“อุตตม สาวนายน” จากเมกะโปรเจกต์เศรษฐกิจ EEC ถึง “พรรคพลังประชารัฐ”

“อุตตม สาวนายน” จากเมกะโปรเจกต์เศรษฐกิจ EEC ถึง “พรรคพลังประชารัฐ”

จากเมกะโปรเจกต์เศรษฐกิจ EEC ถึง “พรรคพลังประชารัฐ”

“อุตตม สาวนายน” นั่งเป็นรัฐมนตรีมามากกว่า 3 ปี โดยรับงานจาก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี มาสร้างมรดกทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านเมกะโปรเจกต์เศรษฐกิจ EEC ไม่เพียงเท่านั้น การประกาศถือธงนำพรรคพลังประชารัฐของอุตตมในตำแหน่งหัวหน้าพรรค ยังถือเป็นเมกะโปรเจกต์ทางการเมืองขนาดใหญ่ ด้วยหวังว่าความสำเร็จในคณิตศาสตร์การเมืองของพรรคนี้จะทำให้พวกเขาสามารถสาน “วาระ” ทางการเมือง-เศรษฐกิจต่อไปได้อีกมากกว่า 4 ปี   ลูกน้องสมคิด-ห้องวอร์รูม ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 1 อุตตม สาวนายน เคยเป็นหนึ่งใน 4 รัฐมนตรี คีย์แมนพรรคพลังประชารัฐ รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขนานไปกับหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ การสวมหมวกสองใบเช่นนี้ดูจะถูกตั้งคำถามไม่น้อยในเรื่องความสง่างามทางการเมือง อุตตมตอบคำถามเรื่องนี้ว่าจะทำงานการเมืองเฉพาะนอกเวลาราชการ-เมื่อถึงจุดหนึ่งจะไม่สวมหมวกสองใบ และตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2562 เขาจึงลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี เข้าสู่เส้นทางการเมืองเรียบร้อยแล้ว นอกไปจากตำแหน่งสำคัญทั้งหลาย อุตตมยังจัดเป็น “ลูกน้องสมคิด-มองสมคิดเป็นที่ปรึกษาทางใจ” อุตตมเป็นวงในสุดที่ล้อมตัวรองนายกฯ สมคิดอยู่ ทุกเช้าวันจันทร์ อุตตมจะประชุม ครม.เศรษฐกิจที่ห้องทำงานของสมคิด-หลังประชุม ครม.ในวันอังคาร เขาและรัฐมนตรีในกำกับของสมคิดมีนัดประชุมต่อที่ห้องทำงานสมคิด เมื่อมีวาระทางการเมืองเร่งด่วนต้องการคำปรึกษาทั้งในทางการเมือง และทางใจ 4 รัฐมนตรี อันได้แก่ “อุตตม-สนธิรัตน์-สุวิทย์-กอบศักดิ์” จะเดินเข้าออกห้องทำงานของรองนายกฯ สมคิดที่ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 1 เป็นว่าเล่น ห้องนี้เองที่ขับเคลื่อนทั้งดีลเปิด-ดีลลับ ขยับทิศทางการเมืองไทย สื่อใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่า ห้องแห่งนี้คือที่มาของพรรคการเมืองที่กำลังถูกพูดถึงในเวลานี้ อุตตมเติบโตจากโลกวิชาการและโลกธุรกิจ เดินเข้าสู่แวดวงทางการเมืองด้วยคำชวนจากผู้ใหญ่ทางการเมือง คือ รองนายกฯ สมคิด เฉพาะหลังการรัฐประหารรอบนี้ อุตตมตอบรับคำชวนนั่งตำแหน่งแรกในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในวันที่ 19 สิงหาคม 2558 และหลังจากสมคิดได้รับแรงหนุนให้คุมภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด อุตตม ก็ได้รับแรงหนุนให้กุมบังเหียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในวันที่ 15 ธันวาคม 2559   EEC - เมืองใหม่ เมืองใหญ่ - ขายฝัน วันเลือกตั้ง วาระสำคัญที่ผู้เป็นที่ปรึกษาทางใจของอุตตม ฝากไว้คือ ผลักดัน "โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก" (Eastern Economic Corridor : EEC) ให้สำเร็จ ในแวดวงการเมือง รู้กันดีว่า EEC คือจุดชี้ขาดของรัฐบาลประยุทธ์ ก่อนลงจากบัลลังก์อำนาจ โครงการนี้จะมีผลต่อความนิยมของรัฐบาล และจะมีผลต่อการเลือกตั้งในปี 2562 ถ้า EEC คืบหน้าไปมาก ท่วงทันวันใกล้เลือกตั้ง รัฐบาลจะได้กล้าบอกเล่ากับประชาชนถึงโปรเจกต์การพัฒนาสังคมเมืองใหม่ต้นแบบที่เกิดขึ้นในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพราะใน EEC ไม่เพียงจะเป็นศูนย์กลางการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมใหม่ที่รัฐบาลหวังใช้พลิกฟื้นประเทศขนานไปกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่ EEC จะเป็นต้นแบบของ Smart City ทั้งยกระดับเมืองเดิมและสร้างเมืองใหม่ จะมีการเชื่อมต่อกับประเทศในกลุ่มภูมิภาค ผ่านโครงการ One Belt One Road ต่อเชื่อมมายังลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ ยึดโยงกันไปหมด ไปจนถึงการลงทุนเชื่อมต่อ 3 สนามบิน “สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา” ซึ่งมีแววว่า บริษัทผู้ประมูลที่นำโดยกลุ่ม CP อาจคว้าดีลนี้ไปได้สำเร็จ โครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญอีกหลายรายการจะปักหมุดที่นี่ เช่น โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน อู่ตะเภา, โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมื่อเดินสายไปโรดโชว์โครงการในต่างประเทศ รองนายกฯ สมคิด และอุตตม ก็จะสื่อสารว่า เมืองใหม่ และนายกฯ หน้าเดิม จะเอื้ออำนวยให้ผู้มาลงทุนและการลงทุนเกิดเสถียรภาพสูงสุด รองนายกฯ สมคิด บอกว่า “แม้รัฐบาลใหม่จะเข้ามา แต่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติยังอยู่ ถ้ามีอะไรออกนอกลู่นอกทางก็คงต้องคุยกันแล้วไม่ได้เปลี่ยนแปลงง่าย ๆ และผมมีลางสังหรณ์ว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปหน้าตาจะคล้ายคนเดิม" เป้าหมายระยะยาว คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กำหนดให้การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษใน EEC ทะลุตามเป้าหมายให้ได้ที่กำหนดไว้ 500,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งเป้าจะขยายพื้นที่ EEC (นอกจาก 3 จังหวัด) การเตรียมการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ เมืองศูนย์กลางการเงิน และ Aerotropolis การพัฒนาแรงงานคุณภาพสูง ไปจนถึงการพัฒนาอื่น ๆ หลังจากรถไฟความเร็วสูงเสร็จในปี 2566 เช่น สาธารณูปโภค สาธารณูปการ สาธารณสุข เกษตร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น EEC จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีบทบาทสำคัญและมีการเติบโตมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย เมกะโปรเจกต์ทางเศรษฐกิจ EEC ที่ขายฝันกันอยู่ว่าจะเป็นตัวอย่างของการสร้างเมืองใหม่-เมืองใหญ่-เมืองแห่งการลงทุน-เมืองเพื่อเปลี่ยนประเทศ และถ้าคืบหน้าได้ทัน ก็เท่ากับรัฐบาลจะกล้าพูดเต็มปากว่า การขยายผล โดยมุ่งเดินหน้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคอื่น ๆ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะทำมาแล้วและได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ทว่าอุตตมและรัฐบาลจะตอบคำถามอย่างไร เพราะดูเหมือนว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษดูจะเอื้อทุนใหญ่ประชารัฐมากไปกว่าคนเล็กคนน้อยในทุกภูมิภาคของประเทศ ? จะทำอย่างไรให้คนเล็กคนน้อย อันเป็นฐานเสียงเก่าของเพื่อไทย สัมผัสได้-รู้สึกได้-รู้สึกว่าผลประโยชน์จากการพัฒนาเมกะโปรเจกต์ตกถึงปากท้องของเขา ? ถ้าทำไม่ได้ก็เท่ากับเมกะโปรเจกต์นี้อาจไม่สั่นสะเทือนในทางการเมืองแบบราคาคุยที่ขายมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เมกะโปรเจกต์ทางเศรษฐกิจใด ๆ ก็ตาม ถ้าไม่อาจเชื่อมต่อกับคนเล็กคนน้อยได้ ย่อมไม่ส่งผลสั่นสะเทือนในทางการ อย่าแปลกใจ ถ้านักการเมืองที่ใกล้ชิดรากหญ้าเริ่มโจมตีรัฐบาลแล้วด้วยประโยคว่า “คสช-EEC คือ ภาพแทนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” หรือทำนอง “โอกาสในประเทศนี้เป็นของคน 1 % ในประเทศเท่านั้น”   รวมพลังประชารัฐ-หนุนนายกฯ “หน้าตาคล้ายเดิม” อุตตม ยังปลุกปั้นเมกะโปรเจกต์ทางการเมือง เขาปราศรัยทางการเมืองครั้งแรกในตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2561 ในช่วงกลางของคำปราศรัยเขาเท้าความไปถึงสิ่งที่ตัวเขา-รัฐบาลได้ทำมา นั่นคือ “การปรับเปลี่ยนประเทศให้ก้าวหน้า” “4 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่งของประเทศไทยที่เราได้มีโอกาสวางรากฐานการปรับเปลี่ยนประเทศให้ก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคม ด้านการพัฒนาคน การวางปรับรากฐานของเศรษฐกิจใหม่...ภูมิใจที่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมทำงานในระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ร่วมผลักดันนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยของพี่น้องประชาชนชาวไทย” อุตตม ย้ำว่า การตัดสินใจเปลี่ยนสถานะจาก “นักวิชาการ-นักธุรกิจ-รัฐมนตรี (ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) มาสู่ “นักการเมือง” เต็มรูป ถือเป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่าย ตั้งเป้าจะรวมคนดี-คนเก่งมาทำงานการเมือง “มาถึงวันนี้เป็นการตัดสินใจที่สำคัญของผมและไม่ง่ายเลย แต่ก็ได้ตัดสินใจแล้ว และตัดสินใจด้วยความภาคภูมิใจที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิตก็ว่าได้” “ครั้งนี้ผมและหลายท่านที่มีประสบการณ์และไม่ใช่นักการเมืองมืออาชีพ ได้มาปรึกษากันว่าถ้าเราจะเปลี่ยนและปรับสร้างการเมืองใหม่ให้ประเทศไทย เราจำเป็นต้องรวบรวมคนดีและคนเก่ง รวมถึงคนที่ไม่กล้าเข้ามาในการเมือง แต่มีใจให้ประเทศ อยากรับใช้บ้านเมือง ทั้งหมดนี้ต้องมาร่วมทำงานกันอย่างจริงจัง” สำหรับหมวกสองใบที่สวมใส่ขนานกันอยู่ อุตตมประกาศชัดว่า “ขอโอกาสเรียนเลยว่าให้สังคมมั่นใจได้ว่าตัวผมจะอยู่ในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีในรัฐบาล แต่รับรองได้ว่าจะไม่มีการใช้เวลาและทรัพยากรของรัฐ มาใช้ประโยชน์เอารัดเอาเปรียบคนอื่นอย่างแน่นอน...และเราพร้อมที่จะให้ตรวจสอบการทำงาน เพราะเรายึดมั่นในสิ่งซึ่งเราถือปฏิบัติในสิ่งที่เราตระหนักว่าต้องทำให้ถูกต้อง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมพวกเรารับรองได้ว่าเราจะใส่หมวกใบเดียวคือหมวกของพลังประชารัฐ ไม่ต้องห่วงถึงเวลาไปแน่ พรรคนี้มีเจ้าของร่วมกัน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง” (อุตตม พูดประโยคนี้ในวันที่ตนเองยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีและออกมาสังกัดพรรคการเมือง) พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคเฉพาะกิจ-พรรคเส้นใหญ่-ทุนหนา-เครือข่ายกว้างขวาง-เป้าหมายชัด ที่ว่าเฉพาะกิจ เพราะตั้งขึ้นเพื่อสานวาระจากรัฐบาล คสช. ให้เดินหน้าไปได้ในรัฐบาลหน้า ที่ว่าเส้นใหญ่ เพราะดูเหมือนกติกาถูกออกแบบมาเพื่อหาที่ยืนให้พรรคพลังประชารัฐ ที่ว่าทุนหนาเพราะแว่วว่าได้รับทุนประชารัฐหนุนสุดตัว รายชื่อคณะกรรมการบริหารเป็นระดับบิ๊กเนมในแวดวงเศรษฐกิจ ที่ว่าเครือข่ายกว้าง เพราะมีแขนขาเป็นทั้งเจ้าพ่อหัวเมือง เจ้าพ่อท้องถิ่น-มิตร ในชื่อสามมิตร-คนในชุดสีกากี สีเขียว-สื่อใหญ่ทั้งทีวี สิ่งพิมพ์ วิทยุ ให้การหนุนทั้งโดยเปิดเผยและลับตา ที่ว่าเป้าหมายชัด เพราะชัดแล้วว่าจะหนุนนายกรัฐมนตรีหน้าคล้ายเดิมเพื่อบริหารแผ่นดินต่อไปอีก 4 ปี ทว่า แม้ครบเครื่องการเมืองขนาดนี้ แต่คณิตศาสตร์-เก้าอี้ทางการเมือง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เขาหรือใครจะดีดลูกคิดคำนวณได้ในพริบตา เพราะขนาดหลายคนที่คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองมานาน ก็ยังพลาดท่าเสียทีกันมาแล้วนักต่อนัก    เรื่อง : วยาส   หมายเหตุ: เพิ่มเติมข้อมูลเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562