โวโลดิมีร์ เซเลนสกี: จากดาวตลกสู่ประธานาธิบดีในชีวิตจริง ผู้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

โวโลดิมีร์ เซเลนสกี: จากดาวตลกสู่ประธานาธิบดีในชีวิตจริง ผู้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน
โชคชะตามักเล่นตลกอยู่เสมอ แต่ใครจะไปคิดว่าเรื่องที่ดูเหมือนกับพล็อตละครนี้ ได้เกิดขึ้นกับประธานาธิบดียูเครน อย่าง ‘โวโลดิมีร์ เซเลนสกี’ อดีตดาราตลก ผู้เคยสวมบทบาทสมมติเป็นประธานาธิบดีในจอแก้ว จนกลายมาเป็นประธานาธิบดีในชีวิตจริง นี่คือเรื่องราวของเขา ชายที่ชีวิตเล่นตลก จนต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้ง ในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่แวะเข้ามาทักทายเป็นระยะ... จากบทบาทสมมติ สู่ประธานาธิบดียูเครน ‘โวโลดิมีร์ เซเลนสกี’ (Volodymyr Zelensky) เกิดวันที่ 25 มกราคม 1978 เมือง Kryvyi Rih ยูเครน เมืองอุตสาหกรรมเหล็กกล้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปตะวันออก อีกทั้งยังมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ โวโลดิมีร์เกิดมาในครอบครัวชาวยิว แม่เป็นวิศวกรผู้คลุกคลีอยู่กับตัวเลขและเครื่องจักรกลมานานกว่า 40 ปี ส่วนพ่อเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกไซเบอร์ ชีวิตวัยเด็กของประธานาธิบดีหนุ่มผู้นี้ ไม่ได้มีข้อมูลเปิดเผยออกมาให้เห็นมากนัก รู้เพียงแค่ว่าเขาเกิดมาในครอบครัวที่เพียบพร้อม ทั้งพ่อและแม่ประกอบอาชีพที่น่านับหน้าถือตา ซึ่งมักย้ายที่อยู่ตามแต่หน้าที่การงานของผู้เป็นพ่อจะนำพาไป ช่วงเวลา 4 ปีแรกของเซเลนสกี เขาและครอบครัวอาศัยอยู่ที่มองโกเลียเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นจึงโยกย้ายถิ่นฐานกลับมายังยูเครน และเข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนหมายเลข 95 ในหลักสูตรภาษาอังกฤษ และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเศรษฐกิจแห่งชาติเคียฟ ในปี 2000 แม้ว่าจะมีดีกรีเป็นนักกฎหมาย แต่เซเลนสกีกลับไม่ได้สนใจใบปริญญามากนัก เขาชื่นชอบบรรยากาศที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ มากกว่าการนั่งหน้าดำคร่ำเครียดอยู่หน้าตำราเรียน เห็นได้จากการเข้าสู่วงการตลกตั้งแต่อายุ 17 ปี ด้วยการเข้าร่วมรายการ KVN (Klub Vesyólykh i Nakhódchivykh) การแข่งขันเฟ้นหานักแสดงตลกระดับนานาชาติของรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุด ในยุคหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ไม่รู้ว่าเป็นเพราะท่าทางที่เป็นมิตร หรือหน้าตายียวนกวนประสาท หรืออาจจะเป็นเพราะความสามารถของเขาที่โดดเด่นจนได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมทีมนักแสดงตลกของยูเครน เพื่อแข่งขันในเมเจอร์ลีกของ KVN ซึ่งผลสุดท้ายแล้วเขาก็สามารถคว้าชัยกลับมาได้ในปี 1997 แต่เขาได้เล่นเป็นเพียงแค่ตัวประกอบเท่านั้น แน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เส้นทางที่เขาใฝ่ฝัน เซเลนสกีอยากจะสร้างเสียงหัวเราะให้กับทุกคนได้หัวเราะกันอย่างเต็มอิ่ม ในปีเดียวกันเขาจึงเปิดบริษัท และจัดตั้งคณะตลกของตัวเองขึ้นมาภายใต้ชื่อ Kvartal 95 แหล่งรวมนักแสดงตลกที่มาจากเวที KVN โดยเฉพาะ Kvartal 95 ผลิตรายการทีวี รวมทั้งซีรีส์เรื่อง ‘Servant of the People’ หรือข้ารับใช้ประชาชน ในปี 2015 มีจำนวนทั้งสิ้น 3 ซีซั่น รวม 51 ตอน ให้กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 1+1 ของยูเครน นอกจากนี้เขายังเป็นหนึ่งในนักแสดงหลักของซีรีส์เรื่องนี้ โดยรับบทเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ ผู้ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย จนได้เป็นประธานาธิบดี เมื่อขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง จนทำให้นักปกครองในโลกสมมติ ต้องคอยตามแก้ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงกันไม่หวาดไม่ไหว (ต้องขอเน้นอีกครั้งว่านี่คือบทละครที่ถูกกำกับขึ้นมาเท่านั้น) Servant of the People บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานของข้าราชการเช้าชามเย็นชาม เนื้อหาส่วนใหญ่เสียดสีรัฐบาลอย่างเจ็บแสบ ซึ่งในการสวมบทบาทเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ ทำให้เขามีความคิดความอ่านที่ลึกซึ้ง เข้าใจประวัติความเป็นมาของประเทศรอบด้าน จนอดที่จะวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลไม่ได้ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘เครื่องด่า’ รายนี้แจ้งเกิด ผ่านคลิปวิดีโอที่ถูกนักเรียนแอบถ่าย และนำไปเผยแพร่บนโลกออนไลน์ จนทำให้ชีวิตครูคนนี้เปลี่ยนไปตลอดกาล นอกจากบทบาทที่เขาอินกับการเป็นประธานาธิบดีแล้ว เซเลนสกีเกิดนึกครึ้มอยากลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2019 ดูสักครั้งในชีวิต ทั้ง ๆ ที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน ซึ่งเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นโยบายที่มาจากความต้องการของประชาชนจริง ๆ สามารถเรียกคะแนนนิยม จนคว้าชัยชนะถล่มทลายถึง 73.2% ทิ้งห่างคู่แข่งอย่าง เปโตร โปโรเชนโก (Petro Poroshenko) ไปไกลลิบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสไตล์การหาเสียงที่แตกต่างจากคู่แข่งรุ่นเก๋า ดึงเอาความเป็นกันเอง และอารมณ์ขันมาเป็นจุดเด่น พร้อมทั้งยังมีคำพูดติดปากอยู่เสมอว่า “ผมไม่ได้มาเล่น ๆ” ทำเอาคนมาฟังนโยบายถึงกับฮาครืน เขามักจะเสนอแนวคิดหรือนโยบายใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากในอดีต เพื่อส่งเสริมให้ประเทศแข็งแกร่งขึ้น อีกทั้งยังประกาศจะปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้ชาวยูเครนเทคะแนนเสียง เลือกหนุ่มอารมณ์ดีผู้นี้เข้ามาทำหน้าที่เป็น ‘ข้ารับใช้ประชาชน’ อย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2019  เหมือนดั่งซีรีส์ที่เขาลงมือประพันธ์และนำแสดงด้วยตัวเอง ภาระอันหนักอึ้ง ในวันที่ชีวิตเล่นตลกจนขำไม่ออก เซเลนสกีต้องจัดการกับปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ ตั้งแต่ปัญหาการคอร์รัปชันที่เขาใช้เป็นนโยบายหลักในการหาเสียง อีกทั้งยังต้องยกเลิกสิทธิคุ้มครอง ส.ส. จากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และทำให้กระบวนการจัดซื้อของกองทัพให้มีความโปร่งใสมากขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้เซเลนสกีหนักใจไม่แพ้กันคือ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างรัสเซีย ที่มักจะส่งกองกำลังทหารมาประจำการอยู่บริเวณชายแดนยูเครนอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ กับกลุ่มติดอาวุธทางตะวันออก ในเขตดอนบาส ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย “งานแรกของเราคือบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในดอนบาส” พร้อมทั้งพูดเป็นนัยถึงรัสเซียว่า ชาวยูเครนต้องเป็นเหมือนชาวสวิส ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข แม้จะมีความเห็นต่าง (สำนักข่าว BBC วันที่ 20 พฤษภาคม 2019) ความแสบของเซเลนสกียังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะก่อนวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง เขาเสนอให้จัดพิธีในวันอาทิตย์ ซึ่งตรงกับวันรำลึกถึงเหยื่อผู้ถูกกดขี่ในยุคสตาลิน (อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต) แต่โชคดีที่รัฐสภาไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว เพราะไม่อย่างนั้นคงได้เห็นรัสเซียออกมาตอบโต้อะไรบางอย่างเป็นแน่ รัสเซีย-ยูเครน คลื่นแห่งความขัดแย้งที่พัดผ่านมาเป็นระยะ ขณะที่ทั่วโลกกำลังเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ 2022 โชคชะตากลับเล่นตลกกับยูเครนอีกครั้ง เพราะเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น รัสเซียได้ส่งกองกำลังทหารมากกว่า 100,000 นาย มาประจำการอยู่ที่ชายแดนรัสเซีย-ยูเครน เรียกได้ว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ที่เห็นเค้าลางความตึงเครียดมาแต่ไกล ผู้นำหลายประเทศต่างแสดงท่าทีเป็นกังวลต่อการกระทำที่ไม่ชอบมาพากลของรัสเซีย เนื่องจากยูเครนมีพรมแดนติดกับทั้งสหภาพยุโรป (อียู) และรัสเซีย ฉะนั้น การที่รัสเซียเริ่มมีท่าทีจะรุกรานยูเครน ย่อมทำให้อียูร้อน ๆ หนาว ๆ เพราะการสู้รบอาจแผ่ขยายเข้าไปในยุโรป และประเทศสมาชิกนาโตย่อมไม่อยู่เฉย หากรัสเซียกระทำการใด ๆ ที่รุนแรง “การคิดว่าสงครามจะจำกัดอยู่ในประเทศเดียว คงเป็นเรื่องที่โง่เขลา” เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยข่าวกรองชาติตะวันตกที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนกล่าวกับสำนักข่าว BBC ที่ผ่านมา รัสเซียได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าชาติตะวันตกจะต้องไม่รับยูเครน รวมทั้งอดีตประเทศในเครือรัฐเอกราชเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และต้องถอนการติดตั้งอาวุธทั้งหมดในภูมิภาคที่อาจเป็นภัยต่อรัสเซีย ตามคำมั่นสัญญาที่สมาชิกนาโตเคยลั่นวาจาไว้เมื่อปี 1990 ว่าจะไม่ขยายอิทธิพลมาทางโลกตะวันออก เมื่อเวลาผันเปลี่ยน คำสัญญาที่เคยให้ไว้ในอดีต กลับกลายเป็นเพียงคำพูดที่ผ่านเลยไป สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรไม่อาจทำตามข้อเรียกร้องที่รัสเซียร้องขอได้อีกต่อไป... พร้อมทั้งออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของรัสเซียว่า สิ่งที่นาโตกระทำลงไป เป็นเพราะต้องการปกป้องตัวเองจากภัยคุกคามที่รัสเซียพยายามก่อ ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อว่า กองกำลังทหารตามแนวชายแดนที่ติดกับยูเครน อาจเป็นความพยายามบีบบังคับให้ชาติตะวันตกทบทวนคำสัญญาที่เคยให้ไว้ในอดีตก็เป็นได้ แม้จะยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะเกิดภัยคุกคามซึ่งหน้า หรือประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซียจะส่งทหารบุกยูเครน แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงการณ์ชี้แจงถึงสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2022 ว่า รัฐบาลรัสเซียกำลังสร้างสถานการณ์ในปัจจุบัน ด้วยการวางกองกำลังทางทหารมากกว่า 100,000 นาย ไว้ใกล้ชายแดนของประเทศยูเครน โดยที่ฝั่งยูเครนไม่ได้กระทำการในลักษณะเดียวกัน ซึ่งประธานาธิบดีปูตินขู่ว่าจะ ‘ตอบโต้มาตรการทางการทหาร’ หากข้อเรียกร้องของเขาไม่เป็นไปตามที่ขอไว้ สถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ได้ออกมาตอบโต้แถลงการณ์ดังกล่าว โดยอธิบายในส่วนที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การส่งกองกำลังทหารราว 100,000 นาย มาประจำการอยู่ที่ชายแดนยูเครน เป็นการซ้อมรบทางทหารในอาณาเขตของตนเป็นประจำ และมีการตรวจสอบกองกำลังทหารอยู่เสมอ ต่างจากสหรัฐฯ ที่มักส่งกองกำลังติดอาวุธและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออก ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนสหรัฐฯ ออกไปหลายพันไมล์ ซึ่งอาจเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของยุโรปและเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากการส่งอาวุธและทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางทหารให้แก่ยูเครน ไม่ต่างจากการสนับสนุนให้รัฐบาลเคียฟดำเนินการบางอย่างต่อประชาชนเขตดอนบาส โดยมีเมืองลูฮานสค์ และเมืองโดเนตสค์ ทางภูมิภาคตะวันออกของยูเครน เป็นพื้นที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียให้การสนับสนุน อ่านแถลงการณ์ตอบโต้ข้อเท็จจริงระหว่างกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และสถานทูตรัสเซีย ฉบับเต็มได้ที่: https://www.facebook.com/RussiaInThai/posts/1889048444613005   โดยภายในช่วงเวลาเดียวกัน เซเลนสกีให้สัมภาษณ์กับวอชิงตัน โพสต์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2022 ไว้ว่า เขายินดีที่จะเจรจากับรัสเซีย เพื่อยุติปัญหาความตึงเครียดบริเวณชายแดนยูเครน  “ปูตินอายุไม่ใช่น้อย ๆ แล้ว ผมคิดว่าเขาควรคิดถึงตอนที่ลงจากตำแหน่งว่าจะหลงเหลืออะไรไว้ข้างหลังบ้าง ถ้าเขาตัดสินใจบุกรุกยูเครน มันจะเป็นแค่ชัยชนะเพียงชั่วคราวที่ประเทศหนึ่งมีชัยเหนืออีกประเทศหนึ่งเท่านั้น “ดินแดนของเราจะกลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ทั้งดินแดนในคาบสมุทรไครเมีย ที่ถูกผนวกเข้าเป็นของรัสเซียในปี 2014 และปัญหาความขัดแย้งในภาคตะวันออกที่รัสเซียให้การสนับสนุนอยู่” “เพราะสุดท้ายแล้ว ยูเครน-รัสเซียยังคงเป็นเพื่อนบ้านกันอยู่ดี เราควรมานั่งจับเข่าคุยกันเพื่อยุติปัญหา ซึ่งผมคิดว่าปูตินคงยินดีที่จะร่วมหาทางออกในประเด็นนี้ด้วยกัน”   ภาพ: Getty Images   อ้างอิง: https://www.bbc.com/news/world-europe-59667938 https://www.bbc.com/thai/international-59613434 https://www.bbc.com/thai/international-60137709 https://www.facebook.com/RussiaInThai/posts/1889048444613005 https://www.washingtonpost.com/outlook/2022/01/20/ukraine-russia-zelensky-interview/ https://www.nytimes.com/2019/09/25/world/europe/volodymyr-zelensky-facts-history-bio.html https://www.president.gov.ua/en/president/biografiya https://geohistory.today/volodymyr-zelensky-comedy-politics/ https://www.unian.info/society/zelensky-turns-43-biography-of-ukraine-s-youngest-president-photo-video-11296232.html