ครบรอบ 60 ปี เพลง ‘ผู้ใหญ่ลี’ กับภาพตัวแทนการเสียดสีการพัฒนาชนบทของรัฐที่ต่างชาติก็รู้จัก

ครบรอบ 60 ปี เพลง ‘ผู้ใหญ่ลี’ กับภาพตัวแทนการเสียดสีการพัฒนาชนบทของรัฐที่ต่างชาติก็รู้จัก

ครบรอบ 60 ปี เพลง ‘ผู้ใหญ่ลี’ กับภาพตัวแทนการเสียดสีการพัฒนาชนบทของรัฐที่ต่างชาติก็รู้จัก

“พ.ศ.สองพันห้าร้อยสี่ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม...”   เพลง “ผู้ใหญ่ลี” ครองความนิยมของผู้คนมาจนถึงวันนี้ ครบ 60 ปีแล้ว คนไทยหลายล้านคนยังจดจำเนื้อร้อง และร้องเพลงนี้ได้อย่างแม่นยำ   2-3 ปีก่อน มีการนำคลิปเพลง “ผู้ใหญ่ลี” ในเวอร์ชันแหม่มสาวชาวมะกันขับร้อง เผยแพร่ในยูทูบ และช่องไทยพีบีเอส ได้ทำสกู๊ปเปิดปูมผู้ร้องผู้ใหญ่ลีชื่อ หลุยส์ เคนเนดี้ ซึ่งเป็นลูกสาวของที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจขององค์การสหประชาชาติ ที่เคยเข้ามาประจำการในเมืองไทย ช่วงปี 2504-2510 เธอจึงได้เรียนภาษาไทย เมื่อกลับสหรัฐฯ หลุยส์ เคนเนดี้ ได้ไปร้องเพลงผู้ใหญ่ลี ในรายการเกมส์โชว์ ช่องซีบีเอส   หลุยส์ เคนเนดี้ ทำให้เพลงผู้ใหญ่ลี เป็นที่รู้จักไปทั่วสหรัฐ พิพัฒน์ บริบูรณ์ คนแต่งเพลงผู้ใหญ่ลี สมัยยังมีชีวิตอยู่ เขาเคยเห็นแผ่นเสียงเพลงผู้ใหญ่ลีฉบับภาษาอังกฤษ ขับร้องนักร้องผิวดำ ทั้งหมดนี้ เป็นภาพสะท้อนว่า เพลงผู้ใหญ่ลีดังทะลุฟ้า   แรกเริ่มเดิมที่ ก่อนที่คนไทยและชาวต่างชาติจะรู้จักเพลงนี้ บังเอิญว่า พ.ศ.2504 “พิพัฒน์ บริบูรณ์” ผู้แต่งเพลง “ผู้ใหญ่ลี” ตัดสินใจให้ “ศักดิ์ศรี ศรีอักษร” ร้องบันทึกเสียงแผ่นเสียง ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกในประเทศไทย   ดังนั้น เพลงผู้ใหญ่ลี จึงถูกผูกโยงเข้ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นภาพสะท้อนความเข้าใจที่ต่างกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้นำชาวบ้าน สะท้อนช่องว่างของเมืองกับชนบท เสียดสีการพัฒนาชนบทของรัฐ   จริง ๆ แล้ว กำเนิดเพลง “ผู้ใหญ่ลี” นั้น มาจากเวทีหมอลำเมื่อปี 2502 พิพัฒน์ บริบูรณ์ และศักดิ์ศรี ศรีอักษร ไปเที่ยวงานบุญแถวอุบลราชธานี ได้นั่งชมการแสดงหมอลำ ที่มีตัวละครชื่อผู้ใหญ่ลี พูดไทยผิด ๆ ถูก ๆ มีภาษาอีสานปนในทุกประโยคภาษาไทย สร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้ชม   “ผู้ใหญ่ลี” คือสัญลักษณ์และตัวแทนของผู้ใหญ่บ้านทั่ว ๆ ไปในภาคอีสานสมัยโน้น ไม่คุ้นชินกับภาษาไทย(ส่วนกลาง) การนำเอาข้อราชการจากอำเภอมาประกาศให้ชาวบ้านได้รับรู้ จึงถูกเล่าขานด้วยความขบขัน   กลับจากไปดูหมอลำคืนนั้น พิพัฒน์ได้พล็อตแต่งเพลง เขาได้ซับซับเอาวิถีชีวิตคนอีสานจากการฟังลำมานานหลายปี จึงนำเอาเกร็ดการแสดงบนเวทีหมอลำ มาประดิษฐ์เป็นเพลงผู้ใหญ่ลี โดยมีศักดิ์ศรี เป็นผู้คิดหาถ้อยคำในภาษาอีสานมาใส่เนื้อเพลง   เวลานั้น พิพัฒน์ บริบูรณ์ สวมหมวกหัวหน้าวงดนตรี นักแต่งเพลง และคนทำแผ่นเสียงขาย พร้อมจะนำเพลงผู้ใหญ่ลีบันทึกแผ่นเสียงได้ทันที แต่เขาก็เก็บเพลงนี้ไว้ก่อน เนื่องจากคำร้องท่อนหนึ่งที่ว่า “สุกรนั้นไซร้คือหมาน่อยธรรมดา หมาน่อย หมาน่อยธรรมดา” ทำให้เขาต้องรอเวลา เพราะคำว่า “หมา” เป็นคำไม่สุภาพ ถ้าปล่อยผ่านไป ย่อมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม   อย่างไรก็ตาม พิพัฒน์ได้คิดแผนทดสอบปฏิกิริยาคนฟังต่อเพลงผู้ใหญ่ลี จึงให้ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร นักร้องนำประจำวง ร้องเพลงนี้หน้าเวที โดยกำชับให้ศักดิ์ศรี ออกเสียงให้เพี้ยนไปเป็น “ม่า..น่อย ม่าน่อยธรรมดา” เพื่อหลีกเลี่ยงคำวิจารณ์   ช่วงปี 2502-2504 พิพัฒน์นำวงดนตรีเดินสายต่างจังหวัด ศักดิ์ศรีร้องเพลงผู้ใหญ่ลีทุกเวที ปรากฏว่า มีเสียงตอบรับดีมาก โดยเฉพาะข้าราชการสายปกครองต่างชื่นชอบ คงเป็นเพราะในคำร้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท   กลับถึงกรุงเทพฯ พิพัฒน์ตัดสินใจบันทึกแผ่นเสียงในปี 2504 โดยใช้นามปากกา “อิง ชาวอีสาน” เป็นผู้แต่งคำร้อง และศักดิ์ศรี เป็นคนขับร้อง เพลงนี้ได้รับการบันทึกเสียงเป็นแผ่นครั่ง ขนาด 10 นิ้ว ความเร็ว 78 รอบต่อนาที มีสองหน้า หน้าหนึ่งเพลงผู้ใหญ่ลี อีกหน้าหนึ่งเพลง “หาคู่” ร้องโดย แดน สนธยา พิพัฒน์ตัดแผ่นออกวางขายตามร้าน 300 แผ่น ขายแผ่นละ 18 บาท   ลูกจีน-สาวอีสาน   พิพัฒน์ บริบูรณ์ ชาวกรุงเทพฯ เติบโตในย่านวรจักร ครอบครัวมีอาชีพทำทองรูปพรรณ จึงมีคนสงสัยว่า เขาเป็นคนแต่งเพลงผู้ใหญ่ลีจริงหรือ?   ลูกจีนย่านวรจักรคนนี้ ไม่คิดจะเดินตามรอยบรรพบุรุษที่เป็นช่างทอง เพราะเขาอยากเป็นนักร้อง หลังจบ ม.6 พิพัฒน์มุ่งหน้าไปหาครูไพบูลย์ บุตรขัน ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ด้วยหวังที่จะเป็นนักร้อง แต่ตอนนั้น เขาแอบแต่งเพลง จึงนำเพลงที่ตัวเองแต่งไปร้องให้ครูไพบูลย์ฟัง   พิพัฒน์จึงเลือกเป็นนักแต่งเพลง แต่กว่าจะได้รับการยอมรับจากห้างแผ่นเสียง ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน เมื่อนายห้างแผ่นเสียงซื้อเพลงเขาไปให้นักร้องบันทึกแผ่นเสียง เขาก็เรียนรู้วิธีการทำแผ่นเสียงขาย ไม่นานนัก เขาร่วมกับครูไพบูลย์ทำแผ่นเสียงขายเอง   จุดเปลี่ยนของชีวิตคือ การที่พิพัฒน์ได้รู้จักกับศักดิ์ศรี อักษรทอง สาวอุบลราชธานี ที่มีใจรักด้านการฟ้อนและการขับร้อง จึงเข้ามาเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร   ศักดิ์ศรี ได้มาเรียนการร้องเพลงกับพิพัฒน์ และกลายเป็นคู่ชีวิตของหัวหน้าวงดนตรีพิพัฒน์ บริบูรณ์ ทั้งคู่ช่วยพัฒนาวงดนตรี จนเป็นที่ยอมรับของแฟนเพลง และศักดิ์ศรีได้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียง   มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง เพลงของศักดิ์ศรีส่วนใหญ่ จะมีเนื้อร้อง ทำนอง เสียงดนตรีแนวอีสาน เพราะพิพัฒน์มีความชื่นชอบเสียงพิณ เสียงแคน และชอบฟังลำกลอน   ฉะนั้น เมื่อมีโอกาสไปเยือนอีสาน พิพัฒน์จะชวนศักดิ์ศรี ไปนั่งฟังหมอลำ และทำให้เข้ารู้จัก “ผู้ใหญ่ลี” บนเวทีหมอลำเรื่องต่อกลอน   ปรากฏการณ์ผู้ใหญ่ลี   พิพัฒน์จัดการนำแผ่นเสียงเพลงผู้ใหญ่ลี 300 แผ่น ไปวางตามร้านขายแผ่นเสียงเสร็จแล้ว ก็นำวงดนตรีเดินสายภาคเหนือ 2 เดือน เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ พิพัฒน์ถูกต่อว่าต่อขานยกใหญ่จากนายห้างแผ่นเสียง เขาหายไปไหนมา เพลงผู้ใหญ่ลีดังมาก แผ่นเสียงขายเกลี้ยง มีคนมาถามซื้อแผ่นทุกวัน   หนังสือพิมพ์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ติดต่อขอสัมภาษณ์ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เป็นที่เอกเกริก คนไทยทั้งประเทศต่างให้การต้อนรับเพลงผู้ใหญ่ลี ในที่สุด พิพัฒน์ก็เปลี่ยนชื่อวงดนตรีมาเป็น “วงดนตรีศักดิ์ศรี ศรีอักษร”   เพลงผู้ใหญ่ลี ทำให้ศักดิ์ศรี เป็นนักร้องหญิงและสาวอีสานคนแรกที่ผงาดในระดับแนวหน้าของวงการลูกทุ่งไทย เธอยังเป็นนักร้องลูกทุ่งคนแรก ๆ ที่ได้รับเชิญเข้าไปร้องในไนต์คลับชื่อดัง อย่างมอนติคาร์โล ,แมนดาริน และโลลิต้า   ปี 2507 ศักดิ์ศรี ศรีอักษร รับเป็นนางเอกหนังไทยเรื่อง “ลูกสาวผู้ใหญ่ลี” โดยมีดอกดิน กัญญามาลย์ รับบทผู้ใหญ่ลี อิทธิพลของเพลงผู้ใหญ่ลี ทำให้ศักดิ์ศรีต้องผูกโยงกับผู้ใหญ่ลี จนเพลงอื่นของเธอ ไม่ได้รับความสนใจ   แวง พลังวรรณ ผู้เขียนหนังสือ “ลูกทุ่งอีสาน” ได้หาข้อมูลอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับรำวงอีสาน และได้พบว่า เพลงแนวผู้ใหญ่ลี มีการร้องในหมู่ชาวบ้านมาก่อนแล้ว เพลงรำวงรำโทนทำนองนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก สะท้อนบุคลิกและอุปนิสัยของชาวอีสานให้เห็นว่า คนอีสานนั้นเป็นคนที่ชอบหยอกชอบเย้าและขี้เล่น   อย่างไรก็ตาม แวง พลังวรรณ ยอมรับว่า "ผู้ใหญ่ลี" คือ สัญลักษณ์ในชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ของพิพัฒน์ สามารถนำข้อเท็จจริงในสังคมยุคสมัยนั้น สะท้อนผ่านบทเพลง ฉายให้เห็นภาพสังคมอีสาน สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ภายใต้พันธกิจ "ปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย" โดยมุ่งนำความเจริญสู่พื้นที่ชนบท ตามคำขวัญ "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก"   มารดาจอมพลสฤษดิ์เป็นชาวมุกดาหาร ยามใดที่ไปตรวจราชการภาคอีสาน จึงมักพูดว่าความต้องการอย่างเร่งด่วนของชาวอีสานคือ น้ำและถนน   จอมพลสฤษดิ์ยังยึดกุมปรัชญาการเมืองแบบ “พ่อปกครองลูก” ตั้งแต่ระดับบนสุดยันล่างสุดคือ ผู้ใหญ่บ้านกับลูกบ้าน ผู้ใหญ่บ้านจึงถูกกดดันให้เป็นผู้นำการพัฒนาตาม “นายสั่ง” เรื่องเล่าของผู้ใหญ่ลีกับแผนพัฒนาใหม่ ๆ แต่สื่อสารตก ๆ หล่น ๆ จึงมีคนนำมาร้องเป็นเพลงรำโทน   สาระสำคัญและความยิ่งใหญ่ของเพลง "ผู้ใหญ่ลี" ไม่ใช่ถ้อยคำเสียดสี ตลกขบขัน ฟังแล้วครื้นเครงหากเป็นภูมิปัญญาของพิพัฒน์  ซึ่ง แวง พลังวรรณ (ผู้เขียนหนังสือลูกทุ่งอีสาน) ยกย่องว่า "...พิพัฒน์ บริบูรณ์ และศักดิ์ศรี ศรีอักษร ควรยกย่องได้อย่างสนิทใจ คือ ความกล้าหาญที่คนทั้งสองได้นำเอาเพลงผู้ใหญ่ลี ออกเผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป นอกจากนี้ทั้งสองยังเป็นผู้ริเริ่มเอาเพลงและศิลปะการร้อง-ลำ ของชาวอีสานในรูปแบบต่าง ๆ ออกเผยแพร่และบันทึกไว้เป็นแผ่นเสียงให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและซาบซึ้ง"   ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2548 ด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก สิริอายุ 68 ปี ส่วนพิพัฒน์ บริบูรณ์ หรืออิง ชาวอีสาน หรือสมบัติ เพชรลานนา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2556 ด้วยอาการหัวใจวาย ในวัย 76 ปี   ไม่ว่า “ผู้ใหญ่ลี” ตัวละครที่เปิ่นเชยในเวทีหมอลำเรื่อง หรือเพลงลูกทุ่ง จะถูกมองอย่างไร? ถูกหยิบไปเชื่อมโยงกับเรื่องใด? ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ใหญ่ลีคือ บทบันทึกการพัฒนาภาคอีสานอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อ 60 ปีที่แล้ว   เรื่อง: ชน บทจร