เบื้องหลัง ‘Toblerone’ ช็อกโกแลตร้อยปี กับข่าวลือว่าไอน์สไตน์คือผู้ลงนามจดสิทธิบัตรให้ ?

เบื้องหลัง ‘Toblerone’ ช็อกโกแลตร้อยปี กับข่าวลือว่าไอน์สไตน์คือผู้ลงนามจดสิทธิบัตรให้ ?
ช็อกโกแลตรูปสามเหลี่ยมที่มีต้นกำเนิดจากสวิตเซอร์แลนด์นี้ นอกจากจะอยู่มาอย่างยาวนานถึง 113 ปี ยังมีข่าวลือหนาหูว่าอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (ช่วงก่อนจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง) เป็นผู้จดสิทธิบัตรให้หรือไม่ แถมมีบางเว็บไซต์ (https://iprgezgini.org/tag/toblerone-logo-hikayesi/) เผยแพร่เรื่องราวทำนองนี้ พร้อมโปสเตอร์รูปขนม Toblerone คู่กับไอน์สไตน์ แม้จะมีคนออกมาแก้ข่าวและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไอน์สไตน์ไม่ได้เป็นคนเซ็นรับรองสิทธิบัตรนี้” แต่ข่าวลือทั้งหมดก็พอจะมีมูลให้เข้าใจได้ว่าทำไมจึงมีคนตีความไปไกลได้ขนาดนั้น    Toblerone ผู้นำเทรนด์ส่วนผสมและรูปทรงสามเหลี่ยม เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1908 หลังจากธีโอดอร์ โทปเลอร์รับช่วงต่อกิจการร้านช็อกโกแลตของพ่อในเมืองเบิร์น (Bern) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะเดียวกัน เอมิล เบามันน์ (Emil Baumann) ผู้จัดการฝ่ายผลิตซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของเขา เพิ่งเดินทางกลับมาจากฝรั่งเศสพอดี แต่เบามันน์ไม่ได้กลับมามือเปล่า เขานำขนมฝรั่งเศส ที่เรียกว่า Montélimar-nougat ติดมือกลับมาด้วย โดยขนมชนิดนี้มีส่วนผสมของไข่ขาว น้ำผึ้ง และถั่วชนิดต่าง ๆ จะเรียกว่าเป็นตังเมของประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนก็ว่าได้ แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าเบามันน์ตั้งใจนำมาแกะสูตรใส่ช็อกโกแลตหรือแค่ซื้อมาเป็นของฝากโทปเลอร์ แต่เหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้งคู่เข้าครัวคิดสูตรใหม่ออกมาเป็นช็อกโกแลตผสมอัลมอนด์ น้ำผึ้ง น้ำตาล แถมยังมีรูปทรงสามเหลี่ยมที่ไม่เหมือนใคร จากนั้นพวกเขาตั้งชื่อช็อกโกแลตนี้ว่า ‘Toblerone’ โดยคำว่า Tobler มาจากชื่อ Theodor Tobler ส่วนคำว่า Torrone ในภาษาอิตาลี หมายถึงขนมตังเมที่มีส่วนผสมของน้ำตาล น้ำผึ้ง ไข่ขาว และนิยมสอดไส้ด้วยถั่วหรืออัลมอนด์  และนี่คือจุดเริ่มต้นของ Toblerone ผู้นำเทรนด์การทำช็อกโกแลตโดยใส่ส่วนผสมอื่น ๆ เข้าไปด้วย ซึ่งในปีถัดมา Hershey’s ได้เปิดตัวช็อกโกแลตนมที่มีอัลมอนด์ และเจ้าอื่น ๆ  ก็เริ่มนิยมใส่ส่วนผสมอย่างถั่วและอัลมอนด์รวมกับช็อกโกแลตตามมาเรื่อย ๆ    ไอน์สไตน์กับการจดสิทธิบัตร ต่อมาในปี ค.ศ. 1909 โทปเลอร์เกรงว่าสูตรและดีไซน์ช็อกโกแลตทรงสามเหลี่ยมของเขาจะถูกลอกเลียนแบบ เขาจึงตัดสินใจไปจดสิทธิบัตร ซึ่งโทปเลอร์เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์สวิตเซอร์แลนด์ที่จดสิทธิบัตร ‘ขั้นตอนการผลิตช็อกโกแลตชนิดใหม่’  เรื่องบังเอิญในช่วงนั้นคือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยังไม่ทันได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก เขาทำงานอยู่ที่สถาบันทรัพย์สินทางปัญญา (Institute for Intellectual Property) ในกรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่โทปเลอร์ยื่นจดสิทธิบัตรของ Toblerone พอดี อย่างไรก็ตาม ไอน์สไตน์ไม่ได้เป็นคนลงนามในสิทธิบัตรของ Toblerone แต่อย่างใด  เมื่อทั้งคู่ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักของผู้คนจำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่การจดสิทธิบัตรในวันนั้น จะเป็นเพียงธุรกรรมธรรมดาที่เกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ จนกระทั่งไม่กี่ปีต่อมา ไอน์สไตน์เริ่มมีชื่อเสียงจากทฤษฎีสัมพัทธภาพ ส่วน Toblerone ก็เริ่มขายดิบขายดี ชื่อเสียงของทั้งคู่เริ่มแพร่สะพัดไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ตามมาด้วยข่าวลือหนาหูที่เชื่อมโยงเหตุการณ์นี้ว่า ไอน์สไตน์อาจเป็นคนรับจดสิทธิบัตรพร้อมเซ็นรับรองให้กับ Toblerone ในวันนั้น  แต่ท้ายที่สุดก็มีคนออกมาบอกว่า เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงข่าวลือและความบังเอิญของเวลาที่พอเหมาะพอดี บวกกับการเป็นเรื่องราวของบุคคลสำคัญและช็อกโกแลตแบรนด์ดัง เลยทำให้มีการแต่งเติมเสริมเรื่องจนหลายคนสับสนไปตาม ๆ กัน   เรื่องเล่าเงาหมี และที่มาของช็อกโกแลตทรงสามเหลี่ยม อย่างไรก็ตาม เรื่องราวชวนสงสัยของ Toblerone ไม่ได้มีเพียงเรื่องไอน์สไตน์เท่านั้น เพราะ Toblerone เรียกได้ว่าเป็นขนมที่มีเรื่องเล่าในตัวเองให้ผู้คนได้พูดถึงอยู่บ่อย ๆ อย่างโลโก้ของ Toblerone บนซองช็อกโกแลต หากมองเผิน ๆ อาจเข้าใจว่าเป็นภาพยอดเขาตั้งตระหง่านอยู่ แต่หากสังเกตดี ๆ จะพบว่ายอดเขานี้ซ่อนภาพเงาหมีไว้ในนั้นด้วย เพราะหมีเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเบิร์น (Bern) เมืองต้นกำเนิดช็อกโกแลตยี่ห้อนี้นั่นเอง ความน่าค้นหาอีกอย่างหนึ่ง คือปริศนาสามเหลี่ยมทรงปริซึมของช็อกโกแลตยี่ห้อ Toblerone หลายคนอาจคิดว่ามาจากยอดเขาแมทเทอร์ฮอร์น (Matterhorn) อันสูงตระหง่านและมีชื่อเสียงที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ แต่โทปเลอร์บอกว่า แรงบันดาลใจแท้จริงของรูปสามเหลี่ยมนั้น กลับมาจากการแสดงที่ Folies Bergère ห้องแสดงดนตรีในปารีส ขณะที่เหล่านักเต้นเริงระบำอย่างครึกครื้นค่อย ๆ ต่อตัวขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดยักษ์ สร้างความประทับใจให้กับโทปเลอร์มาก จนเขานำมาดีไซน์ช็อกโกแลตของตัวเองให้เป็นทรงสามเหลี่ยมเรียงเป็นแถวยาวอย่างที่เห็น การมีเรื่องราวให้คนกล่าวขานถึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ Toblerone ไม่ห่างหายไปจากสายตาและบทสนทนาของผู้คน นอกจากนี้แม้จะผ่านมานานกว่า 100 ปี Toblerone ยังใช้โลโก้และซองช็อกโกแลตที่แทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก และมักจะถูกวางขายอยู่ตามสนามบิน สร้างภาพจำให้เรานึกถึงสวิตเซอร์แลนด์และการเดินทางทุกครั้งที่เห็นช็อกโกแลตยี่ห้อนี้ Toblerone จึงนับเป็นแบรนด์ที่มีเรื่องราวชวนสงสัยและอยู่ในความทรงจำของผู้คน ราวกับเป็นตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่ แถมมีรสชาติอร่อย ๆ ให้คนทั่วโลกได้ลิ้มลองอีกด้วย   ที่มา