วิคตอร์ อูโก กับคนค่อมที่เคยปกปักรักษามหาวิหารนอเทรอดาม

วิคตอร์ อูโก กับคนค่อมที่เคยปกปักรักษามหาวิหารนอเทรอดาม

คนค่อมที่เคยปกปักรักษามหาวิหารนอเทรอดาม

“the church will, perhaps, itself soon disappear from the face of the earth.” “มหาวิหารนี้ บางที อีกไม่นาน มันอาจจะหายไปจากพื้นผิวของโลกใบนี้” นี่คือประโยคปิดท้ายในบทนำของวรรณกรรม The Hunchback of Notre-Dame หรือ คนค่อมแห่งนอเทรอดาม ที่ วิคตอร์ อูโก (Victor Hugo) นักเขียนชื่อดังชาวฝรั่งเศส เขียนขึ้นในปี ค.ศ.1831 ที่ทั้งเป็นเหมือนคำทำนาย สัจธรรมของชีวิต และชะตากรรมของมหาวิหารนอเทรอดาม-วิหารรูปแบบสถาปัตยกรรมโกธิค ในเวลาต่อมา แต่สำหรับบริบทของคนยุควิคตอร์ อูโก มันอาจจะเป็นประโยคที่ทำให้ผู้คนในยุคสมัยนั้นอยากจะปกปักรักษามหาวิหารนี้ไว้ ... ใครจะทราบเล่าว่ามหาวิหารของฝรั่งเศสที่มีอายุมากกว่า 850 ปี ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์หญิงงามแห่งปารีส วันหนึ่งจะถูกทำลายจากไฟไหม้ โดยเฉพาะโครงสร้างที่เป็นไม้ เมื่อวันจันทร์ที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเรื่องเศร้าของคนทั่วโลก หากเคยได้ชมภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง The Hunchback of Notre-Dame (1996) ฉากที่ตัวละครเดินอยู่ที่หอระฆังของมหาวิหารแห่งนี้ จะเห็นว่าข้างในเต็มไปด้วยโครงสร้างของไม้ ซึ่งเสี่ยงต่อการเผาไหม้เป็นอย่างมาก (หลายคนเรียกขานส่วนนี้ว่า “The Forest” เพราะสร้างด้วยไม้จำนวนมาก) ในความเป็นจริงแล้ว มหาวิหารนอเทรอดามที่เริ่มต้นสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1163 ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายร้อยปี รอดจากการถูกทำลายจากสภาพอากาศและสงครามมาหลายต่อหลายครั้ง ทั้งจากการจลาจลในสงครามศาสนาของฝรั่งเศส (1562-1598) จากยุคนโปเลียน จากการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) และสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945) มหาวิหารแห่งนี้จึงถูกบูรณะครั้งแล้วครั้งเล่า ในยุคของวิคตอร์ อูโก ก็ไม่ต่างกัน ช่วงเวลานั้นมหาวิหารนอเทรอดาม ก็ได้เสื่อมโทรมตามกาลเวลา แต่เพราะคนค่อมแห่งนอเทรอดาม ที่ได้ช่วยปกปักรักษามหาวิหารแห่งนี้ไว้อีกครั้ง ... ความยิ่งใหญ่ของวิคตอร์ อูโก ถูกสลักไว้ในประวัติศาสตร์วรรณกรรมด้วยผลงานที่ยิ่งใหญ่สองชิ้นด้วยกัน นั่นคือ Les Misérables ที่เขียนขึ้นในปี 1862 กลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกระดับโลก และถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครมิวสิคัลเรื่องดังที่คนไปเยือนบรอดเวย์ที่นิวยอร์ก หรือเวสต์เอนด์ที่ลอนดอน มีโอกาสต้องไปชมสักครั้ง The Hunchback of Notre-Dame หรือ คนค่อมแห่งนอเทรอดาม คืองานอีกชิ้นหนึ่งที่ขึ้นชื่อของวิคตอร์ อูโก ว่าด้วยเรื่องราวความรักระหว่างกาซีโมโด คนหลังค่อม รูปลักษณ์อัปลักษณ์ที่ทำหน้าที่ตีระฆังในมหาวิหารนอเทรอดาม และแอสเมรัลดา หญิงสาวนักเต้นชาวยิปซี บนฉากหลังที่บิดเบี้ยวของศาสนจักร ความอยุติธรรมในสังคม ในปี 1482 ยุคสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ในวรรณกรรมเรื่องนี้ นอกจากพูดถึงโศกนาฏกรรมรักของทั้งสองคนแล้ว วิคตอร์ อูโก ยังได้เขียนบรรยายยกย่องมหาวิหารนอเทรอดาม ไว้ว่า “เป็นมหาวิหารที่ยิ่งใหญ่ดุจดังภูผา เป็นผลงานแห่งศตวรรษ บ่อยครั้งศิลปะได้เปลี่ยนแปลงไป แต่วิหารนี้ยังคงอยู่” ในแง่นี้ The Hunchback of Notre-Dame นอกจากจะเป็นวรรณกรรมสะท้อนสังคมแล้ว โดยตัวมันเองยังถือว่าเป็นตัวกลางในการสื่อสารถึงความยิ่งใหญ่และการก้าวผ่านยุคสมัย มรดกที่ส่งมาถึงปัจจุบันก็คือ ภาพยนตร์แอนิเมชัน The Hunchback of Notre-Dame (1996) ของสตูดิโอดิสนีย์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมเรื่องนี้ แต่ดัดแปลงให้เนื้อหาลดความกร้าวลงเพื่อเข้าถึงกลุ่มของเด็กและเยาวชน ในฉากเปิดของภาพยนตร์ก็ยังบรรยายถึงมหาวิหารนอเทรอดาม ใจความว่า “เช้าวันใหม่ชาวปารีสตื่นขึ้นจากหลับใหลด้วยระฆังแห่งนอเทรอดาม ต่างลุกขึ้นออกหากินด้วยความสดใสด้วยระฆังจากนอเทรอดาม ด้วยระฆังใหญ่ส่งเสียงประดุจฟ้าผ่า และใบน้อยดั่งบทเพลงสวรรค์ และเสียงที่เปรียบดังหัวใจแห่งนคร คือระฆังเหล่านี้ ระฆังของ...มหาวิหารนอเทรอดาม” ข้อความเหล่านี้ยิ่งเน้นย้ำว่ามหาวิหารนอเทรอดาม มีคุณค่าทางใจต่อชาวปารีสขนาดไหน แล้วคนค่อมแห่งนอเทรอดาม ในยุคหนึ่งช่วยปกปักรักษามหาวิหารที่เป็นเหมือนหญิงงามแห่งปารีสไว้อย่างไร? วรรณกรรมเรื่องนี้ไม่เพียงแต่ฉลองความยิ่งใหญ่ของมหาวิหารนอเทรอดาม เพียงเท่านั้น แต่ช่วยให้ผู้คนที่ปารีสหันกลับมาช่วยกันคิดว่าจะบูรณะมหาวิหารแห่งนี้อย่างไร “มหาวิหารนี้ บางที อีกไม่นาน มันอาจจะหายไปจากพื้นผิวของโลกใบนี้” ประโยคของวิคตอร์ อูโก ในหนังสือ The Hunchback of Notre-Dame คงไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงสักเท่าไหร่ เพราะว่าช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 ยุคสมัยที่อูโกกำลังเขียนวรรณกรรมเรื่องนี้โดยเก็บตัวอยู่กับบ้านถึง 6 เดือน และออกไปข้างนอกเพียงแค่ไปประกอบพิธีทางศาสนาที่มหาวิหารนอเทรอดาม ในช่วงเวลานั้น มหาวิหารแห่งนี้ก็อยู่ในสภาวะทรุดโทรม ขาดการเหลียวแล และถูกทำลายจากผู้คน แต่แทนที่ (ในยุคสมัยนั้น) มหาวิหารนอเทรอดามจะมีชะตากรรมในแบบที่อูโกเขียนถึง สถานการณ์กลับตรงกันข้าม เพราะหลังจากที่ The Hunchback of Notre-Dame ถูกตีพิมพ์ในปี 1831 กลายเป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ทำให้มหาวิหารกลายเป็นจุดสนใจของผู้คนอีกครั้ง จนในปี 1844 ทางการได้มีการบูรณะมหาวิหารแห่งนี้ ต้องขอบคุณกาซีโมโด-คนค่อม ผู้ตีระฆังแห่งนอเทรอดาม ที่ช่วยต่ออายุของมหาวิหารแห่งนี้ในอีกร้อยกว่าปีต่อมา แม้ว่าวันนี้ ไฟไหม้จะทำลายบางส่วนของมหาวิหาร แต่ความหวังของผู้คนที่อยากเห็นมหาวิหารแห่งนี้กลับมาตระหง่านเด่นกลางกรุงปารีสอีกครั้งไม่มีเพลิงใด ๆ ที่สามารถทำลายได้ ทุกยุคทุกสมัย ยังคงมี “คนค่อม” คนเคาะระฆัง ผู้ปกปักมหาวิหารแห่งนี้ แล้ววันหนึ่ง เสียงระฆัง อันเป็นเสมือนเสียงหัวใจเต้นของกรุงปารีส จะกลับมาอีกอย่างแน่นอน   ที่มา https://www.vox.com/culture/2019/4/15/18311758/notre-dame-fire-victor-hugo-hunchback https://www.bbc.com/thai/international-47944086 ภาพยนตร์ The Hunchback of Notre-Dame(1996)