UNORTHODOX: เอสตี้ เด็กสาวชาวยิวที่ถูกตีกรอบจากชุมชนและความเชื่อทางศาสนา

UNORTHODOX: เอสตี้ เด็กสาวชาวยิวที่ถูกตีกรอบจากชุมชนและความเชื่อทางศาสนา
“เราถูกคลุมถุงชนเพื่อมีทายาท และทายาทของเราจะถูกคลุมถุงชนต่อไปไม่รู้จบ” การคลุมถุงชนในปี 2020 คือเรื่องเก่าล้าสมัยของคนส่วนใหญ่ เป็นเพียงเรื่องเล่าเมื่อนานมาแล้วของอากงอาม่า บางคนอาจไม่เคยสัมผัสสิ่งที่เรียกว่า ‘การแต่งงานด้วยการตัดสินใจของพ่อแม่’ มาก่อนเลยด้วยซ้ำ แต่สำหรับ เอสตี้ (Esty) เธอต้องแบกรับความหวังของบ้าน ดำเนินชีวิตไปตามเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้เพื่อความภาคภูมิใจของครอบครัว เพื่อที่จะได้อยู่ในชุมชนชาวยิวอย่างสงบสุข และไม่ถูกมองว่าเป็นพวกนอกรีตนอกศาสนา เอสตี้ คือเด็กสาวชาวยิวจากมินิซีรีส์เรื่อง Unorthodox (นอกรีต) ของ Netflix ที่มีความยาวเพียง 4 ตอนเท่านั้น แต่สามารถบอกเล่าชีวิตของเด็กสาวชาวยิววัย 19 ปี ที่อาศัยอยู่ในชุมชนชาวยิวย่านวิลเลียมสเบิร์ก ในนิวยอร์กได้หมดจด ผู้กำกับชาวเยอรมัน มาเรีย ชาดาร์ (Maria Schrader) นำแรงบันดาลใจมาจากบันทึกที่ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Unorthodox: The Scandalous Rejection Of My Hasidic Roots ของเดโบราห์ เฟลด์แมน (Deborah Feldman) เด็กสาวชาวยิวที่มีตัวตนจริง และเธอก็เลือกหนีออกจากชุมชนไปใช้ชีวิตที่เธอฝันอยากจะเป็น เมื่อ Netflix ปล่อยโปสเตอร์ซีรีส์ออกมา ผู้คนเห็นภาพเด็กสาวกำลังโดนจับโกนผมที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ตั้งแต่ยังไม่ได้ดู บางคนกลัวว่าเป็นหนังสยองขวัญ บางคนคิดว่าเรื่องราวจะต้องดราม่าหนักอึ้งชวนปวดหัว บางคนคิดว่าจะต้องตื่นเต้นเหมือนหนังสายลับ แต่เมื่อเราได้ลองดูแล้วกลับพบว่า Unorthodox มีสไตล์การเล่าที่แตกต่าง สามารถพาผู้ชมไปรู้จักกับความคิดและชีวิตของชาวยิวเคร่งศาสนาที่ดูไกลตัวสำหรับคนไทยได้น่าประทับใจ UNORTHODOX: เอสตี้ เด็กสาวชาวยิวที่ถูกตีกรอบจากชุมชนและความเชื่อทางศาสนา เด็กสาววัย 19 ปี เติบโตในชุมชนชาวยิวเคร่งศาสนา เธอเป็นคนนิวยอร์กที่ไม่เหมือนคนนิวยอร์กอื่น ๆ เพราะชีวิตจะต้องดำเนินตามความเชื่อและขนบธรรมเนียมที่มีกฎข้อบังคับชัดเจน ห้ามก้าวออกจากกรอบที่กำหนดไว้ เช่น ทุกคนห้ามพกสมาร์ตโฟน ห้ามใช้อินเทอร์เน็ต เด็กผู้หญิงจะไม่ได้รับการศึกษา ห้ามใส่กางเกง หากผู้หญิงคนไหนแต่งงานแล้วต้องโกนผมพร้อมทำหน้าที่ภรรยาที่ดี ไปซื้อของ ทำกับข้าว ไปเยี่ยมญาติสามี และคู่สมรสจะต้องพยายามมีบุตรให้เร็วที่สุด แม้ผู้ชายจะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน น่าแปลกที่พ่อสามีของเอสตี้ไม่ทำงานและใช้เวลาทั้งวันนั่งท่องตำรา แต่กลายเป็นว่าทุกคนกลับพอใจปล่อยให้เขานั่งเฉยต่อไป ฃเพียงเพราะบ้านทำธุรกิจอัญมณี ในมุมคนนอกที่เป็นผู้ชม ชาวยิวในชุมชนวิลเลียมสเบิร์กเหมือนคนหลงยุค คล้ายกับนักท่องเวลาจากอดีตเพราะชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบันล้วนถูกห้อมล้อมไปด้วยอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยี และโซเชียลมีเดีย เอสตี้เติบโตมากับการถูกปลูกฝังให้เป็นภรรยาที่ดีของสามี เธอถูกญาติผู้ใหญ่จัดแจงเรื่องหาคู่ พาไปดูตัวกับผู้ชายที่ผู้ใหญ่เลือก จากนั้นแต่งงานตามความต้องการของผู้ใหญ่ เธอถูกตั้งความหวังให้มีลูกเร็ว ๆ ไม่ต่างจากหญิงสาวชาวยิวบ้านอื่นในวิลเลียมสเบิร์ก ตอนแรกเอสตี้เชื่อทุกอย่างที่ถูกพร่ำสอนโดยไร้การตั้งคำถาม ศาสนาที่พวกเขาเชื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกย่างก้าว เข้ามากำหนดการมีเพศสัมพันธ์ของสามีภรรยาชาวยิว มีคำสอนจากรุ่นสู่รุ่นเกี่ยวกับเซ็กซ์ว่าผู้ชายเป็นผู้ให้ ผู้หญิงเป็นผู้รับ ดังนั้นผู้ชายควรอยู่ด้านบนเสมอ และพวกเขาควรมีเพศสัมพันธ์กันทุกคืนวันศุกร์ หากภรรยาเข้าสู่ช่วงประจำเดือนจะต้องแยกเตียงนอนกับสามีเพราะประจำเดือนเป็นสิ่งสกปรก ผู้หญิงจะต้องสร้างความสุขและความมั่นใจเรื่องบนเตียงให้สามี UNORTHODOX: เอสตี้ เด็กสาวชาวยิวที่ถูกตีกรอบจากชุมชนและความเชื่อทางศาสนา “อยู่บนเตียงผู้ชายควรรู้สึกเหมือนราชา แล้วฉันควรจะเป็นราชินีด้วยหรือเปล่า ?” สาเหตุที่ศาสนาและวัฒนธรรมเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องยิบย่อยบนเตียงเกิดขึ้นจากคำสอนที่ว่า ‘ทารกเป็นสิ่งล้ำค่า’ ชาวยิวที่เคร่งศาสนาจะต้องเร่งมีลูกให้เร็วที่สุด มีลูกให้เยอะที่สุดเท่าที่จะเลี้ยงไหว เพื่อทดแทนชาวยิวที่ตายไปกว่าหกล้านคนจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำนาซี เอสตี้ปฏิบัติตามคำสอนอย่างดีมาตลอด เธอมีความสุขกับการไปดูตัว มีความสุขในวันแต่งงาน แต่เมื่อชีวิตคู่เริ่มต้นขึ้นจริง ๆ สิ่งที่ต้องเจอกลับทำให้เธอรู้สึกอึดอัดและทุกข์ทรมาน เอสตี้ไม่ได้รู้สึกถึงบรรยากาศอิ่มเอมหลังแต่งงาน แต่กลับรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นหน้าที่ ทุกคนต่างมีหน้าที่ในความสัมพันธ์ จนเกิดความสงสัยว่าชีวิตที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้คือชีวิตที่เธอต้องการจริง ๆ หรือเปล่า เอสตี้ต้องรับมือกับแม่สามีที่คิดว่าเธอไม่ดีพอสำหรับลูกชายเพียงเพราะเธอคิดไม่เหมือนคนอื่นและยังไม่มีทายาทสักที ปกติหญิงชาวยิวที่แต่งงานแล้วมักมีลูกเร็ว หากเวลาผ่านไปแล้วยังไม่มีลูกก็จะโดนมองด้วยสายตาดูแคลน ถูกนินทาจากคนในชุมชน เอสตี้ทนอยู่กับความรู้สึกอึดอัดมาหลายปีจนกระทั่งมั่นใจแล้วว่าตัวเองไม่อยากมีชีวิตแบบนี้ไปจนแก่ เธอยังเด็ก เธออยากมีความสุข และอยากหนีไปจากวิลเลียมสเบิร์ก หลังจากคิดหนีออกไปให้ไกลจากชุมชนมากที่สุด เอสตี้ไหว้วานคนรู้จักที่ไม่ใช่ชาวยิว จัดการเรื่องพาสปอร์ตและตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวไปเบอร์ลิน เอาเงินเกือบที่มีทั้งหมดไปสร้างชีวิตใหม่ที่เยอรมนี ซึ่งเมื่อเท้าของเอสตี้แตะแผ่นดินเยอรมนี ซีรีส์จะสอดแทรกเรื่องราวการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวให้ผู้ชมได้รับรู้อยู่เป็นระยะ หรือปล่อยมุกตลกร้าย อย่างการแนะนำคนที่เพิ่งมาเบอร์ลินครั้งแรกให้ไปเที่ยวที่อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว โดยไม่รู้ว่าคู่สนทนาเป็นใครมาจากไหน และอ่อนไหวกับเรื่องนี้หรือไม่   การหนีออกจากบ้านทำให้เอสตี้พบโลกใบใหม่ เจอผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างความคิด เห็นกลุ่มคนรักร่วมเพศที่เธอจะไม่มีวันเห็นหากยังอยู่ที่วิลเลียมสเบิร์ก เรื่องเล็ก ๆ ในสายตาคนทั่วไปสร้างความรู้สึกตื่นเต้นและมีความสุข แม้การโกนหัวจะเป็นเรื่องน่าอายและรับไม่ได้สำหรับเธอ แต่เมื่อมาอยู่ในดินแดนเสรีที่ใครทำผมทรงไหนก็ได้ แต่งตัวแบบไหนก็ได้ เธอถูกชมเป็นครั้งแรก และคำชมสั้น ๆ สร้างความสุขจนแทบเอ่อล้นอย่างไม่น่าเชื่อ เธอลองใช้อินเทอร์เน็ต ไปเที่ยวกลางคืน ร้องเพลง กินเนื้อหมู มีเพื่อนเป็นเกย์ ทั้งหมดคือสิ่งที่เอสตี้ไม่เคยทำมาก่อน สามารถทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำโดยไม่มีกรอบเดิมอย่างคัมภีร์หรือความคิดเห็นของคนในวิลเลียมสเบิร์กมาหลอกหลอนอีกต่อไป Unorthodox เล่าเรื่องระหว่างอดีตของเอสตี้ตอนเป็นเด็กหัวอ่อน สลับกับปัจจุบันที่เธอใช้ชีวิตในเบอร์ลิน แม้จะเล่าสลับไปมา แต่ผู้ชมสามารถเข้าใจและแยกได้ง่าย ๆ ว่าฉากที่ดูอยู่เอ่ยถึงช่วงเวลาใด ท่ามกลางดนตรีประกอบที่เร้าอารมณ์กับเนื้อเรื่องชวนให้ติดตาม เธอจะมีชีวิตอยู่ในโลกใบใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนได้หรือไม่ สุดท้ายแล้วเด็กสาวที่ไม่มีวุฒิการศึกษา ไม่มีทักษะในการทำงาน จะดำเนินชีวิตในโลกแห่งความจริงที่บางครั้งไม่ได้สนุกสนานหรือตื่นเต้นแบบนิยายโรแมนติกได้นานแค่ไหน UNORTHODOX: เอสตี้ เด็กสาวชาวยิวที่ถูกตีกรอบจากชุมชนและความเชื่อทางศาสนา ตอนที่ดูซีรีส์แรก ๆ มีคำถามมากมายวนอยู่ในหัว มีประเทศอีกตั้งเป็นร้อยในโลกใบนี้ แต่ทำไมเด็กสาวชาวยิวเคร่งศาสนาถึงเลือกไปดินแดนที่ถูกเกลียดชังจากชาวยิวมากที่สุดอย่างเยอรมนี ?  สามีของเอสตี้รักเธอจริง ๆ หรือไม่ ? มีคนรวยในกรุงนิวยอร์กที่ไม่สามารถเข้าถึงสมาร์ตโฟนหรืออินเทอร์เน็ตอยู่จริงหรือ ? รวมถึงคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดคนบางกลุ่มถึงยอมทำทุกอย่างตามประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ? แล้วพวกเขาเคยตั้งคำถามไหมว่าคำสอนที่ว่ามาจากพระเจ้าจริง ๆ หรือเปล่า ? Unorthodox เสนอมุมมองของชาวยิวเคร่งศาสนาผ่านบทสนทนาภาษายิดิช (Yidish) เป็นส่วนใหญ่ ผู้ชมจะเห็นความคิดของคนหลายกลุ่ม ชาวยิวที่จะไม่ยอมอยู่ในกรอบที่ครอบด้วยความเชื่ออันเข้มข้น คนทั่วไป และคนที่ยึดมั่นในศาสนาแบบหมดใจ ซีรีส์ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามเกี่ยวกับการกระทำของตัวละครในเรื่อง และแน่นอนว่าคำตอบที่ได้มักไม่เหมือนกันเสมอไป บางคนกล่าวโทษชุมชนเคร่งศาสนา บางคนไม่เห็นด้วยที่เอสตี้หนีออกมา และบางคนมองว่าคนเยอรมันไม่ได้ใจดีเหมือนกับในซีรีส์จริง ๆ แต่สิ่งที่ผู้กำกับพยายามจะสื่อให้เห็นคือทุกตัวละครไม่มีใครถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ และทุกคนต่างมีส่วนร่วมที่ต้องรับผิดชอบผลการกระทำของเอสตี้ด้วยกันทั้งนั้น ใครที่ต้องทำงานที่บ้านหรือรู้สึกเบื่อเพราะไม่รู้ว่าจะลองดูอะไรดี Unorthodox ถือเป็นซีรีส์นอกกระแสที่สอดแทรกประเด็นต่าง ๆ ของสังคม ทั้งความเท่าเทียมกัน ฝันของวัยรุ่น ชีวิตแต่งงาน ศาสนา และสถาบันครอบครัวไว้ได้ครบถ้วนกลมกล่อม ไม่แน่ว่าหลังจากดูจบแล้ว คำตอบของคำถามต่าง ๆ ข้างต้นที่ได้อาจแตกต่างจากเราก็เป็นได้   ที่มา https://www.netflix.com/th-en/title/81019069 https://www.nytimes.com/2020/03/25/arts/television/unorthodox-review-netflix.html https://www.imdb.com/title/tt9815454/   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์