ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา : จากเด็กชายผู้เคยหันหลังให้การศึกษา สู่การก่อตั้ง bitkub สตาร์ทอัพยูนิคอร์นแห่งที่ 3 ของไทย

ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา : จากเด็กชายผู้เคยหันหลังให้การศึกษา สู่การก่อตั้ง bitkub สตาร์ทอัพยูนิคอร์นแห่งที่ 3 ของไทย
นอกจาก ‘ยูนิคอร์น’ จะหมายถึงสัตว์ในเทพนิยายแล้ว ในแวดวงสตาร์ทอัพ ยังหมายถึงบริษัทที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 33,270 ล้านบาท ซึ่งในประเทศไทยมีสตาร์ทอัพที่ได้เป็นยูนิคอร์นเพียง 3 แห่งเท่านั้น โดยล่าสุด ‘bitkub’ คือสตาร์ทอัพที่ได้ก้าวสู่การเป็นยูนิคอร์นแห่งที่ 3 ของประเทศไทย (2 แห่งแรกคือ Flash Express และ Ascend Money) แม้จะใช้เวลาเพียง 3 ปีกว่า ทว่าช่วงเวลาที่ดู ‘รวดเร็ว’ และการประสบความสำเร็จอย่าง ‘ก้าวกระโดด’ สำหรับ ‘ท็อป - จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา’ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ bitkub วัย 31 ปีคนนี้ กลับเป็นช่วงเวลาอันยาวนานและเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ตรงข้ามกับภาพความสำเร็จที่หลายคนมองเห็นในปัจจุบัน    เริ่มจากช่วงวัย(ที่ไม่อยาก)เรียน “ผมอยากเป็นนักฟุตบอล” คงเป็นคำตอบของเด็กชายท็อปเมื่อใครสักคนถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร ?”  เพราะเขาไม่เคยวาดฝันอยากจะเป็นเศรษฐี มีธุรกิจหมื่นล้าน หรือแม้แต่การเป็นที่หนึ่งในชั้นเรียน  ท็อปโตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจขายปลีกและส่งเสื้อผ้า ในแง่ชีวิตประจำวันและพื้นฐานการศึกษา ครอบครัวของเขาพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ หากสิ่งที่เด็กชายท็อปมักจะทำให้พ่อแม่ของเขาต้องกุมขมับอยู่บ่อย ๆ คงเป็นความสนิทกับห้องปกครองมากกว่าห้องสมุดในช่วงวัยประถมศึกษา เพราะเขาเคยมีปัญหาชกต่อยกับเพื่อน จนเพื่อนของเขาเกือบแขนหัก ส่วนท็อปเองก็เกือบจะโดนไล่ออกจากโรงเรียน พ่อและแม่ของท็อปจึงตัดสินใจส่งเขาไปเรียนยังประเทศนิวซีแลนด์ ด้วยหวังว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจะช่วยให้เขาปรับพฤติกรรมตัวเองให้ดีขึ้นได้ แต่เมื่อย้ายไปเรียนที่นิวซีแลนด์ ท็อปก็ยังคงใช้เวลาอยู่กับฟุตบอลมากกว่าการเรียนหนังสืออยู่เช่นเดิม รู้ตัวอีกทีเขาก็กลับมาเมืองไทยโดยที่ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในไทยได้ ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ท็อปอยากจะตั้งใจเรียนให้มากขึ้น และยื่นใบสมัครไปยังมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ (โดยเลือกตามชื่อทีมฟุตบอลที่ตัวเองชอบ) จนในที่สุดเขาก็สามารถเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) แห่งสหราชอาณาจักร โดยท็อปเลือกเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่เขาทำได้ดีที่สุดในช่วงวัยมัธยม    สู่เด็กแถวหน้าของมหาวิทยาลัย  “เพิ่งรู้ว่าห้องสมุดหน้าตาเป็นยังไงก็ตอนมหาวิทยาลัยปี 1” ท็อปเล่าในรายการ PERSPECTIVE เพราะช่วงที่เขาเรียนปริญญาตรี คือการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กับความพยายามอ่านหนังสือและตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ ด้วยการใช้เวลา 10 - 12 ชั่วโมงต่อวันไปกับการอ่านหนังสือทบทวนบทเรียน แม้แต่ช่วงคริสต์มาสที่บรรยากาศในมหาวิทยาเงียบงัน เขาก็ยังเดินลุยหิมะ ฝ่าการเฉลิมฉลองมาอ่านหนังสือเงียบ ๆ ในห้องสมุด และแล้วความพยายามของท็อปก็ทำให้เขาสามารถคว้าเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทองในระดับปริญญาตรีมาได้ แถมมหาวิทยาลัยยังคืนเงินให้กับเขาจากผลการเรียนอันโดดเด่นครั้งนี้  “ถ้าเราพยายามมากกว่าคนอื่น ผลลัพธ์ย่อมมากกว่าคนอื่น”  นั่นคือสิ่งที่ท็อปได้เรียนรู้ เพราะผลพวงจากความพยายามของเขาทำให้มหาวิทยาลัยที่เขาไม่กล้าสมัครตอนปริญญาตรี อย่าง Oxford, Cambridge, LSE (London School of Economics and Political Science), UCL (University of London) ได้กลับกลายเป็นมหาวิทยาลัยที่เขาต้องเป็นคนเลือกในระดับปริญญาโท ซึ่งท็อปตัดสินใจเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Oxford แต่ถึงอย่างนั้น การเรียนในมหาวิทยาลัยดังกล่าวกลับไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด แม้ว่าเขาจะเคยเป็นที่หนึ่งในช่วงปริญญาตรีมาแล้วก็ตาม “เรียนที่นั่นสองปีไม่เคยทำ exercise ได้เลย ขนาดอ่านหนังสือ 12 - 14 ชั่วโมงต่อวัน ก็ยังทำแบบฝึกหัดไม่ได้สักข้อ  “พอเข้าไปในห้องสอบแล้วเปิดคำถามปุ๊บ เลือดกำเดาเกือบไหล เหมือนกับผมไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อนเลย จนสุดท้ายเราตัดสินใจกาคำถามทิ้ง แล้วตั้งคำถามเอง ให้รู้ว่าอ่านหนังสือ ไม่ใช่ไปเที่ยว เป็นความทรงจำที่ทรมานมาก” (จากรายการ PERSPECTIVE)   จุดเริ่มต้นของ bitkub หลังจากผ่านความโหดหินของปริญญาโทมาแบบเส้นยาแดงผ่าแปด ท็อปเริ่มทำงานใน Investment Banking ที่เซี่ยงไฮ้ และนั่นคือช่วงเวลาที่เขาได้รู้จักกับคำว่า ‘Bitcoin’ ผ่านบทความ ‘Why Bitcoin Matters’ ของ มาร์ก แอนเดอร์สัน ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ก่อนจะมารู้ภายหลังว่าผู้เขียนบทความนั้นคือคนที่สร้าง Netscape เบราว์เซอร์ตัวแรกของโลกที่ Microsoft ได้เข้าซื้อกิจการในเวลาต่อมา ท็อปจึงเริ่มศึกษาเรื่อง Bitcoin อย่างจริงจัง พร้อม ๆ กับการเก็บคำถามและความสนใจเอาไว้เรื่อยมา “ผมโชคดีเพราะว่ามันมีหลาย ๆ อย่างที่ลงตัว การจะมาถึงจุดนี้ได้ อย่างที่สตีฟ จอบส์พูดเลยครับว่า มันคือการ connect the dots ย้อนหลัง ผมไปเจอวิชาที่ชอบที่สุด ดันเรียนเศรษฐศาสตร์ ชอบที่สุดเลยคือประวัติศาสตร์การเงินโลก ทำให้รู้ว่าเงินมันเปลี่ยนทุก 50 ปี ไปที่เซี่ยงไฮ้ก่อนจะไปเจอบิตคอยน์ก่อนคนอื่น” หลังลาออกจากงานประจำที่เซี่ยงไฮ้ ท็อปใช้เวลาราวหนึ่งเดือนไปกับการช่วยเพื่อนทำโปรเจกต์เล็ก ๆ ที่ฟิลิปปินส์ และมีโอกาสได้รีเสิร์ชเกี่ยวกับสตาร์ทอัพในประเทศไทย ทำให้เขาพบว่าสตาร์ทอัพในไทยยังมีน้อยและไม่มีใครทำเรื่อง Bitcoin แม้แต่เจ้าเดียว หลังจากนั้นไม่นาน ท็อปได้งานประจำแห่งใหม่ และได้พบกับเพื่อนของเพื่อนที่ชื่อว่า Dan Scatt ผู้เป็น executive ของบริษัท PayPal ท็อปจึงมีโอกาสถามความคิดเห็นของแดนเกี่ยวกับ Bitcoin  “แดนบอกว่า ท็อปรู้ไหมว่าตอนที่ PayPal เปิดบริษัทใหม่ ๆ เป้าหมายของ PayPal คือสร้างดิจิทัลดอลลาร์ แต่ในยุคของเขา มือถือก็เข้าไม่ถึงทุกคน อินเทอร์เน็ตก็ช้า แต่พอยุคคุณ มือถือเข้าถึงคนส่วนใหญ่แล้ว อินเทอร์เน็ตก็เร็ว แถม blockchain technology ก็มาแล้ว ...Bitcoin จะมาเปลี่ยนแปลงโลก" คำตอบของแดนบวกกับความสนใจใน Bitcoin ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ได้จุดประกายให้เขาตัดสินใจกลับมาเปิดบริษัทของตัวเองในวัย 23 ปี โดยอาศัยชั้นลอยในร้านเสื้อผ้าของพ่อแม่เป็นออฟฟิศสำหรับซื้อขาย Bitcoin ในประเทศไทย โดยมีพนักงานเพียงคนเดียว นั่นคือตัวเขาเอง...   อุปสรรคคือความไม่เข้าใจของผู้คน หากช่วงเวลาที่ Oxford คือความทรมานอย่างแสนสาหัสจนเขาไม่อยากกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง การเปิดบริษัทของตัวเองคราวนี้กลับเป็นโจทย์ที่หินกว่าการสอบที่ Oxford อีกหลายเท่าสำหรับท็อป เพราะเขาต้องก้าวผ่าน ‘ความไม่เข้าใจ’ ของครอบครัว คนรอบตัว แม้กระทั่งกฎหมายที่ยังไม่ได้บัญญัติเรื่อง Bitcoin เอาไว้ด้วยซ้ำ ทำให้แม้จะอธิบายละเอียดแค่ไหน ทุกคนก็ยังคงขมวดคิ้วและเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามอยู่เช่นเดิม เคยมีครั้งหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกจดหมายว่าบิตคอยน์อาจจะเป็น ‘แชร์ลูกโซ่’ จนทำให้เขาเริ่มทะเลาะกับครอบครัว พ่อแม่ของท็อปขอให้เขาปิดบริษัท พนักงานกว่าครึ่งลาออกเพราะไม่มั่นใจในสิ่งที่เขาทำ ท็อปจึงตัดสินใจลองโอนเงินไปให้น้องสาวที่ประเทศอังกฤษเพื่อพิสูจน์ให้พ่อและแม่เห็น “ผมก็เลยบอกว่าเดี๋ยวผมจะโชว์ให้ดู ตอนนั้นหน้าที่ของพี่ชายคนโตคือโอนเงินไปให้น้องสาวที่ประเทศอังกฤษ ผมก็เลยบอกว่าเอาสองแสนบาทมา เดี๋ยวผมโอนให้ผ่านบริษัทผม เป็นวันที่ผมจำได้แม่นเลยครับ เอาเงินสองแสนบาทที่อยู่ในแบงก์มาซื้อบิตคอยน์ แล้วเอาบิตคอยน์ไปขายที่นั่น ที่อังกฤษ ปรากฏว่าภายใน 30 นาทีน้องโทรฯ กลับมาหาว่าเงินเข้าแล้วนะ โอนเงินมาเกินหรือเปล่า บอกให้โอนแค่สองแสน ปรากฏว่า transaction นั้น ผมทำกำไรอีก 5%”  (จากรายการ PERSPECTIVE) แม้เหตุการณ์ครั้งนี้จะทำให้พ่อและแม่เริ่มเปิดใจมากขึ้น แต่ไม่นานหลังจากนั้นกลับมีจดหมายเรียกตัวจาก ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ส่งมาหาท็อปโดยตรงที่บริษัท ทำให้พ่อแม่ของเขาต้องกุมขมับอีกครั้งหนึ่ง “ส่งเรียนขนาดนี้มาเปิดบริษัทฟอกเงินทำไม” ท็อปเล่าย้อนถึงหนึ่งในช่วงที่ยากที่สุดของชีวิตซึ่งอัดแน่นไปด้วยความรู้สึกตึงเครียดและเจ็บปวด เพราะเขาไม่สามารถปรึกษาพ่อแม่ได้แบบตอนเรียนมหาวิทยาลัย ไม่สามารถปรึกษาพนักงานในบริษัทได้เพราะกลัวว่าจะทยอยลาออกไปอีกครั้ง ดังนั้นนอกจากการศึกษากฎหมายอย่างถี่ถ้วนเพื่ออธิบายกับ ปปง. แล้ว ทุก ๆ เย็นวันศุกร์ ท็อปจะขับรถไปยังสนามบิน แล้วสุ่มเลือกไฟลท์ที่กำลังจะออกไปที่ไหนสักแห่ง แม้ไม่รู้แน่ชัดว่ากำลังเดินทางไปที่ไหน แต่สิ่งที่แจ่มชัดในใจคือความรู้สึกว่าอยากจะวิ่งหนีจากปัญหาที่ต้องเผชิญหน้าในกรุงเทพฯ ก่อนจะกลับมาลุยใหม่ในวันอาทิตย์ และเป็นอยู่อย่างนั้นนานถึง 7 สัปดาห์ จนในที่สุดท็อปก็สามารถอธิบายให้ ปปง. เข้าใจได้สำเร็จ พร้อมกับข่าวดีต่อมาคือแบงก์ชาติญี่ปุ่นประกาศว่า Bitcoin ถูกต้องตามกฎหมายในปี 2017 และสามารถใช้แทนเงินเยนได้ ซึ่งกลายเป็นข่าวที่ช่วยยกภูขาลูกใหญ่ที่ท็อปแบกเอาไว้แสนนานให้เบาลงไปได้มหาศาล   ก้าวผ่านทีละเป้าหมาย เมื่อสถานการณ์ค่อย ๆ ดีขึ้น เขาได้ขายกิจการให้กับบริษัท Gojek ในปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงที่ ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) เปิด FinTech Challenge พอดิบพอดี ท็อปจึงมีโอกาสได้พรีเซนต์เรื่องการสร้างตลาดหลักทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมาด้วยระบบบล็อกเชนที่ทำให้การโอนเงินเข้า-ออกบัญชีสามารถทำได้อย่างรวดเร็วหลักวินาที และคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัทใหม่อีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า ‘bitkub’ โชคดีที่ความโหดหินที่เขาเคยฝ่าฟันมาก่อนหน้าและความสำเร็จจากธุรกิจแรกค่อย ๆ พิสูจน์ให้เหล่านักลงทุนหลายคนเชื่อมั่นในตัวเขา จนท็อปสามารถระดมทุนเพื่อ takeover บริษัท IT มาก่อตั้ง bitkub ได้สำเร็จ โดยตอนแรกเริ่ม bitkub มีพนักงานเพียง 20 คนก่อนจะขยับขยายมาเป็นหลักพันคนอย่างในปัจจุบัน ในที่สุด bitkub ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทในประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาตพิเศษจากกระทรวงการคลัง ให้สามารถมาซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยในปีแรก bitkub ใช้เงินทุน 40 ล้านบาท ขาดทุนไป 37 ล้านบาท ส่วนปีที่ 2 bitkub ใช้เงิน 47 ล้านบาท แต่สามารถทำเงินได้ 50 ล้านบาท หลังจากนั้นบริษัทของเขาเริ่มเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึงปีละ 1000% โดยท็อปได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ WOODY EXCLUSIVE เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2021 ว่าตอนนี้ใน bitkub มีเงินของคนไทยที่เก็บไว้กว่า 50,000 ล้านบาท มีพนักงานประมาณ 1,478 คน และเขาได้กลายเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นแห่งที่ 3 ของประเทศไทย โดยใช้เวลาไม่ถึง 4 ปี ซึ่งล่าสุด ‘SCB’ หรือ ‘SCBX’ ได้ประกาศลงทุน 1.78 หมื่นล้านบาทใน bitkub ซึ่งกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% ของ bitkub ในเดือนพฤศจิกายน 2021 แม้จะกลายเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น แต่เป้าหมายของท็อปที่ผ่านมาไม่ใช่การเป็นเศรษฐีผู้ร่ำรวย หรือรู้สึกเติมเต็มจากการใช้เงินซื้อรถหรู เสื้อผ้าหลากชุด หรืออาหารราคาแพง และหากมีแคมเปญใส่เสื้อผ้าซ้ำ เชื่อว่าท็อปจะเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมแคมเปญนั้นมาหลายปีเลยทีเดียว “ผมไม่ได้รู้สึกว่าชีวิต fulfill จากเรื่องพวกนี้” ท็อปกล่าวในรายการ  WOODY EXCLUSIVE โดยเล่าว่าสิ่งที่เติมเต็มสำหรับเขาจริง ๆ กลับเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนในบริษัท และการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยมากกว่า เพราะความสุขในชีวิตของเขาคือ ‘การทำงาน’ และ ‘การทำเป้าหมายให้สำเร็จ’ โดยเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ใช่แผนชีวิตอันยาวไกลไปจนถึงวัยเกษียณ หากเป็น ‘เป้าหมายเดียว’ ที่เขาจะโฟกัสอย่างเต็มที่ ก่อนจะก้าวสู่การมองเป้าหมายถัดไปที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เช่น ช่วงปริญญาโทที่เขามีเป้าหมายเพียงว่าขอเรียนให้จบมาได้ก็พอ หรือการเปิดบริษัทครั้งแรกที่เขาตั้งเป้าว่าต้องพิสูจน์ให้คนส่วนมากรู้ว่าเขาคือคนส่วนน้อยที่คิดถูก และช่วงที่เขาก่อตั้งบริษัท bitkub เป้าหมายของเขาคือสร้างยูนิคอร์นตัวแรกให้ได้ ซึ่งเขาก็สามารถคว้าความสำเร็จนั้นมาได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม การเติบโตของบริษัทและหน้าที่การงานของท็อป ต้องแลกมากับการสูญเสียด้านอื่น ๆ ของชีวิต หากท็อปเล่าว่า เขาโชคดีที่เกิดในครอบครัวที่พร้อมสนับสนุนแม้จะมีการทะเลาะกันบ้างก็ตาม และในมุมของความรัก เขายังมีคนรักที่เข้าใจเป้าหมายที่เขาตั้งไว้ ซึ่งไม่ใช่ความสำเร็จของเขาเพียงคนเดียว เพราะเป้าหมายถัดไปของชายคนนี้คือความตั้งใจที่จะทำให้ bitkub กลายเป็นสิ่งที่ประเทศไทย ‘จำเป็นต้องมี’  “เป้าหมายต่อไปคือผมจะเปลี่ยน bitkub ให้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยขาดไม่ได้ เราจะไม่สร้างบริษัทที่เป็น nice to have แต่เป็น must have”  แม้ปัจจุบันจะไม่สามารถตอบได้แน่ชัดว่าอนาคตของ bitkub จะเป็นอย่างไร และเป้าหมายที่ท็อปตั้งไว้จะกลายเป็นภาพจริงได้หรือไม่ แต่ก็นับว่าท็อปเป็นหนึ่งในผู้ที่ทำให้คนไทยหันมาสนใจเรื่องคริปโตเคอร์เรนซีมากขึ้น และท็อปก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความมุ่งมั่นและความพยายามของเขาตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นกำลังผลิดอกออกผลอย่างงดงาม...   ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=vO8ve1RGqPY https://www.youtube.com/watch?v=CRsevogXFpI https://www.bangkokbiznews.com/business/969576 https://www.smethailandclub.com/pdfsmestartup/2019/072-September2019.pdf https://www.blueoclock.com/topp-jirayut-srupsrisopa-bitkub-story/?fbclid=IwAR3v5QKtFN431i88dp6DHQhW6s0XHeDMV2uLuA17nyPlFCqFRB3Sxq4PV00 https://www.springnews.co.th/news/817744   ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/toppjirayutofficial