109 ปี ไททานิคอับปาง กับ 9 เรื่องราวของผู้รอดชีวิตที่สะท้อนทั้งความหวังและความเจ็บปวด 

109 ปี ไททานิคอับปาง กับ 9 เรื่องราวของผู้รอดชีวิตที่สะท้อนทั้งความหวังและความเจ็บปวด 
“ขอเพียงแค่คืนนั้นเรามีเรือชูชีพมากพอ คนที่เหลือจะไม่ต้องตาย” เอวา ฮาร์ต (Eva Hart) ประจักษ์พยานคนสุดท้ายในคืนไททานิคล่มกล่าว เป็นเวลาเกือบ 109 ปี นับตั้งแต่เรือสุดหรู ‘ไททานิค’ จมลงสู่ความมืดมิดของห้วงมหาสมุทรอันหนาวเย็นในวันที่ 15 เมษายน 1912 โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ได้พรากลมหายใจของคนบนเรือไปมากกว่า 1,500 คน ทั้งยังทิ้งบาดแผลให้ผู้รอดชีวิตต้องอยู่อย่างตายทั้งเป็น แต่สุดท้ายความเจ็บปวดก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้มนุษย์หยุดบอกต่อ ‘ความไม่พร้อม’ และ ‘ความไม่ปลอดภัย’ ของเรือที่มีนายทุนเป็นผู้สร้าง ต่อไปนี้คือเรื่องราวของ 9 ผู้รอดชีวิต ที่สะท้อนความเมตตา ความกล้าหาญ และความเสียสละ รวมถึงความโศกเศร้า และความตายในวันที่โชคชะตากลืนกินไททานิคสู่ก้นโลก   ประจักษ์พยานคนสุดท้าย ในวันที่ไททานิคพุ่งชนภูเขาน้ำแข็งด้วยความเร็วสูงสุด 22 นอต หรือประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนไม่สามารถชะลอหรือหักหลบภูเขาน้ำแข็งได้ ‘เอวา ฮาร์ต’ เด็กหญิงวัย 7 ขวบกำลังนอนหลับอยู่ในห้องผู้โดยสารชั้นสองพร้อมครอบครัว ขณะที่พ่อของเธอขึ้นไปดูสถานการณ์บนดาดฟ้าเรือ ก่อนจะเร่งรีบกลับมาพาภรรยาและเอวาไปที่เรือชูชีพที่มีเพียง 20 ลำ เธอและแม่ได้ขึ้นเรือชูชีพหมายเลข 14 ที่กำลังถูกหย่อนลงสู่ท้องทะเล พ่อบอกเธอว่า ในไม่ช้าเราจะได้พบกันอีก แต่เอวากลับตระหนักได้ว่านั่นคือครั้งสุดท้ายที่เธอได้เห็นหน้าพ่อ จนถึงวันนี้ เอวาถือเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เรือล่มคนสุดท้ายที่ยังจดจำความผิดพลาดในการเตรียมเรือชูชีพของ ‘บริษัทไวท์สตาร์ไลน์’ สายการเดินเรือสัญชาติอังกฤษ เจ้าของเรือไททานิคได้  “ขอเพียงแค่คืนนั้นเรามีเรือชูชีพมากพอ คนที่เหลือจะไม่ต้องตาย”   ผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย ‘มิลวินา ดีน’ (Millvina Dean) อายุ 97 ปี เสียชีวิตเมื่อปี 2009 เธอนับเป็นผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย และเป็นผู้รอดชีวิตวัย 2 เดือนที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น เถ้ากระดูกของมิลวินาถูกโปรยลงทะเล ณ ท่าเรือเซาแทมป์ตัน (Southampton) สถานที่ที่ไททานิคเริ่มเดินทาง และจุดจบของหลายพันชีวิตได้เริ่มต้น ครอบครัวของมิลวินาเป็นผู้โดยสารชั้น 3 ที่ไม่ได้ตั้งใจขึ้นเรือไททานิค แต่เรือของพวกเขาถูกเปลี่ยนกะทันหัน เมื่อไททานิคพุ่งชนภูเขาน้ำแข็ง ผู้โดยสารชั้น 3 แทบจะสิ้นหวัง เพราะพวกเขายืนอยู่ในจุดที่ไม่ได้อภิสิทธิ์และไม่มีสิทธิต่อรอง โชคดีที่ผู้เป็นพ่อสามารถพาภรรยา ลูกชายคนโต และมิลวินาขึ้นเรือชูชีพหมายเลข 10 ได้สำเร็จ แต่ตัวเขาต้องจมลงพร้อมกับซากเรือตลอดกาล หากใครหลายคนบอกว่าชีวิตของเธอคือปาฏิหาริย์ มิลวินาต้องใช้เวลาตลอดชีวิตอยู่ท่ามกลางแสงสีสปอตไลท์ที่ถาโถมเข้ามาโดยที่เธอไม่ได้เรียกหา ความสนใจทั้งหมดเป็นเพราะเธอคือ ‘ผู้รอดชีวิต’ ไม่ว่าจะเป็นสารคดี ข่าว งานครบรอบไททานิคล่ม หรืองานเปิดตัวภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง มิลวินาจะต้องได้รับคำเชิญเสมอ นั่นทำให้ช่วงหลังเธอเริ่มปฏิเสธการออกงาน รวมถึงปฏิเสธการดูภาพยนตร์เรื่อง ไททานิค (1997) ที่กำกับโดยเจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลกอันดับหนึ่งของบ็อกซ์ออฟฟิศมาแล้ว มิลวินากล่าวว่า นอกจากภาพยนตร์และหนังสือหลายเล่มจะสะท้อนเรื่องราวในประวัติศาสตร์แล้ว มันยังบีบบังคับให้เธอหวนนึกถึงความทรงจำอันเลวร้าย “ฉันไม่อยากจินตนาการภาพที่พ่อถูกปล่อยให้อยู่บนเรือและจมไปพร้อมกับมัน นั่นคือฝันร้ายที่ไม่มีวันตื่น”   ลูกเรือผู้ทุกข์ทรมาน อีกหนึ่งเรื่องราวของลูกเรือไททานิคที่ตายทั้งเป็นจากเหตุการณ์เรือชนภูเขาน้ำแข็ง เพียงเพราะบริษัทไวท์สตาร์ไลน์ไม่เตรียม ‘กล้องส่องทางไกล’ ให้ลูกเรือสังเกตการณ์ ‘เฟรเดอริค ฟลีต’ (Frederick Fleet) หนุ่มชาวอังกฤษวัย 25 ปี ได้เข้าทำงานเป็นลูกเรือของเรืออาร์เอ็มเอส ไททานิค (RMS Titanic) 1 ใน 3 เรือยักษ์สุดหรูของโลก ‘โอลิมปิค’ (Olympic) ‘ไททานิค’ (Titanic) และ ‘บริทานิค’ (Britannic) เขาคือ 1 ใน 5 ผู้สังเกตการณ์บนดาดฟ้าเรือ และเป็นคนแรกที่ตะโกนบอกว่ามีภูเขาน้ำแข็งอยู่ตรงหน้า โดยเหตุการณ์เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 14 เมษายน 1912 เวลา 23.39 น. เขาสังเกตเห็นภูเขาน้ำแข็งและรีบสั่นระฆังแจ้งเตือน ซึ่งนั่นคือหน้าที่สุดท้ายก่อนที่ผู้คนมากมายจะเบียดกันขึ้นเรือชูชีพ เฟรเดอริคได้รับคำสั่งให้ขึ้นเรือชูชีพหมายเลข 6 ลำเดียวกับที่ ‘มอลลี บราวน์ ผู้ไม่มีวันจม’ เป็นผู้ควบคุมเรือ ขณะที่เท้าก้าวถึงแผ่นดิน เขากลายเป็นจุดสนใจของคนทั่วโลกที่อยากรู้ว่าเหตุใดจึงเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ซึ่งเฟรเดอริคยืนยันหนักแน่นตลอดชีวิตของเขาว่า “ขอแค่เขามีกล้องส่องทางไกลในคืนนั้น เขาจะสามารถป้องกันเหตุการณ์นี้ได้” นั่นก็เพราะลูกเรือได้ร้องขอกล้องส่องทางไกลมาตลอด แต่ทางบริษัทไม่จัดหาให้ ผลลัพธ์ของเรือล่ม คือการที่เฟรเดอริคต้องใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมานท่ามกลางความรู้สึกผิด จนเขาตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงในปี 1965   มอลลีผู้ไม่มีวันจม ‘มอลลี บราวน์’ (Molly Brown) เจ้าของฉายา ‘มอลลี บราวน์ ผู้ไม่มีวันจม (The Unsinkable Molly Brown)’ เธอมีชื่อเสียงโด่งดังภายหลังรอดชีวิตจากเรือไททานิคล่ม โดยมอลลีได้ลงเรือชูชีพลำที่ 6 และทำการยึดเรือ พร้อมขู่จะจับพลาธิการทหารเรือโยนลงน้ำ เนื่องจากเขาไม่ยอมนำเรือกลับไปช่วยเหลือคนที่ยังลอยคออยู่ตามซากปรักหักพัง ทั้งที่เรือชูชีพนี้รองรับคนได้ถึง 65 คน แต่กลับมีผู้โดยสารเพียง 29 คนเท่านั้น  แน่นอนว่าเรือชูชีพลำอื่นก็ประสบปัญหาที่นั่งเหลือเช่นเดียวกัน ทั้งที่จริงแล้วไททานิคควรมีเรือชูชีพทั้งหมด 32 ลำ แต่ถูกลดเหลือเพียง 20 ลำ เพราะทางบริษัทรู้สึกว่ามันทำให้ดาดฟ้าเรือดู ‘รก’ เกินไป นอกจากนี้ในจำนวนเรือ 14 ลำ สามารถรองรับคนได้มากสุด 65 คนต่อลำ เมื่อลดปริมาณเรือชูชีพลงทำให้เรือ 20 ลำ รองรับคนได้เพียง 1,178 คน ขณะที่ไททานิคมีลูกเรือและผู้โดยสารทั้งหมดราว 2,229 คน ซ้ำร้ายเรือ 2 ลำถูกปล่อยลงมหาสมุทรโดยไม่มีผู้โดยสาร และเรือ 18 ลำมีที่นั่งเหลือถึง 472 ที่ เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,500 คน รอดชีวิตเพียง 706 คนเท่านั้น หากคืนนั้นมอลลีไม่ยืนกรานนำเรือกลับไปรับผู้ที่ลอยคออยู่ในทะเล โศกนาฏกรรมครั้งนี้ย่อมมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่มอลลีต้องการ นอกจากความกล้าหาญ มอลลีที่เดิมมีฐานะยากจนยังใช้ชีวิตเพื่อแจกจ่ายความเมตตากรุณาต่อเด็กและสตรีต่อไป โดยเธอกลายเป็นนักแสดงและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ปกป้องสตรีและแรงงาน กระทั่งได้รับการยกย่องว่าเป็นมอลลีผู้ใจบุญ (Philanthropist)   ผู้ไม่มีวันจมยิ่งกว่ามอลลี นี่คือชีวิตสุดพีคของ ‘วิโอเลต เจสซอป’ (Violet Jessop) พนักงานต้อนรับบนเรือที่ได้ฉายาว่า ‘Miss Unsinkable’ ที่ ‘more unsinkable than Mollie’ เพราะเธอไม่เพียงรอดชีวิตจากเหตุการณ์เรือไททานิคล่ม แต่เธอยังรอดชีวิตจากเหตุการณ์เฉียดตายบนเรือทั้ง 3 ลำของบริษัทไวท์สตาร์ไลน์ ปี 1911 วิโอเลตทำงานอยู่บนเรือโอลิมปิค พี่สาวของไททานิคที่กำลังออกเดินทาง และชนเข้ากับเรืออีกลำ แต่ความโชคดีคือเรือโอลิมปิคสามารถกลับเข้าฝั่งได้โดยไม่จม ต่อมาในปี 1912 เธอได้ทำหน้าที่พนักงานต้อนรับบนเรือไททานิค แต่ก่อนที่เรือจะจม เธอขึ้นเรือชูชีพหมายเลข 16 และกลายเป็นผู้ควบคุมเรือ ทั้งยังช่วยเหลือชีวิตของเด็กทารกเพศชายไว้ได้ 1 คน ไม่รู้ว่าเป็นความโชคร้ายหรือโชคดี ในปี 1916 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 วิโอเลตขึ้นเรือน้องเล็กในตระกูลอย่างบริทานิคที่ถูกเปลี่ยนเป็นเรือพยาบาล เธอทำหน้าที่พนักงานและพยาบาลอาสาอย่างมุ่งมั่น แต่ไม่วายเรือบริทานิคก็พบชะตากรรมเดียวกับไททานิค คือจมลงสู่ก้นทะเลหลังได้รับแรงระเบิดจากเรือเยอรมัน แม้วิโอเลตจะเจอเหตุการณ์เฉียดตายมาถึง 3 ครั้ง เธอก็ยังคงให้บริการผู้โดยสารบนเรือของไวท์สตาร์ไลน์ และทำหน้าที่พยาบาลมาตลอดกระทั่งเกษียณ ก่อนเสียชีวิตลงในปี 1971 ด้วยวัย 84 ปี   สตรีเหล็กอีกคนบนเรือของมอลลี ‘เอลซี โบเวอร์แมน’ (Elsie Bowerman) หญิงสาวชาวอังกฤษในวัย 25 ปี ต้องประสบชะตากรรมที่แสนหฤโหดหลังเรือไททานิคชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง เธอเป็นผู้โชคดีทั้งจากการที่ลูกเรือเลือกผู้หญิงและเด็กขึ้นเรือชูชีพก่อน รวมถึงเป็นผู้โดยสารชั้น 1 ที่ได้รับอภิสิทธิ์เป็นกลุ่มแรก ซึ่งเว็บไซต์ History On The Net รายงานสถิติว่าคนกลุ่มนี้รอดชีวิตมากกว่าผู้โดยสารในชั้นอื่นๆ แต่ความเป็นอภิสิทธิ์ชนไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ชีวิตของเอลซีเรียบหรูดูแพงอย่างที่ใครหลายคนคิด ในทางกลับกัน เธอได้ใช้ชีวิตเพื่อพัฒนาสังคมตั้งแต่ก่อนขึ้นเรือโดยการเข้าร่วม ‘The Women’s Social and Political Union’ (WSPU) เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งของสตรีอังกฤษ ภายหลังลงจากเรือไททานิค เธอและแม่อยู่บนเรือชูชีพหมายเลข 6 ซึ่งเป็นลำเดียวกับที่มอลลี ผู้ไม่มีวันจมดูแลอยู่ หลังจากได้รับการช่วยเหลือจากเรืออาร์เอ็มเอส คาร์พาเทีย (RMS Carpathia) เอลซีได้ทำงานเป็นทั้งพยาบาลและอาสาสมัครในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ก่อนจะอุทิศตนเป็นทนายความเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน เรียกได้ว่าเธอเป็นอีกหนึ่งสตรีเหล็กแห่งเรือชูชีพหมายเลข 6 เช่นเดียวกับมอลลีเลยทีเดียว   เคาน์เตสผู้คัดท้ายเรือสู่ที่ปลอดภัย หญิงสาวผู้สูงศักดิ์ เคาน์เตสผู้ใจบุญแห่งโรธีส์ (Rothes) อีกหนึ่งฮีโรจากเหตุการณ์ไททานิคอับปาง ‘นูเอล เลสลี’ (Noël Leslie) ดอกไม้เหล็กผู้โด่งดังจากการควบคุมเรือชูชีพหมายเลข 8 และคัดท้ายเรือพาผู้โดยสารไปยังที่ปลอดภัย นานนับชั่วโมงที่เธอเป็นผู้ถือหางเสือเรือไว้ ก่อนจะกลับลงไปปลอบหญิงสาวคนหนึ่งที่เพิ่งแต่งงาน แต่กลับสูญเสียสามีไปในซากเรือ นูเอลพยายามทำทุกอย่างให้ผู้รอดชีวิตรู้สึกปลอดภัยที่สุดเท่าที่เธอทำได้ แม้จะขึ้นเรือคาร์พาเทียที่มารอช่วยเหลือได้แล้ว นูเอลก็ยังวิ่งวุ่นดูแลเด็กและสตรีที่กำลังตกอยู่ในห้วงเวลาแห่งฝันร้าย เธอดูแลผู้โดยสารที่ยากจน รวมไปถึงเย็บเสื้อผ้าให้กับเด็กทารก หลังจากเรืออับปาง นูเอลยังคงเดินหน้าทำงานด้านพยาบาลและช่วยเหลือผู้เดือดร้อนขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงแม้คนทั่วโลกจะยกย่องเธอว่าเป็นฮีโรจากการช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก แต่นูเอลกลับปฏิเสธความเชื่อนั้น ทั้งยังไม่บอกเล่าวีรกรรมของเธอให้ผู้อื่นฟัง กระทั่งเธอเสียชีวิตในปี 1956 เหลนสาวของนูเอลจึงได้อ่านจดหมายและรับรู้ถึงความกล้าหาญของทวดที่คนทั่วโลกเคารพรัก   จากความตายสู่กฎหมายพาณิชยนาวี เจ้าหน้าที่ ‘ชาร์ลส์ ไลท์โทลเลอร์’ (Charles Lightoller) ต้นหนเรือไททานิคทำหน้าที่อย่างแข็งขันเพื่อคัดผู้หญิงและเด็กลงเรือชูชีพเป็นอันดับแรก แต่ความเคร่งครัดของเขาทำให้เรือชูชีพบางลำต้องถูกปล่อยลงทะเลทั้งที่ที่นั่งยังเหลือ ขณะที่ร่างอันหนักอึ้งของไททานิคค่อย ๆ จมลงสู่ผืนน้ำอย่างช้า ๆ ไม่มีเรือชูชีพเหลืออีกแล้ว ชาร์ลส์ตัดสินใจตายไปพร้อมกับเรือที่เขาประจำการ แต่เมื่อหม้อไอน้ำของเรือระเบิด ร่างของเขาก็ถูกดันกลับขึ้นสู่ผิวน้ำอีกครั้ง คราวนี้เขาโผล่มาเจอเรือชูชีพลำเล็ก Collapsible B ที่พลิกคว่ำอยู่ มีผู้รอดชีวิตราว 30 คนกำลังตะเกียกตะกายขึ้นไปบนเรือ ชาร์ลส์รีบว่ายน้ำเข้าไปสมทบ และสอนวิธีทิ้งน้ำหนักตัวเพื่อสร้างสมดุลเนื่องจากปริมาณคนทั้งหมดถึงขีดจำกัดที่เรือจะรองรับได้ แต่สุดท้ายเขาที่ตั้งใจตายกลับรอดชีวิตข้ามคืน และก้าวเท้าขึ้นเรือชูชีพได้ในรุ่งสาง เมื่อทั่วโลกตั้งคำถามถึงการปล่อยเรือชูชีพว่างของเขา ชาร์ลส์ให้คำตอบว่า เขาสังเกตรอกสำหรับแขวนเรือชูชีพ และคิดว่ามันไม่น่าแข็งแรงพอจะรองรับน้ำหนักคนได้เต็มจำนวน นั่นคือสาเหตุที่เขาเลือกปล่อยเรือก่อน เพราะเกรงว่าหากรอกหัก จากเรือชูชีพจะกลายเป็นเรือดับชีพแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและสตรีที่ขึ้นเรือก่อน ภายหลังการอับปางของเรือไททานิค ชาร์ลส์ได้ให้คำแนะนำถึงมาตรการด้านความปลอดภัยและกฎระเบียบเพิ่มเติมสำหรับการเดินเรือ ซึ่งหลายข้อได้กลายมาเป็นกฎหมายพาณิชยนาวีในปัจจุบัน   จากนักประวัติศาสตร์สู่ฮีโร อาร์ชิบัลด์ เกรซี ที่ 4 (Archibald Gracie IV) ทหาร นักเขียน และนักประวัติศาสตร์ที่เขาก้าวข้ามความตาย และรอดชีวิตไปถ่ายทอดเรื่องราวให้คนทั่วโลกได้ฟังผ่านเรื่องสั้นของเขา แต่อาร์ชิบัลด์กลับเป็นคนแรก ๆ เช่นกันที่เสียชีวิตในเวลาต่อมาไม่นาน อาร์ชิบัลด์ขึ้นไปยังดาดฟ้าเรือขณะที่เครื่องยนต์หยุดทำงาน เมื่อเรือเริ่มเอียงและจมลงสู่ใต้น้ำ เขาช่วยชาร์ลส์ ไลท์โทลเลอร์ ต้นหนเรืออพยพเด็กและสตรีขึ้นเรือชูชีพกระทั่งเรือลำสุดท้ายถูกปล่อยลงน้ำ หลังจากนั้นอาร์ชิบัลด์จึงลงเรือชูชีพขนาดเล็ก Collapsible Boat B พร้อมลูกเรือที่เหลือจำนวนหนึ่ง แต่โชคร้ายเรือกลับพลิกคว่ำ ลูกเรือหลายคนเสียชีวิต เหลือเพียงเขาและเพื่อนอีก 5 คน ความโชคร้ายที่ตามหลังความโชคดีคือ อาร์ชิบัลด์ป่วยหนักจากภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายตํ่ากว่า 35 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน ซึ่งถือเป็นสาเหตุที่คนส่วนใหญ่ในเรือไททานิคแข็งตาย นั่นทำให้เพียง 8 เดือนต่อมาเขาก็เสียชีวิตลง เหลือไว้แค่เรื่องเล่าในวันเรืออับปางที่มีรายละเอียดครบถ้วนที่สุดเท่านั้น   เรื่องราวของทั้ง 9 ชีวิต เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนวิธีคิดของบริษัทนายทุนที่แลก ‘ความปลอดภัย’ ไปกับความสวยงามและความน่าประทับใจ แต่นอกเหนือจากนั้นยังมีสาเหตุอีกหลายประการที่สามารถนำมาถกเถียงกันได้อย่างไม่จบสิ้น 9 มุมมองที่ผ่านมาจึงไม่อาจตัดสินความถูกผิดของใครคนใดคนหนึ่งได้อย่างสมบูรณ์ แต่โศกนาฏกรรมและความตายในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือครั้งนั้นได้แสดงให้เห็นถึง ‘บทเรียนราคาแพง’ ที่ต้องจ่ายด้วยชีวิตและความทุกข์ทรมาน ส่วนในวันนี้ เรื่องราวในอดีตได้กลายมาเป็นแรงผลักดันให้โลกหมุนสู่การพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน เพื่อป้องกันความตายที่ถูกคนอื่นยัดเยียดอย่างอยุติธรรม และให้ความคุ้มครองชีวิตอย่างเท่าเทียมไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใครก็ตาม ขออุทิศเรื่องราวแด่ผู้เกี่ยวข้อง ผู้รอดชีวิต ผู้เสียสละ และผู้ที่นอนหลับใหลอยู่ใต้มหาสมุทร   เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี   อ้างอิง https://www.youtube.com/watch/HRAGMW4n4mc https://www.rd.com/list/titanic-survivors-what-happened-to-them-next/ https://www.dailymail.co.uk/news/article-2593272/We-wonderful-passage-Incredible-letter-written-Titanic-penned-just-hours-sank-mother-daughter-BOTH-survived.html https://allthatsinteresting.com/titanic-survivors/3 https://www.theguardian.com/world/2009/jun/01/last-titanic-survivor-dies#:~:text=The%20last%20living%20survivor%20of%20the%20Titanic%2C%20Millvina%20Dean%2C%20has,of%20more%20than%201%2C500%20lives https://www.biography.com/historical-figure/molly-brown?li_source=LI&li_mdium=bio-mid-article&li_pl=208&li_tr=bio-mid-article https://www.biography.com/news/elsie-bowerman-titanic-biography-facts?li_source=LI&li_medium=bio-mid-article&li_pl=208&li_tr=bio-mid-article https://www.businessinsider.com/titanic-famous-survivors-victims-2018-4#survived-nol-leslie-countess-and-philanthropist-4 https://www.businessinsider.com/titanic-famous-survivors-victims-2018-4#survived-archibald-gracie-iv-historian-and-author-2 https://titanicfacts.net/titanic-victims/ https://titanicfacts.net/titanic-lifeboats/ https://titanicfacts.net/titanic-lifeboats/#top https://www.historyonthenet.com/how-many-people-were-on-the-titanic https://www.history.com/topics/early-20th-century-us/titanic#:~:text=The%20second%20critical%20safety%20lapse,could%20accommodate%20just%201%2C178%20people