วลาดิเมียร์ ครุชคอฟ หัวหน้า KGB คนสุดท้าย แกนนำกบฏล้ม กอร์บาชอฟ

วลาดิเมียร์ ครุชคอฟ หัวหน้า KGB คนสุดท้าย แกนนำกบฏล้ม กอร์บาชอฟ
ช่วงกลางทศวรรษที่ 1980s มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียตในภาวะที่ประเทศเข้าขั้นวิกฤตทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง เมื่อประชาชนขาดแคลนแม้กระทั่งปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต รัฐสมาชิกทั้งหลายก็จ้องจะตีจาก สหภาพฯ จึงระส่ำระสายสุดฤทธิ์ กอร์บาชอฟพยายามประคับประคองให้โซเวียตเดินหน้าต่อด้วยการกระจายอำนาจให้รัฐสมาชิก ผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมการแสดงความคิดเห็น ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม พร้อมสร้างสัมพันธ์อันดีกับชาติตะวันตก เพื่อให้ชาติตะวันตกที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมช่วยเหลือ "อภิมหาอำนาจ" ที่อยู่ในสภาพง่อนแง่นเต็มที นโยบายของเขาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ กลาสนอสต์ (Glasnost) หรือการเปิดกว้าง และ เปเรสตรอยคา (Perestroika) หรือการปฏิรูปโครงสร้าง ซึ่งเป็นหลักการตรงข้ามกับขนบธรรมเนียมเดิมของระบอบโซเวียตและสอดคล้องกับชาติตะวันตกที่พวกเขาเห็นเป็นศัตรูมาตลอด  นโยบายเหล่านี้ ทำให้กอร์บาชอฟถูกกล่าวหาโดยหัวหน้า KGB องค์กรสายลับของโซเวียตว่าเป็นเอเยนต์ของพวกตะวันตกที่แฝงตัวเข้ามาบ่อนทำลายโซเซียต หัวหน้าสายลับรายนี้มีชื่อว่า วลาดิเมียร์ ครุชคอฟ (Vladimir Kryuchkov) ซึ่งกลายเป็นหัวหน้าคนสุดท้ายของ KGB ก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่เขาพยายามก่อการกบฏ ครุชคอฟ เกิดเมื่อปี 1924 ที่เมืองซาริตซิน (Tsaritsyn ชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนเป็น สตาลินกราด ส่วนปัจจุบันใช้ชื่อว่า วอลโกกราด) ตามประวัติ (The Guardian) เบื้องต้นเขาทำงานในอุตสาหกรรมการทหาร ก่อนได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1944 แล้วไปเล่าเรียนด้านกฎหมายและการทูตจบแล้วก็เริ่มทำงานให้กับ ยูรี อันโดรปอฟ (Yuri Andropov) ซึ่งตอนนั้น (ปี 1955) รับตำแหน่งทูตโซเวียตประจำฮังการี และครุชคอฟก็สร้างผลงานด้วยการช่วยปราบปรามการลุกฮือของชาวฮังการี การแสดงฝีมือคราวนั้นเข้าตาอันโดรปอฟ (ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นผู้นำสูงสุดของโซเวียต) เป็นอย่างมาก เขาจึงกระเตงพาครุชคอฟเติบโตไปด้วยเสมอในฐานะมือขวาคนสนิท โดยในปี 1967 เมื่ออันโดรปอฟได้รับตำแหน่งผู้นำ KGB ครุชคอฟก็ได้ย้ายตามมามอสโควและรับหน้าที่ดูแลด้านการข่าวต่างประเทศ พอกอร์บาชอฟขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1985 ครุชคอฟก็ไปพรีเซนต์ตัวเองกับอเล็กซานเดอร์ ยาคอฟเลฟ (Alexander Yakovlev) ที่ปรึกษาคนสนิทของผู้นำคนใหม่ แสดงวิสัยทัศน์ให้เห็นว่า เขาไม่เห็นด้วยเลยกับแนวทางเก่า ๆ อนุรักษนิยมของอดีตผู้นำ KGB ที่เขาทำงานด้วย และเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปอย่างสุดขั้วของกอร์บาชอฟ ยาคอฟเลฟจึงเอาชื่อของครุชคอฟไปเสนอให้กอร์บาชอฟว่า นี่แหละคนที่จะมาเป็นพันธมิตรของพวกเขาในองค์กรสำคัญอย่าง KGB และด้วยเหตุที่ครุชคอฟทำหน้าที่ดูแลงานสายลับต่างแดน ไม่ได้ดูแลเรื่องการควบคุมความคิดเห็นและเก็บคนเห็นต่างภายในประเทศ (ก็ถ้าเคยปราบปรามคนเห็นต่างมาก่อนจะมาสนองนโยบายเปิดกว้างได้อย่างไร?) กอร์บาชอฟจึงเห็นตามว่าครุชคอฟนี่แหละน่าจะเหมาะกับตำแหน่งผู้นำ KGB เขาจึงได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าองค์กรสายลับโซเวียตในปี 1988 แต่นี่เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดเมื่อครุชคอฟออกลายในภายหลังว่า เขาเห็นด้วยกับธรรมเนียมปฏิบัติขององค์กรมาโดยตลอด และต้องการให้มีการใช้มาตรการที่เด็ดขาดในการจัดการกับเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นไปทั่วสหภาพ ทั้งยังไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดกว้างทางความคิด การกระจายอำนาจให้รัฐสมาชิก และการเป็นมิตรกับตะวันตก  ในขณะที่การปฏิรูปดำเนินไปพร้อมกับความวุ่นวาย และจลาจลในพื้นที่ต่าง ๆ รัฐบริวารในยุโรปตะวันออกหลายรัฐปลดแอกตัวเองจากอิทธิพลโซเวียต และเลือกที่จะไม่เป็นรัฐคอมมิวนิสต์อีกต่อไปได้ มีการเปิดให้มีการจัดการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันอย่างแท้จริงขึ้นภายในรัฐสมาชิกสหภาพ รวมถึงรัสเซียที่ บอริส เยลต์ซิน ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีในเดือนมิถุนายน 1991 ปลายเดือนเดียวกัน ครุชคอฟออกมาวิจารณ์นโยบายของกอร์บาชอฟอย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่า เปเรสตรอยคาเป็นนโยบายที่เชื้อเชิญให้สายลับตะวันตกเข้ามาบ่อนทำลายสหภาพโซเวียต และในการปฏิรูปดังกล่าวก็เป็นตะวันตกที่สร้างเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์กับตัวเองขึ้น และให้คำสัญญาอันเลื่อนลอยว่าจะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเป็นเหยื่อล่อ ไม่ใช่แผนปฏิรูปที่เกิดขึ้นโดยโซเวียตเพื่อโซเวียต  พร้อมกันนี้ ครุชคอฟยังได้เชื่อมโยงเหตุการณ์ในขณะนั้นกับเหตุการณ์ในปี 1977 ซึ่งอ้างว่า พวกเขาได้เปิดโปงแผนร้ายของ CIA หน่วยงานสายลับของสหรัฐอเมริกา ที่ฝึกสายลับแฝงตัวมาทำงานให้กับรัฐบาลโซเวียต รอให้ก้าวหน้ามีตำแหน่งใหญ่โตแล้วค่อยใช้อำนาจนั้นบ่อนทำลายโซเวียต และเขาก็เชื่อว่า สหรัฐฯ ก็ยังคงไม่ละวางแผนดังกล่าวเพื่อสร้างความแตกแยกให้กับสังคมโซเวียตและทำลายการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (The New York Times) การแสดงท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกอร์บาชอฟขนาดนั้นเกิดขึ้นได้เพราะความแตกแยกภายในของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่ได้มีแต่เขาเพียงคนเดียวที่คัดค้านนโยบายเปิดกว้างและปฏิรูปของผู้นำสูงสุด จึงเกิดการรวมตัวกันขึ้นเป็น "แก๊ง 8 คน" นอกจากครุชคอฟแล้วก็ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งรองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กระทรวงอุตสาหกรรมการทหาร เป็นต้น เพื่อทำการยึดอำนาจจากกอร์บาชอฟ แก๊ง 8 คน ร่วมกันกักตัวกอร์บาชอฟในบ้านพัก และประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ 18 สิงหาคม ปี 1991 แต่แผนการของพวกเขาก็ต้องล่มลงในระยะเวลาเพียง 3 วัน เมื่อพวกเขาไม่ได้ควบคุมตัว บอริส เยลต์ซิน ไว้ด้วย และก็เป็นเยลต์ซินที่นำประชาชนจำนวนมากออกมาต่อต้านการยึดอำนาจอย่างไม่เกรงกลัวการใช้กำลังปราบปราม (เยลต์ซินปีนขึ้นรถถังไปขอทหารไม่ให้ทำร้ายประชาชนด้วย) ครุชคอฟและคณะที่เชื่อในการใช้อำนาจเด็ดขาดและวิจารณ์กอร์บาชอฟว่าอ่อนแอไม่กล้าตัดสินใจ เมื่อมาถืออำนาจเองก็เกิดลังเลจนไม่อาจควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ สุดท้ายจึงต้องยอมล้มแผนการ ความพยายามที่จะรักษาสหภาพโซเวียตเอาไว้ของครุชคอฟและพวกส่งผลตรงกันข้าม เมื่อมันกลายเป็นแบบอย่างให้เห็นว่า พรรคคอมมิวนิสต์อ่อนแอเพียงใด กอร์บาชอฟแม้จะกลับมานั่งตำแหน่งเดิม แต่สถานภาพทางอำนาจก็ถดถอยลงมาก ในขณะที่เยลต์ซินนับวันก็ยิ่งมีสง่าราศีมากขึ้นและต้องการเห็นสหภาพโซเวียตล่มสลาย เพื่อที่เขาจะได้กลายเป็นผู้นำสูงสุดของเครมลิน ซึ่งก็สมหวังเพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น หลังความพยายามยึดอำนาจล้มเหลว ครุชคอฟและคณะถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหากบฏ แต่ในปี 1994 เขาและพวกก็ได้รับอภัยโทษ แม้การก่อกบฏของครุชคอฟและพวกจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่น่าละอายในปีที่เกิดเหตุ แต่โชคดีที่พวกเขามีชีวิตยืนยาวได้เห็นความน่าผิดหวังในการบริหารงานของเยลต์ซินเมื่อการปฏิรูปยังไม่เห็นผลทันตา มีแต่ทรงกับทรุดเรื่อยมา สังคมเริ่มโหยหาความรุ่งเรืองในอดีตของสหภาพโซเวียตราวอุปาทานหมู่ บางคนจึงอยากเห็นการยึดอำนาจของครุชคอฟเป็นผลสำเร็จ และเมื่อ วลาดิเมียร์ ปูติน อดีตลูกน้อง KGB ของเขาขึ้นมามีอำนาจต่อจากเยลต์ซิน ครุชคอฟก็ยิ่งได้โอกาสฟื้นฟูชื่อเสียงมากขึ้น เมื่อลูกน้องเก่าเชื้อเชิญเขาไปร่วมงานสำคัญ ๆ หลายครั้ง (ครุชคอฟ เสียชีวิตเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2007)