รู้จัก วลาดิเมียร์ เดมิคอฟ “หมอคลั่ง” จากโซเวียต เจ้าของผลงาน “สุนัขสองหัว”

รู้จัก วลาดิเมียร์ เดมิคอฟ “หมอคลั่ง” จากโซเวียต เจ้าของผลงาน “สุนัขสองหัว”
“หนึ่งในความสำเร็จด้านศัลยกรรมของโซเวียตที่ถูกเผยแพร่มากที่สุดก็คือการผ่าตัดนำหัวและขาหน้าของสุนัขตัวหนึ่งไปปลูกถ่ายบนสุนัขอีกตัว “มีการผ่าตัดลักษณะนี้กว่า 20 กรณี ซึ่งรายงานระบุว่าเป็นผลงานของ ดร.วลาดิเมียร์ พี. เดมิคอฟ ผลการผ่าตัดในกรณีหนึ่ง สัตว์สองหัวตัวนี้มีชีวิตอยู่ได้ถึง 29 วัน” ส่วนหนึ่งจากรายงานของ The New York Times เมื่อปี 1959 ระบุ การผ่าตัดดังกล่าวซึ่งมีขึ้นเมื่อปี 1954 ทำให้ วลาดิเมียร์ เดมิคอฟ (Vladimir Demikhov) หมอจากโซเวียตมีชื่อเสียงไปทั่วโลก อาจจะไม่ใช่ในฐานะของหมอผู้บุกเบิกการปลูกถ่ายอวัยวะ แต่ในฐานะหมอที่สร้างสัตว์ประหลาดสองหัว แต่พูดอย่างนี้อาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะคำดังกล่าวอาจทำให้คนเข้าใจไปว่า การผ่าตัดของเขาเป็นการปลูกถ่ายหัวของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้สำเร็จเป็นกรณีแรก แต่จริงๆ แล้ว การผ่าตัดของเขาไม่ได้ผ่าไปเฉพาะหัว แต่เป็นการผ่าตัด “ครึ่งตัวบน” ของลูกสุนัขไปปลูกถ่ายลงบนสุนัขตัวใหญ่กว่า ซึ่งการผ่าตัดลักษณะนี้จะมีความซับซ้อนน้อยกว่าการผ่าตัดไปแต่เฉพาะส่วนหัวอย่างเดียว แม้การผ่าตัดของเขาจะเป็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสมและจริยธรรมทางการแพทย์ แต่ผลงานของเขาก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันระหว่างนักวิจัยจากโลกตะวันตกกับโซเวียต จนนำไปสู่การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจมนุษย์ได้สำคัญในทศวรรษต่อมา โดยฝีมือของ คริสเตียน บาร์นาร์ด (Christiaan Barnard) หมอจากแอฟริกาใต้ ซึ่งตอนที่ได้รู้ว่าเดมิคอฟสร้างสุนัขสองหัวได้สำเร็จ บาร์นาร์ดก็เกิดไฟประกาศว่า “อะไรที่พวกรัสเซียทำได้ เราก็ทำได้เหมือนกัน” เดมิคอฟ เกิดเมื่อปี 1916 ในครอบครัวชาวนาจากภูมิภาคโวโรเนจ (Voronezh) ของรัสเซีย พ่อของเขาเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็กในช่วงสงครามกลางเมือง แม่ของเขาแม้จะยากจนแต่ก็ช่วยผลักดันให้ลูกๆ ได้รับการศึกษาที่ดี โดยเดมิคอฟได้มีโอกาสเรียนต่อถึงระดับปริญญาที่มหาวิทยาลัยมอสโควในปี 1934 สามปีต่อมาเขาได้สร้างหัวใจเทียมเครื่องแรกขึ้นมาเพื่อทดลองใช้กับสุนัข ซึ่งตอนนั้นขนาดของมันยังใหญ่เกินกว่าจะผ่าตัดฝังลงในทรวงอกของสุนัขได้ และหลังผ่าตัดสุนัขที่ได้ใช้หัวใจเทียมของเขาสามารถมีชีวิตต่อได้ราว 5 ชั่วโมง เมื่อเขาเรียนจบในปี 1940 เขามีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยประจำภาควิชาสรีรวิทยา และได้ทำการทดลองแปลกๆ ที่เขาสนใจอย่างเช่น การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจสุนัขไปที่บริเวณขาหนีบ ซึ่งทำให้เขารู้ว่าหัวใจใช่ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหนแล้วจะทำงานได้ตามปกติ สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การวิจัยของเขาหยุดชะงัก เดมิคอฟต้องไปเป็นหมอประจำโรงพยาบาลสนามและได้เห็นความโหดร้ายทารุณของสงครามด้วยตาตนเอง และแม้เขาจะเป็นคนที่ขึ้นชื่อเรื่องความซื่อสัตย์ แต่ตอนนั้นเขาต้องโกหกอยู่บ่อยๆ เพื่อช่วยเหลือทหารหลายคนที่พยายามทำร้ายร่างกายตัวเองเพื่อหนีสนามรบ หลังเยอรมนียอมจำนน เดมิคอฟถูกส่งตัวไปยังเบอร์ลิน และต้องย้ายที่ประจำการอีกครั้งไปยังฮาร์บินของจีน เมื่อโซเวียตประกาศสงครามกับญี่ปุ่น จนกระทั่งสิ้นปี 1945 เขาถึงได้กลับมอสโคว ในปี 1946 เดมิคอฟได้ทำการทดลองผ่าตัดทรวงอกหลายๆ แบบในสุนัข ทั้งการปลูกถ่ายหัวใจอย่างเดียว ปอดอย่างเดียว และหัวใจกับปอดร่วมกัน วิธีการผ่าตัดของเขาอาศัยความเร็ว และเทคนิคการรักษาอวัยวะระหว่างการเคลื่อนย้ายที่เขาออกแบบเองเป็นหลัก ไม่ได้ใช้เครื่องปอด-หัวใจเทียมช่วย หรือทำการผ่าตัดภายใต้ภาวะ hypothermia (อุณหภูมิกายต่ำกว่าปกติ) โดยสุนัขที่ถูกผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจและปอดในวันที่ 30 มิถุนายน 1946 สามารถมีชีวิตรอดได้ 9.5 ชั่วโมง ทำให้เขากลายเป็นคนแรกที่ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดลักษณะนี้ แต่ความสำเร็จครั้งไหนๆ ก็ไม่ถูกกล่าวถึงเท่าการที่เขาผ่าตัดปลูกถ่ายลำตัวครึ่งบนของสุนัขตัวเล็กไปปลูกถ่ายบนสุนัขตัวใหญ่ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการผ่าตัดสุนัขสองหัวในปี 1954 ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับคนหลายกลุ่ม บ้างก็กล่าวหาว่าเขาเป็นเพียงหมอกำมะลอ บ้างก็วิจารณ์ว่าการวิจัยของเขาไร้ความหมาย เพราะเห็นว่าการสร้างสุนัขสองหัวไม่ได้สร้างองค์ความรู้ใดๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับวงการแพทย์ และในช่วงเวลาดังกล่าว คณะกรรมการชุดหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขโซเวียตมีมติชี้ว่า งานวิจัยของเดมิคอฟขัดต่อศีลธรรม และสั่งให้เขายุติโครงการทั้งหมดโดยทันที แต่การที่เขาอยู่ใต้ปีกวิจัยของกองทัพ ทำให้เขายังมีอิสระในการทดลองที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมต่อไป แม้งานของเขาจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ แต่เดมิคอฟก็ยังได้รับการยอมรับจากแวดวงการแพทย์ในระดับสากล คริสเตียน บาร์นาร์ด หมอคนแรกที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจในมนุษย์ได้สำเร็จในปี 1967 และเป็นหมอตะวันตกไม่กี่คนที่มีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมชมสถานวิจัยของเดมิคอฟเมื่อปี 1962 เคยกล่าวยกย่องเดมิคอฟว่า ถ้าจะมีใครสักคนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจและปอด ก็ควรจะต้องเป็นเดมิคอฟ ดร.จอห์น วี. คอนเต (John V. Conte) ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจและปอดในสหรัฐฯ กล่าวกับ The New York Times ว่า งานของเดมิคอฟถือเป็นงานที่สร้างคุณูปการเป็นอย่างสูงในช่วงต้นของการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจและปอด คอนเตกล่าวว่า เดมิคอฟ “ได้ทำการทดลองกับสุนัขเป็นร้อยๆ ครั้ง แสดงให้เห็นถึงเทคนิคที่หลากหลายว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจและปอดจริงๆ เขาทำกันอย่างไร “คนคนนี้เป็นคนที่มีหัวครีเอตสุดๆ” ด้าน ดร.เดนนิส แอล. ฟรังโก (Dennis L. Franco) ศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมจาก Yale Medical School กล่าวว่า เขาก็ไม่แน่ใจว่าเดมิคอฟเป็นคนแรกรึเปล่าที่ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจสุนัขได้สำเร็จเป็นคนแรก เพราะการบันทึกสมัยก่อนบางทีก็มีการคลาดเคลื่อนกันบ้าง แต่ที่เขาแน่ใจก็คืองานของเดมิคอฟมีส่วนผลักดันให้เกิดการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจในคน เพราะเดมิคอฟพิสูจน์ให้เห็นก่อนแล้วว่ามันสามารถทำได้ในสัตว์ และกลายเป็นก้าวสำคัญต่อการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะในมนุษย์ ในบั้นปลายชีวิต เดมิคอฟมีปัญหาสุขภาพด้านหลอดเลือดสมองและความจำเสื่อม ในเดือนเมษายน 1998 เขาต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากอาการหลอดเลือดสมองกำเริบจนเป็นอัมพาตและมีอาการปอดบวม ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ลีอา (Lia) ภรรยาที่ใช้ชีวิตร่วมกับเขามานานกว่า 50 ปีก็เสียชีวิตลง  ส่วนเดมิคอฟแม้อาการจะดีขึ้นจนออกจากโรงพยาบาลได้ แต่เขาก็ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่บนเตียงนอน ก่อนเสียชีวิตตามภรรยาไปในวันที่ 22 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน