โรเบิร์ต เจฟฟรีย์ สเติร์นเบิร์ก : รู้จักความรัก 8 รูปแบบไปกับทฤษฎี  ‘Triangle of Love’

โรเบิร์ต เจฟฟรีย์ สเติร์นเบิร์ก : รู้จักความรัก 8 รูปแบบไปกับทฤษฎี  ‘Triangle of Love’
ความรัก = ... ? เชื่อว่าคำถามนี้คงเป็นเหมือนปัญหาโลกแตก ไม่ต่างไปจากการถามว่า ไก่กับไข่อันไหนเกิดก่อนกัน ถึงอย่างนั้นผู้คนก็ยังค้นหาคำตอบของ ‘ความรัก  อยู่เรื่อยมา… ย้อนไปราว 3 ทศวรรษที่แล้ว นักจิตวิทยาชาวอเมริกันนามว่า ‘โรเบิร์ต เจฟฟรีย์ สเติร์นเบิร์ก’ (Robert Jeffrey Sternberg) ได้เริ่มคิดทฤษฎีเกี่ยวกับความรักขึ้นมาเพื่อตอบคำถามว่าทำไมนิยามความรักความสัมพันธ์ของแต่ละคนจึงแตกต่างกันออกไป โดยทฤษฎีนี้เรียกว่า ‘ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก’ หรือ ‘Triangular Theory of Love’ โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์กสนใจจิตวิทยามาตั้งแต่วัยเยาว์ เขาจึงเรียนต่อด้านนี้ในมหาวิทยาลัยเยลจนจบการศึกษาเมื่อปี 1972 และคว้าปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี 1975 ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์จิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale)  สเติร์นเบิร์กคลุกคลีอยู่ในแวดวงนี้มาอย่างยาวนาน โดยหนึ่งในผลงานอันโดดเด่นของเขา คงจะเป็นการเสนอทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก (Triangular Theory of Love) ในปี 1986 เพื่อให้ผู้คนเข้าใจ ‘ความรัก’ มากขึ้น โดยทฤษฎีนี้แบ่งองค์ประกอบของความรักออกเป็น 3 อย่างด้วยกัน คือ
  1. ความใกล้ชิดสนิทสนม (Intimacy) คือความรู้สึกผูกพัน สนิทใจ ใกล้ชิดกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างควบคุมได้มากกว่าอารมณ์ความรู้สึกที่อาจจางหายไปตามกาลเวลา 
  1. ความหลงใหล (Passion) คือความรู้สึกเชิงโรแมนติก ความดึงดูดใจทางร่างกายไปจนถึงความใกล้ชิดทางเพศ แต่ความหลงใหลมีวันหมดอายุที่ไม่ชัดเจน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเราอาจ ‘หมดแพสชัน’ เมื่อไรก็ได้ เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึกที่อยู่เหนือการควบคุม
  1. การตัดสินใจ/การผูกมัด (Decision/Commitment) คือการตัดสินใจว่าจะยอมรับและรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ เช่น การแต่งงาน การตกลงเป็นแฟนกัน โดยองค์ประกอบนี้นับว่าควบคุมได้มากกว่าสองอย่างแรก เพราะเป็นเรื่องของการตกลงร่วมกันมากกว่าเรื่องความรู้สึก 
ทั้ง 3 องค์ประกอบนี้เปรียบเสมือนวัตถุดิบหลักของความรักที่เมื่อผสมผสานออกมาในปริมาณที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้รูปแบบของความรักความสัมพันธ์แตกต่างกันไปด้วย โดยสามารถแบ่งออกเป็น 8 รูปแบบ 
  1. Nonlove หากแปลตรง ๆ คงเป็นคำว่า ‘ความไม่รัก’ เพราะไม่มีส่วนผสมทั้ง 3 อย่าง เป็นความรู้สึกกลาง ๆ เหมือนกับการทักทายหรือติดต่อคนทั่วไปในชีวิตประจำวัน
  1. Friendship คือความสัมพันธ์ที่มีเฉพาะองค์ประกอบ Intimacy จึงเหมือนเพื่อนร่วมห้องที่ใกล้ชิดสนิทสนมกัน แต่ไม่ได้มีความรู้สึกหลงใหล ดึงดูด หรือมีข้อผูกมัด แต่ความสัมพันธ์รูปแบบนี้นับว่าเป็นพื้นฐานของความรักในรูปแบบอื่น ๆ ได้เช่นกัน
  1. Infatuated Love คือความรักที่มีเฉพาะ Passion เช่นคำว่า ‘รักแรกพบ’ ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ เพราะยังไม่เคยสนิทสนม หรือมีข้อผูกมัดใด ๆ แต่ถ้าวันเวลาผ่านไปแล้วยังไม่มี Commitment หรือ Intimacy ความหลงใหลเหล่านี้ก็อาจจะจางหายไปตามกาลเวลา จนกลายเป็น Nonlove ได้เช่นกัน 
  1. Empty Love รักอันว่างเปล่านี้มีเพียงองค์ประกอบ Commitment อย่างทะเบียนสมรสหรือการตกลงคบหากัน ซึ่งกลายเป็นข้อผูกมัดที่ไร้รัก ขาดความผูกพัน เช่น ชีวิตแต่งงานที่ ‘ไม่มีความสุข’ แต่ไม่แน่ว่าหากกลับมาเติม Passion หรือมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ก็อาจจะพัฒนากลับมาเป็นความรักในรูปแบบอื่นได้เช่นกัน
  1. Romantic Love คือความรักที่มี Intimacy และ Passion แต่ยังไม่มี Commitment ซึ่งนับเป็นความโรแมนติกสมชื่อเพราะทั้งรักและผูกพัน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญก่อนจะไปถึงขั้นการแต่งงานหรือเริ่มมีสถานะที่ชัดเจน แต่หากวันเวลาผ่านไปแล้วยังไม่มีวี่แววขององค์ประกอบด้าน Commitment ความรักก็อาจจะจืดจางไปได้เช่นกัน คล้ายกับบางคนที่ไม่สามารถอยู่ท่ามกลาง ‘ความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน’ อย่างไรก็ตาม หากต่างฝ่ายต่างไม่ได้สนใจเรื่องข้อผูกมัด Romantic Love ก็นับเป็นความรักอันหวานชื่นรูปแบบหนึ่งได้เช่นเดียวกัน
  1. Companionate Love คือความรักที่มี Intimacy และ Commitment แต่ไม่มี Passion หลงเหลืออยู่ ความรักแบบนี้จะมั่นคงและหนักแน่นมากกว่า Friendship Love เพราะมี Commitment เพิ่มเข้ามา อย่างคู่แต่งงานที่อยู่ด้วยกันมาอย่างยาวนาน จนไม่จำเป็นต้องมี Passion ไม่ได้รู้สึกใจเต้นแรงหรือตกหลุมรักอย่างสุดหัวใจ แต่เป็นความผูกพัน สบายใจ และมั่นคง เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท
  1. Fatuous Love คือความรักที่มี Passion และ Commitment แต่ไม่มี Intimacy ซึ่งจะเห็นได้ชัดในคู่รักที่เพิ่งจะตกหลุมรัก แต่งงาน หรือคบกันแล้วเลิกราแบบสายฟ้าแลบ เพราะไม่ได้เรียนรู้และผูกพันกันจนเกิดความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนม (Intimacy) 
  1. Consummate Love คือความรักที่มีครบทั้ง 3 องค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น Passion ที่รู้สึกตกหลุมรักใครคนหนึ่งในทุก ๆ วัน Intimacy ที่รู้สึกผูกพัน ใกล้ชิด สนิทใจ และ Commitment ที่ได้คบหาหรือแต่งงานกัน นับเป็นภาพฝันอันสมบูรณ์แบบของความรักที่ใครหลายคนปรารถนา อย่างไรก็ตาม สเติร์นเบิร์กกล่าวว่า สิ่งที่ยากกว่าการสร้างความรักในรูปแบบนี้คือ การรักษาให้ความรักแบบนี้คงอยู่ในระยะยาว
ความรักทั้ง 8 รูปแบบนี้สามารถเกิดขึ้น จางหาย เปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลาและปัจจัยอื่น ๆ เช่น คู่รักบางคู่ที่อยู่ด้วยกันนาน ๆ แล้วรู้สึกสบายใจราวกับมีเพื่อนคู่คิด แต่ไม่ได้รู้สึกหวานชื่นอย่างวันแรก ๆ นั้น ไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่รักกันน้อยลง แต่เปลี่ยนมาเป็นความรักแบบ Companionate Love แทน หรือบางคู่ที่ Long-distance relationship กลับกลายเป็นอุปสรรค เพราะไม่มีโอกาสได้ติดต่อหรือใช้เวลาร่วมกัน ขาดความสนิทชิดใกล้ (Intimacy) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ ดังนั้นทฤษฎีของสเติร์นเบิร์กจึงไม่ใช่การตัดสินว่าความรักของใครดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่เป็นทฤษฎีที่พาเราย้อนกลับมาทำความเข้าใจรูปแบบของความรักรอบตัวเรามากขึ้น แล้วเติมเต็มองค์ประกอบที่ขาดหายไป เช่น การแสดงความรักต่อกันมากขึ้น การให้เวลาได้ใกล้ชิดและผูกพัน เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่รูปแบบที่ใฝ่ฝัน หรือบางคนอาจเลือกที่จะทำใจ แล้วเดินออกมาจากความสัมพันธ์นั้น ๆ ด้วยความเข้าใจก็เป็นได้   ที่มา: https://www.verywellmind.com/robert-sternberg-biography-1949-2795530 https://www.simplypsychology.org/types-of-love-we-experience.html https://www.shape.com/lifestyle/sex-and-love/sternberg-triangular-theory-of-love https://www.youtube.com/watch?v=-Cxq7ZmnFLU   ที่มาภาพ  https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Triangular_Theory_of_Love.svg#/media/File:Triangular_Theory_of_Love.svg http://www.robertjsternberg.com/