สัมภาษณ์ วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล ปั้น “ศรีตรัง” ขึ้นแท่นผู้ผลิตถุงมือยาง “ท็อป 3” ของโลก

สัมภาษณ์ วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล ปั้น “ศรีตรัง” ขึ้นแท่นผู้ผลิตถุงมือยาง “ท็อป 3” ของโลก
เราอาจไม่คุ้นชื่อ “ศรีตรัง” หรือชื่อเต็ม ๆ คือ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กันเท่าไหร่ แต่ถ้าในแวดวงธุรกิจยางพารา ศรีตรังคือผู้ผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่สุดของโลก ด้วยส่วนแบ่งในตลาดราว 10% ของความต้องการยางธรรมชาติทั่วโลก มีรายได้รวมในปี 2560 กว่า 91,000 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 1-3 ของปีที่แล้ว ศรีตรังมีรายได้รวมเกือบ 58,000 ล้านบาท ไม่เพียงธุรกิจยางธรรมชาติจำพวกยางแผ่น ยางแท่ง ฯลฯ เท่านั้น เพราะธุรกิจ “ถุงมือยาง” ของศรีตรังก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ทุกวันนี้ศรีตรังอยู่อันดับ 5 ผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ระดับโลก แต่นั่นไม่ใช่ตำแหน่งที่ วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล วัย 34 ปี ผู้เป็นรุ่น 2 ของครอบครัว ที่นั่งเก้าอี้กรรมการบริหารของศรีตรัง พอใจจะอยู่ตรงนั้นนาน ๆ เป็นแน่ เพราะที่เขาตั้งเป้าไว้คือการทะยานเข้าไปติด “ท็อป 3” ผู้ผลิตถุงมือยางระดับโลกต่างหาก!  

สัมภาษณ์ วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล ปั้น “ศรีตรัง” ขึ้นแท่นผู้ผลิตถุงมือยาง “ท็อป 3” ของโลก

  The People: เข้ามาช่วยบริหารธุรกิจตั้งแต่เมื่อไหร่ วีรสิทธิ์: ทั้งผมและน้อง ๆ (วิชญ์พล และ วิทย์นาถ) เรียนจบก็หาประสบการณ์ข้างนอก อย่างผมจบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่อังกฤษ ก็ไปทำงานที่ธนาคารกสิกรไทยก่อน ทำได้สักพักก็อยากหาความรู้เพิ่มเติม เพราะคิดว่าความรู้เรายังห่างไกลจากพี่ที่เก่ง ๆ หลายคน เลยเรียนต่อ MBA ที่ศศินทร์ ซึ่งระหว่างเรียน ที่บ้านก็ถามว่าเมื่อไหร่จะมาช่วยเหลือที่บ้านสักที รู้ไหมว่าบริษัทมีพนักงานหมื่นกว่าคน จะกลับมารับผิดชอบงานที่บ้านได้หรือยัง ผมก็บอกโอเค จบ MBA แล้วจะพิจารณา หลังจากนั้นผมคิดว่าเราทำงานข้างนอกมาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว ลองกลับมาทำงานที่บ้านดีกว่า ผมมาศรีตรังตอนอายุ 29 ช่วงแรกก็งงนิดหน่อย เพราะไม่ได้มีระบบเหมือนองค์กรใหญ่ แล้วเข้ามาก็อยู่ในตำแหน่ง director หรือกรรมการเลย ก็พยายามปรับตัวว่าต้องวางตัวอย่างไร ทำอะไรบ้าง พอเข้ามาก็เห็นว่าความรู้ที่ผ่านมาคือคนละอย่างเลย แบงก์เป็นงาน routine ในสายที่เรารับผิดชอบ แต่งานบริษัทจะเป็นงาน corporate งานปฏิบัติการ งานซื้อขาย การบริหาร เรียกว่าเริ่มต้นจากศูนย์ก็ว่าได้ เราโตมาและคุ้นเคยกับธุรกิจนี้ก็จริง แต่ไม่ได้คลุกคลีขนาดนั้น พอเข้ามาทำงานจริงก็เห็นปัญหาของหลายฝ่ายมากขึ้น ทุกอย่างไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เราก็ต้องเข้ามาช่วยกันแก้ พัฒนา และเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ มันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแทบจะทุกปี มีซัพพลายเออร์ใหม่ ๆ ผู้เล่นหน้าใหม่ ลูกค้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอด ระบบที่ต้องปฏิบัติตามก็หลายอย่าง คือมีอะไรที่เราต้องตื่นตัวตลอดเวลา ไม่สามารถหยุดนิ่งหรือทำงานเช้าชามเย็นชามได้ เป้าหมายต้องชัดเจน เรียกว่าต้องมีประสิทธิภาพสูงมาก   The People: ความท้าทายในการเข้ามาดูแลธุรกิจยางธรรมชาติ? วีรสิทธิ์: ต้องบอกว่าหลายคนที่อยู่ตรงนี้คืออยู่มานานแล้ว ไม่ใช่เราคนเดียวแต่เป็นเจ้าอื่นด้วย การทำธุรกิจยางต้องใช้ประสบการณ์สูง เพราะมีความผันผวนสูง ต้องหาวิธีรับมือและยืดหยุ่นกับสถานการณ์ ทฤษฎีที่เรียนมา ความรู้ที่เคยมี พอมาตรงนี้อาจไม่เกี่ยวกันเลย ส่วนตัวผมสนุกเพราะมีอะไรให้เรียนรู้อยู่ตลอด   The People: ธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรของศรีตรังมีอะไรบ้าง วีรสิทธิ์: ธุรกิจของศรีตรังมีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต้นน้ำคือเราซื้อพื้นที่ปลูกยาง 50,000 กว่าไร่ ในภาคเหนือและภาคอีสาน สมัยก่อนเวลาพูดถึงการปลูกยางก็จะเป็นภาคใต้ แต่สำหรับศรีตรัง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราขยายการปลูกยางที่ภาคเหนือกับภาคอีสานหมดเลย มีการวิจัยสายพันธุ์ยางที่นั่น ปลูกยางเอง พนักงานก็เป็นของเราหมด ทั้งนักการเกษตร นักวิทยาศาสตร์ โรงงานใหม่ ๆ ของศรีตรังก็อยู่ในภาคอีสาน ถ้าดูจากสัดส่วนรายได้ ธุรกิจต้นน้ำตรงนี้เป็นธุรกิจใหม่ที่สุดของศรีตรังด้วยซ้ำ และให้รายได้แค่ 1% จากรายได้รวมของกลุ่มศรีตรังทั้งหมด เราทำตรงนี้เป็น R&D และ CSR มากกว่าว่าจะปลูกต้นไม้อย่างไร ต้องใช้สายพันธุ์อะไร สภาพดินและปุ๋ยแบบไหนถึงจะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าภาพของศรีตรังคือการปลูกยางเท่านั้น แต่จริงๆ เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการโรงงาน ธุรกิจหลัก ๆ จะอยู่ที่กลางน้ำและปลายน้ำที่รวมกันแล้วสร้างรายได้เกือบ 100%   สัมภาษณ์ วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล ปั้น “ศรีตรัง” ขึ้นแท่นผู้ผลิตถุงมือยาง “ท็อป 3” ของโลก   The People: คุณเคยบอกว่าธุรกิจกลางน้ำเป็นตัวสร้างรายได้มากสุด? วีรสิทธิ์: ครับ ธุรกิจกลางน้ำเป็นพวกยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น คือไม่ใช่วัตถุดิบขั้นต้น ไม่ใช่วัตถุดิบขั้นปลาย แต่เป็นวัตถุดิบขั้นต้นที่ผสมสารเคมี ก่อนส่งไปให้วัตถุดิบขั้นปลายอย่าง ยางล้อรถ รองเท้า ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ลูกโป่ง ฯลฯ ธุรกิจกลางน้ำในธุรกิจยางธรรมชาติของศรีตรังเป็น B2B (Business-to-Business) เป็นหลัก มีลูกค้าอยู่ในหลักร้อยราย เป็นบริษัทใหญ่อย่าง Michelin, Goodyear, Bridgestone, Continental คือบริษัทล้อยางทุกยี่ห้อในโลกเป็นลูกค้าเรา ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มศรีตรังถือว่าใหญ่ที่สุดในโลกด้วย volume ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 2,600,000 ตันต่อปี และด้วยยอดการส่งออกแต่ละปี เราผลิตป้อน 10% ของความต้องการยางธรรมชาติทั่วโลก ตัวกลางน้ำของศรีตรังมีโรงงาน 36 แห่ง อยู่ที่อินโดนีเซีย 3 แห่ง พม่า 1 แห่ง ที่เหลืออยู่ในไทย สาเหตุที่ไปตั้งโรงงานในอินโดฯ เพราะเป็นแหล่งปลูกยางที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากไทย และคุณภาพยางพาราของอินโดฯ ก็เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เราไปลงทุนที่นั่นมา 14 ปี ก็แสดงว่าสู้คู่แข่งที่นั่นได้ เราปฏิวัติวงการยางของอินโดฯ ไปในตัวด้วย คือที่นั่นเมื่อก่อนโรงงานเอาเปรียบเกษตรกรเต็ม ๆ แต่พอเราไปปุ๊บก็เปลี่ยนการซื้อขาย เราแฟร์กว่า ทำให้รายอื่นต้องปรับตัวตาม ส่วนที่พม่าเป็นโรงงานเล็ก เหมือนเป็นการลองเชิงมากกว่า ถ้าประสบความสำเร็จก็มีสิทธิขยายเพิ่มในอนาคต ตอนนี้ผลออกมาก็ค่อนข้างโอเค ที่นั่นมีสวนยางเยอะ แต่คนไม่ค่อยรู้จัก บางทียางพม่าถูกลักลอบส่งเข้าไทย มาเลย์ แล้วก็ตีเป็นยางไทย ยางมาเลย์ เพื่อให้ขายได้ราคาดี   The People: ยางจากประเทศไหนได้รับการยอมรับมากสุด วีรสิทธิ์: ยางจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ขายได้ราคาไม่เท่ากัน ยางจากมาเลย์จะได้ราคาดีที่สุด รองลงมาเป็นยางไทย ยางอินโดฯ ส่วนยางพม่า ยางกัมพูชา ยางลาว ถ้าเอาไปขายจะโดนกดราคา เพราะความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของยางแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน สมัยก่อนทุกคนจะเอายางมาเลย์ แต่มาเลย์เลิกทำยางไปเยอะแล้ว เขาโค่นยางในประเทศเยอะมากและไปเอาดีด้านปาล์มแทน ยางมาเลย์เลยแทบจะหายไป ตอนนี้ในตลาดที่ฮ็อตมากก็จะเป็นยางไทยกับยางอินโดฯ   สัมภาษณ์ วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล ปั้น “ศรีตรัง” ขึ้นแท่นผู้ผลิตถุงมือยาง “ท็อป 3” ของโลก   The People: ถ้าอย่างนั้น ถุงมือยางคือธุรกิจปลายน้ำ? วีรสิทธิ์: เราก่อตั้งศรีตรังในปี 1987 ทำธุรกิจยางธรรมชาติ พอปี 1989 ก็เริ่มธุรกิจถุงมือยาง ตอนนั้นร่วมกับพาร์ทเนอร์ในยุโรปถือหุ้นกัน 50:50 ขยายกิจการรุ่งเรืองดี แต่พอปี 2011 ฝ่ายยุโรปเปลี่ยนผู้บริหารแทบจะทั้งทีม ปรัชญาการดำเนินธุรกิจของเขาเริ่มไม่ตรงกับเรา การขยายทุกอย่างเลยชะงักไปหมดตั้งแต่ปี 2011-2017 แต่โชคดีที่ปี 2017 ต่างฝ่ายต่างสะสางปัญหาได้ ไม่ได้ฟ้องคดีอะไรหนักหน่วง ตกลงได้ด้วยดี สุดท้ายแบ่งกัน เราซื้อโรงงานทั้งหมดในเมืองไทยเป็นของเรา 100% แต่เราขายพวก distribution center ในต่างประเทศอย่างเช่นสิงคโปร์ อเมริกา บราซิล ให้เขาไป 100% หลังจากนั้นเราก็คิดว่าจะเสียเปรียบทางการตลาดไหม หลังจากแยกกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ เราเลยตั้งออฟฟิศที่ยุโรป อเมริกา คือเราเซ็ทตลาดต่างประเทศได้รวดเร็ว ต่อไปนี้ภายใน 10 ปี เราจะขยายยางธรรมชาติน้อยลง แต่จะขยายธุรกิจถุงมือยางอย่างรุนแรงมากขึ้น ตอนนี้ธุรกิจกลางน้ำสร้างสัดส่วนรายได้ประมาณ 80% ส่วนธุรกิจปลายน้ำอยู่ที่ราว ๆ 20% แต่ปลายน้ำสามารถทำกำไรได้เท่ากับกลางน้ำ ถ้าขยายปลายน้ำไปเรื่อย ๆ กำไรก็น่าจะโตขึ้นด้วย   The People: มองเห็นโอกาสอะไรในธุรกิจนี้ โดยเฉพาะปัจจุบัน วีรสิทธิ์: ตลาดหลักของถุงมือยางคือประเทศที่พัฒนาแล้ว จำนวนการใช้ถุงมือต่อประชากรในประเทศเหล่านี้สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาเป็น 10 เท่า เพราะเขาใส่ใจเรื่องสุขอนามัยสูงมาก อย่างทุกวันนี้อัตราการใช้ถุงมือยางของอเมริกากับยุโรปอยู่ที่ประมาณ 10-20 คู่ต่อคนต่อปี ส่วนจีน อินเดีย ไทย ยังเป็นตัวเลขหลักเดียว ตอนนี้เราพยายามขายถุงมือยางเข้าไปในทุกประเทศที่ให้เราขายได้ รวม ๆ แล้วก็ 120 ประเทศ มีตลาดหลักคืออเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น แต่ตลาดที่เรามองอย่างใกล้ชิดคือตลาดกำลังพัฒนาใหญ่ ๆ อย่างจีน อินเดีย และอเมริกาใต้อย่างบราซิล ซึ่งมีจำนวนประชากรรวมกันเป็นพัน ๆ ล้านคน ตลาดพวกนี้ถ้าในอนาคตมีการเติบโตของชนชั้นกลางมากขึ้นก็จะเข้าถึงเรื่องสาธารณสุขได้ดีขึ้น มี health concern ความต้องการใช้ถุงมือยางก็จะมีมากขึ้น อุปกรณ์การแพทย์ด้วยเหมือนกัน เราตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2022 น่าจะขายรวมแล้ว 180 ประเทศ จริง ๆ อุตสาหกรรมถุงมือยางมีมานานมากแล้ว แต่มาบูมช่วงทศวรรษ 1980 ที่มีเอดส์ พอมีเอดส์ปุ๊บ อุตสาหกรรมถุงมือเติบโตแบบก้าวกระโดด แล้วก็มาช่วงปี 2000 ที่มีโรคซาร์ส ถุงมือก็เติบโตก้าวกระโดดอีก คือสถิติที่ผ่านมาของอุตสาหกรรมถุงมือ ถ้ามีโรคระบาดร้ายแรงเกิดขึ้น ความต้องการใช้ถุงมือก็จะก้าวกระโดดไปเรื่อย ๆ แต่หลัก ๆ เราต้องอิงกับพฤติกรรมการใช้งานต่างๆ อยู่แล้ว   The People: ศรีตรังอยู่ตรงไหนในตลาด วีรสิทธิ์: สมัยก่อนเราเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก แต่ตั้งแต่มีปัญหากับพาร์ทเนอร์ คู่แข่งรายอื่นก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราตกไปอยู่ที่ 6-7 พอแยกจากพาร์ทเนอร์ได้แล้วเราก็ขยายตลาดต่างประเทศ ตีตลาดได้จนเรากลับมาอยู่ที่ 5 แต่อันดับที่ 3 4 5 6 7 บางทีก็ใกล้เคียงกัน ทุกคนไม่สามารถนอนเฉย ๆ สบาย ๆ ได้ ทุกคนต้องมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ไม่งั้นก็จะถูกแซงไปเรื่อย ๆ อย่างฟุตบอลพรีเมียร์ลีก บางทีแพ้แค่นัดเดียวคุณตกไปเลย 5 อันดับ ตอนนี้เรามีโรงงานผลิตถุงมือยาง 4 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 18,000 ล้านชิ้นต่อปี ตั้งเป้าว่าปีหน้าเพิ่มอีก 9,000 ล้านชิ้น ก็จะเป็น 27,000 ล้านชิ้นในปี 2020 ดังนั้นในแง่ปริมาณการผลิตก็จะเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นก็ตั้งเป้าไว้ว่าเราอยากเป็นอันดับ 3 ในตลาดถุงมือยางระดับโลก   The People: ความยากง่ายของธุรกิจนี้คืออะไร วีรสิทธิ์: ถุงมือยางเป็นธุรกิจที่ค่อนข้าง red ocean แต่ก็ยังมีกำไร หลักๆ เลยคุณมีทางเลือก 2 ทาง คือ 1. ใหญ่แล้วถูก หรือ 2. คุณจะ innovative ตอนนี้เราเน้นใหญ่และราคา competitive ได้มากกว่า คือไม่เรียกว่าถูก แต่เรียกว่าราคาเป็นที่แข่งขันในตลาดได้ นี่คือสิ่งที่ทำให้เราต้องขยายขึ้นทุกปี แล้วการควบคุมดูแลต้นทุนและผลผลิตของเราต้องมีประสิทธิภาพมาก เพื่อให้ราคาสินค้าที่เราขายมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดได้ แบบเดียวกัน...คุณผลิตถุงมือยางมาดีแค่ไหน ถ้าราคาคุณแพงกว่า ต่อให้แพงกว่าไม่เท่าไหร่ คุณก็แพ้แล้ว อีกข้อที่เป็น innovative เราก็ไม่ได้นิ่งเฉย เราให้ทีม R&D ดูว่ามีศักยภาพอะไรที่จะผลิตได้บ้าง คาดว่าอีก 3-5 ปีน่าจะสามารถออกสินค้าใหม่ได้ อาจเป็นถุงมือบางชนิดที่มีประสิทธิภาพหรือสเป็กพิเศษบางอย่าง จริง ๆ ตอนนี้เราทำตามความต้องการของลูกค้าหลาย ๆ ประเทศที่มีสเป็กต่างกันไป อย่างขนาด ความหนา สารเคมีที่ใช้ บางชนิดเอาสก็อตเทปติดแล้วดึงออก บางชนิดเอาสก็อตเทปติดแล้วดึงไม่ออก สีก็มีหลายสี ลูกค้าแต่ละที่ก็มีมาตรฐานและสเป็กต่างกัน เพราะส่วนใหญ่เราผลิตแบบ OEM (รับจ้างผลิต) ป้อนตลาดต่างประเทศ ลูกค้าต้องการแบบไหนเราก็ผลิตให้ได้ มีส่งแบรนด์ Sri Trang Gloves ซึ่งเป็นแบรนด์ของเราเองเข้าไปขายบ้างแต่ไม่เยอะ เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าอยากได้ถุงมือที่ติดแบรนด์ของเขาเองมากกว่า   สัมภาษณ์ วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล ปั้น “ศรีตรัง” ขึ้นแท่นผู้ผลิตถุงมือยาง “ท็อป 3” ของโลก   The People: ช่องทางใหม่ ๆ ที่สามารถเข้าไปสร้างการเติบโตได้? วีรสิทธิ์: หลัก ๆ ถุงมืออยู่ในอุตสาหกรรมการแพทย์และอาหารอยู่แล้ว ซึ่งบางประเทศที่ใส่ใจสุขอนามัยมาก ๆ คนเสิร์ฟน้ำก็จะใส่ถุงมือด้วย คุณวิทย์นาถ น้องชายคนเล็ก ซึ่งรับผิดชอบธุรกิจถุงมือยางจะเป็นคนหาตลาดใหม่ ๆ อย่างตอนนี้เราเจาะธุรกิจเสริมสวย การสัก ซึ่งอย่างหลังความต้องการใช้ถุงมือมีเยอะมาก เราก็ไปออกงานในงานสักต่าง ๆ ด้วย ชาวต่างชาติเห็นก็ซื้อกลับประเทศ ไม่ก็ติดต่อเข้ามาทีหลัง หรืออย่างธุรกิจสัตว์เลี้ยงที่ระยะหลังบูมมาก ก็เป็นสิ่งที่เราเจาะเข้าไปแล้วประสบความสำเร็จ   The People: เคยวางไว้ว่าจะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ไหม วีรสิทธิ์: จริง ๆ ก็เคยคิด แต่ก็ไม่อยาก commit ตัวเองเท่าไหร่ ขอให้เราสู้เบอร์ 1 เบอร์ 2 ได้สูสีก็พอ ตอนนี้เบอร์ 1 ใหญ่ด้าน volume มีโรงงานเยอะ เบอร์ 2 เล็กกว่าเบอร์ 1 ประมาณ 2 เท่า แต่ใหญ่ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเราต้องดูว่าจะเราจะไปทางไหน คือเบอร์ 1-10 ในธุรกิจถุงมือยางระดับโลกเป็นของมาเลย์หมด ยกเว้นศรีตรังที่เป็นของประเทศไทย ข้อดีของเราคือผลิตเครื่องจักรเอง ทั้งเครื่องจักรผลิตผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ และเครื่องจักรผลิตถุงมือยาง ทีมวิศวกรเราค่อนข้างแกร่งและมีประสบการณ์ เราแทบไม่นำเข้าเครื่องจักรเลย ทำให้เราไม่มีต้นทุนตรงนั้นมาก และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รอดจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มาได้ จริง ๆ องค์ความรู้ของเรานอกจากมาจากคนไทย ยังมาจากที่ปรึกษาทั่วโลก ทั้งยุโรป อเมริกา จีน มาเลย์ ฯลฯ ทีมการตลาดของเราก็หลากหลายสัญชาติมาก เรียกว่าอัพเดทองค์ความรู้กันตลอด   The People: อุปสรรคในการขยายการเติบโต? วีรสิทธิ์: ตอนนี้ผมไม่ค่อยเห็นปัญหาอุปสรรคเท่าไหร่ คู่แข่งเมืองไทยไม่มีปัญหา เพราะเราเป็นเบอร์ 1 ในเมืองไทยอยู่แล้ว เพราะเราผลิตในสเกลใหญ่ ขณะที่คู่แข่งรายอื่นส่วนใหญ่เป็น SMEs ส่วนถ้ามองระดับโลก คู่แข่งหลักของเราจะเป็นบริษัทมาเลย์ เบอร์ 1 ของโลกซึ่งเป็นของมาเลย์ใหญ่กว่าเราประมาณ 3 เท่า เบอร์ 2-3 ใหญ่กว่าเรานิด ๆ ส่วนเบอร์ 4-8 จะใกล้เคียงกัน ซึ่งอันดับพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทมาเลย์ ดังนั้นเรื่องคู่แข่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวลมาก เพราะเราคิดว่าไล่ทันและสู้ได้ ที่กังวลตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องนโยบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมมากกว่า เช่น นโยบายขยายผังเมือง สมมติผมต้องการขยายโรงงานก็อาจทำไม่ได้ เพราะพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างโรงงานอาจเป็นพื้นที่สีเขียว ส่วนธุรกิจกลางน้ำเป็นธุรกิจที่ผันผวนสูงมาก ราคามันจะตกแล้วก็ดีสลับกันไป เป็นธุรกิจที่ควบคุมยาก มีรายละเอียดเยอะ อย่างเกษตรกร ซัพพลายเออร์ ลูกค้า นโยบายรัฐบาล หลายอย่าง   เพราะฉะนั้นถ้าถามอุปสรรคที่เจอก็นั่นแหละ...การขยายโรงงาน เราเป็นบริษัทที่ขยายเร็ว ไม่ใช่นาน ๆ ขยายทีหนึ่ง ถุงมือมีการลงทุนที่สูงกว่ายางธรรมชาติ 4-5 เท่า แต่ก็ให้กำไรที่สูงกว่า   The People: มีแผนดันสัดส่วนถุงมือยางอย่างไร เพราะสร้างรายได้ให้เยอะกว่าธุรกิจอื่น วีรสิทธิ์: ถ้าตีตัวเลขสัดส่วนที่ 50% ของรายได้รวมทั้งหมดเลยน่าจะนาน เพราะยอดขายยางธรรมชาติอยู่ที่ 60,000-70,000 ล้านบาท แต่ยอดขายถุงมือประมาณ 10,000 ล้านบาท ต่างกัน 6 เท่า ถ้าจะดันขึ้นไปขนาดนั้น ระยะเวลาสร้างโรงงานก็สูงกว่า 4-5 เท่า ถ้าเราจะขยายให้ได้ 50% รายได้รวมจากถุงมือก็ต้องอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าขนาดนั้นเราต้องใหญ่กว่าวันนี้ 3 เท่า ต้องใช้เวลา 4-5 ปี แต่ในเงื่อนไขที่ว่าต้องขยายถุงมือยางเต็มที่เลย แล้วยางธรรมชาติต้องไม่ขยายเลย เราอยากให้ยางธรรมชาติเราเป็น 20% ของตลาดโลก แต่ถ้าอย่างนั้นศรีตรังก็ต้องขยายยางเยอะมาก ก็เป็นเรื่องที่ต้องวางกลยุทธ์กันต่อไป   สัมภาษณ์ วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล ปั้น “ศรีตรัง” ขึ้นแท่นผู้ผลิตถุงมือยาง “ท็อป 3” ของโลก   The People: ศรีตรังกับรายได้รวมหลักแสนล้านบาท (อีกครั้ง)? วีรสิทธิ์: เราเคยแตะมาแล้วช่วงที่ราคายางแพง ๆ ตอนที่ยางไปแตะ 80 บาท 100 บาท 120 บาท สูงสุดที่ศรีตรังทำได้น่าจะปี 2011 ยอดขาย 130,000 ล้านบาท ช่วงนี้ราคายางตก แต่ volume เราโต คือเราโตประมาณ 5% 10% แต่ยางตกทีหนึ่ง 30% ความโตมันก็เลยไม่ทันราคา ยอดขายของศรีตรังเลยอยู่ประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท แต่จริง ๆ volume เราโต โรงงานเราโต เพราะฉะนั้นธุรกิจเลยช่วยกันถ่วงน้ำหนัก ถ้าช่วงไหนราคายางไม่ดี ถุงมือจะดี ถ้าราคายางดี ถุงมืออาจมีต้นทุนแพง แต่ถ้านิ่ง ๆ แบบนี้ เราก็บริหารไป คือเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงมาก เครียดนะ (หัวเราะ) ข้อดีของศรีตรังคือเราประชุมกันทุกวัน ทำให้อัพเดตเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไวกว่า ไม่ใช่ว่าอาทิตย์ที่แล้ว เดือนที่แล้ว คุยเรื่องอะไรกัน   The People: หลักคิดหรือคติในการบริหารงานของคุณคืออะไร วีรสิทธิ์: ผมยึดตามที่คุณพ่อ (ดร.ไวยวุฒิ สินเจริญกุล ประธานกรรมการ และ กรรมการผู้จัดการของศรีตรัง) ทำให้เห็น เขาเป็นคนที่เน้นการปฏิบัติ เน้น result-oriented หรือการทำงานให้มีผลลัพธ์ คุณจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ทุกอย่างที่ทำต้องมีผลลัพธ์ออกมา ต่อมาเรื่องที่คุณพ่อเน้นคือ efficiency หรือประสิทธิภาพ และ cost control การควบคุมต้นทุน เขาจะไม่ปล่อยอะไรให้สิ้นเปลือง จำนวนคนเท่าไหร่ output ออกมาได้เท่าไหร่ คือต้องให้มีประสิทธิภาพของคนมากที่สุด result-oriented, efficiency และ cost control คือสิ่งที่องค์กรจริงจังและทำให้ประสบความสำเร็จ เพราะท้ายสุดเรื่องพวกนี้จะไปช่วยเรื่อง competitive advantage การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เราประชุมกันแทบทุกวันเพื่อเก็บข้อมูลเชิงตัวเลข และเอามาวิเคราะห์บนหลักการและเหตุผล ทุกอย่างสามารถวัดได้หมด หลายองค์กรที่ล้มเหลว ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาด result-oriented ท้ายสุดคือวัน ๆ ไม่รู้จะทำอะไร ส่วนเรื่อง cost ก็ละเลย บางเรื่องไม่ยอมพัฒนา บางเรื่องไม่ยอมลงทุน ซึ่ง 2 เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมมองมาตลอดว่าทำให้เราได้เปรียบคู่แข่ง   The People: การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้? วีรสิทธิ์: เราศึกษาเรื่องพวกนี้กันตลอด อย่างปี 2014-2016 เราก็เปลี่ยนจากระบบทั่วไปเป็นระบบ SAP เรียบร้อยแล้ว เรื่อง Big Data, AI, Cloud เราก็เอามาประยุกต์ใช้ ทุกเดือนเราจะมีการนำเสนอว่าใครไปเจออะไรมาบ้าง และจะใช้กับหน่วยงานที่ตัวเองดูแลอยู่อย่างไร อย่างโรงงานก็จะบอกว่าเจอเซ็นเซอร์ตัวใหม่ที่ช่วยให้ทำงานคล่องขึ้น จัดซื้อก็อาจมีเรื่องแอปพลิเคชันที่ใช้ติดต่อกับซัพพลายเออร์แบบเรียลไทม์ได้   The People: จะมีไปเป็น Venture Capital (VC) ไหม วีรสิทธิ์: ไม่มี เราศึกษามาแล้ว สำหรับสตาร์ทอัพ ส่วนมากคือคนจะแพง คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดไปไกล ซึ่งสินค้าแบบที่ศรีตรังทำอาจไม่เหมาะกับสตาร์ทอัพ คือสตาร์ทอัพจะเหมาะกับธุรกิจบางอย่าง อาจเป็นธุรกิจค้าปลีกหรืออื่น ๆ แต่สำหรับเราที่เป็น B2B หลายเจ้าเป็นลูกค้าระดับโลก บริษัทพวกนี้เขามีระบบของตัวเองอยู่แล้ว บางทีเราต้องปฏิบัติตามระบบของเขา จะไปคิดระบบเองแล้วไปใส่ บางทีเขาก็ไม่ยอมรับ   The People: มองการเติบโตขององค์กรไว้อย่างไร วีรสิทธิ์: เราคงไม่ diversify ไปทำอะไรที่ไม่ถนัด คงไม่ไปทำอสังหาฯ ยังอยากโฟกัสในสิ่งที่ถนัดอยู่ก็คือยางธรรมชาติที่เราอยากคงความเป็นอันดับ 1 ไว้ ส่วนธุรกิจอื่นก็ขยายเติบโตไปเรื่อย ๆ อย่างถุงมือยางเราตั้งเป้าเป็นอันดับ 3 ทำได้ไม่ได้ก็เดี๋ยวมาดูกันว่าคู่แข่งคนอื่นเขาขยายตัวไปอย่างไร จริง ๆ มีหลายอย่างที่อยากทำ แต่ยังไม่อยู่ใน pipeline การลงทุน คือตอนนี้ธุรกิจถุงมือยางก็ยังขยายไปได้อีก 10 ปีเลย เราสร้างโรงงานรองรับการขยายกำลังการผลิตไว้แล้ว โรงงานถุงมือใช้เวลา 2 ปีในการสร้างเสร็จ ไม่เหมือนโรงงานยางแท่ง 10 เดือนก็เสร็จแล้ว   ภาพ: นพพร ยรรยง