์ทะเลทราย: แมวป่าขนาดกลาง) หรือพังพอนที่พ่อแม่ของเธอและเพื่อน ๆ ของพวกเขาบางคนช่วยเหลือเอาไว้ ทิปปีมักจะใช้ทุกโอกาสที่เธอใช้ได้เพื่อเล่นกับพวกเขา เหล่าลูกสัตว์เป็นเพื่อนเล่นที่ดี หากเจ้าลูกมนุษย์ตัวจิ๋วก็ยังไม่หยุดการทำความรู้จักโลกเพียงเท่านั้น ด้วยวัยเพียงขวบเศษ ๆ เด็กหญิงทิปปีได้พบกับ ‘พี่ใหญ่’ หรือ ‘big brother’ ของเธอเป็นครั้งแรก และพี่ใหญ่ที่ว่าไม่ได้มีสองแขนเพื่ออุ้มโอบเธอเอาไว้ หาก ‘อาบู’ คือพี่ใหญ่วัยร่วมสามสิบที่มี ‘งวง’ ยาว ๆ ไว้คว้าคล้องให้เจ้าหนูขึ้นขี่ เดิมทีช้างป่าไม่ใช่สัตว์ที่เชื่องนัก แต่อาบูกลับเอ็นดูหนูน้อยทิปปีตั้งแต่แรกพบ เจ้าช้างหนักห้าตันคอยแวะเวียนมาดูแลเธอราวกับพี่เลี้ยงเด็ก อาบูอ่อนโยนกับเธอเสมอ และเมื่อเธอเติบโตพอที่จะขี่หลังอันสูงใหญ่ของมันได้ เจ้าพี่ชายตัวเบิ้มก็ยินยอมอย่างเต็มใจ ให้เด็กหญิงกอดงวงงามเอาไว้ต่างหมอน รวมทั้งขึ้นนั่งและนอนบนหลังและคอของมันอย่างสบายอารมณ์ “มันเป็นวิถีของช้างค่ะ พวกเขามักจะใส่ใจกับเด็ก ๆ เสมอ” ทิปปีในวัยผู้ใหญ่กล่าว   เสือดาวเพื่อนรัก ความสัมพันธ์ระหว่างทิปปีและสารพัดสัตว์ยังคงดำเนินต่อไปในขณะที่เธอเริ่มโตขึ้น เธอมีเพื่อนเป็นลูกสิงโตเจ้าป่า บางคราเธอออกไปวิ่งเล่นกับงูไพธอนตัวยาวเฟื้อย แข่งขุดดินกับเจ้าเมียร์แคตตัวจิ๋ว หรือบางครั้งบางทีเธอก็กระโดดขึ้นขี่หลังนกกระจอกเทศแทนจักรยาน เธอผูกมิตรสัตว์มากมาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของฝูงได้ในทุกสายพันธุ์ หากมิตรภาพครั้งที่น่าทึ่งที่สุดในสายตาพ่อและแม่ผู้คอยเฝ้าดู รวมทั้งมนุษย์ผู้ใหญ่ที่ล้วนรายล้อมเธอ ก็คือครั้งที่เธอเริ่มเป็นเพื่อนกับ ‘เจนบี’ (Jenbee) เจนบีเป็นเสือดาวที่ตัวใหญ่กว่าเด็กหญิงไปมาก ปากกว้างและกรามแกร่งของมันสามารถคร่าชีวิตเธอได้ด้วยการตะกรามกัดแม้เพียงครั้ง แม้ว่ามันจะเป็นเสือที่ถูกชุบเลี้ยงด้วยอาหารจากมนุษย์ หากเจนบีก็ไม่เคยเชื่อง ความสันโดษประสาเสือและสัญชาตญาณนักล่าทำให้มันระวังระไว ไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้ และพร้อมจู่โจมเมื่อจำเป็น แต่แล้วทิปปีก็ปรากฏขึ้นตรงหน้า ด้วยการประสานสายตาอย่างไร้เดียงสา ทว่าไร้ความกลัวของเธอ ในไม่ช้าเจนบีก็รู้ว่าเด็กหญิงตรงหน้าไม่ใช่ทั้งศัตรูและอาหาร แต่เป็น ‘เพื่อน’ ตัวจิ๋วที่เหมาะจะเดินเล่นด้วย เจนบีขบเบา ๆ เข้าที่หัวไหล่ หนูน้อยทิปปีหัวเราะร่า เด็กหญิงวิ่งไปข้างหน้า กระโดดโลดเต้นระหว่างก้อนหินและกวัดแกว่งมือเล็ก ๆ ของเธอให้เจ้าแมวยักษ์เยื้องย่างตาม เจนบีชอบเล่นกับเด็กหญิง มันสัมผัสได้ในทุกครั้งที่เธออยู่ใกล้ ๆ และใช้เวลาร่วมกันว่า เจ้าหนูคนนี้ไม่กลัวมัน และมันเองก็ไม่จำเป็นต้องกลัวเธอ น่ามหัศจรรย์ เด็กหญิงทิปปีถูกถามครั้งแล้วครั้งเล่าว่า หนูน้อยกลายเป็นเพื่อนกับสัตว์ทุกตัวที่ได้พบได้อย่างไร “หนูคิดว่าคนทุกคนมีพรสวรรค์ และนี่คือของขวัญที่นางฟ้าให้หนูมา “หนูรู้วิธีต่อสู้นะ หนูรู้ว่าหนูต้องทำยังไง แต่หนูไม่ได้อยากจะสู้กับเขา เพราะงั้น (ตอนที่ไปเล่นกับสัตว์) ห้ามพกไม้ มีด หรือปืน ห้ามพกอะไรเลย!”   มองลูกรักผ่านเลนส์ “ในฐานะพ่อ มันเป็นสิ่งยอดเยี่ยมที่ผมได้เห็นทิปปี - ลูกสาวของตัวเองกำลังเล่นกับเจนบี ราวกับว่าเธอได้รับพรหรือพลังบางอย่าง พรที่อนุญาตให้เธอเป็นที่รักของสรรพสัตว์” คือถ้อยคำของอาเลียนผู้เป็นพ่อ ที่แม้จะกังวลใจในทีแรก หากรอยยิ้มของลูกสาวในทุกคราวที่ได้เล่นกับสัตว์ก็ทำให้เขาวางใจ และอดไม่ได้ที่จะยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพความประทับใจเหล่านั้นเก็บไว้ โดยภาพถ่ายมากมายของทิปปีในวัยเยาว์และเหล่าสัตว์ในแอฟริกา ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือที่ขายดีไม่ใช่เล่น ชื่อ Tippi: My Book of Africa เช่นเดียวกับซิลวีผู้เป็นแม่ เธอเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าการยอมให้เด็กหญิงได้เติบโตอย่างที่เธอต้องการท่ามกลางฝูงสัตว์ คือการตัดสินใจที่จะไม่ทำให้เธอต้องเสียใจภายหลัง แม้จะมีบางคราวที่พวกเขาต้องยุติการพบปะระหว่างทิปปีและสัตว์บางตัวลงด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย ‘มูฟาซา’ (Mufasa) คือชื่อของลูกสิงโตที่เป็นเพื่อนสนิทวัยเด็กของทิปปี และเป็นลูกสิงโตที่ปรากฏบนปกหนังสือของเธอ ในวันที่พบกันครั้งแรก มูฟาซายังอ่อนเยาว์เท่า ๆ กับเด็กหญิง ทั้งสองใช้เวลามากมายร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นมื้ออาหาร การเล่นซน หรือนอนกลางวัน หากเมื่อเวลาผ่าน ทิปปีและมูฟาซามีอันต้องแยกกันไปร่วมปี และเมื่อกลับมาพบกันอีกครั้ง ทิปปียังเป็นเด็กหญิงตัวจ้อยเช่นเดิม แต่มูฟาซากลายเป็นสิงโตหนุ่มที่มีพละกำลังแบบเจ้าป่า “มูฟาซาเข้ามาหาทิปปีอย่างเป็นมิตร เขาสะบัดหางไปมาอย่างร่าเริงเหมือนที่แมวชอบทำ แต่พอหางของเขาถูกตัวทิปปี เธอล้มลงทันที นั่นทำให้ฉันไม่สบายใจ” ซิลวีกล่าว อาเลียนและซิลวีปรารถนาที่จะรักษารอยยิ้มของเด็กหญิงให้คงอยู่ตลอดไป แต่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ไม่เอื้อให้พวกเขาทำเช่นนั้น หลังจากใช้ชีวิตกับเหล่าสัตว์ในนามิเบียได้สิบขวบปี พ่อและแม่ของทิปปีก็ตัดสินใจว่าเธอควรได้เข้าโรงเรียนและมีชีวิตอย่างคนเมือง ทิปปีและครอบครัวย้ายกลับปารีส พวกเขาผละจากความอิสระกลางทุ่งหญ้าและมุ่งหน้าเข้าหาป่าคอนกรีตในเมืองกรุง   แอฟริกันโดยจิตวิญญาณ ปีแรก ๆ ของการย้ายกลับบ้านที่เธอไม่เคยอยู่ ทิปปีประสบปัญหาอย่างมากกับสิ่งที่เด็กคนอื่นคุ้นเคย เธอไม่ชอบกฎเกณฑ์และระเบียบในโรงเรียน และต้องพยายามอย่างมากที่จะมีเพื่อนเป็นมนุษย์ (แม้ว่าเธอจะเคยมีเพื่อนวัยเดียวกันเป็นเด็กชายหญิงจากชนเผ่าในแอฟริกา แต่สำหรับเธอ ‘เด็กในเมือง’ นั้นต่างออกไป) สุดท้ายพ่อและแม่ของเธอก็ต้องถอดใจและให้เด็กหญิงเรียนโฮมสคูลแทน วันเวลาผันผ่าน ทิปปีที่เติบโตขึ้นตามวัยปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองได้ในท้ายที่สุด เธอเข้าเรียนสาขาภาพยนตร์ที่ La Sorbonne Nouvelle University ปัจจุบัน ทิปปี ดีเกร เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยังคงหลงใหลในศาสตร์เดียวกับพ่อแม่ และมีเป้าหมายที่จะบันทึกเรื่องราวของสรรพสัตว์ - เพื่อนในวัยเด็กของเธอ ไว้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เธอกลายเป็นทูตแห่งสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ผู้ตั้งใจจะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแอฟริกา เด็ก ผู้คน ชนเผ่า และสัตว์เรื่อยไป ด้วยการบินไปเยี่ยมเยือนนามิเบียอย่างสม่ำเสมอทำให้เธอได้รับนามิเบียนพาสปอร์ตมาครอบครอง ทิปปีเป็นแอฟริกันโดยจิตวิญญาณ และวินด์ฮุกกลายเป็นบ้านของเธอยิ่งกว่าสถานที่ใด ๆ ในโลก  ทุกครั้งที่เธอกลับไปยังที่แห่งนั้น ทั้งผู้คนและเหล่าสัตว์จะยังใช้แขน งวง เท้า และลำตัวยาวที่เลื้อยคลานขึ้นพันเกี่ยวเพื่อต้อนรับเธอ เช่นเดียวกับที่สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตจะทำ เมื่อครอบครัวที่ห่างไกลได้หวนคืนสู่ภูมิลำเนา   ที่มา: https://comedy.com/news/french-girl-raised-amongst-the-african-wilderness-has-unique-gift-with-animals http://viemagazine.com/article/a-real-life-jungle-book/ https://www.livehonestly.com/old-blog-2/tippi-degre-adorable-french-girl-growing-up-in-africa-with-wildlife-photographer-parents