ทรอย คอตเซอร์: ชายหูหนวกคนแรกที่ครองรางวัลออสการ์ จาก CODA ไร้เสียงแต่เต็มเปี่ยมด้วยหัวใจ

ทรอย คอตเซอร์: ชายหูหนวกคนแรกที่ครองรางวัลออสการ์ จาก CODA ไร้เสียงแต่เต็มเปี่ยมด้วยหัวใจ
“เอาจริง ๆ นะ ถ้าเผื่อผมชนะออสการ์ ผมจะไปหาพ่อแม่ของผมที่สุสานแล้วเอางานของผมไปอวดพวกท่านสักหน่อย” ถือเป็นอีกหนึ่งโมเมนต์ประวัติศาสตร์ของการมอบรางวัลตุ๊กตาทองคำที่ ทรอย คอตเซอร์ (Troy Kotsur) นักแสดงผู้พิการทางการได้ยินจากภาพยนตร์อบอุ่นหัวใจที่ครองรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (Best Adapted Screenplay) และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) อย่าง ‘CODA’ ในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Best Supporting Actor) สำหรับรางวัลออสการ์ปี 2022 นี้ แม้จะเป็นชายหูหนวกคนแรกที่ขึ้นรับรางวัลออสการ์ แต่เขาไม่ใช่คนหูหนวกคนแรกที่ยืน ณ จุดนั้น เป็นเวลากว่า 35 ปี นับตั้งแต่ปี 1987 ที่นักแสดงหญิงหูหนวกคนแรกได้ขึ้นรับรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress) จากภาพยนตร์ดรามา-โรแมนติกเรื่อง Children of a Lesser God และเธอคนนั้นไม่ใช่ใครอื่นไกลเลย เพราะเธอคือ มาร์ลี แมทลิน (Marlee Matlin) นักแสดงหญิง co-star ที่รับบทเป็นแม่คู่กับพ่ออย่างทรอยในหนังเรื่อง CODA นี้เอง ในปี 2019 มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งทำลายกำแพงแห่งภาษาลงและทำให้ผู้ชมทั่วทั้งโลกได้สนุกกับหนังต่างภาษา อย่าง Parasite ที่กวาดรางวัลตุ๊กตาทองคำกลับบ้านไปมากมาย ในปีนี้กำแพงก็ถูกทำลายลงอีกครั้ง และในคราวนี้ภาพยนตร์เรื่อง CODA ก็แสดงให้เราเห็นว่าเราสามารถหัวเราะได้อย่างเต็มที่กับฉากที่ไม่ต้องมีคำพูดสักคำเดียวและเราก็สามารถเสียนำ้ตาให้กับฉากที่สื่อความรู้สึกลึกลงไปข้างในโดยไม่ต้องเอ่ยปากพูดแม้แต่ประโยคเดียว และทรอย คอตเซอร์ก็คือหนึ่งความสำเร็จนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้   นักแสดงและผู้กำกับที่ได้แรงบรรดาลใจจากสปีลเบิร์ก “มองย้อนกลับไปในตอนที่ผมยังเด็ก ผมรู้สึกสนุกกับเส้นทางชีวิตของผมมาก ๆ เลยนะ การที่ต้องพบเจออุปสรรคมากมายมันทำให้ผมเป็นคนที่แกร่งขึ้นจริง ๆ” ทรอยเกิด ณ เมืองเมซา รัฐแอริโซนา (Mesa, Arizona) เมื่ออายุประมาณ 9 เดือน พ่อและแม่ของทรอยก็พบว่าลูกตัวน้อยของเขามีภาวะที่พิการทางการได้ยิน แต่พวกเขาก็ไม่ยอมให้การที่ลูกของเขาฟังพวกเขาไม่ได้ยินมาทำให้ความอบอุ่นที่เขาต้องการจะมอบให้ลดน้อยลง ทั้งพ่อและแม่ของทรอยรีบมุ่งหน้าไปที่โรงเรียนสอนภาษามือเพื่อที่จะเตรียมพร้อมในการสื่อสารกับลูกตัวน้อย เมื่อก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียน แม้ว่าพ่อแม่ของเขาจะพยายามดันให้ให้เขาเล่นกีฬา แต่ทรอยก็ค้นพบว่าเขามีความสนใจในด้านการแสดงและการกำกับด้วย เขามุ่งหน้าทำมันอย่างเต็มที่แถมยังได้รับเสียงตอบรับที่ดีเสียด้วยและมันเป็นจุดให้เขาตัดสินใจว่าเขาจะลุยทางนี้อย่างจริงจัง เขาฝันอย่างยิ่งใหญ่ว่าจะเป็น สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) คนต่อไปด้วยซำ้ “จริง ๆ พ่อแม่ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยนักหรอก แต่พวกเขาก็คิดว่ามันน่าจะเป็นไฟที่ปะทุขึ้นมาเพียงชั่วคราวแหละ อีกสองสามปีผมคงเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่น แต่ผมมันหัวดื้อไง” “พวกเขาก็อยากหาอะไรที่มั่นคงให้ผมนะ แต่ผมมันพวกชอบเสี่ยง และพวกเขาก็รู้ดี ผมเกิดมาเป็นนักเล่าเรื่อง” หลังจากที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมฯ ที่จุดประกายเส้นทางอาชีพการแสดง ทรอยก็มุ่งหน้าที่จะไล่ล่าตามฝันต่อไป เขาได้ไปฝึกงานกับสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง แต่เส้นทางของทรอยก็ถือว่าไม่ได้รุ่งโรจน์สักเท่าไร เขาเปรียบเสมือนปลาเล็กในบ่อใหญ่ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่ดุเดือด ในฐานะนักแสดง ทรอยก็ได้ไปโผล่ในงานโน้น งานนี้ไปเรื่อย ๆ จนมีโอกาสได้มีผลงานในฐานะ ‘ผู้กำกับ’ กับหนังเรื่อง No Ordinary Hero: The SuperDeafy Movie (2013) “ผมชอบไปดูหนังนะ แต่พูดตามตรง ผมไม่สามารถรับข้อมูลหรือจับใจข้อมูลที่หนังอยากจะสื่อได้อย่างสมบูรณ์หรอก แต่ผมก็พยายามเต็มที่ที่จะเข้าใจเรื่องผ่านงานภาพนะ” แม้จะไม่สามารถได้ยินบทสนทนาหรือดนตรีประกอบได้แต่ ‘ภาพ’ คือช่องทางเดียวที่ทรอยสามารถจะเข้าถึงภาพยนตร์ได้ เขายกตัวอย่างในบทสัมภาษณ์หนึ่งว่าหนังที่สามารถทำให้คนหูหนวกอย่างเขาเข้าถึงผ่านงานภาพจริง ๆ ก็คือ Jaws และ E.T. มันคล้ายกับการอ่านหนังสือ พอยิ่งอ่านยิ่งจับสไตล์ได้ด้วยซำ้ว่าใครเขียน ทรอยบอกว่าสตีเวน สปีลเบิร์ก สามารถให้ความรู้สึกแบบนั้นแก่เขาได้จริง ๆ “แต่ความฝันในการกำกับภาพยนตร์ของผมก็อันตรธานหายไป หลังจากที่ผมรู้ยอมรับจริง ๆ ว่าโลกใบนี้ไม่ได้ใช้ภาษาเดียวกับผม (เป็นหลัก)” เส้นทางกว่า 35 ปีของทรอยบนอุตสาหกรรมความบันเทิงเป็นเส้นทางที่ไม่ง่ายเอาเสียเลย เขาต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมายไม่ว่าจะเรื่องการเงินหรืออาชีพ เขาแทบไม่มีเงินเก็บไว้รอตอนเกษียณหรือเพื่อส่งลูกสาวเรียนในระดับอุดมศึกษาด้วยซำ้ ทรอยต้องเผชิญกับความกังวลอย่างมากกับสถานะที่เขาต้องดำรงอยู่ แต่การที่เขาได้เป็นหนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ก็ได้เปลี่ยนชีวิตเขาอย่างใหญ่หลวง   ทำลายกำแพงภาษามือด้วย CODA / เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง CODA (2021) เล็กน้อย / “ในการที่ผมมารับบทเป็นชาวประมงมากประสบการณ์ในครั้งนี้ ผมต้องดำดิ่งไปกับตัวละครอย่างจริงจังมาก ๆ ผมจะได้ดูเหมือน ‘ชาวประมงมากประสบการณ์’ จริง ๆ เพราะว่าในชีวิตจริงผมไม่ใช่! ผมมาจากแอริโซนา ซึ่งที่นั่นไม่มีวาฬหรอกนะจ๊ะ” ในเส้นทางการแสดงของ ทรอย คอตเซอร์ ที่ดำเนินมาด้วยความสำเร็จที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ อาจเรียกได้ว่าการมารับบทบาทเป็น แฟรงค์ รอซซี (Frank Rossi) ในภาพยนตร์เรื่อง CODA ถือเป็นจุดพีคและใบเบิกทางสู่เส้นทางนักแสดงที่สวยงามสำหรับเขาอย่างแน่นอน ซึ่งนอกจากจะสวมบทบาทคุณพ่อหูหนวกลุคโหดสายฮาที่เรียกทั้งเสียงหัวเราะและนำ้ตาผ่านภาษามือของเขาแล้ว การแสดงของทรอยก็เป็นการแสดงให้ผู้ชมทั้งโลกเห็นว่า ‘ภาษามือไม่ได้เข้าใจยากเลยนะ’ ในบางฉากผู้ชมหลาย ๆ คนคงลืมไปแล้วด้วยซำ้ว่าบทสนทนาที่ตัวละครคุยกันอยู่เป็นภาษามือ เพราะหนังเรื่องนี้เล่าออกมาให้ผู้ชมสามารถเชื่อมต่อได้อย่างไร้จุดบกพร่อง “ตอนแรกหนังเราแม่งได้เรท R แต่ก็ถูกลดไป PG-13 ในตอนหลังนะ เพราะว่า MPAA บอกว่ามันหยาบไป ผมก็แบบว่า ‘ห้ะ!!’ ภาษามือเนี่ยนะหยาบเกินไป? ภาษามือแบบนี้มันหยาบไปจริงดิ” “นั่นก็คือเสน่ห์ของหนังเรื่อง CODA นี่แหละ เพราะมันทำให้เห็นว่าภาษาของเรามันมีสีสันมากขนาดไหน” ฉากหนึ่งที่น่าจะติดอยู่ในภาพจำของใครหลายคนก็คงจะเป็นฉากที่คุณพ่อแฟรงค์เข้าใจผิดที่ไมล์สและรูบี้ซ้อมร้องเพลงอยู่ในห้องสองต่อสอง คุณพ่อแฟรงค์จึงทำการตักเตือนให้ทั้งคู่ตระหนักถึง safe sex และใช้ถุงยางอนามัยผ่าน ‘ภาษามือ’ และนั่นคือการด้นสดของทรอยที่ถือว่าเป็นฉากที่ผู้ชมหัวเราะกันลั่นโรง และทำให้ทาง MPAA เกือบจะปรับเรทของหนังเรื่องนี้เป็นเรท R ด้วย แต่นั่นก็คือเสน่ห์ของภาษามือที่ผู้ใช้สามารถสร้างสรรค์คำต่าง ๆ มาด่าหรืออธิบายอะไรบางสิ่งได้อย่าง… เห็นภาพ หากอยากรู้ว่าฉากนี้เป็นอย่างไรไปรับชมกันได้ในภาพยนตร์เรื่อง CODA “ร้องให้พ่อฟังได้ไหม” หนึ่งฉากในหนังที่ถือว่าครงองใจหลาย ๆ คนก็คงเป็นฉากไหนไม่ได้นอกเสียจากฉากที่พ่อที่หูหนวกอยากจะเข้าใจ อยากจะฟัง เสียงอันไพเราะและเพลงที่งดงามจากลูกของเธอดูสักครั้ง และสิ่งที่แฟรงค์ทำคือการเอื้อมมือไปสัมผัสกับการสั่นของคอรูบี้ ลูกสาวของเขาที่กำลังร้องเพลง เพราะมันเป็นทางเดียวที่ผู้พิการทางการได้ยินอย่างแฟรงค์จะเอื้อมมือข้ามกำแพงแห่งเสียงไปชื่นชมความสำเร็จของลูกสาวของเขา CODA ถือเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่นำเรื่องราวอบอุ่นหัวใจเพิ่มพลังบวกในชีวิตมาเล่าให้ผู้ชมหลาย ๆ คนได้เข้าใจ ได้ฟัง และได้ข้อคิดและพลังบวกกลับไปดำเนินชีวิตต่อ แต่สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มอบให้สังคมมากกว่าความสุขนั้นคือสารที่บอกว่าทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมในความสำเร็จแห่งวงการภาพยนตร์หรือวงการอื่น ๆ ได้ หูหนวกก็เป็นครอบครัวที่อบอุ่นได้ หูหนวกก็สามารถคว้ารางวัลออสการ์มาครองได้ ความพิการแม้จะดูเหมือนเป็นความไม่สมบูรณ์ทางร่างกาย แต่เราก็เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุดได้ และทรอย คอตเซอร์ก็เป็นหนึ่งในตัวแทนสำคัญที่อยากส่งสารนี้ถึงทุกคน “ลุย”   เรื่อง: รัฐฐกรณ์ ศิริฤกษ์ ภาพ: Getty Images   ที่มา: https://www.npr.org/2022/03/27/1088898875/oscars-2022-troy-kotsur-coda https://people.com/movies/oscars-2022-troy-kotsur-wins-best-supporting-actor/ https://people.com/movies/troy-kotsur-facts/ https://www.youtube.com/watch?v=z28wZ8mGv6Q https://www.youtube.com/watch?v=8zNUmRYahRM https://www.azcentral.com/story/news/local/mesa/2014/12/01/deaf-actor-mesa-directs-first-movie/19735013/ https://www.12news.com/article/entertainment/mesa-born-deaf-actor-troy-kotsur-makes-film-history-with-oscar-nomination/75-e91fd69b-0438-447e-a25d-494c2fca1785 https://www.deafpeople.com/dp_of_month/KotsurTroy.html