Unbelievable: การต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรม (และรัฐ) หลังถูกข่มขืนของมารี แอดเลอร์

Unbelievable: การต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรม (และรัฐ) หลังถูกข่มขืนของมารี แอดเลอร์
การถูกข่มขืนเป็นประเด็นดราม่าที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสอดแทรกในภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะข่มขืนเพื่อการลงโทษตัวร้ายของเรื่อง การตามล่าล้างแค้นของตัวเอกหลังถูกข่มขืน (Rape Revenge) แต่มีเพียงไม่กี่เรื่องที่ยกกระบวนการยุติธรรมคดีเกี่ยวกับเพศมาตีแผ่ให้เห็นถึงความยากลำบากของเหยื่อที่ต้องการเรียกร้องสิทธิของตนตามกฎหมาย นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง The Accused ที่เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1988 ไม่นานมานี้เองในปี ค.ศ. 2019 Unbelievable เป็นอีกหนึ่งในซีรีส์ตีแผ่เรื่องราวความโหดร้ายของกระบวนการยุติธรรมเอาไว้อย่างละเอียด แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านมาหลายสิบปี สิ่งที่มารี แอดเลอร์ ตัวเอกและผู้ถูกข่มขืนต้องเผชิญ กลับมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่ ซาราห์ โทเบียส จาก The Accused ได้รับอยู่หลายส่วน และแน่นอนว่า ประสบการณ์ที่มารีและซาราห์ต้องพบเจอ มีผู้หญิงอีกหลายคนจากทุกมุมโลกต้องเผชิญกับสิ่งเดียวกัน (บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง)   การแจ้งความที่เต็มไปด้วยการข่มขืนซ้ำ มารี แอดเลอร์ ถูกข่มขืนโดยชายแปลกหน้าสวมโม่งดำที่บุกเข้ามาในห้องของเธอตอนรุ่งเช้าวันหนึ่งในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2008 และจากไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยอะไรเอาไว้เลย มารีแจ้งความในทันที และตำรวจก็เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุไม่นานหลังจากนั้นเช่นกัน มารีนั่งนิ่งงันอยู่บนโซฟา เธอให้การครั้งแรกกับนายตำรวจคนหนึ่งว่าผู้ชายคนนั้นจับเธอกดลงอย่างไร มัดมือมัดเท้าเธออย่างไร ถ่ายรูปเธออย่างไร บางคำถามที่เธอไม่แน่ใจเพราะความเบลอบวกกับโดนผ้าผูกปิดตาเอาไว้ ตำรวจก็พยายามกระตุ้นให้เธอนึกให้ออกและตอบให้ได้ เมื่อตำรวจอีกคนหนึ่งเข้ามา เธอก็ต้องเล่าอีกรอบหนึ่ง ที่โรงพยาบาลอีกรอบ กับหมออีกรอบ และกับพนักงานสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง ด้วยอาการนิ่งงันเช่นเดิม “ผู้เสียหายมักจะนึกรายละเอียดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาได้ถ้าเล่าซ้ำ ๆ” ตำรวจบอกมารี แต่ยิ่งเล่าซ้ำ มารียิ่งสับสน ภาพความทรงจำขณะที่โดนกดอยู่กับเตียงผุดขึ้นมาในหัวซ้ำแล้วซ้ำอีก รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างจึงไม่ตรงกันกับปากคำครั้งแรก เมื่อรวมกับประวัติสุขภาพจิตที่น่าคลางแคลงสงสัยจากปากคนรอบข้าง สภาพที่เกิดเหตุที่สะอาดสะอ้าน ไม่มีรอยนิ้วมือ ซองถุงยางอนามัยหรือคราบอะไรหลงเหลืออยู่ และท่าทางที่ไม่ได้ฟูมฟายคร่ำครวญ ทำให้ตำรวจเริ่มสงสัยว่ามารีพูดโกหก ตำรวจพยายามจับผิดในรายละเอียดเล็กน้อยทุกอณูและกดดันมารีให้เขียนคำสารภาพว่าตัวเองกุเรื่องขึ้นมา มารีที่อ่อนล้าจากการถูกจี้ถามซ้ำ ๆ จึงตัดสินใจเขียนว่า เธอหลับและคงจะฝันไปว่ามีคนมาข่มขืนเธอ นายตำรวจอ่านคำให้การนี้แล้วก็โมโห โยนกระดาษกลับมา จนมารีต้องเขียนยอมรับว่าตัวเองโกหกเรื่องที่ถูกข่มขืนเพราะอยากเรียกร้องความสนใจ   ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ฉันจะโกหกว่าตัวเองไม่เคยถูกข่มขืนมาก่อนเลย มารีไม่ใช่ผู้เสียหายคนเดียวที่ตัดสินใจยอมแพ้กลางคันระหว่างกระบวนการยุติธรรม เจ้าพนักงานสอบสวนใน Unbelievable ถูกเรียกว่าเป็น Bad Cop หรือตำรวจที่แย่แล้ว แต่เมื่อเทียบกระบวนการที่มารีผ่านมาจนถึงจุดที่ต้องยอมแพ้กับสิ่งที่ผู้หญิงไทยต้องเจอ ยังนับว่ามีมาตรฐานที่สูงกว่ามาก ในไทย ตำรวจแทบไม่เคยลงมาที่เกิดเหตุในทันทีที่ได้รับการแจ้งความ แม้เมื่อผู้เสียหายเดินทางด้วยตัวเองไปถึงสถานีตำรวจแล้ว พวกเธอยังต้องเจอกับคำแนะนำว่าให้ “ลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน” ซึ่งไม่ใช่การเริ่มดำเนินคดีแจ้งความแต่อย่างใด แม้แต่กระบวนการเก็บหลักฐานที่โรงพยาบาลก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างละเอียดเหมือนอย่างที่มารีได้เจอ เคสหลายเคสที่แบกร่างอันบอบช้ำของตัวเองไปขอความช่วยเหลือทันทีตามคำแนะนำของกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ได้พร้อมช่วยเหลือ หลักฐานและพยานแวดล้อมที่สมควรจะถูกเก็บรวบรวมมาสนับสนุนคำให้การของเธอ กลับหายวับไปอย่างน่าเสียดาย และไม่มีทางเก็บกลับมาได้อีก นั่นคือในกรณีที่เหยื่อสามารถประกอบชิ้นส่วนที่แหลกสลายของตัวเองขึ้นมาได้ แต่ผู้หญิงอีกมากมายไม่สามารถทำได้ กว่าเธอจะทำใจให้แข็งแกร่งพอจะเล่าเรื่องนี้เพื่อขอความช่วยเหลือ หลักฐานทางกายภาพใด ๆ ก็อาจหายไปไม่เหลือแล้ว เหมือนที่ตำรวจคดีของมารีไม่สามารถหาได้แม้แต่รอยนิ้วมือของคนร้ายในห้องของเธอ สิ่งที่เหลืออยู่จึงมีแค่คำพูดของเหยื่อ สำหรับตำรวจและศาลแล้ว มันช่างบางเบาไร้น้ำหนักเหลือเกิน   อาการ trauma และผลกระทบของการข่มขืนต่อทั้งชีวิตที่ตามมา มิติทางกฎหมายไม่ได้เป็นภาระเดียวที่ผู้เสียหายต้องแบก เมื่อถูกข่มขืน ชีวิตทุกมิติได้เปลี่ยนแปลงไปเกือบจะสิ้นเชิง มารีต้องเจอกับคำตัดพ้อต่อว่าของสังคม สื่อที่ตามกดดันทำข่าวดราม่าเด็กสาวที่แจ้งความเท็จ กุเรื่องว่าตัวเองถูกข่มขืน ชีวิตของเธอค่อย ๆ พังทลาย เพื่อนเลิกคบเธอเพราะรับไม่ได้ที่เธอโกหก ‘เรื่องสำคัญ’ อย่างนี้ บ้านพักเยาวชนทำทัณฑ์บนเธอ และหน้าที่การงานของเธอแย่ลงอย่างชัดเจน บาดแผลทางกายของกรณีข่มขืนกระทำชำเราก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่บาดแผลทางใจจากการถูกทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และล่วงละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายนั้นหนักหนาเป็นอย่างยิ่ง การเข้าสังคมที่แย่ลง ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และศักยภาพในการทำงานเป็นผลมาจากสภาพจิตใจที่เสียหาย ผู้เสียหายที่ถูกข่มขืนแทบทุกคนมักต้องเจอกับอาการ Post Traumatic Stress Disorder (PTSD) หรือภาวะความเครียดหลังประสบกับเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งอาจทำให้มีภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้าได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอีกหนึ่งอาการที่คนไทยยังไม่ค่อยคุ้นหูกันมากนัก นั่นคืออาการ Trauma หรือบาดแผลทางใจนั่นเอง มนุษย์เราเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรง สัญชาตญาณของเราตอบสนองกับเหตุการณ์นั้นได้ 3 รูปแบบคือ  สู้ (Fight) หนี (Flight) หรือภาวะแช่แข็ง (Freeze) หลายครั้งที่เหยื่อถูกข่มขืนไม่สามารถสู้ กรีดร้อง หรือแม้แต่ร้องไห้ได้ ดังเช่นที่มารีแสดงอาการนิ่งซึมมึนงงจนเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใจผิดไปว่า เธอไม่ได้พบเจอกับเหตุการณ์รุนแรงมาจริง ความจริงแล้ว เธอกำลังอยู่ในภาวะ Freeze นั่นเอง สังคมมักคาดหวังให้เหยื่อที่ถูกข่มขืนต้องแสดงอาการเปราะบาง ร้องไห้ และระหว่างที่ถูกข่มขืนจะต้องต่อสู้ (Fight) อย่างถึงที่สุด แต่ความจริงแล้วหากจิตใต้สำนึกของเราประเมินมาแล้วว่า ในสถานการณ์นี้ เราไม่สามารถสู้หรือหนีได้ ทางออกที่ดีที่สุดในการเอาชีวิตรอดคือ การอยู่เฉย ๆ เพื่อรอให้ทุกอย่างจบไป ดังนั้นหากเราเปิดใจรับฟัง เราจะได้ยินเรื่องราวมากมายของผู้หญิงที่ได้แต่นอนตัวแข็งระหว่างรอให้ผู้ชายที่คร่อมอยู่เหนือร่างของเธอหยุดการกระทำอันโหดร้ายนั้นไปเอง การถูกข่มขืนซ้ำในกระบวนการยุติธรรมยิ่งบังคับให้ผู้เสียหายต้องอยู่ในสภาวะที่ต้องเลือกว่าจะ Freeze Fight หรือ Flight อยู่ตลอดเวลา การเล่าเรื่องราวของตนเองให้คนรอบข้างฟังและต้องรับมือกับคำถามเชิงคลางแคลงสงสัย คำถามที่กระทบกระเทือนจิตใจ ล้วนแล้วแต่สร้างบาดแผลในจิตใจเพิ่มขึ้น เสมือนกรีดมีดลงไปในแผลเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก การต้องรับมือกับความเจ็บปวดและความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีกนี้เอง ผู้เสียหายหลายคนจึงได้พัฒนาอาการ Complex Trauma หรือบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนทุกคนรู้ดีว่า หากออกมาพูดแล้ว จะต้องเจอกับอะไร หากออกมาแจ้งความแล้วจะต้องยืนให้ถูกซักฟอกซ้ำซากมากแค่ไหน หลายคนจึงเลือกที่จะไม่แจ้งความ เลือกที่จะไม่บอกใครเลย หนี (Flight) จากการรื้อฟื้นความเจ็บปวดที่เกินจะรับไหวไปตลอดกาล “ถ้าฉันย้อนเวลากลับไปได้ ฉันจะโกหกให้ไวขึ้น และดีขึ้น ฉันจะหาหนทางของฉันเองด้วยตัวเอง ถ้าความจริงมันน่าลำบากใจ ถ้าความจริงฟังดูไม่เข้าท่า พวกเขาก็ไม่เชื่อหรอก” มารีบอก   เพราะรัฐไม่สามารถดูแลสังคมให้ปลอดภัย การข่มขืนจึงยังเกิดขึ้นและจะเกิดต่อไป ข่าวข่มขืนไม่เคยล้าสมัย เรามีเคสที่น่าเศร้าสลดใจให้ได้ยินอยู่ตลอดเวลา ในอเมริกาก็เช่นกัน หลังจากมารี แอดเลอร์ ยอมเขียนคำสารภาพว่าตนเองกุเรื่องขึ้น และถูกรัฐบาลฟ้องกลับฐานแจ้งความเท็จและต้องเสียค่าปรับ 500 ดอลลาร์ ผู้ชายที่ข่มขืนมารียังคงกระทำซ้ำอีกกับเหยื่อหลายต่อหลายคน และถูก 2 พนักงานสอบสวนหญิงจับได้ 3 ปีหลังจากนั้น หลังจากก่อเหตุซ้ำไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 คดี ในประเทศไทยมีผู้เสียหายมากมายที่แจ้งความแล้วไม่ได้รับการติดตามช่วยเหลือ และเหยื่ออีกมากมายที่ไม่เคยแม้แต่จะแจ้งความ นั่นหมายความว่านักข่มขืน (rapist) เหล่านั้นยังคงเดินอย่างสบายใจอยู่ในสังคม และอาจจะอยู่ในสังคมเดียวกับคุณ พี่สาว น้องสาวของคุณ หรือลูกสาวของคุณ หลังจากอาชญากรคดีของมารี แอดเลอร์ถูกจับ และปรากฏชัดเจนแล้วว่ามารีไม่เคยแจ้งความเท็จ มารีดำเนินการจ้างทนายเพื่อฟ้องร้องรัฐบาลให้รับผิดชอบสิทธิที่เธอต้องสูญเสียไป ในที่สุด รัฐยินยอมจ่ายเงินชดเชยมาให้เธอ 150,000 ดอลลาร์ ในประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยสิทธิในการได้รับการเยียวยาจากรัฐของผู้เสียหายในคดีอาญา แต่น้อยคนนักที่จะรู้ และน้อยคนนักที่จะฝ่าฟันกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นจนสามารถยื่นขอเงินเยียวยาจากรัฐได้ และเงินจำนวนนี้ก็มีการจำกัดเอาไว้  ยกตัวอย่างเช่นกรณีไม่สามารถทำงานได้ รัฐจะรับผิดชอบเพียงวันละ 200 บาทเท่านั้น ซึ่งน้อยยิ่งกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ปี 2011 ในอเมริกา คดีของมารี แอดเลอร์ ได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุ่มเทและใส่ในการทำงาน และเจ้าหน้าที่ที่ได้ทำตัวไม่ดีกับเธอไว้ ได้รับบทเรียนจากการทำงานที่ไม่ใส่ใจในความละเอียดอ่อนของคดีความรุนแรงจากเหตุแห่งเพศ และรัฐต้องจ่ายค่าเสียหายให้มารี เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความบกพร่องในหน้าที่ของตน ปี 2021 ผู้เสียหายคดีความรุนแรงจากเหตุแห่งเพศในไทย ยังคงพบกับความยากลำบากตั้งแต่ก้าวแรกคือการแจ้งความ นักข่มขืนหลายคนยังคงลอยนวลและกระทำซ้ำต่อไป กระบวนการยุติธรรมไทยวางตัวเสมือนหนึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับผู้เสียหาย เป็นอีกหนึ่งนักข่มขืนที่เหยื่อต้องต่อสู้เพื่อพิสูจน์ตนเองตลอดกระบวนการ การต่อสู้เพื่อให้รัฐหันมาสนใจประเด็นปัญหานี้และปรับมาตรฐานทางกระบวนการยุติธรรมให้ดีและยึดหลักเอาผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (Survivor Centric Approach) ดูเหมือนจะยังต้องเดินทางกันอีกยาวไกล แต่ถ้าสังคมเปลี่ยนไป ในที่สุดรัฐก็ต้องขยับตาม เพื่อที่ในวันหนึ่ง หวังว่าจะเป็นอนาคตอันใกล้ ผู้เสียหายคดีความรุนแรงทางเพศในประเทศไทย จะได้รับการเยียวยาอย่างน้อยแค่ที่มารี แอดเลอร์ ได้รับในปี 2011 ก็ยังดี   เรื่อง: จอมเทียน จันสมรัก