Twilight Over Burma ความหวังของแสงที่อาจจะมาแทน ‘สิ้นแสงฉาน’ ในวันรัฐประหารของพม่า

Twilight Over Burma ความหวังของแสงที่อาจจะมาแทน ‘สิ้นแสงฉาน’ ในวันรัฐประหารของพม่า
Twilight Over Burma (Austria, Sabine Derflinger, 2015) คือภาพยนตร์ที่มีโครงเรื่องมาจากหนังสือ ‘สิ้นแสงฉาน’ (Twilight Over Burma) นวนิยายแปลจากงานเขียน อิงเง่ ซาร์เจนท์ หญิงชาวออสเตรีย อดีตมหาเทวีแห่งสีป้อ (สำนักพิมพ์มติชนตีพิมพ์ แปลโดยมนันยา) นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวรักโรแมนติกของตัวผู้เขียนเอง ซึ่งพรหมลิขิตพาให้มาพบรักและใช้ชีวิตคู่กับเจ้าฟ้าจาแสงแห่งรัฐฉาน แต่แล้วโชคชะตาก็พลิกผันเมื่อเกิดรัฐประหารโดยนายพลเนวิน เมื่อปี พ.ศ. 2505 ทำให้เธอต้องพาลูก ๆ หนีออกมาจากประเทศ โดยไม่รู้แม้แต่ชะตากรรมของสามีผู้เป็นเจ้าแห่งรัฐฉาน ด้วยความที่เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ในลักษณะที่ทำมาเพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์ในออสเตรีย โปรดักชันและภาษาหนังที่ใช้ในเรื่องจึงออกมาในลักษณะของการเล่าเรื่องเพื่อให้ฟังก์ชันกับคนดูทีวีเป็นหลัก ทำให้ในบางจังหวะของภาพยนตร์ค่อนข้างจะอืดและยืดยาดสำหรับคนที่ชอบดูหนังเล่าเรื่องเร็ว ๆ แต่หากจะพูดถึงเรื่องการ ‘เก็บความ’ ในหนังสือ ภาพยนตร์ Twilight Over Burma ก็มีหลายมุมมองที่น่าสนใจ เรื่องราวของภาพยนตร์เริ่มต้นขึ้นจากการพบรักของเจ้าฟ้าจาแสง (แสดงโดย ทวีฤทธิ์ จุลละทรัพย์ นักแสดงชาวไทย) กับอิงเง่ ซาร์เจนท์ (แสดงโดย มาเรีย แอห์ริค นักแสดงชาวเยอรมัน) ตอนเรียนที่อเมริกา แล้วต่อมาทั้งคู่มาใช้ชีวิตร่วมกันที่รัฐฉาน ประเทศพม่า (ใช้ชื่อประเทศโดยอิงบริบทยุคนั้น) ในช่วงหลังจากที่พม่าหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศนี้ว่าหลังจากนี้จะก้าวหน้าไปทางไหน ระหว่างการให้อำนาจประชาชนเพื่อปูทางไปสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตย กับการดึงอำนาจเข้ามาสู่รัฐซึ่งมีกองทัพอยู่เบื้องหลัง อย่างไรก็ตาม ‘สาร’ ที่แฝงในหนัง แม้จะวาดภาพ ‘ทหาร’ เป็นตัวร้าย ผ่านความโหดร้ายในช่วงของการปฏิบัติการเพื่อความมั่นคงของรัฐหลังรัฐประหาร แต่อีกมุมกลับเต็มไปด้วยกลิ่นของ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ของกลุ่มเจ้าผ่านบทบาทของทั้งเจ้าฟ้าจาแสง ซึ่งเป็นเจ้าที่เรียนรู้วิทยาการจากตะวันตก (การทำเหมือง) เพื่อนำความรู้มาพัฒนาประเทศ และต้องการนำประชาธิปไตยมาสู่ดินแดนพม่า  ส่วนตัวของอิงเง่ ซาร์เจนท์ (ในฐานะผู้เล่าเรื่อง) ก็เปรียบเสมือนตัวแทนของภาวะทันสมัยของคนตะวันตกที่เข้ามาสร้างความศิวิไลซ์ให้กับคนพม่าหลังยุคอาณานิคม  ที่มันดูย้อนแย้งก็คือ เมื่อตะวันตกอย่างเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ถอยออกจากประเทศ ตัวอิงเง่ ซาร์เจนท์ ในฐานะคนตะวันตกอีกแบบก็กลับเข้ามาเพื่อช่วยสามี ‘พัฒนา’ ประเทศ และให้การศึกษาผู้คนเพื่อให้ก้าวพ้นจากสังคมล้าหลัง มาเป็นสังคมที่ทันสมัยขึ้น ผ่านฉากของการช่วยเหลือข้าราชบริพารที่กำลังป่วยหนัก แทนที่จะปล่อยให้เธอเสียชีวิตตามความเชื่อดั้งเดิม แต่ตัวเอกกลับใช้ความรู้ทางด้านสาธารณสุขสมัยใหม่เข้ามาช่วยชีวิตของข้าราชบริพารผู้นั้น ในมุมนี้เอง จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่บอกว่า กลุ่มเจ้า (ที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก) ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่า และความเป็นตะวันตกคือความดีงาม ขัดกับภาพของทหารที่มีความ ‘ป่าเถื่อน’ ท่าทีดูจะกลายเป็นตัวโกงอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ได้บอกว่าเผด็จการทหารในพม่านั้นเป็นของดี เพราะผลลัพธ์ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรานี้ปกครองด้วยทหารนั้นเลวร้ายขนาดไหน เราก็เห็น ๆ กันอยู่ แต่การสร้างภาพแบบ ‘เทพ’ กับ ‘มาร’ แบบขาวกับดำแยกกันออกมานั้น มันทำให้ภาพของหนังดูหลุดยุคไปมาก ๆ ในโลกปัจจุบันที่เราไม่อาจจะนิยามได้อย่างชัดเจนจริง ๆ ว่าสิ่งใดคือขาวและดำ อย่างไรก็ตาม หากมองเฉพาะผลลัพธ์ที่เป้าหมายของหนังต้องการที่จะชำระประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ในมุมมองของอิงเง่ ซาร์เจนท์เองที่ยังคงร้องเรียนเรื่องการหายตัวไปของเจ้าฟ้าจาแสงผู้เป็นสามีมาเป็นเวลานานหลายสิบปี (ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน) นับว่าตัวหนัง Twilight Over Burma ทำงานควบคู่กับเป้าหมายนี้ได้อย่างน่าสนใจ หากมองในแง่ที่ว่า โปรดักชันของหนังเรื่องนี้เริ่มกันจริง ๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพ้องกับช่วงเวลาที่พม่า (เมียนมา) เริ่มเปิดประเทศ มีการเลือกตั้ง และขยับประเทศก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น (ก่อนที่จะกลับมาทำการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2564) ทำให้เรื่องราวในหนังและนวนิยายนั้นไม่ถูกเซ็นเซอร์จากรัฐบาลเมียนมาอย่างเมื่อวันวาน กองถ่าย Twilight Over Burma สามารถเดินทางเข้าไปถ่ายทำหนังในดินแดนนี้ได้ ซึ่งเราจะเห็นได้จากฉากใหญ่อย่างฉากต้อนรับมหาเทวีแห่งสีป้อก็ถ่ายทำที่ประเทศนี้ แต่สุดท้ายน่าเสียดายว่า หนังเรื่องนี้ถูกรัฐบาลแบน สั่งห้ามฉายในประเทศเมียนมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐยังไม่ใจกว้างพอที่จะเปิดปากแผลของประเทศ และพยายามทำให้เรื่องนี้มาวางไว้บนโต๊ะประวัติศาสตร์ (ในประเทศไทยเอง เมื่อปี 2559 หนังเรื่องนี้ถูกถอดออกจากโปรแกรมการฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศไทย) แต่อย่างไรก็ตาม กระแสเช่นนี้ ส่งผลให้การทวงถามความยุติธรรมและคนที่หายไป (หมายรวมถึงเจ้าฟ้าจาแสง) จากพิษร้ายของการเมืองพม่า ตั้งแต่การรัฐประหารในพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2505 เริ่มมีแสง มีเสียง ที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ ประวัติศาสตร์ของ ‘การไม่ลืม’ เริ่มทำงานขึ้นมาอย่างชัดเจน แม้ว่าคนที่หายไปจะไม่กลับมา แต่เขาไม่เคยหายไปไหนจากหน้าประวัติศาสตร์ แม้ว่าเวลานั้นเอง รัฐฉานจะสิ้นแสงเพราะรัฐบาลทหาร แต่ในวันที่ความมืดคล่อย ๆ คลายตัวลง แสงใหม่ที่มาแทน แม้จะยังเป็นแสงที่ไม่แรงกล้ามาก แถมการรัฐประหารครั้งล่าสุด (2564) อาจจะทำให้ประเทศนี้ถอยหลังกลับไปอีกหลายก้าว แต่มันก็อาจจะมีใครบางคนที่รอคอยด้วยความหวัง ว่าจะเห็นแสงแห่งความหวังที่ทำให้ความยุติธรรมที่เคยหายไปกลับมาก็เป็นได้