"ตายตาหลับ เห็นคนรุ่นลูกทำแล้วหายเหนื่อย" ทนายอู๊ด ‘วิบูลย์ บุญภัทรรักษา’ พ่อของไผ่ ดาวดิน

"ตายตาหลับ เห็นคนรุ่นลูกทำแล้วหายเหนื่อย" ทนายอู๊ด ‘วิบูลย์ บุญภัทรรักษา’ พ่อของไผ่ ดาวดิน
“ตายตาหลับ เห็นคนรุ่นลูกทำแล้วหายเหนื่อย เราอยู่ไปก็ทำไม่ได้และอยู่มานานแล้วก็ไม่สามารถทำได้แบบเขา” - ทนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของ ไผ่ ดาวดิน
The People สัมภาษณ์ ทนายอู๊ด ‘วิบูลย์ บุญภัทรรักษา’ คุณพ่อของ ‘จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา’ หรือ ไผ่ ดาวดิน ขณะมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มราษฎร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวานนี้ (8 พ.ย. 63) คุณพ่อของไผ่เล่าถึงงานที่ทำมาตลอดจนถึงปัจจุบันและเหตุผลที่มาร่วมกิจกรรมวานนี้ว่า “ตอนนี้ยังเป็นทนายความอยู่ ว่าความให้ชาวบ้านคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนการมาร่วมชุมนุมวันนี้ เนื่องจากเห็นการประชาสัมพันธ์ว่าจะมีชุมนุมใหญ่ หลังจากติดตามมาหลายรอบแล้ว จึงอยากมาดูด้วยตัวเอง” สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกชาย เช่น การถูกจับกุม คุมขัง คุณพ่อของไผ่มองว่า “นั่นก็คือเครื่องไม้เครื่องมือของรัฐบาลที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ แต่ขณะนี้สังคมเริ่มเห็นแล้ว ก็คงเป็นที่ทราบกันแล้ว เพราะฉะนั้นการกระทำแบบนี้ก็อาจจะลดน้อยถอยลงไป” เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ได้เห็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นลูกในขณะนี้ ทนายอู๊ด บอกว่า “ตายตาหลับ - เห็นเด็ก ๆ เขาทำตอนนี้เราก็หายเหนื่อย เพราะเราอยู่ไปไม่กี่ปี เราก็ทำไม่ได้เหมือนกัน และเราอยู่มานานแล้ว ก็ไม่สามารถทำได้แบบเขา ก็ถือว่าดีใจ” ส่วนมาตรการของรัฐบาลที่ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม ทนายอู๊ดมองว่า “เขาก็แสดงออกให้เราเห็นแล้วว่าเขาทำอะไรมาบ้าง ผมว่าก็เป็นบทบาทของเขา ไม่ได้กังวลอะไร แล้วเค้าก็คงไม่กล้าทำอะไรรุนแรงกับเด็ก ๆ”คุณพ่อของไผ่ ดาวดินกล่าว หากย้อนกลับไปเหตุการณ์การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 63 ไผ่ถูกตำรวจควบคุมตัวโดยตำรวจล้อมรถเครื่องขยายเสียงและขึ้นมาอุ้มตัวไผ่ขณะกำลังถือไมค์อยู่บนรถ ท่ามกลางสายตาสื่อมวลชนและผู้ชุมนุม การควบคุมตัวครั้งนั้นเกิดขึ้นก่อนจะถึงวันนัดชุมนุมใหญ่ 14 ต.ค. 63 เพียง 1 วัน นอกจากไผ่แล้ว ในเหตุการณ์นั้น ‘แอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์’ และเพื่อนอีกหลายคนก็ถูกคุมตัวจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปตชด.ภาค 1 บนรถคันเดียวกันกับไผ่ ต่อมาแอมมี่และเพื่อน ๆ ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 63 ส่วนไผ่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเช่นกันเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 63 ไผ่ เติบโตจากครอบครัวที่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นทนายความ ว่าความและให้ความช่วยเหลือให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ชาวบ้าน เขาจึงมีโอกาสติดตามครอบครัวไปสัมผัสผู้ประสบปัญหาต่างๆ ก่อนจะตัดสินใจเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขาสอบวิชาสุดท้ายและจบการศึกษาปริญญาตรีขณะอยู่ในเรือนจำในคดีแชร์ข่าวบีบีซีไทย ซึ่งทำให้สิ้นอิสรภาพเป็นเวลา 2 ปี 5 เดือน 7 วัน (870 วัน) ได้ออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 62 แม้ไผ่จะไม่ใช่นักกิจกรรมหน้าใหม่เพราะเป็นที่รู้จักมานานโดยเฉพาะหลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ไผ่ทำกิจกรรมร่วมกับ ‘รังสิมันต์ โรม’ ในฐานะนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม ปีนี้ 2563 เขายังมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวร่วมกับนิสิตนักศึกษา เป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่ม ‘ราษฎร’ ขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เรื่อง: ฟ้ารุ่ง ศรีขาว ภาพ: กิตติธัช ศรีพิชิต