‘ดร.ต่อบุญ พ่วงมหา’ : TrueID และ Online Station ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย ‘ความสนุก’ และ ‘ทีมเวิร์ก’

‘ดร.ต่อบุญ พ่วงมหา’ : TrueID และ Online Station ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย ‘ความสนุก’ และ ‘ทีมเวิร์ก’
เมื่อ ‘ความไม่แน่นอน’ กลายเป็นเรื่องที่ ‘แน่นอน’ ที่สุดบนโลกใบนี้ หลายคนอาจเป็นทุกข์จาก ‘ความเปลี่ยนแปลง’ โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดู ‘เสี่ยง’ ไม่ว่าจะด้านการทำงาน หรือการใช้ชีวิต ท่ามกลางธุรกิจในแวดวงดิจิทัลที่เต็มไปด้วย ‘การเปลี่ยนแปลง’ เช่นเดียวกันนั้น ‘ดร.ต่อบุญ พ่วงมหา’ กรรมการผู้จัดการ ดิจิตอล แอนด์ มีเดีย แพลตฟอร์ม และ ออนไลน์ สเตชั่น บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กลับเปลี่ยน ‘ความไม่แน่นอน’ ของธุรกิจให้กลายเป็นความ ‘ท้าทาย’ แล้ว ‘สนุก’ ไปกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ราวกับต้นไม้ที่ยังคงเข้มแข็งและงอกงาม แม้พายุจะพัดผ่านไปสักกี่ครั้งก็ตาม TrueID คือเว็บและแอปพลิเคชันที่ทำให้บริการคอนเทนต์ไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบทความ ภาพยนตร์ กีฬา ส่วน Online Station คือ ธุรกิจสื่อด้านเกมและเครือข่าย Influencer ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เรื่องราวต่อไปนี้คือเส้นทางชีวิต แนวคิดการบริหารและการทำธุรกิจดิจิทัลของ ดร.ต่อบุญ พ่วงมหา ตั้งแต่ยุคที่คนไทยแทบไม่ใช้อินเทอร์เน็ต มาจนถึงยุคที่อินเทอร์เน็ตแทบจะเป็นปัจจัยที่ห้าของมนุษย์ ‘ดร.ต่อบุญ พ่วงมหา’ : TrueID และ Online Station ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย ‘ความสนุก’ และ ‘ทีมเวิร์ก’ ธุรกิจอินเทอร์เน็ต ในยุคที่คนแทบไม่ใช้อินเทอร์เน็ต  เดิมที ดร.ต่อบุญเรียนและทำงานสายการตลาด ก่อนจะพบว่าตนเองยังคงสนใจและถนัดด้านการคำนวณ เขาจึงเรียนต่อปริญญาโท MBA (finance) ด้วยความตั้งใจว่าจะทำงานด้าน IB หรือ Investment Banker เช่นเดียวกับเพื่อน ๆ อีกหลายคน “ตอนนั้นได้ยินเพื่อน ๆ เขาพูดกันว่าใครทำ IB  (Investment Banker) บริษัท finance เขาให้โบนัสกันดีมากนะ เพราะตอนนั้น Tisco เขาให้โบนัส 24 เดือน 36 เดือนเลย เราก็คิดว่าถ้า performance ดีขนาดนั้นก็น่าสนใจ เราน่าจะพอไหว” แต่เมื่อได้ทำงานที่ฝัน สิ่งที่เขาอยากเรียนรู้เริ่มมีมากกว่าขอบข่ายงานที่กำลังทำอยู่ บวกกับผลตอบแทนของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปเพราะวิกฤตต้มยำกุ้ง เขาจึงเริ่มมองหาโอกาสใหม่ ๆ โดยช่วงเวลานั้น ดร.ต่อบุญเห็นอุตสาหกรรมหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่น่าจับตามอง และมีโอกาสเติบโตหากจับทางได้ถูกต้อง นั่นก็คือธุรกิจเกี่ยวกับ ‘อินเทอร์เน็ต’ “เรากลับมาถามตัวเองว่าอยากจะทำอะไร ตอนนั้นเรื่องอินเทอร์เน็ตที่เราเห็นก็ยังติดอยู่ในใจ แล้วเพื่อน ๆ ที่จบจากสหรัฐอเมริกากลับมาก็คุยกันว่าน่าจะหาอะไรทำที่เกี่ยวกับธุรกิจอินเทอร์เน็ต ก็เลยเริ่มทำสตาร์ทอัพกัน” ทว่าช่วงเวลานั้น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกลับไม่ใช่เรื่องง่าย จนเรียกได้ว่าเป็นยุค ‘บุกเบิก’ เลยทีเดียว “ถ้าบอกว่าผมเป็นรุ่นแรก ๆ เลยในเมืองไทย ก็น่าจะพอไหวถ้าดูจากสีผม ดูจากอายุ” (หัวเราะ) ดร.ต่อบุญเล่าอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะพาเราย้อนไปฟังเรื่องราวของอินเทอร์เน็ตในยุคที่ยังไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก  “ตอนนั้นถ้าอยากเล่นอินเทอร์เน็ต ต้องใส่โมเดม (modem) เวลาจะใช้ก็ต้องโทรศัพท์เข้าไปให้มันต่อติด ติ๊ด ๆ ๆ ๆ แล้วลุ้นว่ามันจะติดไหม ถ้าติดถึงจะได้เล่น แล้ว speed ตอนนั้นมันหลัก KB ตอนนี้เราพูดเป็น GB …ช่วงแรก ๆ ของการเริ่มต้น คือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้สวยหรูอย่างในปัจจุบัน แล้วราคาสูง คนใช้งานยังไม่เยอะ ใครใช้อินเทอร์เน็ตถือว่าหล่อ เท่ เหมือน early adopter แล้วตอนนั้นคิดเป็นชั่วโมง ไม่มี unlimit” ธุรกิจที่เขาทำในช่วงเวลานั้นจึงเป็นแบบผสมผสานระหว่างอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ และอสังหาริมทรัพย์ (real estate) “ลองนึกภาพตอนเราจะหาบ้านแถวรังสิต แถวอยุธยา เราจะต้องไปซื้อหนังสือพิมพ์ ดูลิสต์ตัวเล็ก ๆ แล้วมันก็เยอะมากเลย อยากจะได้โบรชัวร์อันหนึ่งต้องขับรถไปเอาที่ไซต์ โห! มีกี่ไซต์ล่ะ เราเห็นช่องว่างตรงนี้ เลยคิดธุรกิจกับเพื่อนมาอันหนึ่งว่า คงจะดีถ้าเราคิดระบบมาให้คนหาข้อมูลของบ้าน “หลายคนเห็นเป็นข้อจำกัดว่า พอธุรกิจ finance มัน crash เงินที่ funding ให้กับโปรเจกต์พวก real estate มันน้อยลงหรือแทบไม่มี แต่เราเห็นว่า crisis มันเป็น opportunity เพราะว่าคนที่เขายังอยู่รอด เขายังต้องทำการตลาด  “แต่การตลาดที่เขาเจอคือ mass marketing เขาต้องโฆษณาในทีวี หนังสือพิมพ์ที่ดูกันทั้งประเทศ ซึ่งมันไม่จำเป็น เราก็เลยทำ direct marketing พอได้ปุ๊บเราก็ไปคุยกับ developer จากโฆษณาทีครั้งละหลายล้าน เราให้เขาโฆษณาหลักหมื่น แล้วเราก็เก็บข้อมูลส่งให้เขา” รูปแบบของบริการจึงออกมาเป็นการให้ข้อมูลเรื่องบ้านพร้อมโบรชัวร์ ผ่าน 2 ช่องทาง คือ โทรศัพท์ที่ใช้ระบบ ‘interactive voice response’ (หากเล่าให้เห็นภาพจะเหมือนกับเวลาเราโทรฯ ไป แล้วมีเสียงตอบกลับอัตโนมัติว่า กด 0 เพื่อ… กด 1 เพื่อติดต่อ…) ควบคู่ไปกับการใช้ ‘อินเทอร์เน็ต’ ที่สามารถดาวน์โหลดโบรชัวร์ได้ทันที แม้จะมีเสียงตอบรับค่อนข้างดี แต่ ‘จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต’ ยังเป็นโจทย์หินสำหรับเขา “เราอาจจะพลาดไปนิดหนึ่ง เนื่องจากคนเล่นอินเทอร์เน็ตยังไม่เยอะ เราก็ต้องทำให้คนเล่นอินเทอร์เน็ต แต่เราตัวเล็ก ๆ จะไปทำให้คนส่วนใหญ่เล่นอินเทอร์เน็ตมันก็ยาก สอง, คือเขามีอินเทอร์เน็ตแล้ว เราก็ต้องทำให้เขาใช้ต่อ ต้องทำ customer acquisition (การหาลูกค้า) อีก  “เพราะฉะนั้นปัญหาคือ cost ของการตลาดมันสูงมาก เราไม่ได้มี funding ที่เพียงพอไปถึงจุดที่เรารอดได้ เราก็เลยเปลี่ยนไปทำ business ตัวอื่น อันนี้ก็เป็นที่มา แต่ทำให้เราเข้าใจว่าธุรกิจของอินเทอร์เน็ต โอกาสมันเยอะ เพียงแต่เราอาจจะมาเร็วไป แล้วสายป่านอะไรต่าง ๆ ณ ตอนนั้นยังยาวไม่พอ ก็เป็นอันแรกที่หยุดไป”   Startup ...start again ดร.ต่อบุญเล่าว่า สิ่งที่เขาเรียนรู้จากธุรกิจแรก คือเรื่องมาร์เก็ตไซซ์ (market size) เพราะช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ธุรกิจในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ที่ล้มลงไปนั้นมีมากกว่าที่เขาคิด บวกกับกลุ่มคนใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังเป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ  การทำธุรกิจครั้งต่อมา เขาจึงมองไปที่จุดเด่นของ ‘อินเทอร์เน็ต’ นั่นคือความ ‘ไร้พรมแดน’ และไปได้ไกลกว่าในประเทศ ซึ่งนับเป็นโอกาสการขยายมาร์เก็ตไซซ์ไปในตัว เขาจึงนำข้อดีนี้มาพัฒนาเป็นเว็บไซต์ที่ชื่อว่า ‘Thailand.com’ “เราเลยกลับมาตั้งคำถามว่า ถ้าเราจะทำธุรกิจกับ user ที่เป็นดิจิทัล อะไรจะให้คุณค่าสูงสุด เราก็มองต่อ ถ้าคนพูดถึงเมืองไทยเขาจะคิดถึงอะไร รีเสิร์ชไปรีเสิร์ชมา อ๋อ! มันมีอยู่สองตัวนะคือ ‘ส่งออก’ กับ ‘ท่องเที่ยว’ สินค้าไทยเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ แต่วิธีติดต่อสื่อสาร การตลาดมันยาก ติดต่อโฆษณาก็แพง เรามองว่าอินเทอร์เน็ตมันน่าจะเป็นตัวเชื่อมนะ เพราะเราหา business หรือใครที่อยากจะส่งออก แล้วมาช่วยทำ website ทำออนไลน์ หาผู้ซื้อที่อยู่ทางต่างประเทศให้ แล้วพูดคุยกับเขาผ่านออนไลน์ เพื่อจะลด cost การตลาด ให้การเจอกันมันง่ายขึ้น  “สอง, business อีกตัวที่ generate รายได้สูงสุดคือการท่องเที่ยว จริง ๆ เราเป็นกลุ่มแรก ๆ เลยที่ทำออนไลน์ท่องเที่ยว เพียงแต่ตอนนั้นที่เราทำในเชิง media ให้คนเห็นว่าเมืองไทยมีอะไรน่าเที่ยว แต่ละจังหวัดเป็นยังไง แล้วก็ทำโฆษณาให้กับโรงแรม เวลาคนอยากจะรู้อะไรเกี่ยวกับเมืองไทยก็มาที่เว็บไซต์นี้ มาอ่าน มาเขียนรีวิว เราก็เก็บ reach ส่งลูกค้า  “แต่พอเราถึงจุดหนึ่ง เริ่มมี break even point (จุดคุ้มทุน) คนเริ่มลงทุนมันหายไปเพราะว่าสเกลที่เราโต เราอาจจะไปไม่ได้ใหญ่แบบที่เราต้องการ พอเห็นคู่แข่งหลายอันเริ่มเข้ามา การจะต่อสู้กับยักษ์ใหญ่มันก็ต้องมีเงินทุน แต่ตอนนั้นเงินทุนของเราอาจจะไม่ได้เยอะมาก” เมื่อเดินทางมาเจอข้อจำกัดให้ไม่สามารถเดินต่อไปได้ แต่หัวใจยังเปี่ยมไปด้วยพลังและความสนุก เขาจึงเปลี่ยนทิศไปยังเส้นทางใหม่ในธุรกิจที่ ‘สนุก’ พอ ๆ กับชื่อ นั่นก็คือ Sanook.com   เว็บ sanook ที่ทำด้วยความสนุกและท้าทาย “โชคดีได้มีโอกาสมา join กับทีมงานของ sanook.com คราวนี้ต้องบอกว่าตื่นเต้นสุดใน journey เลย เพราะว่าสองครั้งที่ผ่านมาเราเริ่มมีประสบการณ์ แล้วคนที่มา support เราก็มาจาก South Africa ก็มีเงินทุน มุ่งมั่นอยากจะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราก็เอา learning ของเราไปผสม แล้วก็ผลักดันเว็บไซต์ของ sanook “เราอยู่เมืองไทย เราแข่งขันกับเว็บไซต์ต่างชาติ แล้วเราทำคอนเทนต์ เราเข้าใจ taste ของลูกค้าคนไทย เขียนแบบนี้ โดน อธิบายแบบนี้ โดน รูปภาพต่าง ๆ ที่ใส่เข้าไป อันนี้น่าจะเป็นโจทย์ที่เรา crack แล้วเราอยู่ในตลาด” ทว่าโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่นำความเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึงมาได้ทุกวินาที การก้าวเข้ามาเป็นผู้บริหาร Sanook.com คราวนี้ เขาจึงต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ อย่างช่วงที่ google เริ่มเป็นที่นิยมและเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้งานจากการเข้าเว็บไซต์ sanook เพื่อไล่หาข้อมูล มาเป็นการเสิร์ชผ่านหน้า google แทน  “เราไม่ต้องสู้ทุกอย่าง แต่เราเข้าใจ journey ของลูกค้า” ดร.ต่อบุญเล่าว่า ตอนนั้นเขาไม่ได้มอง google เป็นคู่แข่ง เพราะแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้คนเข้ามาเสิร์ชในเว็บไซต์ sanook เป็นหน้าแรกแทน google เขาจึงพลิกเกมใหม่ โดยให้คนเสิร์ชคีย์เวิร์ดต่าง ๆ ผ่าน google แต่เจอคอนเทนต์ของ sanook เป็นอันแรก ๆ หรือที่เราเรียกว่า SEO (Search Engine Optimization) ซึ่งในช่วงเวลานั้น SEO ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างในปัจจุบัน  “วิธีหนึ่งที่ผมทำคือเรียนรู้จากคนที่เก่งที่สุดในแต่ละประเทศ แล้วดูว่าในประเทศนั้น local market เขาเป็นอะไร ทำไมเขาถึงสำเร็จ แล้ว market เรา มีตัวไหนที่มันเหมือน เอามาใช้ได้บ้าง ตัวไหนที่ไม่เวิร์กตัดออก แล้วคิดต่อยอด  “การเรียนรู้เทคโนโลยีมันคือการ trial and error ถึงแม้จะทำมา 2 ครั้ง มันก็ไม่ได้เรียนรู้เยอะจนครบ เพราะโลกมันกว้างจริง ๆ การไปเรียนรู้จากผู้สำเร็จแล้วมาถอดรหัส อันนั้นต่างหากทำให้เราเรียนรู้ได้เร็วและไว “ส่วนอีกอันโชคดี คือ gap ของภาษา เพราะบางทีแพลตฟอร์มมาสู้กัน เทคโนโลยีเราสู้ไม่ได้ เพราะต่างประเทศเขาไปไกลกว่าเรา เงินลงทุนของเขาเยอะ R&D เขาเยอะ แต่ความเข้าใจใน local market เขาอาจจะไม่เท่าไร อันนี้เป็นตัวต่างที่ทำให้ sanook หลุดออกมาจากคู่แข่งได้ เพราะเราคนไทยทำ  “สองก็คือปรับตัวธุรกิจ consumer เปลี่ยนตลอดเวลา วันหนึ่งจากอ่าน article เปลี่ยนเป็นดูภาพ จากภาพเป็นวิดีโอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือต้องปรับตัวให้ทัน”  หลังจากบริหาร sanook.com ราว 7 - 8 ปี ดร.ต่อบุญเริ่มออกเดินทางบนเส้นทางใหม่ ๆ แต่ยังคงคลุกคลีอยู่กับธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัลอยู่เช่นเดิม โดยหนึ่งในนั้นคือการก้าวสู่นิตยสารเกมออนไลน์อย่าง ‘Online Station’  ‘ดร.ต่อบุญ พ่วงมหา’ : TrueID และ Online Station ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย ‘ความสนุก’ และ ‘ทีมเวิร์ก’ ‘ดร.ต่อบุญ พ่วงมหา’ : TrueID และ Online Station ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย ‘ความสนุก’ และ ‘ทีมเวิร์ก’ Online Station กับการทุบหม้อข้าว  2015 คือปีแรกที่ ดร.ต่อบุญเข้ามาบริหาร Online Station ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ผู้คนซื้อนิตยสารเล่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนหลายเจ้าค่อย ๆ ทยอยปิดตัว “ตอนนั้นก็ขาดทุน คิดอยู่ว่าจะปิดดีไหม แต่สุดท้ายเรากลับไปที่ความเข้าใจตลาด เพราะเรารู้ว่าตลาดมันโต เกมเมอร์มากขึ้น จำนวนเกมมากขึ้น แต่ไปในดิจิทัลหมดเลย” “เราก็ตั้งใจบอกทีมงานเหมือนพระเจ้าตากเลยว่า ทุบหม้อข้าวแล้ว ถ้าคุณไม่รอดก็ไม่มีงานทำกันนะ ทุกคนก็ร่วมด้วยช่วยกันย้ายลูกค้าจาก traditional จาก magazine ข้ามมาออนไลน์ ก็โชคดีที่เสน่ห์ของเราคือการเล่าเรื่องเพราะเราเป็นคนไทย พอเราเขียน เข้ามาอยู่ในออนไลน์ลูกค้าก็ตาม มันแค่เปลี่ยนแพลตฟอร์มเท่านั้น แต่ความยากอยู่ตรงที่ว่า business model มันเปลี่ยน เพราะรายได้ magazine คือโฆษณา …แต่เราเห็นโอกาสครั้งต่อไปคือ UTC (User Generated Content) เป็นยุคของ facebook YouTube ที่คนสามารถสร้าง content ได้เอง”  วิธีการปรับตัวครั้งนี้ จึงเป็นการร่วมมือกับ creator และ influencer ด้านเกมออนไลน์ เพื่อจัด live streaming สร้างคอนเทนต์ลงในเพจเฟซบุ๊กและช่องยูทูบ รวมทั้งเปลี่ยนมาหารายได้จากช่องทางดังกล่าว  แน่นอนว่ายุคที่ผู้คนสามารถสร้างช่องยูทูบ เปิดเพจเฟซบุ๊กได้ด้วยตัวเอง ทำให้เราเกิดคำถามว่าทำไมพวกเขาจึงต้องจับมือกับทาง Online Station ซึ่ง ดร.ต่อบุญให้คำตอบว่า สิ่งที่ Online Station มีมากกว่าคือความเข้าใจเทรนด์ เข้าใจลูกค้า ไปจนถึงการทำธุรกิจ ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์และบริหารจัดการได้โดยที่ Creator สามารถโฟกัสกับงานส่วนตัวเองได้อย่างเต็มที่  “เราเอาข้อมูลเหล่านี้มาประมวลผลแล้วคืนกลับไปที่ creator ของเรา ว่าถ้าคุณทำแบบนี้คุณได้ผลลัพธ์ 100 คุณเปลี่ยนนี่สิ ผลลัพธ์อาจจะเป็น 300 ก็ได้ เรา treat creator เป็น friendship แล้วโตไปด้วยกัน เราให้เขาใช้ความถนัดของเขา อันไหนเขาไม่ถนัด ให้เขาช่วยดึงแล้ว support มา “ช่วงแรก ๆ มี creator อยู่กับเรา 2 - 3 คน ตอนนี้มีคนอยู่กับเรานับพัน และเราเป็นทีมแรก ๆ ที่ร่วมมือกับ facebook เป็นตลาดทดลอง ผ่านไปตอนนี้เรามี streamer ที่อยู่ใน facebook 200 - 300 คน แล้วจำนวนของ viewer ที่อยู่ใน facebook ต้องบอกว่าเราก็น่าจะเป็นเบอร์หนึ่งของเมืองไทย” แม้จะย้ายมาอยู่ออนไลน์ทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะทิ้งช่องทางออฟไลน์อย่างสิ้นเชิง เพราะหลังจากธุรกิจออนไลน์เริ่มแข็งแรง ก็เริ่มมีงานออฟไลน์ อย่าง ‘Thailand Game Show’ อีเวนต์สุดยิ่งใหญ่ของเหล่าเกมเมอร์ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่อยากพบปะ creator และ influencer โดยอีเวนต์ที่ต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าร่วมนี้ มีผู้เข้าร่วมงานนับแสนคนเลยทีเดียว ‘ดร.ต่อบุญ พ่วงมหา’ : TrueID และ Online Station ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย ‘ความสนุก’ และ ‘ทีมเวิร์ก’ TrueID กับองค์กรที่ขับเคลื่อนได้เพราะผู้คน นอกจาก ดร.ต่อบุญจะดูแล Online Station ตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปัจจุบันแล้ว ในปี 2020 เขาได้ก้าวเข้ามาดูแลแพลตฟอร์มที่หลายคนคุ้นชื่ออย่าง TrueID  “เราเริ่มมาจากการสร้างเป็นดิจิทัลกับมีเดีย ก็คือเริ่มจากการทำคอนเทนต์แล้วก็ integrate เอาจุดแข็งของเราที่มี ทั้ง live stream, True Visions, VDO on demand มาจัดกลุ่มแบ่งตามความต้องการของลูกค้า “แต่เราต้องการที่จะ serve digital lifestyle จริง ๆ เราก็กลับไปดูว่า 24 ชั่วโมง ไม่ได้มีแค่การ ‘ดู’ อย่างเดียว ความจริงเรามี ‘อ่าน’ ด้วยนะ เราก็ทำ article ที่อยู่บนเว็บไซต์ด้วย แต่จะทำยังไงให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น …ล่าสุดเราก็เปิดตัวเพจที่สามารถทำให้ลูกค้ามาสร้าง channel ได้เอง แล้วก็สามารถ connect follow อะไรกันได้ อันนี้ก็เป็นหนึ่งอันที่เราขยายออกเพื่อเพิ่ม usage” เป้าหมายของ TrueID ในตอนนี้จึงเป็นการขยายไปมากกว่า ‘การดู’ และ ‘การอ่าน’ แต่เป็นบริการที่หลากหลายและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จนเรียกว่าเป็น ‘super app’  “เพราะฉะนั้นการบริหารหรือการนำก็จะต้องต่าง พอ business model ขยับ service ขยับ กลุ่มลูกค้ากว้างขึ้น คำถามคือเราจะจัดองค์กรอย่างไร สร้าง culture อยให้เขารู้สึกสนุกและตื่นเต้นกับ vision ที่เราจะไป “สิ่งแรกที่ทำให้เขาเห็น คือเกมมันจะเปลี่ยนไป ใช้เวลาเยอะมาก และต้องเปลี่ยนด้วย เพราะไม่เปลี่ยนจะไม่อยู่รอด ถ้า keep doing the same thing แล้วไม่เกิด value ให้กับองค์กร มันคือ waste เพราะฉะนั้นจะต้องให้ชัดว่าที่จะเปลี่ยน คือเปลี่ยนอะไร “แต่ที่ TrueID ไม่เคยมีนโยบายที่จะไล่คนออกอยู่แล้วนะครับ ดังนั้นเราต้องละเมียดขึ้นอีกว่า ถ้าเราไม่ทิ้งคน แต่ธุรกิจตรงนี้รอด จะทำยังไง  “เราต้องเป็นตัวอย่างให้เขาดูว่า ต้องเรียนรู้ไปด้วยกันสิ ไปเป็นโค้ชเขา ให้กำลังใจเขา ถ้าเขาทำไม่เป็น หาคนมาสอน แล้วก็จัด structure จัด working process ให้เข้ากับเป้าหมายใหม่ อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้นำเหมือนกัน บางทีเป้าหมายชัด คนตามชัด แต่โครงสร้างไม่ได้ ก็ไม่เคลื่อน หรือโครงสร้างได้ คนไม่ใช่ ก็ไม่เคลื่อนเหมือนกัน “เพราะธุรกิจดิจิทัล ถ้าเอาคนออกไม่เหลืออะไรแล้วนะ คนต่างหากเป็นตัวดันให้ธุรกิจมันเดิน เพราะฉะนั้นคนคือ asset ที่สูงที่สุด”    ความสนุกที่เกิดจากคำว่า ‘ทำไม’ เมื่อถามถึงสไตล์ความเป็นผู้นำ ดร.ต่อบุญบอกกับเราว่า  “ผมเป็นคนสนุกกับการทำงาน เป็นคนชอบฝัน มี inspiration อยู่ในตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าถามผมว่าอยากเป็นผู้นำแบบไหน ก็น่าจะเป็น inspirational leader “เวลาผมจะนำทีมส่วนใหญ่ ผมจะไม่ใช่ไทป์แบบ dictate แต่เป็น teamwork รวมจุดมุ่งหมายเดียวกัน …เราจะไปด้วยกัน แบ่งหน้าที่ให้ชัดว่า เราจะไม่ได้เป็นนักเล่นที่ไปแข่งกับคุณ เราจะไปทำให้คุณโต เพราะฉะนั้นเราจะเป็น coaching style และ empower เขา “พอมันเกิดภาพของทีม ปึ้ง แล้วมันชนะ มันมีความสุข ทำให้เราอยากตื่นมาทุกวัน แล้วเราอยาก lead จากอันที่เราอยากทำมัน ไม่ใช่ฝืน มันจะใช้เวลาเยอะมากเพื่อจะเข้าใจโจทย์ว่า ‘ทำไมถึงทำ’ อาจจะต้องอธิบาย ทำให้เขาเข้าใจว่าทำสิแล้วผลลัพธ์มันจะเป็นยังไง พอเขาอินแล้วมันจะสนุกมากเลย “ที่สนุกมาก ๆ ของ online station และเป็นความสุขของเราจริง ๆ คือ ยิ่งเราเติบโตมากเท่าไร เชื่อไหมครับคนที่เติบโตตามเราก็คือ creator นะ “เห็นน้องคนหนึ่ง จบมาใหม่ ๆ ทำงานได้เงินเดือนไม่เท่าไร แต่พอมาทำเริ่มได้รายได้มากขึ้น ห้าหลัก หกหลัก เจ็ดหลัก แล้วเราก็เห็นเขาซื้อบ้านให้คุณพ่อคุณแม่ สามารถที่จะปรับเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีครอบครัวดีขึ้น พวกนี้มันคือความสุขนะ แล้วพอเขาโตมากขึ้น เขาก็ผลักดัน ประเทศก็โตมากขึ้นนะ แทนที่เราจะเป็นผู้ใช้ ตอนนี้เราจะเป็นผู้สร้าง เนี่ยถ้าเราคิด แล้วเราเข้าใจว่า ทำไมเราถึงทำมัน แล้วเรารู้ว่าจุดสุดท้ายของมันคืออะไรแล้วเราจะสนุก “ทั้งหมดก็จะมีตัววัดความสำเร็จ แต่ผมจะไม่ใช่คนที่บอกว่า จะทำให้ได้กำไรร้อยล้าน แล้วมาสนุกกับการทำให้ได้ร้อยล้าน ผมไม่ใช่แบบนั้น คือมันต้องบอกได้ว่าร้อยล้านอะไร ที่มา purpose ของร้อยล้านคืออะไร” ท่ามกลางโลก (ออนไลน์) ที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นอีกหลายปี หรืออาจจะอีกไม่กี่วินาทีข้างหน้า แต่ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นจะพัดพาวิกฤตหรือโจทย์ยาก ๆ มาอีกสักกี่ครั้ง เรื่องราวทั้งหมดก็พอทำให้เราเชื่อมั่นว่า ‘ดร.ต่อบุญ พ่วงมหา’ จะเป็นหนึ่งในคนที่สามารถมองหาโอกาส และก้าวต่อไปด้วยความเป็น ‘ทีมเวิร์ก’ ได้เสมอ