‘วิตต์ สุทธเสถียร’ นักเขียนสำนวนสะวิงจากยุคสงคราม และการละเลียดเล่าวิญญาณหญิงผ่านการกะเทาะมิติปิตาธิปไตย

‘วิตต์ สุทธเสถียร’ นักเขียนสำนวนสะวิงจากยุคสงคราม และการละเลียดเล่าวิญญาณหญิงผ่านการกะเทาะมิติปิตาธิปไตย
หวานบาดเนื้อ เข้มแข็งดุจเหล็กกล้า และอาบด้วยน้ำตาประหนึ่งเกิดมาเพื่อร่ำไห้ เหล่านี้คือคำบรรยายความรู้สึกของผู้เขียน หลังอ่าน ‘สาวไห้’ นวนิยายของสุภาพบุรุษที่เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบและหมุดหมายงานเขียนไทยในสมัยหนึ่ง ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อนักเขียนหลากยุคเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  ‘วิตต์ สุทธเสถียร’ คือนักเขียนร่วมยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกยกย่องว่าเป็นผู้แพร่หลายสไตล์ ‘สะวิง’ ในงานประพันธ์ไทย และ ‘สาวไห้’ คือนวนิยายลำดับแรกของชายหนุ่มที่ตีพิมพ์ในรูปแบบหนังสือเล่มเมื่อปี 2486 ไล่เลี่ยกับ ‘ตระเวนมะนิลา’ ที่ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์ประชามิตร โดยนวนิยายเรื่องนี้ นอกจากจะครบเครื่องไปด้วยความงามราวเห็นชีวิตขยับเต้นรำอยู่ตรงหน้า ด้วยท่วงท่าแบบ ‘สะวิง’ อันเป็นลายเซ็นการเขียนที่ชื่อพ้องและเลียนมาจากจังหวะดนตรี ‘สะวิง’ ของอเมริกันแจ๊สแล้ว ยังมีคุณค่าอย่างยิ่งในการเป็น ‘ปากและเสียง’ แทนผู้หญิง ในยุคที่ความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายยังไม่ปรากฏ วิตต์ สุทธเสถียร ได้รังสรรค์ตัวละคร ‘กรรณิการ์ บุศราคัม’ เพื่อเป็นภาพแทนแห่งความหวานวาบหลากรสของสตรี และพาคนอ่านคว้างดิ่งลงสู่ห้วงอารมณ์ที่ทั้งกำซาบปีติ สะอื้นน้ำตา และถกโดยค่อย ถามโดยสุภาพถึงปัญหาสังคมที่แฝงเร้นไว้ภายใน ปิตาธิปไตยปรากฏในหนังสือเล่มนี้แม้ไม่ระบุชื่อ แต่อยู่ในรูปและนามการดิ้นรน ปลอบประโลมตนเองของหญิงสาว ‘สมัยใหม่’ ที่โลดแล่นไปมาระหว่างเสรี ความเป็นตัวของตัวเองของอิสตรี และความปรารถนาที่จะเป็นแม่ เป็นเมียซึ่งผัวภูมิใจ ของหญิงที่รักชายด้วยทุกสิ่งที่ตนมี สิ่งใดที่ทำให้ชายชาตรีบุคลิก ‘dandy’ อย่างวิตต์ สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของหญิงได้อย่างน่าประทับใจ แม้ในม่านสายตาของผู้เขียน ที่มีชีวิตอยู่ใน 78 ปีให้หลังจากครั้งที่วิตต์จรดปากกา บทความนี้จะพาผู้อ่านหาคำตอบ ผ่านการเล่าเรื่องราวชีวิตของ ‘วิตต์’ ไปด้วยกัน   การ์ตูนวิตตมิน 26 ธันวาคม 2460 วิตต์ สุทธเสถียร ลืมตาดูโลกในครอบครัวที่พรั่งพร้อมด้วยสินทรัพย์และความรู้ ชีวิตในขวบปีที่สองถึงหกของเด็กชายนั้นเริ่มขึ้นที่อเมริกา เมื่อ ‘มหาอำมาตย์โท พระยาเมธาธิบดี’ บิดาของเขาได้เป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐฯ ครั้นถึงวัยประถมฯ วิตต์จึงได้กลับสยามและเข้าโรงเรียน ‘กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย’ จนจบชั้นมัธยมฯ เด็กชายวิตต์มีแววในเชิงศิลป์ พร้อมด้วยการสนับสนุนจากครอบครัว และความเป็นอยู่ของลำดับชนชั้นที่เอื้อให้เขาได้เรียนขีด เขียน และเรียนวาด วิตต์หัดวาดการ์ตูนตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อเติบโตจนเรียนมัธยมฯ ก็เริ่มเข้าสู่โลกแห่งวารสารและการพิมพ์ด้วยการวาดการ์ตูนลงหนังสือ ‘เพลินจิตต์’ ในนามปากกา ‘วิตตมิน’ และได้ใช้ทักษะด้านภาษาหยั่งรากของตนลงในโลกของการแปลด้วยอีกทอด  หลังจบมัธยมฯ บิดาของวิตต์เล็งเห็นความสำคัญที่จะให้บุตรของตนได้เรียนวิชาในระดับที่สูงขึ้นไปอีก และส่งชายหนุ่มไปศึกษาวารสารศาสตร์ยังกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ความอู้ฟู่ หวือหวา และตระการตาอย่างประเทศอาณานิคมนั่นเองที่หล่อหลอมชีวิตของวิตต์ ทั้งยังเป็นรากของเขาในนวนิยายหลายชิ้นขึ้นในรูปแบบของ ‘นิยายพันธุ์เทศ’ หรือ ‘ไพรัชนิยาย’ อันหมายถึงนวนิยายจากนักเขียนเลือดไทยที่ใช้ฉาก ตัวละคร หรือมีองค์ประกอบเป็นต่างแดน   นิยายพันธุ์เทศและการเต้นรำสะวิงในหน้าหนังสือ ย่ำสองเท้า วาดสองแขน หมุนตัว ควงคู่ พลิ้วไถลเริงระบำ - ท่วงทำนองดนตรีสะวิงแจ๊สคือสิ่งที่หูของวิตต์ได้ยิน เริงรื่นและอาบเอิบคือสิ่งที่ใจรู้สึก การเต้นรำของหนุ่มสาวชาวอเมริกัน ฟิลิปินโน นักเรียนนอกจากประเทศสยาม และวัฒนธรรมกิน ดื่ม เที่ยว เหล่านั้นคือสิ่งที่วิตต์ได้ประสบพบเห็นมาแล้วสิ้นในสองปีเศษแห่งการเยือนมะนิลา ก่อนที่ศึกชิงอาณานิคมระหว่างญี่ปุ่นและอเมริกาจะย่างกราย ด้วยพิษสงคราม วิตต์และพรรคพวกนักเรียนฟิลิปปินส์ต้องระเห็จกลับไทยทั้งที่ยังไม่สำเร็จการศึกษา พร้อมกับการเป็นนักแปลข่าวต่างประเทศสำหรับหนังสือรายสัปดาห์ วิตต์จรดปากกาเขียน ‘ตระเวนมะนิลา’ เพื่อบันทึกความทรงจำเรื่องจริงผสมแต่งของตน จังหวะสะวิงอย่างอเมริกันของวิตต์ได้ฤกษ์ฝังรากลงในงานประพันธ์ก็คราวนั้นเอง เขียนเหมือนนาฏกรรม ละเลียดเล่าเหมือนฉาก แสง สี และเสียงแห่งโรงละคร สำนวนภาษา ‘สมัยใหม่’ อันเรียนและเลียนมาจากวรรณกรรมตะวันตกนั้นขับเน้นให้นิยายไทยพันธุ์เทศของวิตต์โดดเด่นและแปลกใหม่กว่างานเขียนร่วมสมัยใด ๆ ที่บรรจุไว้บนหน้ากระดาษ   สุภาพบุรุษสำรวย นอกจากความโดดเด่นด้านสำนวนภาษาแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้ชื่อของวิตต์เป็นที่จดจำในหมู่นักอ่าน รวมทั้งนักเขียนรุ่นหลังหลายท่าน อาทิ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2538 เจ้าของฉายาพญาอินทรีแห่งสวนอักษร ที่ชื่นชอบนักเขียนผู้พี่จนถึงขนาดยกให้วิตต์เป็นต้นแบบชีวิตที่ตนเจริญรอยตาม ก็คือเรื่องของ ‘สไตล์’ อันประกอบด้วยหลายสิ่ง ตั้งแต่อุปนิสัย เสื้อผ้าที่สวมใส่ ความจรรโลงใจในการใช้ชีวิต หรือเรียกรวม ๆ ว่า ‘ความสำรวย’ ฉบับวิตต์นั่นเอง ซึ่งความสำรวยที่ว่าของชายหนุ่มลุคงามน่าชมนั้น มีความลุ่มลึกและอาทรต่อ ‘ผู้หญิง’ เป็นองค์ประกอบสำคัญ   ละเลียดอ่านน้ำตาหญิง ‘ผู้หญิง’ นั้นมีบทบาทในงานเขียนของวิตต์เรื่อยมานับจาก ‘ตระเวนมะนิลา’ ดังที่ อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู ได้เขียนไว้ในบทความ ‘สุภาพบุรุษสะวิง : วรรณกรรมชีวิตของวิตต์ สุทธเสถียร’ ว่า “การสำรวจพื้นที่ต่างแดนในเรื่องจึงแยกไม่ขาดจากการสำรวจเรือนร่างสตรี” นอกจากการตระเวนเมืองดั่งชมรูปโฉมและโนมเนื้อสาว ใน ‘ตระเวนมะนิลา’ งานหลายชิ้นของวิตต์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น ‘กุหลาบดำ’ นวนิยาย ‘สาวไห้’, ‘วิญญาณเปลือย’ และ ‘วัยไฟ’ ก็ล้วนโอบรับเอาความเป็นหญิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างเปิดเผย ซึ่งบางเรื่อง (สาวไห้ และวิญญาณเปลือย) ก็ลึกซึ้งและเข้าอกเข้าใจ ขณะที่บางเรื่อง (วัยไฟ) กลับมองหญิงที่เป็นตัวละครนำด้วยภาพลักษณ์อีกแบบ งานเขียนของวิตต์อาจไม่ได้ ‘ใหม่’ เรื่องความเท่าเทียมทางเพศนักหากมองด้วยแว่นของยุคปัจจุบัน ที่เส้นแบ่งเหมือนหรือต่างระหว่างหญิงและชายได้มลายไปแล้วหลายส่วน หากเมื่อเกือบแปดสิบปีก่อนหน้า ที่แนวคิด ‘หญิงชายเท่ากัน’ ยังไม่ตระการตาใต้ผืนธงไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่ารสภาษาของวิตต์ที่เขาใช้เล่าถึง ‘กรรณิการ์’ นั้นอาบย้อมด้วยความเข้าใจมากกว่าเหยียดหยาม เชิดชูมากกว่าตัดสินคุณค่า และเคารพในน้ำตาของเธอมากกว่าตราหน้าว่าเป็นความอ่อนแอ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่นักเขียนชายทุกคนจะ ‘เข้าใจหญิง’ พอจะทำได้ในยุคสมัยดังกล่าว อาจจะเป็นเพราะความ ‘หัวใหม่’ ของเจ้าตัว เพราะคืนและวันในมะนิลา หรือเพราะความจรรโลงในชีวิตแบบที่วิตต์เห็นว่า ‘ผู้หญิงสามารถรับรสสุขและเศร้าได้มากกว่าชาย’ นั่นเองที่ทำให้เขาฝักใฝ่ สนอกสนใจเพศหญิง แล้วจึงถ้อยถ่ายทอดคำออกมาผ่านหนังสือเล่มเป็นนัยถึงการทวงถาม ‘สิทธิ์’ แทนพวกเธอในบางคราว   หมุดหมายที่ศิลปินแห่งชาติมิได้เอ่ยนาม นอกจากงานเขียนหลากเรื่องที่ผู้เขียนได้เอ่ยนามไปบางส่วนแล้ว อาชีพการงานตลอดชีวิตของวิตต์ยังคงข้องแวะแตะเกี่ยวอยู่กับการเขียน สิ่งพิมพ์ และศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทนักเขียนข่าวกอสซิปใต้นาม ‘คนพระนคร’ บทบาทบรรณาธิการสิ่งพิมพ์หลายต่อหลายหัว บทบาทคนภาพยนตร์ คนโฆษณา คนเขียนบทวิทยุ หรือคนจัดนิทรรศการ เรียกได้ว่าวิตต์ สุทธเสถียร โลดแล่นและโดดเด่นในทุกวงการที่เขาก้าวเข้าไป ผู้เขียนได้ทราบจากข้อเขียนของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ว่าแม้ชื่อของวิตต์จะเคยถูกเสนอว่าคู่ควรแก่ตำแหน่ง ‘ศิลปินแห่งชาติ’ แต่ตลอด 71 ปี จวบจนการจากไปของเขาเมื่อปี 2532 นั้น วิตต์ไม่เคยได้รับการยกย่องดังกล่าวแม้เพียงครั้ง ถึงอย่างนั้นงานเขียนของวิตต์ก็ยังเปี่ยมคุณค่า การแปลคำอังกฤษเพื่อสร้างคำใหม่ในภาษาไทยอย่าง ป่าคอนกรีต นางแบบ เพรียวลม ล้ำยุค หรือมือปืน ที่เขาเป็นผู้ริเริ่มใช้ล้วนยังนิยมอยู่ในปัจจุบัน เฉกเดียวกับ ‘สำนวนสะวิง’ ของวิตต์ ที่กลายเป็นไบเบิล เป็นแม่แบบ และเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับนักเขียนรุ่นหลัง ให้โอบรับ ดัดแปลง และพลิกแพลงมาใช้เป็นอาวุธในการเขียนของตนจวบจนทุกวันนี้เช่นกัน   ที่มา: หนังสือ ‘สาวไห้’ ฉบับตีพิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์แซลมอน บทความท้ายเล่ม สาวไห้ ‘สุภาพบุรุษสะวิง : วรรณกรรมชีวิตของวิตต์ สุทธเสถียร’ โดย อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_2501933   ***‘สาวไห้’ เป็นนวนิยาย ‘สำนวนสะวิง’ จากทศวรรษ 2480 ของ ‘วิตต์ สุทธเสถียร’ ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกของโครงการ Salmon Selected ที่คัดสรรเอาวรรณกรรมจากในอดีตกลับมาปัดฝุ่นใหม่ หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยชีวิตของหญิงสาวหัวก้าวหน้าผู้ไม่เดินตามขนบศีลธรรม ข้ามเส้นพรมแดนทางเพศ และตั้งคำถามถึงความเป็นหญิง ผ่านเรื่องราวความสัมพันธ์อันร้าวรานที่ชะตาพัดพาเข้ามาในชีวิต ทั้งความรักที่ไม่สมหวัง ความรักที่เป็นไปไม่ได้ ความรักที่คลุมเครือ อีกทั้งยังต้องต่อสู้กับสายตาของผู้คนที่จับจ้องมองสิ่งที่เธอเป็นและต้องการ ในห้วงเวลาที่ผู้หญิงต้องเป็นไปตามความคาดหวังของสังคม สั่งซื้อหนังสือจากปลายปากกาของนักเขียนมากความสามารถผู้ล่วงลับ ที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ยกให้เป็นต้นแบบด้านการใช้ชีวิตในราคาพิเศษได้ที่ https://store.minimore.com/salmonbooks/items/girls