วันคณะกรรมการหมู่บ้าน ๒๕๖๔ ย้ำความสำคัญของรากฐานแผ่นดินไทย

วันคณะกรรมการหมู่บ้าน ๒๕๖๔ ย้ำความสำคัญของรากฐานแผ่นดินไทย
ที่มาและความสำคัญของวันคณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน หรือ กม. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ โดยถือกำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ และในปี ๒๕๕๑ กระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) แล้วประกาศกำหนดให้วันที่ ๙ มีนาคม ของทุกปี เป็นวันคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ในการ ปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ บทบาท อำนาจ หน้าที่และผลงานของคณะกรรมการหมู่บ้านให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างแพร่หลาย โดยการสร้างหมู่บ้านที่เข้มแข็งจะเป็นรากฐานที่มั่นคงและเป็นพลังที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศในทุกมิติ โดยหากพิจารณาจากหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ให้ดีแล้วนั้น จะเห็นว่า กฎหมายกำหนดให้ กม. ทำหน้าที่เสมือนเป็น "คณะรัฐมนตรีของหมู่บ้าน" ที่คอยทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนโดยมีพื้นที่ดำเนินการในหมู่บ้าน ดังนั้นหากทุกภาคส่วนเข้าใจบทบาทหน้าที่ของ คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) และร่วมกันพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ให้เข้มแข็งแล้วนั้น การขับเคลื่อนทุกภารกิจในหมู่บ้านจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสมกับคำขวัญที่ว่า "ประเทศต้องมีรัฐบาล หมู่บ้านต้องมี กม." วันคณะกรรมการหมู่บ้าน ๒๕๖๔ ย้ำความสำคัญของรากฐานแผ่นดินไทย บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมหมู่บ้าน นอกจากในหมู่บ้านจะมีผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ที่คอยทำหน้าที่ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้แก่พี่น้องประชาชนในหมู่บ้านแล้ว เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น กฎหมายจึงได้กำหนดให้มีคณะกรรมการหมู่บ้าน หรือ กม. เป็นผู้เสนอแนะและให้คำปรึกษาผู้ใหญ่บ้านในการปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ถือเป็นกลไกของหมู่บ้านที่ใกล้ชิดประชาชน รู้และเข้าถึงข้อมูล สภาพพื้นที่ปัญหาและความต้องการของประชาชนในหมู่บ้านดีที่สุด โดยมีโครงสร้างและอำนาจหน้าที่สอดคล้องกับบริบทของสังคม และครอบคลุมการทำงานในทุกมิติของหมู่บ้าน เสมือนเป็น “คณะรัฐมนตรีประจำหมู่บ้าน” คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) มีบทบาทหน้าที่ในการช่วยเหลือแนะนำให้คำปรึกษาแก่ผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวกับกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านและปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการหรือที่นายอำเภอมอบหมายหรือผู้ใหญ่บ้านร้องขอ รวมทั้งเป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบในการบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านและบริหารจัดการกิจกรรมที่ดำเนินงานในหมู่บ้านร่วมกับองค์กรอื่นทุกภาคส่วน บทบาทและหน้าที่ของ กม. นั้นตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเน้นให้ "ทำงานเป็นทีม" โดยให้ กม. เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีอยู่มากมาย ดังนี้ ๑. การช่วยเหลือ แนะนำ และให้คำปรึกษาผู้ใหญ่บ้าน การให้ความช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ทั้งการอำนวยความเป็นธรรม การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งการเป็นผู้ช่วยนายอำเภอของผู้ใหญ่บ้าน ๒. การปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย การปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้มีระเบียบ หรือกฎหมาย ให้อำนาจไว้ เช่น การประนีประนอม ข้อพิพาทในหมู่บ้าน เป็นต้น ๓. การทำงานตามที่นายอำเภอมอบหมาย กรณีที่นายอำเภออาจมีภารกิจหรือมีความจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจาก กม. จึงจะทำให้การทำงานนั้นประสบความสำเร็จนายอำเภอก็จะมอบหมายให้ กม. ช่วยเหลือทำงานนั้นๆ เช่น การเฝ้าระวังและป้องกันโรคที่แพร่ระบาดการเฝ้าระวังเยาวชนกลุ่มเสี่ยงเพื่อไมให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การสำรวจข้อมูลต่างๆ ในหมู่บ้าน เป็นต้น ๔. การทำงานตามที่ผู้ใหญ่บ้านร้องขอ กรณีที่ผู้ใหญ่บ้านอาจจะมีงานอื่นที่จะต้องทำนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในระเบียบ กฎหมายและไม่สามารถที่จะทำงานนั้น ๆ คนเดียวได้จึงต้องร้องขอให้ กม. ช่วยเหลือ เช่น การสำรวจข้อมูลที่ต้องเข้าถึงทุกครัวเรือนการขอรับบริจาคในงานบุญประเพณีหรืองานประจำปีของหมู่บ้าน เป็นต้น ๕. การบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน โดยแบ่งออกเป็น ๒ กรณี ดังนี้ ๕.๑ ในกรณีที่หมู่บ้านนั้นมีแผนอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นแผนที่เกิดจากการสนับสนุนของหน่วยงานใดที่ได้ทำขึ้นในหมู่บ้านไม่ว่าจะเรียกว่าแผนชุมชนแผนชีวิตชุมชน หรือแผนชุมชนพึ่งตนเอง หรือเรียกชื่ออย่างอื่น กม. ก็จะมีหน้าที่ ประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อรวบรวมแผนทุกแผนให้เป็นแผนเดียวกันเรียกว่า "แผนพัฒนาหมู่บ้าน" ๕.๒ กรณีที่หมู่บ้านยังไม่มีแผนใด ลย กม.ก็จะมีหน้าที่ร่วมกับประชาชนในหมู่บ้านบูรณาการจัดทำ "แผนพัฒนาหมู่บ้าน" ขึ้นใหม่ ๖. การบริหารจัดการกิจกรรมในหมู่บ้านร่วมกับองค์กรอื่นทุกกาคส่วน ภารกิจข้อนี้เป็นการกิจสำคัญเนื่องจากตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นมุ่งให้ กม. เป็นกลไกหลักในหมู่บ้านเปรียบเสมือนเป็น "คณะรัฐมนตรีของหมู่บ้าน" ดังนั้น ไม่ว่าหน่วยงานหรือองค์กรใดก็ตามที่มีภารกิจ หรือโครงการ กิจกรรมที่จะต้องทำในหมู่บ้าน จะต้องประสานผ่าน กม. แล้ว กม. จะต้องรับผิดชอบดำเนินการหรือร่วมรับผิดชอบ ดำเนินการกับหน่วยงานหรือองค์กรนั้น ๆ วันคณะกรรมการหมู่บ้าน ๒๕๖๔ ย้ำความสำคัญของรากฐานแผ่นดินไทย โครงสร้างของคณะกรรมการหมู่บ้าน กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการหมู่บ้าน หรือ กม. เป็นผู้เสนอแนะและให้คำปรึกษาผู้ใหญ่บ้านในการปฏิบัติหน้าที่ จึงถือได้ว่า กม. เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ โดยเริ่มแรกกฎหมายกำหนดให้ กม. ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่น้อยกว่า ๒ คน แต่ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองได้เสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๕๑ เกี่ยวกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน กม. โดยยึดหลัก "การบูรณาการคน และบูรณาการงานในหมู่บ้าน" โครงสร้างของคณะกรรมการหมู่บ้าน ประกอบด้วย คณะกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง ได้แก่ ๑. ผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธาน กม. ๒. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ๓. สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภูมิลำเนาในหมู่บ้าน (ส.อบต. สท. สจ.) ๔. ผู้นำ หรือผู้แทนกลุ่มองค์กร ในหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านโดยการเลือก ผู้ทรงคุณวุฒิที่ประชาชนในหมู่บ้านเลือก หมู่บ้านละอย่างน้อย ๒ คน แต่ไม่เกิน ๑๐ คน ดังนั้นในแต่ละหมู่บ้านจะมี กม. อย่างน้อย หมู่บ้านละ ๑๒ คน ทั้งนี้ กม. โดยตำแหน่งจะมีหมู่บ้านละมากน้อยแค่ไหนเพียงไรนั้นก็ขึ้นอยู่ว่าในหมู่บ้านนั้นมีการแบ่งคุ้ม หรือมีกลุ่มต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด ถ้ามีการแบ่งคุ้มมาก หรือว่ามีกลุ่มต่าง ๆ มาก หมู่บ้านนั้นก็จะมี กม. โดยตำแหน่งมาก แต่ถ้ามีน้อยหมู่บ้านนั้นก็จะมี กม. โดยตำแหน่งน้อย ส่วน กม. ผู้ทรงคุณวุฒินั้นกฎหมายกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านเลือกกันเองเป็น กม. ผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนจำนวนจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่ที่ประชาชนในหมู่บ้านจะเป็นผู้กำหนดตามความเหมาะสมของหมู่บ้าน แต่ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่า ๒ คน แต่ไม่เกิน ๑๐ คน แต่วาระของ กม. ผู้ทรงคุณวุฒิจะมีแตกต่างจาก กม. โดยตำแหน่ง เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ กม. ผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระ ๔ ปี นับจากวันที่นายอำเภอได้มีประกาศแต่งตั้ง ดังนั้น ทุกๆ ๔ ปี หมู่บ้านจะต้องมีการเลือก กม. ผู้ทรงคุณวุฒิกันใหม่