เทรซี แชปแมน: นักร้องเพลงแนวการเมืองที่เล่าเรื่องราวการลุกขึ้นสู้ของผู้ถูกกดขี่

เทรซี แชปแมน: นักร้องเพลงแนวการเมืองที่เล่าเรื่องราวการลุกขึ้นสู้ของผู้ถูกกดขี่
“Poor People gonna rise up and get their share. Poor People gonna rise up and take what’s theirs” เสียงร้องทุ้มต่ำที่ผสานเข้ากับกีตาร์โปร่งได้อย่างไพเราะถูกถ่ายทอดผ่านรายการ Late Night with Seth Meyers เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา เพื่อเชิญชวนให้คนอเมริกันออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยเนื้อเพลงที่เธอร้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับการลุกขึ้นสู้ของชนชั้นแรงงานและคำเตือนถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘คนจนจะส่งเสียง เพื่อส่วนแบ่งของพวกเขา คนจนจะกู่ร้อง เพื่อคว้าเอาสิ่งที่เป็นของพวกเขา’  หญิงสาวที่ร้องและแต่งเพลงนี้คือ เทรซี แชปแมน (Tracy Chapman) เจ้าของรางวัลแกรมมีถึงสี่ถ้วย เธอเป็นรู้จักกันดีทั้งด้านความสวยงามและซื่อตรงในน้ำเสียง และด้านเนื้อหาเพลงที่เต็มไปด้วยการเมืองและปัญหาสังคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าถึงการทวงคืนซึ่งสิทธิ์และปฏิวัติอย่างเพลง Talkin’ Bout a Revolution ที่ผู้เขียนได้ยกเนื้อเพลงมา เล่าถึงการเหยียดผิวและชีวิตที่ไร้ทางสู้อย่างในเพลง Fast Car ที่กลายเป็นเพลงฮิตของเธอ หรือความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อเพศหญิง รวมถึงการเพิกเฉยของตำรวจต่อความเดือดร้อนของผู้คนที่มีอยู่ในเพลงอย่าง Behind the Wall สาเหตุที่ทำให้เธอ ‘อิน’ การเมืองและปัญหาต่าง ๆ จนถ่ายทอดผ่านบทเพลงมากมายก็ไม่ใช่เหตุผลอื่นใดนอกจากว่าชีวิตของเธอนั้นถูกกดขี่แทบจะในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเพศ สีผิว หรือชนชั้นทางสังคม อีกทั้งเธอยังเคยถูกกลั่นแกล้งจนเกือบลงท้ายด้วยความตายมาแล้วด้วยซ้ำ เทรซี แชปแมน เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 1964 ที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ เธอและน้องสาวถูกเลี้ยงดูมาโดยไร้เงาพ่อตั้งแต่จำความได้ แม่ของเธอเป็นชนชั้นแรงงานผิวดำ เทรซีรู้ดีถึงความขัดสนของครอบครัวและความยากลำบากที่แม่ต้องเผชิญ ถึงอย่างนั้นเธอบ้านของเธอก็มักจะมีเสียงเพลงอยู่เสมอ แม่ของเทรซีรักเธอกับน้องสาวมาก และคอยสนับสนุนความชอบของเธอด้วยการซื้ออูคูเลเล่ให้ตั้งแต่เธอสามขวบ เทรซีเติบโตขึ้นพร้อมกับความรักในเสียงดนตรีที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุแปดขวบเธอตัดสินใจขอกีตาร์จากแม่ และกีตาร์ตัวนั้นเองที่เป็นเหมือนใบเบิกทางสู่โลกแห่งการเขียนเพลงอย่างเต็มตัว “เพลงแรก ๆ ที่ฉันแต่งมันไม่ได้เรื่องเลย” เทรซียอมรับ “คุณก็รู้ว่าเด็กแปดขวบจะเขียนอะไร เพลงถึงท้องฟ้าไง” นอกจากความอบอุ่นในครอบครัวแล้ว ชีวิตวัยเด็กของเธอไม่ได้ราบรื่นนัก เธอถูกกลั่นแกล้ง รุมทำร้าย และเกือบถูกฆ่าตายเมื่ออายุเพียงสิบสามปี เวลานั้นรัฐโอไฮโอได้เปลี่ยนระบบโรงเรียนใหม่ด้วยการรวมนักเรียนผิวดำและผิวขาวเข้าด้วยกัน หลังจากนั้นโรงเรียนก็กลายเป็นสถานที่ที่เธอรู้สึกอยากหนีไปให้พ้น ๆ เธอถูกกลั่นแกล้งโดยกลุ่มนักเรียนผิวขาวบ่อยครั้ง จนกระทั่งวันหนึ่งที่กลุ่มนักเรียนหัวโจกตะโกนด่าเทรซีด้วยถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติ เธอตัดสินใจที่จะโต้ตอบ กลุ่มอันธพาลรุ่นจิ๋วโกรธจัดและพากันรุมทำร้ายเธอ เด็กหญิงวัยสิบสามปีถูกเด็กวัยไล่เลี่ยกันทุบตีโดยไร้ทางสู้ เด็กคนหนึ่งชักปืนออกมาจากรองเท้าบูทของเขาและเล็งมาที่เธอ “เขาบอกให้ฉันวิ่งหนีไปให้พ้น ไม่อย่างนั้นเขาจะยิง มีหลายคนเห็นเหตุการณ์นั้นจากหน้าต่าง แต่พวกเขาก็แค่มองดูฉันถูกทำร้ายโดยไม่ได้ช่วยอะไร” เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นแผลในใจของเทรซี ขณะเดียวกันมันได้บ่มเพาะให้เธอเข้าใจถึงความเจ็บปวดของการถูกกดขี่อย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การถ่ายทอดมันออกมาผ่านดนตรีได้อย่างงดงามในช่วงเวลาที่เธอเติบโตขึ้น สภาพสังคมที่โหดร้ายในโรงเรียนที่บ้านเกิดทำให้เทรซีตั้งใจว่าจะหนี และเธอก็ทำมันได้สำเร็จด้วยการได้รับทุนการศึกษาจากโรงเรียนประจำในคอนเนตทิคัต และหลังจากเรียนจบที่นั่น เทรซีตัดสินใจเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) ตอนนั้นเองที่เธอได้เรียนรู้แง่มุมต่าง ๆ  เกี่ยวกับการเมืองอย่างลึกซึ้ง โลกของเทรซีกว้างขึ้น เธอได้ทำความเข้าใจกับปัญหาสังคมที่มากไปกว่าสิ่งที่เธอเคยประสบด้วยตนเองหรือสิ่งที่เธอเติบโตมากับมัน “ฉันรู้สึกถึงปัญหาที่อยู่รอบตัวตั้งแต่เด็ก อาจจะเป็นเพราะแม่มักจะคุยกับฉันและน้องสาวบ่อย ๆ บวกกับการที่ฉันชอบอ่านหนังสือ ฉันคิดว่าเราทุกคนอยู่กับมัน – อยู่กับปัญหาการเมือง เพียงแต่ว่าหลาย ๆ คนกลับมองไม่เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความยากจนของพวกเขา อะไรที่จำกัดกรอบการตัดสินใจ และการใช้ชีวิตของพวกเขา” ในไม่ช้า เธอกลายเป็นที่รู้จักในฐานะนักร้องเสียงสวยสะพายกีตาร์ที่มักร้องเพลงชนิดที่เรียกกันว่า ‘เพลงประท้วง’ (The Protest Song) และได้พบกับไบรอัน คอปเปลแมน (Brian Koppelman) ชายที่เปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล ไบรอัน คอปเปลแมน เรียนมหาวิทยาลัยเดียวกับเทรซี เขาเป็นนักเขียนและนักเล่าพอดแคสต์ นอกจากนี้พ่อของเขา ยังเป็นผู้คร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีอีกด้วย “วันหนึ่งมีคนบอกผมว่ามีนักร้องเพลงประท้วงคนหนึ่งที่ผมควรได้ดูเธอเล่นสักครั้ง ผมจึงไปดูการแสดงของเธอ ทันทีที่เธอขึ้นไปบนเวทีและเริ่มร้องเพลงผมก็ได้รู้ว่าเธอเป็นคนมีพรสวรรค์มากที่สุดคนหนึ่งบนโลก” คอปเปลแมนเปิดฉากการสนทนากับเทรซีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาเอ่ยปากจะแนะนำเธอให้กับพ่อของเขา แต่เทรซีปฏิเสธ คอปเปลแมนพยายามตื๊อเธออีกหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่เธอตกลงอัดเดโมเพื่อส่งให้พ่อเขาฟัง จนกระทั่งคอปเปลแมนผุดไอเดีย เขารู้ข่าวมาว่าเทรซีได้อัดเดโมเพลงไว้ที่สถานีวิทยุของมหาวิทยาลัยด้วยเหตุผลทางด้านลิขสิทธิ์ คอปเปลแมนไปที่นั่น และขโมยมันออกมาด้วยการทำสำเนาใส่เทปคาสเส็ต เทปเดโมม้วนนั้นบรรจุเพียงหนึ่งเพลงถ้วน คือ Talkin’ Bout a Revolution และเพลงนั้นเองที่ทำให้เธอได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลง Elektra แม้พวกเขาจะเซ็นสัญญากับเธอ แต่พวกเขาไม่ได้คาดหวังมากนักว่าเพลงของเธอจะขายได้ แม้แต่ตัวเทรซีเองก็ดูเหมือนจะไม่คาดหวัง “ฉันโตมากับแผ่นเสียงและวิทยุ ตลอดเวลาที่ผ่านมาฉันไม่คิดว่าเพลงของฉันจะอยู่ในตลาดนั้นได้ และยิ่งเป็นเพลงอย่าง Talkin’ Bout a Revolution ด้วยแล้ว ฉันไม่คิดว่าตลาดดนตรีในยุค 70s ที่เต็มไปด้วยเพลงดิสโก้จะมีพื้นที่ให้ฉัน” ในช่วงแรกมันเป็นอย่างที่เธอคิด โปรดิวเซอร์เพลงร่วมสิบคนปฏิเสธที่จะร่วมงานกับเธอในการสร้างอัลบั้มที่มีเพลงอย่าง Talkin’ Bout a Revolution อยู่ในนั้น จนกระทั่งเดวิด เคอร์เชนบัม (David Kershenbaum) ตอบตกลงรับหน้าที่นั้นในที่สุด หลังจากเวลาผ่านไปแปดสัปดาห์ อัลบั้ม Tracy Chapman อัลบั้มแรกที่ชื่อเดียวกับเธอก็ถูกบันทึกเสียงจนครบทุกเพลง ทุกคนในค่ายต่างก็ชอบมัน แต่ไม่มีใครนอกจากคอปเปลแมนและพ่อของเขาที่คิดว่ามันจะขายได้มากกว่า 50,000 แผ่น  แต่พวกเขาทั้งหมดล้วนคาดผิด อัลบั้ม Tracy Chapman ที่วางขายวันที่ 15 เมษายน 1988 นั้นมียอดขายมากกว่าสิบสามล้านแผ่น ไต่ขึ้นอันดับสิบบนชาร์ตของโรลลิงสโตน (Rolling Stone) และเป็นอัลบั้มที่ทำให้เทรซีได้รับสองถ้วยรางวัลจากแกรมมี คือรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมและรางวัลนักร้องหญิงการแสดงยอดเยี่ยม แม้จะกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างตั้งแต่อัลบั้มแรกเทรซีก็ยังคงไว้ซึ่งบุคลิกเดิมไม่เปลี่ยน เธอขี้อาย และไม่ค่อยชินกับการเป็นจุดสนใจนัก เมื่อมีคอนเสิร์ตเทรซีทำเต็มที่ในการร้องเพลงและถ่ายทอดอารมณ์จนผู้ชมเต็มไปด้วยอารมณ์ร่วม แต่เมื่อลงจากเวที เธอเป็นคนเก็บตัวที่ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์กับสื่อ ชอบอ่านหนังสือ แต่งเพลง และสนใจปัญหาสังคมอยู่เสมอแม้ในปัจจุบันที่เธออายุ 56 ปี เช่นเดียวกับเพลงของเธอ Talkin’ Bout a Revolution ยังคงเป็นเพลงแห่งความหวังของผู้ถูกกดขี่ในสังคมเสมอ ด้วยความหวังว่าสุดท้ายโต๊ะแห่งอำนาจจะเปลี่ยนขั้ว (finally the tables are starting to turn) สักวันพวกเขาจะได้รับส่วนแบ่งที่ควรได้ และได้คว้าคืนซึ่งสิทธิ์และเสรีที่เป็นของเขามาตั้งแต่แรก   ที่มา : https://t.co/GLlStUB65r?amp=1 https://t.co/sjpjLOocxq?amp=1 https://t.co/WRWMZqgPn9?amp=1 https://t.co/98BSyRQKeR?amp=1 https://t.co/6ArmAZPu5w?amp=1   เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ