ยูโธเปียของแจ๊ส จาก วิลเลจ แวนการ์ด ถึง บิลล์ ชาร์แลป ทริโอ

ยูโธเปียของแจ๊ส จาก วิลเลจ แวนการ์ด ถึง บิลล์ ชาร์แลป ทริโอ
มีคนถามผมเสมอว่า หากต้องการจะฟังแจ๊สแท้ ๆ ที่มีเนื้อหาเข้มข้น เต็มอิ่มด้วยสารัตถะและสุนทรียภาพตามแบบฉบับของดนตรีแขนงนี้ ด้วยบรรยากาศอันสอดรับกับยุคสมัย ที่ซึ่งนักดนตรีและแฟนเพลงหล่อหลอมรวมกันเป็นหนึ่ง ทุกความสนใจมุ่งไปยังเสียงดนตรีเป็นสำคัญ ไม่มีความแปลกแยกแตกต่าง ไม่มีคนไปนั่งคุยกันเสียงดังเหมือนงานมาร์เก็ตติงอีเวนท์บางแห่ง หรือทำเป็นเดินไปเดินมา โดยไม่สนใจเสียงดนตรีเหมือนแจ๊สเฟสติวัลบางที่ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ควรจะไปนั่งฟัง ณ ที่แห่งใด ? หวังว่าคำตอบของผม...คงไม่ทำให้คุณเกิดอาการหมั่นไส้ขึ้นมา เพราะสถานที่แห่งแรก ๆ ที่ผุดขึ้นมาในความคิดคือ เดอะ วิลเลจ แวนการ์ด (The Village Vanguard) บนเกาะแมนฮัตตัน ในมหานครนิวยอร์กนั่นเอง  

ยูโธเปียของแจ๊ส จาก วิลเลจ แวนการ์ด ถึง บิลล์ ชาร์แลป ทริโอ

  วิลเลจ แวนการ์ด เป็นไนท์คลับแจ๊สเล็ก ๆ แต่มีตัวตนระดับตำนาน ที่ครบรอบอายุ 84  ปี ไปเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ ปี 2019 สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่บนเลขที่ 178 ของ เซเวนธ์ แอฟเวอนู เซาธ์ ใจกลางย่านกรีนิช วิลเลจ ก่อตั้งโดย แม็กซ์ กอร์ดอน (Max Gordon) ซึ่งเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ.1989 ในระยะหลังบริหารงานโดย ลอร์เรน กอร์ดอน (Lorraine Gordon) ภรรยาม่ายของเขา ซึ่งเธอเพิ่งจากไปเมื่อ 9 มิถุนายน ปี 2018 ผมไม่ทันได้พบ แม็กซ์ กอร์ดอน แต่เคยแวะไปฟังดนตรีที่นั่น 2 ครั้ง ยังจำได้ว่า คุณป้าลอร์เรนยังเดินมาให้บริการเหมือนบริกรทั่วไป เพื่อสอบถามว่าเราจะรับเครื่องดื่มอะไร ขณะที่บนโต๊ะจะมีข้อความระบุว่า ที่นี่เลิกจำหน่ายอาหารมานานแล้ว ! นัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพิธีกรรมเพื่อการฟังดนตรีโดยเฉพาะ หากคุณเคยชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Jazz (ปัจจุบันมีจำหน่ายในรูปดีวีดี 10 แผ่น) ที่กำกับโดย เคน เบิร์นส์ (Ken Burns) คุณจะนึกภาพของ ลอร์เรน ออกมาเล่าความทรงจำที่มีต่อศิลปินคนนั้นคนนี้ ซึ่งเคยสร้างปรากฏการณ์ดนตรีที่ วิลเลจ แวนการ์ด เป็นระยะ ๆ ในยามเมื่อเล่าเรื่องราวแต่ครั้งอดีต ดวงตาของเธอส่องประกายของความสุขอย่างเห็นได้ชัด  เดิมที ไนท์คลับแห่งนี้นำเสนอดนตรีหลากหลายแนว โดยเฉพาะดนตรีโฟล์ค และยังเป็นสถานที่ชุมนุมการอ่านบทกวีอีกด้วย ทว่า นับจากความสำเร็จของนักเทเนอร์แซ็กโซโฟน ซันนี โรลลินส์ (Sonny Rolins) ซึ่งฝากผลงานบันทึกการแสดงสดไว้ในปี 1957 เป็นต้นมา วิลเลจ แวนการ์ด ก็หันมามีภาพลักษณ์เกี่ยวกับดนตรีแจ๊สโดดเด่นยิ่งขึ้น มาถึงบรรทัดนี้ อย่าเพิ่งเข้าใจผิด ! ผมมิได้มุ่งหมายให้คุณต้องดิ้นรนเหนื่อยยากขนาดนั้น กับการต้องเดินทางไปชมการแสดงสดถึงที่นั่น เพราะโดยทั่วไปแฟนเพลงทั่วโลกต่างรู้จักชื่อเสียงและบรรยากาศการแสดงสดแจ๊ส ณ วิลเลจ แวนการ์ด เป็นอย่างดีอยู่แล้ว จากอัลบั้มบันทึกการแสดงสดทั้งหลาย ภายใต้การจั่วหัวว่า Live at the Village Vanguard ซึ่งถึงวันนี้มีด้วยกันกว่า 100 ชุด ในจำนวนเหล่านี้ มีอยู่ไม่น้อยที่ได้รับการยกย่องให้เป็นอัลบั้มคลาสสิกตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็นการแสดงสดของ บิลล์ อีแวนส์ (Bill Evans) หรือ จอห์น โคลเทรน (John Coltrane) เป็นต้น ผมเรียกมันว่า คาร์เนกี ฮอลล์ แห่ง แจ๊ส เพราะแจ๊สคลับส่วนมากไม่มีซาวด์ในแบบที่ที่นี่มี” เจสัน มอร์แรน (Jason Moran) นักเปียโนรุ่นใหม่ไฟแรง ซึ่งมีอัลบั้มบันทึกการแสดงสดที่ วิลเลจ แวนการ์ด แสดงความเห็น “มันเป็นสถานที่สำหรับคนอย่างโมเสส โมฮัมหมัด และ พระเยซู” เช่นเดียวกันกับ โจ โลวาโน (Joe Lovano) อดีตมือแซ็กโซโฟนในวงของ จอห์น สโกฟิลด์ (John Scofield) ที่เคยมีอัลบั้มจากแจ๊สคลับแห่งนี้เหมือนกัน เขายืนยันความเป็นตำนานของที่นี่ว่า “เมื่อนั่งอยู่ในห้องนั้น  มันน่าจะมีผลกระทบต่อคุณบ้างแหละ จินตนาการดูสิ โอ ! (ธีโลเนียส) มังค์ เคยเล่นที่นี่ เพื่อนเอ๋ย ! ไมล์ส (เดวิส) และ แฮงค์ โมบลีย์ เล่นที่นี่ และไหนจะวงทริโอของบิลล์ แวนส์ คุณสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณ นั่นล่ะที่ผมรู้สึกได้ตอนอัดแผ่นที่นั่น เรากำลังกู่เรียกจิตวิญญาณ” จากศิลปินแจ๊สรุ่นตำนาน จวบจนศิลปินแจ๊สร่วมสมัย ตั้งแต่ วินตัน มาร์แซลลิส, โจชัว เรดแมน, โจ โลวาโน, คริส พอร์เทอร์  เรื่อยมาถึง เจสัน มอร์แรน ฯลฯ  ทุกคนล้วนแต่ติดใจใน “สุ้มเสียงเฉพาะ” ของคลับแห่งนี้ อันสืบเนื่องมาจากพื้นที่รูปทรง 3 เหลี่ยมที่มีผลต่อสภาพอะคูสติกภายในเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ คำว่า “Live at the Village Vanguard” ยังเป็นมากกว่า “แบรนด์” ในสายตาของนักการตลาด หากในอีกด้านหนึ่งเป็นการสื่อสารกับแฟนเพลงแจ๊สที่มุ่งค้นหาสารัตถะให้ได้รับรู้กันว่า แจ๊สคลับเล็ก ๆ ที่มีเพียง 123 ที่นั่งแห่งนี้ คือพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงมิติของโลกอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต เข้าไว้ด้วยกัน  

     ยูโธเปียของแจ๊ส จาก วิลเลจ แวนการ์ด ถึง บิลล์ ชาร์แลป ทริโอ

  ไหน ๆ ชวนคุยถึง วิลเลจ แวนการ์ด กันแล้ว ผมขอพูดถึงอัลบั้มสักชุดของศิลปินแจ๊สร่วมสมัย ที่บันทึกการแสดงสดที่นี่ ชื่อของ บิลล์ ชาร์แลป (Bill Charlap) ปรากฏขึ้นในความคิดคำนึง บิลล์ มีผลงานออกมาค่อนข้างต่อเนื่อง ผลงานชุด Love Is Here To Stay มีคุณแม่ของเขา แซนดี สจ๊วร์ต (Sandy Stewart) ร่วมร้องด้วย ปัจจุบัน บิลล์  ชาร์แลป อายุ 52 ปี เขาเกิดที่นิวยอร์กในครอบครัวดนตรี มีพ่อเป็นนักแต่งเพลงละครบรอดเวย์ ส่วนแม่เคยเป็นนักร้องในวงของ เบนนี กูดแมน (Benny Goodman) แถมบิลล์ยังเป็นญาติห่าง ๆ กับ ดิค ไฮแมน (Dick Hyman) มืออะเรนเจอร์ที่มีชื่อเสียงอีกด้วย เขาเริ่มเล่นเปียโนตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ผ่านการฝึกฝนมาทางด้านดนตรีคลาสสิก จากนั้นจึงหันมาสนใจในดนตรีแจ๊ส เคยร่วมงานกับศิลปินระดับตำนานมาหลายคน ตั้งแต่ เจอร์รี มัลลิแกน ช่วงปี 1988-89 ตามด้วย เบนนี คาร์เตอร์, โทนี เบ็นเน็ตต์ แล้วไปเล่นในวงควินเททของนักแซ็กโซโฟนอาวุโส นาม ฟิล วูดส์ ช่วงปี ค.ศ.1995 รวม ๆ แล้วมีงานอัดเสียงกว่า 100 ชุด ภายใต้ถ้อยคำ “Live at the Village Vanguard” บนปกซีดี นี่คืออีกอัลบั้มหนึ่งที่คุณสามารถคาดหวังถึงคุณภาพของสุ้มเสียงที่ได้ยิน ตั้งแต่บรรยากาศของการแสดงในพื้นที่ที่แฟนเพลงทุกคนตั้งใจไปฟังการสำแดงฝีมือของนักดนตรีอย่างใจจดใจจ่อ เรื่องของคุณภาพการบันทึกเสียง ตลอดจนถึงความกลมกลืนเป็นเอกภาพของวงดนตรี บิลล์  ชาร์แลป กับวงทริโอเก่าแก่ของเขา ประกอบด้วย ปีเตอร์ วอชิงตัน (Peter Washington) มือเบสฝีมือดีจากนครลอสแองเจลิส  และ เคนนี วอชิงตัน (Kenny Washington) มือกลองจากนิวออร์ลีนส์ (ทั้งสองวอชิงตันไม่ได้เกี่ยวข้องกัน) อัดแผ่นชุดนี้ในเดือนกันยายน ปี 2003 แต่ใช้เวลากว่า 2 ปี กว่าจะนำมาทำมาสเตอร์เมื่อต้นปี 2007 ด้วยผลลัพธ์ที่คลี่คลายออกมา 9 เพลงด้วยกัน ในจำนวนนั้นส่วนมากเป็นเพลงสแตนดาร์ดที่มีท่วงทำนองและทางเดินคอร์ดอันงดงามอยู่แล้ว บิลล์ หยิบงานเพลงของ แฮโรลด์ อาร์เลน มาใส่ไว้ถึง 3 เพลงด้วยกัน เริ่มจาก It’s Only a Paper Moon, Last Night When We Were Young และ My Shining Hour โดยเพลงแรก เขาผ่อนปรนเพลงให้มีความเร็วลดลง เน้นพื้นที่ว่าง ๆ มาก โดยเบสและกลองทำหน้าที่แอคคอมพานีอยู่เบื้องหลัง ปล่อยให้เสียงเปียโนทำหน้าที่เป็นพระเอก บิลล์ค่อย ๆ เติมโน้ตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีฟิลลิ่งบลูส์เจืออยู่ในอณูของเสียง Last Night When We Were Young เป็นเพลงที่ บิลล์ เคยอัดไว้ในอัลบั้ม Distant Star เมื่อ 10 ปีก่อน ในเวอร์ชั่นนี้นอกจากบรรยากาศของความสดแล้ว บทสนทนาของนักดนตรีทั้งสามยังสอดรับกันอย่างใกล้ชิด การดำเนินตัวโน้ตในช่วงอิมโพรไวเซชั่นบ่งบอกถึงภาวะความสุกงอมในการถ่ายทอดสิ่งที่ถั่งท้นอยู่ภายในออกมา ส่วน My Shining Hour เป็นเพลงที่มีจังหวะเร็วขึ้น มีโครเมติกไลน์แบบบ็อพ (bop) จัดเป็นเพลงเด่นของอัลบั้มที่ทุกคนมีโอกาส “ปล่อยของ” เต็มที่ นอกจากตัวโน้ตที่เคลื่อนไหวอย่างลื่นไหลแล้ว เคนนี ยังโชว์วิธีการควบกลองสแนร์เพื่อให้เพลงเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แต่ไม่ถึงกับเร่งเร้ามากนัก โดยมี ปีเตอร์ ยืนพื้นทางเบสเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ก่อนจะเปิดทางให้มือเบสโซโล่แบบรถไฟด่วน ระหว่างนั้นบิลล์ทำหน้าที่คุมฮาร์มอนีด้วยเสียงคอร์ดบาง ๆ ตามด้วยโซโลกลองของ เคนนี ที่ค่อนข้างจุใจ เพลงสแตนดาร์ดอื่น ๆ ประกอบด้วย The Lady Is a Tramp เพลงจากปลายปากกาของ ร้อดเจอร์ส แอนด์ ฮาร์ท ที่มีท่วงทำนองอันคุ้นชินจนหลายคนร้องฮัมตามได้ เป็นตัวอย่างอันดีที่ศิลปินแจ๊สจะหยิบมาตีความใหม่ เพื่อให้ผู้ฟังได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง   Autumn in New York ผลงานอมตะของ เวอร์นอน ดุ๊ก สอดรับกับช่วงเวลาแสดงสดซึ่งย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงพอดี เป็นเพลงที่มีโทนหวานเศร้าอย่างที่หลายคนชอบฟัง  บิลล์ ค่อย ๆ เลือกใช้ตัวโน้ตที่เหมาะสมให้ดังขึ้นในชั้นบรรยากาศอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นเพลงช้าที่มีเรื่องราวน่าติดตามทีเดียว นอกจากเพลงสแตนดาร์ดแล้ว บิลล์ ชาร์แลป เชื่อมโยงโลกแจ๊สส่วนตัวของเขาออกสู่ภายนอก จากบทประพันธ์ของ เจอร์รี มัลลิแกน นักบาริโทน แซ็กโซโฟนที่เขาเคยร่วมงานในฐานะสมาชิกวง โดยหยิบเพลง Rocker มาบรรเลงใหม่อย่างมีชีวิตชีวา เป็นเวสต์โคสต์ที่ประดับประดาด้วยโทนอารมณ์ของอีสต์โคสต์ ตามด้วย Godchild จากการแต่งของ จอร์จ วอลลิงตัน ซึ่งทั้งสองเพลงนี้เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของแจ๊สในยุคคูล (Cool Jazz) ช่วงต้นทศวรรษ 1950s โดยมีอัลบั้ม The Birth of the Cool ของ ไมล์ส เดวิส เมื่อปี ค.ศ.1949 เป็นหัวขบวน Rocker เป็นเพลงที่ บิลล์ เฟรสซิง หรือจัดวรรคตอนเพลงให้มีความเคลื่อนไหว สอดรับทางกลอง ก่อนจะผลักไปสู่ธรรมชาติของสวิงแจ๊สที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีพลัง ส่วน Godchild มีชีพจรฟังกี้เข้ามาทำให้เพลงแตกต่างไปจากเวอร์ชั่นดั้งเดิม เป็นอีกครั้งหนึ่งที่บิลล์ปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นไปในอีกบุคลิกภาพหนึ่งซึ่งแตกต่างจากคราวเล่นเพลงช้า อีกเพลงหนึ่งที่ บิลล์ ภูมิใจเสนอคือ All Across the City ฝีมือการแต่งของมือกีตาร์อาวุโส จิม ฮอลล์ (เดิมอยู่ในอัลบั้ม Intermodulation ของ บิลล์ อีแวนส์) ซึ่งชวนให้จินตนาการถึงมหานครนิวยอร์กในช่วงเวลาตี 4 ที่ทุกอย่างดูเหมือนจะสงบนิ่งลงเพียงชั่วขณะ ทางเปียโนของ บิลล์ ชาร์แลป ในเพลงนี้ ด้านหนึ่งสะท้อนถึงอิทธิพลที่เขาได้รับจาก บิลล์ อีแวนส์ มาบ้างไม่มากก็น้อย ดังแนวทางการค้นหาตัวโน้ตที่เหมาะสม กระนั้น วิธีการถ่ายทอดของเขาก็มีสุ้มเสียงเป็นของตัวเองอยู่อย่างน่าชื่นชมเช่นกัน โดยเฉพาะการวอยซิงที่มีแนวฮาร์มอนีแตกต่างออกไป Live At The Village  Vanguard ของ บิลล์ ชาร์แลป ทริโอ จึงเป็นเสมือนการบันทึกความเป็นไปของสุนทรียภาพแห่งเสียงที่ดังกังวานขึ้นในสถานที่ตำนานแห่งนั้น ซึ่งสมควรเก็บบันทึกไว้ให้ผู้พลาดโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์เช่นนั้นบ้าง อย่างน้อยในรูปของแผ่นซีดีก็ยังดี (ตอนนี้ ทุกอย่างดูง่ายดายยิ่งขึ้น เมื่อคุณสามารถหาฟังได้จากบริการ streaming ทั้งของ Apple Music; Sportify และ Tidal)   จากการได้ฟังผลงานหลายชุดของ บิลล์ ชาร์แลป ผมพบข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า เขามักเลือกผลงานเพลงสแตนดาร์ดมานำเสนอ ทำให้ครั้งหนึ่งมีคนถามบิลล์ว่า เขาเลือกจะนำเสนอแนวคิดในการทำงานจากเพลงสแตนดาร์ดหรือ American songbook เท่านั้นหรือ นักเปียโนหนุ่มตอบว่า ผมไม่คิดว่าตัวเองเล่นเพลงคอนเซ็พท์ใด ๆ ผมแค่เล่นดนตรีที่ผมรัก มันกลายเป็นเพลงพวกนี้ในเวลานี้ ผมไม่เคยคิดจะทำอัลบั้มที่มีแนวคิดเฉพาะหรือทำวงดนตรีเฉพาะ ดนตรีแนวนี้เป็นส่วนหลักในชีวิตที่ผมเติบโตมา... อย่างไรก็ตาม ผมไม่อยากจะพูดว่าผมติดอยู่กับแนวคิดใด ๆ ยกเว้นแค่เพียงเล่นดนตรีที่เป็นสัจจะและความงาม มันควรจะมีสัมผัสของความสมดุล เป็นดนตรีที่ผมไม่รู้สึกเบื่อ ดนตรีที่มีความรุ่มรวยมากพอที่จะทำให้ผู้ฟังและตัวผมสนใจ” พร้อมกับยกคำพูดของ บิลล์ อีแวนส์ ที่เป็นหนึ่งในไอดอลทางดนตรีของเขา สัจจะและความงาม คือสิ่งที่ บิลล์ อีแวนส์ บอก โทนี เบ็นเน็ตต์ ไว้ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต บิลล์ โทรศัพท์หาโทนีจากห้องในโรงแรม เขาแค่พูดว่า สัจจะและความงาม สัจจะและความงาม โทนีบอกผมในเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องน่าขัน ยิ่ง บิลล์ สนใจในความเป็นสมัยใหม่น้อยลงเพียงใด เขายิ่งสนใจในเรื่องความงามมากขึ้นเพียงนั้น” มีพื้นที่สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างในงานศิลปะ ... แต่ผมสนใจในสิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้นในชีวิต บิลล์ อีแวนส์ เคยพูดถึงบางสิ่งที่ผมเชื่อมโยงได้ เขาบอกว่า ผมรักดนตรีที่มีส่วนทำให้โลกนี้ดีขึ้น ศิลปะทั้งมวลยกระดับชีวิตได้ สำหรับผมศิลปะคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับโลกนี้ ศิลปะช่วยให้เราเรียนรู้จากกันและกัน มันช่วยให้เราเคารพและชื่นชมกันและกันในฐานะมนุษย์ ...” ในทัศนะของผม ขอขยายมุมมองของ บิลล์ ชาร์แลป ต่อไปอีกเล็กน้อยว่า สำหรับศิลปะอย่างแจ๊สแล้ว การแสดงของศิลปินไม่อาจตัดขาดจากผู้ชมไปได้เลย แจ๊สเป็นศิลปะที่ต้องการการเอาใจใส่ ปฏิกิริยาของผู้ชมที่มีต่อนักดนตรีเมื่อยามแสดงสด คือปรากฏการณ์สำคัญที่ทำให้ดนตรีแขนงนี้วิวัฒน์ไป พื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์งาน อย่าง วิลเลจ แวนการ์ด จึงตอบโจทย์ในเรื่องนี้ เมื่อนักดนตรีดี คนฟังดี และบรรยากาศดี นี่คือ “ยูโทเปียของแจ๊ส” อย่างไม่ต้องสงสัย แม้จะเป็นเพียงชั่วขณะหนึ่งก็ตาม