วินเชนโซ เปรูจา นักชาตินิยม ผู้ลักพาตัว โมนา ลิซา 

วินเชนโซ เปรูจา นักชาตินิยม ผู้ลักพาตัว โมนา ลิซา 
ห้องจัดแสดงงานศิลปะจากอิตาลี (Salon Carré) แห่งพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คือสถานที่รวมตัวของผู้สนใจงานศิลปะ รวมไปถึงศิลปินที่ต้องการใช้งานศิลปะชั้นครูเป็นต้นแบบก็สามารถยกโต๊ะร่างแบบมาตั้งเพื่อเขียนงานของตัวเองได้ หนึ่งในงานเขียนอันโด่งดังที่ถูกจัดแสดงที่นี่ก็คือ "โมนา ลิซา" ฝีมือของศิลปินดังยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา "ลีโอนาร์โด ดาวินชี ซึ่ง ณ เวลานั้นการจัดแสดงก็ไม่ได้พิเศษไปกว่างานศิลปะชิ้นอื่น ๆ ต่างจากสมัยนี้ที่ต้องจัดแสดงแยกออกมาเพื่อกันพื้นที่ให้คนดูจำนวนมหาศาลได้มีที่ยืน  และการตรวจตราก็มิได้เข้มข้น ช่างถ่ายภาพสามารถเดินมายกภาพเขียนล้ำค่าไปถ่ายรูปในสตูดิโอได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องมาแจ้งอะไรใด ๆ การที่ภาพเขียนหายไปเป็นระยะ ๆ จึงไม่เป็นที่แปลกใจของเจ้าหน้าที่ เช่นเดียวกับการหายตัวไปของ โมนา ลิซา ในวันที่ 21 สิงหาคม 1911 ซึ่งกว่าเจ้าหน้าที่จะรู้ตัวว่าภาพหายเวลาก็ผ่านไปเป็นวัน ๆ  "สิ่งที่ผมบอกได้ก็คือ ลา โจคอนดา (La Gioconda - อีกชื่อหนึ่งของภาพโมนา ลิซา) ได้หายไปแล้ว" เมอร์ซิเออร์ เบเนดิต (M. Bénédite) ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ของลูฟวร์ กล่าว (The New York Times) "ถึงตอนนี้เราไม่ทราบเบาะแสของคนร้ายแม้แต่น้อย ภาพเขียนถูกพบในจุดจัดแสดงปกติครั้งสุดท้ายเมื่อเช้าวานนี้เวลา 7 นาฬิกา เมื่อผู้ดูแลสองคนซึ่งก็ยุ่งวุ่นวายเป็นปกติกับการทำความสะอาดห้องอยู่นั้น ทั้งคู่ก็มาหยุดเจรจากันหน้าภาพเขียนนี้ถึงความน่าพิศวงของรอยยิ้มของเธอที่ทำให้คนสรรเสริญมาเป็นร้อย ๆ ปี" เบเนดิตกล่าวว่า ก่อนหน้าที่ภาพจะหายหนึ่งวัน เป็นวันที่พิพิธภัณฑ์ปิดเพื่อทำความสะอาด ไม่มีใครเห็นอะไรผิดสังเกต จนกระทั่งเช้าวันเกิดเหตุที่ภาพยังไม่กลับมายังจุดจัดแสดง แต่คนดูแลก็ยังคิดว่าช่างภาพของพิพิธภัณฑ์ลืมเอามาคืนหรือไม่ เพราะหลายครั้งที่ภาพถูกเอาไปถ่ายในสตูดิโอเป็นวัน เช้าอีกวันถึงจะโผล่กลับมาอีกทีก่อนที่พิพิธภัณฑ์จะเปิด แต่ผ่านไปถึงเที่ยงภาพก็ยังไม่กลับมาที่เดิม จึงทำให้ทุกคนคิดแล้วว่า ภาพนี้น่าจะหายไป  ช่วงแรกทุกคนไม่คิดว่าคนร้ายจะขโมยเพื่อเอาไปขายให้นักสะสมที่ต้องเก็บแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะคนรู้กันทั้งโลก จึงมีการสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นความพยายามที่จะสร้างความเสียหายให้กับงานศิลปะล้ำค่ามากกว่า ด้วยสมัยนั้นมีศิลปินหัวใหม่ที่ต่อต้านงานศิลปะแบบเก่าที่จัดแสดงในลูฟวร์ที่เรียกกันว่า "แก๊งปิกัสโซ" (la bande de Picasso) เครือข่ายคนสนิทของ ปาโบล ปีกัสโซ ศิลปินเอกชาวสเปนที่มาหากินในฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้นยังถือเป็น "ดาวรุ่ง" อยู่ และหนึ่งในสมาชิกก็คือ กีโยม อาปอลีแนร์ (Guilaume Alpollinaire) กวีที่เคยลงนามในประกาศฉบับหนึ่งที่ข่มขู่ว่าจะเผาพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (The New York Times)  เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสาวไปถึงตัวอาปอลีแนร์จึงได้รู้ว่า เขาไปพัวพันกับหัวขโมยที่เคยขโมยงานศิลปะจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์มาแล้วหลายชิ้น ทำให้ทั้งปีกัสโซและอาปอลีแนร์ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขโมย โมนา ลิซา ไปด้วย แต่เป็นอาปอลีแนร์ที่ถูกจับกุมอยู่คนเดียว เมื่อปีกัสโซให้การปฏิเสธว่าตัวเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้จักกับอาปอลีแนร์เพื่อนที่เคยร่วมหัวจมท้ายกันมา แต่สุดท้ายคดีของพวกเขาก็ถูกจำหน่ายเมื่อเห็นว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการหายไปของโมนา ลิซา (Mental Floss) คนร้ายตัวจริงมาปรากฏตัวในอีกสองปีหลังเกิดเหตุ (1913) เมื่อนายหน้าค้างานศิลปะในฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี แจ้งเบาะแสกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีคนพยายามจะเอาภาพโมนา ลิซา มาขายให้กับเขา เจ้าหน้าที่จึงสามารถจับกุมคนร้ายรายนี้ไว้ได้ และพบว่าคนร้ายแท้จริงเป็นแรงงานอพยพชาวอิตาลีที่ชื่อ วินเชนโซ เปรูจา (Vincenzo Peruggia) ที่เคยไปทำงานติดกระจกใส่กรอบให้ภาพเขียนบางส่วนในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ รวมถึง โมนา ลิซา  เขาลอบเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ในวันที่พิพิธภัณฑ์ปิด ถอดภาพวาด (ซึ่งเขียนบนแผ่นไม้ไม่ใช่ผ้าหรือกระดาษที่จะม้วนได้) ออกจากกรอบแล้วซ่อนตัวอยู่ในตู้ รอจนถึงเช้าจึงออกจากพิพิธภัณฑ์โดยเอาภาพคลุมไว้ด้วยผ้าห่มดับไฟและหลบหนีไปได้อย่างลอยนวล แต่ด้วยข่าวที่โหมประโคมทุกวัน ภาพที่เขาขโมยมาได้จึงต้องเก็บซ่อนไว้ไม่สามารถเอาออกสู่ตลาดได้  สองปีผ่านไปเมื่อข่าวเริ่มซา เขาจึงคิดหากำไรจากภาพล้ำค่า ติดต่อนายหน้าคนชาติเดียวกันหาคนซื้อชาวอิตาลีมารับช่วงต่อ เพราะเขาเชื่อว่า ภาพโมนา ลิซา เป็นงานของชาวอิตาลี โดยชาวอิตาลี มันจึงควรอยู่ในความครอบครองของชาวอิตาลีเท่านั้น! ข้ออ้างของเปรูจามาจากความเชื่อที่ว่า ภาพของโมนา ลิซา ถูกกองทัพนโปเลียนปล้นมาเมื่อคราวรุกรานอิตาลี ทำให้ฝรั่งเศสได้ภาพนี้มาครอบครองโดยมิชอบ แต่ความจริงก็คือ ดาวินชีในบั้นปลายได้มาทำงานอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์ฟรานซิส (ฟร็องซัว) ที่ 1 แห่งฝรั่งเศส พระองค์จึงได้ภาพดังกล่าวมาโดยชอบ เมื่อระบบกษัตริย์ถูกล้มล้าง คณะปฏิวัติจึงยึดทรัพย์ของกษัตริย์มาเป็นของแผ่นดิน โมนา ลิซา จึงตกเป็นสมบัติของประชาชนชาวฝรั่งเศส (ถ้าของทุกอย่างที่ผลิตโดยคนอิตาลีต้องเป็นของคนเชื้อสายอิตาลี อย่างนี้ก็ค้าขายข้ามประเทศกันไม่ได้แล้วจริงมั้ย?) เปรูจาติดต่อ อัลเฟรโด เจรี (Alfredo Geri) นายหน้าในฟลอเรนซ์ บอกว่าเขาจะนำภาพล้ำค่ากลับสู่อิตาลี แต่ขอค่าเหนื่อยเป็นจำนวน 5 แสนลีร์ เจรีทำการซ้อนแผนโดยขอให้เปรูจาทิ้งภาพไว้เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจก่อนว่าเป็นของแท้หรือไม่ ก่อนแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เปรูจาถูกจับตัวไว้ภายในวันเดียวกันนั้นเอง (History Today)  แม้จะกลายเป็นอาชญากรถูกดำเนินคดีและติดคุก แต่สำหรับชาวอิตาลีไม่น้อยเห็นว่าเขาเป็นฮีโรที่ทำให้ภาพเขียนล้ำค่าได้กลับคืนสู่แผ่นดินเกิดอีกครั้ง (มันใช่เหรอ ?) ภาพ โมนา ลิซา ถูกนำไปจัดแสดงที่หอศิลป์อุฟฟีซี ในฟลอเรนซ์เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนถูกส่งคืนให้กับพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และการกระทำของเขา คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดก็เห็นจะเป็นพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์เอง เพราะแม้ว่า โมนา ลิซา จะเป็นภาพเขียนมีชื่อ แต่ก็มีชื่ออยู่ในวงผู้สนใจงานศิลปะ แต่การโจรกรรมของเขาทำให้สื่อกระแสหลักทั่วโลกให้ความสนใจ โหมรายงานข่าวนี้เป็นระยะเวลายาวนานนับเดือนในช่วงที่ภาพเพิ่งหาย และอีกครั้งเมื่อมีการจับตัวเปรูจาได้สำเร็จในอีกสองปีต่อมา ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปหันมาสนใจภาพเขียนดังกล่าว  ชาวฝรั่งเศสที่ไม่เคยสนใจภาพนี้ก็ยังเดินทางมายังพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์เพื่อดูตะขอเกี่ยวภาพอันว่างเปล่าหลังภาพถูกขโมย เมื่อได้ภาพกลับคืนมาคนก็ยิ่งสนใจมาดูรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมชมในแต่ละปีสูงนับล้าน (ปี 2018 มีมากถึง 10.2 ล้านคน) ซึ่งไม่รู้ว่าถ้าเปรูจาไม่ขโมยภาพโมนา ลิซา พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากขนาดนี้หรือไม่?