อดอล์ฟ ฮิตเลอร์: เผด็จการผู้ให้กำเนิดรถ ‘โฟล์คสวาเกน’ ที่ถูกทำให้ซอฟต์ลงเพราะภาพลักษณ์ในหนัง Herbie

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์: เผด็จการผู้ให้กำเนิดรถ ‘โฟล์คสวาเกน’ ที่ถูกทำให้ซอฟต์ลงเพราะภาพลักษณ์ในหนัง Herbie
ในบ้านเราเคยมีเกมหนึ่งที่ผู้คนมักเล่นกันระหว่างออกเดินทาง เมื่อคนข้าง ๆ เห็นรถ ‘โฟล์คเต่า’ วิ่งผ่านมา คนแรกที่เห็นจะหยิกคนข้าง ๆ และชี้ให้ดูรถคันนั้น จนบางคนอาจสงสัยว่าธรรมเนียมแบบนี้มีที่มาอย่างไร ในต่างประเทศก็มีเกมคล้ายกัน โดยเด็ก ๆ มักเล่นกันแก้เบื่อระหว่างรถติด หรือเดินทางไกล แต่ใครเห็น ‘รถเต่า’ คนแรก เขาจะไม่หยิกคนข้าง ๆ แต่ใช้การชกเบา ๆ ที่แขนหรือหัวไหล่ โดยเรียกว่าเกม Slug Bug หรือ Punch Buggy ตามวิธีและชื่อเล่นของรถรุ่นดังกล่าว ที่มาของเกมฮา ๆ แบบนี้ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่เชื่อกันว่าน่าจะมาจากหน้าตาของ ‘โฟล์คเต่า’ ที่ไม่เหมือนใคร ทำให้เป็นที่สะดุดตายามแล่นมาบนท้องถนน และกลายเป็นรถขวัญใจมหาชนที่หลายคนอยากชวนให้คนข้าง ๆ ดู แม้ต้นกำเนิดของเกมจะยังเป็นปริศนา แต่ที่มาของรถเต่ารูปทรงเตะตา ทุกคนล้วนทราบกันดีว่ามาจากวิสัยทัศน์ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำจอมเผด็จการของรัฐบาลนาซีเยอรมัน   จุดเริ่มต้น ฟังแล้วอาจดูย้อนแย้ง เพราะอดีตจอมวายร้ายหมายเลขหนึ่งของโลก และอาชญากรสงครามผู้สังหารคนล้มตายไปหลายสิบล้านคน ไม่น่าจะเป็นคนก่อตั้งแบรนด์รถยนต์ที่มีคนคลั่งไคล้ และครั้งหนึ่งยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้รักสันติภาพ แต่นั่นคือเรื่องจริงที่เริ่มขึ้นมาพร้อมกับเรื่องราวอันเป็นตำนานของจอมเผด็จการนาซีเยอรมัน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1933 หลังจากเถลิงอำนาจได้ไม่กี่สัปดาห์ในเดือนถัดมา เขาประกาศที่งานมอเตอร์โชว์ในกรุงเบอร์ลินว่า จักรวรรดิที่ 3 (the Third Reich) ภายใต้การนำของเขา ประชาชนจะต้องมีรถยนต์ใช้ และเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายที่ทำให้เกิดโฟล์คสวาเกน (Volkswagen) หรือแปลเป็นไทยว่า ‘รถของประชาชน’ (the people’s car) ในสมัยนั้นมีชาวเยอรมันไม่กี่คนที่สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ เพราะเป็นยานพาหนะราคาแพง และเศรษฐกิจของเยอรมนียังอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังนั้น การประกาศสร้าง ‘รถของประชาชน’ ขึ้นมา นอกจากจะเป็นนโยบายหาเสียงที่ดีแล้ว ยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย   แรงบันดาลใจ ฮิตเลอร์ได้แรงบันดาลใจนี้มาจาก เฮนรี ฟอร์ด นักธุรกิจชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งแบรนด์รถยนต์ ฟอร์ด (Ford) และได้รับการยกย่องให้เป็นนักประดิษฐ์ผู้คิดค้นเทคนิคการผลิตรถยนต์พร้อมกันจำนวนมาก (mass production) ในรูปแบบโรงงานอุตสาหกรรม “ผมมอง เฮนรี ฟอร์ด ในฐานะผู้สร้างแรงบันดาลใจ” ฮิตเลอร์ ยอมรับเรื่องนี้กับ ดีทรอยต์ นิวส์ สื่อของสหรัฐฯ เมื่อปี 1931 ระหว่างที่เขายังเป็นเพียงนักการเมืองดาวรุ่งของเยอรมนี ความคลั่งไคล้ในตัว เฮนรี ฟอร์ด แสดงออกมาอย่างไม่ปิดบัง โดยฮิตเลอร์มีรูปของผู้ผลิตรถยนต์ชาวอเมริกันขนาดเท่าตัวจริงแขวนไว้ข้างโต๊ะทำงาน และยังบอกว่าเป็นแฟนตัวยงที่ตามอ่านงานเขียน ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านชาวยิวของฟอร์ดเป็นประจำอีกด้วย ฟอร์ดซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ เดอะ เดียร์บอร์น อินดิเพนเดนต์ (The Dearborn Independent) ในบ้านเกิดที่รัฐมิชิแกน ของสหรัฐฯ เมื่อปี 1918 และเขียนบทความต่อต้านชาวยิวลงตีพิมพ์เป็นประจำ นอกจากนี้ เขายังรวบรวมผลงานของตนเองแจกจ่ายไปตามดีลเลอร์รถฟอร์ดทั่วประเทศ แม้ต่อมา ฟอร์ดจะปฏิเสธงานเขียนต่อต้านชาวยิวของตนเอง แต่อิทธิพลของเขาต่อพรรคนาซีเยอรมัน ยังคงไม่หายไปไหน โดยในเดือนกรกฎาคมปี 1938 หรือ 4 เดือนหลังกองทัพเยอรมันบุกยึดครองโปแลนด์ ฟอร์ดได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์ ‘กางเขนอินทรีเยอรมันอันยิ่งใหญ่’ (Grand Cross of German Eagle) ซึ่งเป็นเหรียญเชิดชูเกียรติชาวต่างชาติขั้นสูงสุดของรัฐบาลฮิตเลอร์ หนังสือพิมพ์ วอชิงตันโพสต์ รายงานว่า ฟอร์ด และเจเนอรัล มอเตอร์ (GM) มีส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามหลีกเลี่ยงการประกาศสงครามกับเยอรมนีในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากบริษัทรถยนต์อเมริกันทั้งสองเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานอยู่ที่นั่น รายงานยังระบุด้วยว่า โรงงานของทั้งสองบริษัทถูกใช้เป็นสถานที่ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ป้อนกองทัพเยอรมัน และบังคับเชลยศึกมาเป็นแรงงานทาส แม้บริษัทแม่ในอเมริกาจะปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจ เพราะอยู่ในภาวะสงครามก็ตาม   นักออกแบบ จากความใฝ่ฝันของฮิตเลอร์ ที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในปี 1934 ท่านผู้นำ (Führer) แห่งจักรวรรดิที่ 3 ของเยอรมัน ได้ติดต่อ เฟอร์ดินาน ปอร์เช่ นักออกแบบรถยนต์ชาวออสเตรีย และผู้ก่อตั้งแบรนด์รถสปอร์ตหรูยี่ห้อ ปอร์เช่ (Porsche) ให้มารับงานดีไซน์ ‘รถของประชาชน’ ฮิตเลอร์ตั้งโจทย์ให้ปอร์เช่ โดยระบุว่า รถโฟล์ค รุ่นแรก (Type 1) ต้องเป็นรถขนาดเล็ก ราคาประหยัด สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ทั้งครอบครัวพร้อมกัน 5 คน (ผู้ใหญ่ 2 เด็ก 3) และทำความเร็วได้ถึง 100 กม./ชม. เพื่อให้วิ่งได้บนทางด่วนพิเศษ หรือ ‘ออโตบาห์น’ ซึ่งรัฐบาลนาซีต้องการขยายเส้นทางให้ครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ ฮิตเลอร์ยังอยากให้รถในฝันของเขามีรูปทรงลู่ลมเพื่อประหยัดน้ำมัน และใช้เครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยอากาศ เพื่อง่ายต่อการดูแลรักษา และกำหนดราคาไว้ไม่ให้แพงกว่ามอเตอร์ไซค์ พร้อมประกาศโครงการรับฝากเงินรายเดือนให้ประชาชนทยอยออมเงินไว้ซื้อรถคันนี้ที่ราคา 990 ไรซ์มาร์ค (สกุลเงินขณะนั้น) หรือเท่ากับค่าแรงเฉลี่ยของชาวเยอรมันในปี 1936 รวมกัน 31 สัปดาห์ รายงานระบุว่า มีชาวเยอรมันสมัครเข้าร่วมโครงการออมเงินซื้อรถของฮิตเลอร์ราว 336,000 คน โดยฮิตเลอร์ซึ่งไม่มีใบขับขี่ เป็นผู้อนุมัติแบบรถโฟล์คเต่ารุ่นแรก ที่เฟอร์ดินานด์ ปอร์เช่ นำมาให้ดูด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 1935 ก่อนจะเริ่มสร้างโรงงานผลิตขึ้นที่เมืองโวล์ฟบวร์ก (Wolfsburg) ในอีกไม่ถึง 2 ปีต่อมา โรงงานโฟล์คสวาเกนแห่งแรกมีแผนสร้างเสร็จ และเริ่มเดินเครื่องผลิตเต็มกำลังภายในเดือนกันยายนปี 1939 แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มปะทุขึ้นเสียก่อน ทำให้รถล็อตแรกที่ผลิตออกมาถูกนำไปใช้งานทางการทหาร และยังไม่มีประชาชนคนใดได้สัมผัสรถในฝันของฮิตเลอร์   เกิดใหม่หลังสงคราม ปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมนี และฮิตเลอร์ตัดสินใจฆ่าตัวตาย โรงงานโฟล์คสวาเกนได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการทิ้งระเบิดโจมตี และเกือบถูกรื้อถอนทิ้งไป แต่พันตรี อิวาน เฮิร์สต นายทหารกองทัพอังกฤษ มองเห็นศักยภาพในการผลิตรถยนต์ จึงเกลี้ยกล่อมให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเก็บโรงงานแห่งนี้ไว้ อังกฤษสั่งให้โรงงานโฟล์คสวาเกนผลิตรถยนต์ป้อนกองทัพของตนจำนวน 20,000 คัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของค่าปฏิกรรมสงคราม ก่อนจะตั้งชื่อรถเต่ารุ่นแรกที่ออกแบบโดย ปอร์เช่ คันนี้ว่า ‘บีเทิล’ (Beetle) เพื่อลบภาพลักษณ์รถยนต์นาซี และส่งมอบโรงงานคืนให้กับรัฐบาลเยอรมันในปี 1949 จากนั้น ‘บีเทิล’ หรือรถโฟล์คเต่าได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการพลิกฟื้นแผ่นดินเยอรมันให้กลับมาเฟื่องฟูหลังสงคราม และเป็นรถยนต์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก มียอดขายทั้งหมดกว่า 21.5 ล้านคัน นับถึงวันที่ผลิตล็อตสุดท้ายออกมาในปี 2003 ทำลายสถิติเดิมของรถฟอร์ด โมเดล ที ซึ่งเป็นรถรุ่นที่เคยขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์โลก (15 ล้านคัน)   การตลาดดีเด่น สาเหตุที่ทำให้โฟล์คเต่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า นอกจากดีไซน์ และราคาของมันแล้ว ส่วนหนึ่งยังมาจากความสำเร็จของแคมเปญโฆษณา ‘Think Small’  ในปี 1959 ของ Doyle Dane Bernbach (DDB) เอเจนซีโฆษณาในนครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ ผู้นำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ให้รถเต่า ด้วยการชูจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครในอเมริกา โฆษณาของ DDB เน้นฉายภาพความเป็นรถขนาดเล็กที่ดูแลรักษาง่ายไม่ต้องคิดมาก (Think small) แถมยังประหยัดทั้งน้ำมันและค่าบำรุงรักษา โดยเฉพาะการใช้เครื่องยนต์ที่ไม่มีหม้อน้ำ ทำให้ต้นทุนต่ำและหมดปัญหาหม้อน้ำกลายเป็นน้ำแข็งในฤดูหนาว โดยโฆษณาดังกล่าวยังออกแบบมาอย่างเรียบง่าย และแตกต่างจากโฆษณาทั่วไปในยุคนั้น ทำให้สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าผู้มีการศึกษาและอายุน้อยได้มากขึ้น นอกจากนี้ ภาพยนตร์จากค่ายดิสนีย์ในฮอลลีวูด ยังช่วยทำให้โฟล์คสวาเกน กลายเป็นรถขายดียิ่งขึ้น โดยดิสนีย์สร้างหนังที่ทำให้รถโฟล์คเต่ามีชีวิต และตั้งชื่อว่า Herbie ก่อนลงโรงฉายสู่สายตาชาวโลกรวม 6 ภาค เริ่มภาคแรกตั้งแต่ปี 1968 ความสำเร็จด้านการตลาดของรถเต่า ยังช่วยส่งเสริมแบรนด์โฟล์คสวาเกน รุ่นที่ 2 (Type 2) ซึ่งเป็นรถตู้แบบอเนกประสงค์ที่สามารถดัดแปลงเป็นรถบ้านสำหรับใช้พักค้างแรมยามเดินทางไกลให้ขายดีมากขึ้น ช่วงทศวรรษ 1960s ในอเมริกา รถโฟล์คตู้กลายเป็นไอคอนของวัฒนธรรมสวนกระแส (counterculture) ในฐานะยานพาหนะยอดนิยมของเหล่าฮิปปี้ และนักศึกษาผู้โหยหาความรักและสันติภาพ แม้ปัจจุบันโลกยานยนต์จะมีวิวัฒนาการก้าวหน้าไปเพียงใด ภาพของรถเต่าและรถโฟล์คตู้รุ่นแรก ยังคงมีความโดดเด่นเตะตา และเป็นที่หมายปองของนักสะสมและผู้นิยมรถวินเทจทั่วโลก ถึงแม้ผู้ให้กำเนิดโฟล์คสวาเกนอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จะเป็นคนโหดร้าย และมีประวัติชั่วช้าเพียงใด แต่ตลอดระยะเวลาเกือบ 90 ปีที่ผ่านมา ทั้งยอดขาย ความนิยม และวัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่รถยี่ห้อนี้สร้างขึ้นมา ล้วนเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่า โฟล์คสวาเกน ทำหน้าที่เป็น ‘รถของประชาชน’ ได้สมกับชื่อของมันแล้วอย่างแท้จริง   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.dw.com/en/hitler-and-his-volkswagen-tracing-the-80-year-history-of-the-beetle/a-43942998 https://www.bbc.com/news/business-34358783 https://www.bbc.com/culture/article/20130830-the-nazi-car-we-came-to-love https://www.washingtonpost.com/wp-srv/national/daily/nov98/nazicars30.htm https://www.smithsonianmag.com/innovation/how-volkswagen-bus-became-symbol-counterculture-180974354/ https://www.fastcompany.com/1512941/history-volkswagen https://newsroom.vw.com/community/what-do-you-call-the-game-of-spotting-a-vw-beetle/