เวียร่า โอโบเลนสกี: ชนชั้นสูงชาวรัสเซียผู้ต่อต้านนาซีด้วยการกล่าวคำว่า “ไม่รู้”

เวียร่า โอโบเลนสกี: ชนชั้นสูงชาวรัสเซียผู้ต่อต้านนาซีด้วยการกล่าวคำว่า “ไม่รู้”

‘16 ธันวาคม 1943 เวียร่า โอโบเลนสกี นางแบบและเลขาฯ นักธุรกิจชื่อดังถูกเกสตาโปจับตัวได้ กองทัพนาซีเชื่อว่าเธอเป็นสายลับที่ช่วยเหลือชาวยิวและชาวฝรั่งเศส เกสตาโปสอบสวนเธออยู่หลายวัน แต่สิ่งที่ได้จากปากของผู้หญิงคนนี้มีเพียงแค่คำว่า “ฉันไม่รู้” “พูดอะไรไม่เข้าใจเลย” “ไม่รู้” วนซ้ำไปมาอย่างกับแผ่นเสียงตกร่อง’

นอกเหนือจาก อิริน่า เซนเลอร์ พยาบาลสาวที่ลักลอบนำเด็กชาวยิวในโปแลนด์หนีออกนอกประเทศ หรือ มาร์กาเร็ต เบิร์ก-ไวต์ ช่างภาพสาวที่ขอออกไปทำงานในแนวหน้าและลอบเข้าค่ายกักกันบูเคินวัลท์ของนาซี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีหญิงสาวอีกหลายคนที่มีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ หนึ่งในนั้นรวมถึง เวียร่า โอโบเลนสกี (Vera Obolensky) สตรีชนชั้นสูงที่ถูกนับเป็นหนึ่งในวีรสตรีของรัสเซียช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรื่องราวของเธอเต็มไปด้วยพลังและการไม่ยอมแพ้แม้ศัตรูจะมีอำนาจมากกว่าแค่ไหนก็ตาม เวียร่า มากาโรวา (Vera Makarova) เกิดเมื่อปี 1911 เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นนำของรัสเซีย พ่อของเธอเป็นรองผู้ว่าการเมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เมื่อรัสเซียเกิดสงครามกลางเมืองครอบครัวมากาโรวาจึงพากันมาตั้งถิ่นฐานที่ฝรั่งเศสในปี 1920 เวียร่าเป็นหญิงสาวหน้าตาดี ตัวสูง กิริยามารยาทอ่อนช้อย แต่ก็เปี่ยมด้วยความมั่นใจ ทุกอย่างของเธองดงามตามกรอบของสมัยนิยม เมื่อโตขึ้นเวียร่ารับจ๊อบเป็นนางแบบในเมืองน้ำหอม การเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดนของเธอดูจะไปได้สวย ราบรื่นไม่มีสะดุด มีแววจะกลายเป็นคนดังด้วยซ้ำ เวียร่า โอโบเลนสกี: ชนชั้นสูงชาวรัสเซียผู้ต่อต้านนาซีด้วยการกล่าวคำว่า “ไม่รู้” พอว่างเว้นจากการถ่ายแบบ เวียร่าถอยห่างจากวงการบันเทิง หันมาทำงานประจำเป็นเลขาของ ฌาคส์ อาคตุย (Jacques Arthuys) เจ้าของบริษัทวัสดุก่อสร้างและนักธุรกิจแวดวงอุตสาหกรรมชื่อดัง เขาเป็นชาวฝรั่งเศสฝ่ายขวาจัด เป็นตัวหลักของขบวนการฟาสซิสต์ในฝรั่งเศสที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่าง ๆ ของพรรคนาซีในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนักธุรกิจมีชื่อคนนี้มีส่วนทำให้ชีวิตของเวียร่าพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างสิ้นเชิง ในปี 1937 เวียร่าแต่งงานกับเจ้าชายนิโคลัส อเล็กซานโดรวิช โอโบเลนสกี (Prince Nicholas Alexandrovich Obolensky) บุตรชายของอดีตผู้ว่าการเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สุภาพบุรุษจากตระกูลชั้นสูงในรัสเซียที่ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ ถึงจะอยู่รัสเซียไม่ได้ แต่ตระกูลโอโบเลนสกียังคงมีทรัพย์สินจำนวนมหาศาล มีที่ดินผืนใหญ่อยู่ในเมืองนีซ (Nice) มีไลฟ์สไตล์ที่แสนจะสุขสบาย ปาร์ตี้ ไปเที่ยว พักผ่อนริมทะเล เหมือนกับมหาเศรษฐีฝรั่งเศสคนอื่น ๆ จนถูกแซวว่าเขาเป็นชาวรัสเซียอพยพเพียงไม่กี่คนที่ได้นั่งแท็กซี่ในฐานะลูกค้าเพราะส่วนใหญ่จะต้องเป็นคนขับรถ ส่วนเวียร่าต้องเปลี่ยนนามสกุลจากมากาโรวา เป็น ‘เวียร่า โอโบเลนสกี’ และไม่ยอมลาออกจากงานเลขาฯ มาเป็นแม่บ้านตามที่หลายคนคิดไว้ เวลาเดียวกับที่ชนชั้นสูงไม่ต้องทำงานก็อยู่สบายไปทั้งชีวิต ฝรั่งเศสกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แม้เยอรมนีจะจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามหลังการพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสสามารถดูแลกิจการและประชาชนทุกคนได้ หลายคนมองว่าประเทศใกล้ล้มละลาย ฌาคส์จึงพยายามรวมกลุ่มชนชั้นนำของสังคมจากหลายวงการ โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์กับกลุ่มผู้นำของสหภาพแรงงาน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่ตกต่ำหนัก ส่วนเวียร่าจะเข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้งแม้จะเป็นผู้หญิง วิเคราะห์และรับฟังปัญหาต่าง ๆ ที่คนแต่ละแวดวงพบเจอมาเพื่อสรุปข้อมูลให้กับเจ้านาย เวียร่า โอโบเลนสกี: ชนชั้นสูงชาวรัสเซียผู้ต่อต้านนาซีด้วยการกล่าวคำว่า “ไม่รู้” เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นเมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ในปี 1939 ทุกประเทศบนภาคพื้นทวีปยุโรปต่างต้องพากันปกป้องเมืองและประชาชนจากนาซี สงครามยังคงดำเนินต่อไป ทว่าหลังจากเหตุการณ์ Fall of France หรือที่เรียกกันว่า ‘ความพินาศที่ฝรั่งเศส’ ชาวฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งทางตอนเหนือที่ต่อต้านกองทัพนาซีตัดสินใจร่วมกลุ่มกันช่วยเหลือคนในค่ายกักกันแถบชายแดน พร้อมกับรับสมัครอาสาสมัครเพื่อสู้กับทหารเยอรมัน ฌาคส์ เวียร่า และเจ้าชายนิโคลัส โอโบเลนสกี ต่างอยู่ในกลุ่มต่อต้านนี้เช่นกัน และในช่วงหลังฌาคส์ได้ขึ้นมามีบทบาทเป็นหัวหน้ากลุ่มต่อต้านนาซีทางตอนเหนือที่คอยป่วนพวกทหารเยอรมันอยู่บ่อยครั้ง แม้ฝรั่งเศสจะไม่สามารถต้านทานกองทัพเยอรมันได้ แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังไม่ยอมแพ้ กลุ่มต่อต้านของฌาคส์ตัดสินใจควบรวมเข้ากับกลุ่มต่อต้านอีกกลุ่มที่มีอุดมการณ์เดียวกันของนายธนาคารและล็อบบี้ยิสต์นาม มักซีม บลุก-มัสการ์ (Maxime Blocq-Mascart) เมื่อนักธุรกิจกับนายธนาคารมาเจอกัน พวกเขาจึงรวมกลุ่มเป็นองค์กรชื่อว่า Organisation civile et militaire: OCM คนในองค์กรจะทำหน้าที่รวบรวมข่าว ดึงตัวนักอุตสาหกรรมอาวุโสมาร่วมขบวนการ ส่งต่อข่าวการเคลื่อนไหวของกองทัพนาซี พร้อมกับช่วยเหลือประชาชนคนอื่น ๆ ที่ยังไม่อพยพออกจากฝรั่งเศสให้มากที่สุด และตีพิมพ์บทความเศรษฐกิจการเมืองหลังสงครามที่พังพินาศเพราะนาซี จนทำให้องค์กร OCM ถูกนาซีจับตามองอย่างใกล้ชิด ในปี 1940 ตำรวจลับนาซีหรือที่เรียกกันว่า ‘เกสตาโป’ วางแผนบุกจับฌาคส์ในช่วงเที่ยงคืน เขารอดจากการจับกุมได้อย่างหวุดหวิดด้วยความช่วยเหลือของเวียร่าที่คอยถ่วงเวลาให้ แต่พอเข้าสู่ช่วงกลางปี 1941 ฌาคส์กับมักซีม สองแกนนำองค์กร OCM ถูกเกสตาโปจับกุมตัวได้ ทว่าเกสตาโปยังไม่สามารถเข้าถึงตัวของเวียร่าได้ เธอยังคงทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลองค์กร ประสานงานกับกลุ่มต่อต้านอื่น ๆ การส่งข้อความทุกครั้งจะต้องเป็นความลับสุดยอด เวียร่า โอโบเลนสกี: ชนชั้นสูงชาวรัสเซียผู้ต่อต้านนาซีด้วยการกล่าวคำว่า “ไม่รู้” อาร์เธอร์ คาลเมตต์ (Arthur Calmette) หนึ่งในสมาชิกองค์กรเคยเล่าถึงความจำอันน่าทึ่งของเวียร่าว่า การส่งข้อมูลจะต้องไม่จดลงบนกระดาษ รหัสผ่านตู้เซฟเก็บข้อมูลจะต้องไม่มีใครล่วงรู้ แต่ผู้หญิงคนนี้สามารถเก็บรายละเอียดกับรหัสผ่านทั้งหมดไว้ในหัว การมีเธออยู่ในกลุ่มเอื้อประโยชน์อย่างมากกับกลุ่มต่อต้านนาซี นอกจากการเป็นผู้รวบรวมและจดจำข้อมูล บางครั้งเวียร่าต้องลงสนามจริงในการล้วงความลับจากทหารชั้นผู้น้อยชาวเยอรมันที่ติดโคเคน นักเต้นเปลื้องผ้าชาวสเปน จากนั้นส่งต่อข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข่าวไปให้กับนายทหารยศนายพันชาวอังกฤษและเครือข่ายองค์กร National Council of the Resistance: CNR คำบอกเล่าจากปากของสมาชิกหลายคนจากหลายฝ่ายเป็นเครื่องยืนยันชัดเจน พวกเขายกย่องเวียร่าว่าเป็นผู้หญิงเก่งที่ตั้งใจทำงานนี้มากจริง ๆ เธอรักรัสเซีย และเธอก็รักดินแดนฝรั่งเศสไม่น้อยกว่าชาวฝรั่งเศสคนอื่นเลย   วันที่ 16 เดือนธันวาคม 1943 เวียร่ากับสมาชิกองค์กร OCM ถูกเกสตาโปจับกุมตัวในบ้านพักบนถนน Saint-Florentin เธอถูกสอบสวนยาวนานในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ตำรวจลับพยายามกดดันให้เวียร่ายอมปริปากเล่าแผนการของ OCM แต่ไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะทำอย่างไรเธอก็ไม่ยอมบอกข้อมูลอะไรเลย นอกจากพูดว่า “I know nothing about it” เวียร่า โอโบเลนสกี: ชนชั้นสูงชาวรัสเซียผู้ต่อต้านนาซีด้วยการกล่าวคำว่า “ไม่รู้” เมื่อการสอบสวนครั้งแรกไม่ได้อะไร เกสตาโปพาเธอไปขังรอเพื่อคุยกันในวันถัดมา แต่ไม่ว่าจะสอบสวนกี่ครั้ง เวียร่าเอาแต่พูดว่า “ฉันไม่รู้” “ไม่เห็นจะรู้เรื่องเลย” หรือ “ฉันไม่รู้อะไรทั้งนั้น” ประโยคส่วนใหญ่ของเธอจะต้องมีคำว่า ‘ไม่รู้’ อยู่แทบทุกครั้ง ตีมึนจนทำให้ทีมสอบสวนปวดหัวไปตาม ๆ กัน เพราะไม่ว่าจะทำอะไรกับเธอ ผู้หญิงคนนี้ก็ไม่ยอมปริปากขายเพื่อนหรือขายอุดมการณ์ของตัวเองแม้แต่น้อย บางวันพอถูกถามว่าเธอช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวรัสเซียที่อยู่ในฝรั่งเศสได้อย่างไร เวียร่าตอบว่า “ฉันจะไปรู้เรื่องยาก ๆ แบบนั้นได้ยังไง” ข้อมูลจากบันทึกนักวิชาการชาวเยอรมันที่ทำงานให้เกสตาโปเขียนไว้ว่า เขามีโอกาสได้คุยกับผู้หญิงคนนี้ แต่ไม่รู้ว่าจะรีดข้อมูลจากเธออย่างไร จึงเอ่ยปากชวนให้เวียร่าทำงานให้นาซี ยื่นข้อเสนอเย้ายวนให้เธอว่าไม่ต้องบอกข้อมูลก็ได้ แต่นับจากนี้จะต้องทำงานให้เยอรมนีแล้วจะรอดจากการถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดี ทว่าประโยคเชิญชวนนี้ทำให้เธออารมณ์เสียแบบสุด ๆ จนตอกนักวิชาการกลับไปว่า “สาเหตุที่คุณจับฉันมาเพราะฉันเป็นชาวรัสเซีย พวกคุณจะทำลายบ้านเกิดฉัน และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวสลาฟ ถึงฉันจะโตในฝรั่งเศสแต่ก็ยังเป็นชาวรัสเซีย ฉันจะไม่มีวันทรยศต่อบ้านเกิดหรือประเทศที่ปกป้องฉัน” เวียร่า โอโบเลนสกี: ชนชั้นสูงชาวรัสเซียผู้ต่อต้านนาซีด้วยการกล่าวคำว่า “ไม่รู้” ทางด้านเพื่อนผู้เป็นเจ้าของบ้านที่ถูกจับพร้อมกับเวียร่าถูกเกสตาโปทรมานด้วยการจับแช่ในอ่างน้ำแข็ง เขาอ้อนวอนร้องขอชีวิต แต่ชายคนนี้ไม่มีข้อมูลที่นาซีต้องการจะรู้เท่ากับเวียร่าที่เป็นเลขาฯ องค์กร เขาจึงถูกส่งตัวไปใช้แรงงานในค่ายที่เยอรมนี ส่วนหญิงสาวที่อยู่ห้องขังข้าง ๆ ถูกเกสตาโปตั้งฉายาว่า ‘I know nothing about it’ เพราะเธอเป็นหญิงสาวที่กวนโมโหเจ้าหน้าที่ได้ทุกครั้งที่คุยด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับเวียร่าที่ถูกบันทึกโดยเกสตาโประบุว่าเธอไม่ได้ถูกทรมานใด ๆ (นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่ปักใจเชื่อข้อมูลนี้เพราะเพื่อนเธอถูกจับขังอยู่ในอ่างน้ำแข็งเป็นเวลานาน ส่วนพยาบาลสาวชาวโปแลนด์ที่ช่วยเด็กชาวยิวถูกเกสตาโปซ้อมจนขาหัก) เมื่อไม่ได้ข้อมูลที่ควรรู้จึงนำตัวเธอส่งฟ้องต่อศาลทหารในเดือนพฤษภาคม 1944 ด้วยข้อหากบฏ ทุกอย่างเป็นไปตามคาด เวียร่าถูกตัดสินประหารชีวิต แต่นาซียังมิวายยื่นข้อเสนอว่าเธอสามารถลงชื่อเขียนคำร้องขอความเมตตาได้ ซึ่งเธอปฏิเสธที่จะอ้อนวอนนาซี เธอจึงถูกส่งตัวจากฝรั่งเศสไปยังเยอรมัน ถูกจำคุกสองแห่ง และจบชีวิตด้วยการถูกกิโยตีนบั่นคอในวันที่ 4 สิงหาคม 1944 ร่างไร้วิญญาณของเธอถูกส่งไปยังสถาบันกายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน เพื่อให้ ดอกเตอร์ เฮอร์มานน์ สเตฟฟ์ (Dr. Hermann Stieve) ศึกษาเรื่องความเครียดและสภาพแวดล้อมที่จะส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง เวียร่า โอโบเลนสกี: ชนชั้นสูงชาวรัสเซียผู้ต่อต้านนาซีด้วยการกล่าวคำว่า “ไม่รู้” ทางด้านเจ้าชายนิโคลัสผู้เป็นสามี เขาถูกจับส่งไปอยู่ในค่ายกักกันบูเคินวัลท์ (Buchenwald) ไม่รับรู้ถึงการจากไปของภรรยาจนกระทั่งเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เขากับคนอื่น ๆ ในค่ายถูกปล่อยตัวให้เป็นอิสระ เจ้าชายนิโคลัสได้เขียนหนังสือเล่าเรื่องราวความกล้าหาญของเวียร่า เขาครองตัวเป็นโสด ไม่แต่งงานใหม่ ไม่คบใครอีก พอแก่ตัวลงก็หันหน้าเข้าหาศาสนา เป็นนักบวชอยู่อาสนวิหารอเล็กซานเดอร์ เนฟสกี โบสถ์รัสเซียนออร์ทอดอกซ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอสโตเนีย และจากไปอย่างสงบด้วยโรคชรา สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดของเรื่องนี้น่าจะเป็นเวลาอันฉิวเฉียด อีกสิบเดือนหลังเวียร่าถูกนำตัวขึ้นศาลเยอรมนีจะประกาศยอมแพ้สงคราม ถ้าลงนามขออุทธรณ์ เวียร่าอาจไม่ตายก็ได้ แต่นั่นเป็นเพียงการคาดคะเนของนักวิชาการเท่านั้น เพราะเวลาสิบเดือนจะมองให้เร็วก็เร็ว หรือจะมองว่านานก็ได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เวียร่า โอโบเลนสกี ได้เลือกเส้นทางที่เต็มไปด้วยเกียรติยศและศักดิ์ศรี มีชีวิตอย่างภาคภูมิในฐานะวีรสตรีชาวรัสเซียผู้ต่อต้านนาซี ที่จะไม่ยอมขายอุดมการณ์หรือบอกข้อมูลใด ๆ แก่ฝ่ายอักษะทั้งนั้น

“ฉันไม่รู้อะไรทั้งนั้น”

  ที่มา https://www.ilawjournals.com/vera-obolensky-what-the-nazis-beheaded-a-russian-princess/ https://russianladieshistory-daily.tumblr.com/post/617647358376869888/vera-obolensky-11-june-1911-4-august-1944-was . เรื่อง : ตรีนุช อิงคุทานนท์   #ThePeople #History #VeraObolensky #เวียร่าโอโบเลนสกี #สงครามโลกครั้งที่2 #ฝรั่งเศส #รัสเซีย #เฟมินิสต์ #ประวัติศาสตร์ #นาซี #เกสตาโป #วีรสตรี