“พี่ต้องลา ล้าลา ลาล้า ลาลา....” เพลงร่ำลา ไวพจน์ เพชรสุพรรณ

“พี่ต้องลา ล้าลา ลาล้า ลาลา....” เพลงร่ำลา ไวพจน์ เพชรสุพรรณ
ไวพิด พึดตะเพชร (เฮ้ย...)  ไวเพชร พึดตะพัด (เฮ้ย...)  ไวพัด  พึดตะพุด (เฮ้ย....) ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ( ....เฮ้ย !......ถูกแล้ว)   มุกตลกคลาสสิคตั้งแต่ยุคคาเฟ่รุ่งเรือง ถึงวันนี้ เราก็ยังได้ยินวัยโจ๋นำมาเล่นอำกันสนุกสนาน ซึ่งเจ้าของนามคือ พ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณ รู้สึกยินดี ชอบอกชอบใจที่ลูกหลานนำมาล้อเลียน โดยที่เจ้าตัวไม่โกรธแม่แต่น้อย แต่หลังจากนี้ไป ไม่แน่ใจว่า จะมีใครกล้านำมาเล่นอีกไหม ในเมื่อเจ้าของเสียงเพลง ‘หยดน้ำสังข์หลั่งริน’ ที่นำมาขึ้นหัวเรื่อง ได้ลาจากไปตลอดกาลแล้ว   มาทำความรู้จักอย่างลึกซึ้งกับชีวิตที่ต่อสู้มาจนประสบความสำเร็จของนายพาน สกุลณี ชื่อเดิมของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติ ศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ในปี พ.ศ 2540 หนุ่มแห่งตำบลมะขามล้ม (ปัจจุบันเป็น ตำบลวังน้ำเย็น) อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งไตรมาสแรกของปีนี้ จะอายุครบ 80 ปี ซึ่งลูกศิษย์เตรียมตัวจัดงานครบรอบ 80 ปีให้  แต่ไม่ทันได้ทำก็มีข่าวร้ายเข้ามาเสียก่อน ก่อนหน้านั้น น้อยคนจะทราบว่า ท่านป่วยหนักอยู่โรงพยาบาล หากแต่ครอบครัวไม่ต้องการเปิดเผยข่าว ด้วยเกรงว่าจะเป็นการรบกวนลูกศิษย์ที่มีอยู่ทั้งวงการ ชีวิตวัยเด็กของ ด.ช.พาน ที่บ้านฐานะยากจนเพราะมีพี่น้องถึง 8 คน เรียนจบป.4 ก็ช่วยพ่อแม่ทำงานรับจ้างแบกของ ขุดดินไถนา ไม่เกี่ยงงาน แต่โชคดีที่มีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลง จนครูและเพื่อน ๆ ขนานนามว่า ‘พานเสียงทอง’ ตระเวนร้องเพลงประกวดชนะเลิศหลายแห่ง โดยใช้เพลงของ พร ภิรมย์ กับ คำรณ สัมปุณณานนท์ ชัยชนะ บุญนะโชติ ศิลปินแห่งชาติ ที่ถือได้ว่าเป็นอาจารย์ของไวพจน์ กล่าวว่า พานเคยมาอยู่ที่บ้านหลังไปรษณีย์บางกอกน้อย ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ 2-3 ปี ดูแลกันแบบพี่ชายน้องชาย พานชอบร้องเพลงแนวเสียงสมยศ ทัศนพันธ์ด้วย ช่วงนั้น ชัยชนะต้องไปเดินสายกับวงบางกอกชะชะช่า จึงฝากพานไว้กับชุติมา สุวรรณรัตน์ ซึ่งตอนนั้นไม่มีอะไรทำ พานจึงกลับบ้านที่สุพรรณบุรี ต่อมาเมื่อชัยชนะ บุญนะโชติ ได้เดินสายกับวงดนตรีจะเด็ด เมืองสุพรรณ มาเปิดทำการแสดงที่วัดสวนแตง  พานรู้ข่าวจึงไปหาหลังเวที โดยเดินไปหาจากบ้านวังน้ำเย็นมาตำบลสวนแตงระยะทางไกลถึง 6 กิโลเมตร ย้ำ...เดินมา ไม่ได้มีพาหนะอะไร พานได้บอกกับชัยชนะว่า เปลี่ยนแนวร้องเพลงใหม่แล้ว สามารถแหล่ได้ เพราะแม่เป็นแม่เพลงอีแซว ชัยชนะจึงบอกว่า ถ้างั้นก็ไปแหล่หน้าเวทีกับชัยชนะเลย แหล่ด้นกันสด ๆ ชัยชนะพบว่า เด็กคนนี้หัวดีมาก จึงตั้งชื่อให้ที่หน้าเวทีนั้นเลยว่า ไวพจน์  และนึกนามสกุลสด ๆ โดยตอนนั้นมีนักร้องชื่อ ก้าน แก้วสุพรรณ ก็เลยอยากดังให้เหนือ ‘แก้ว’ กลายเป็น ‘เพชร’ เสียเลย   นาม ‘ไวพจน์  เพชรสุพรรณ’ จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งนั้น แล้วไวพจน์ก็ตามมาชัยชนะมาอยู่กรุงเทพฯอีกรอบหนึ่ง ไปไหนก็ไปด้วยกัน   ชัยชนะ-ไวพจน์ ได้มาเดินสายกับวงดนตรีของครูสำเนียง ม่วงทอง ชัยชนะเป็นตั้งชื่อวงว่า ‘รวมดาวกระจาย’ ตอนที่นั่งสามล้อไปถึงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หมายความถึง การรวมดาวเสียงที่กระจายมารวมกัน ซึ่งตอนนั้นมียงยุทธ เชียวชาญชัยมาร่วมด้วย ภายหลังวงก็แยกกันเป็นสองวง โดยวงที่มีครูสำเนียงจะมีชัยชนะกับไวพจน์ เมื่อกลับจากเดินสายแสดงที่ภาคใต้ ชัยชนะจึงบอกครูสำเนียงว่า บันทึกเสียงให้ไวพจน์ได้แล้ว เพราะตอนนั้นไพรวัลย์ ลูกเพชร และวิภารัตน์ เปรื่องสุวรรณ ลาออกจากวงรวมดาวกระจาย ตอนนั้นเอง ชัยชนะมีเพลงชื่อ ‘บวชแล้วแคล้วรัก” ที่ดังอยู่ก่อน ครูสำเนียง จึงแต่งเพลง ‘ให้พี่บวชเสียก่อน’ ให้บันทึกเสียงเป็นเพลงแรก เมื่อปี 2507 (วันเดียวกันกับ เพลิน พรหมแดน บันทึกเสียงเพลง ‘บุญพี่ที่น้องรัก’) ไวพจน์ประสบความสำเร็จพอสมควร ครูสำเนียงได้แต่งเพลง ‘ทิดใหม่ใจเศร้า’ ให้อีก  แต่มาเกิดเต็มตัวกับเพลง ‘ตามน้อง’ แต่งโดยธร เมธา ช่วงนั้น ชัยชนะได้แต่งเพลง ‘สามปีที่ไร้นาง’ เก็บไว้ ไวพจน์ได้ยินแล้วชอบ จึงขอมาบันทึกเสียง กลายเป็นเพลงดังอีกเพลงหนึ่ง และยังมีเพลง ‘ห่วงลูก’ ‘กลับเถิดทูนหัว’ ‘หยดน้ำสังข์หลั่งริน’ ของครูสำเนียง ม่วงทอง และโด่งดังยิ่งขึ้นไปอีกกับเพลงสนุกตลก ๆ ของครูจิ๋ว พิจิตร เช่น ‘แบ่งสมบัติ’ ‘รักพิลึก’ ‘หน้าด้านหน้าทน’ เพลงบวชเกือบทั้งหมด เพลงที่คนจำได้แม่นอีกเพลงคือ ‘ไวพจน์ลาบวช’ ที่ขึ้นต้นเพลงว่า ‘21 มิถุนา ขอลาบวชแน่....’ ปี 2510 ไวพจน์ลาออกจากวงรวมดาวกระจายมาตั้งวงดนตรีเอง มีเพลงดังของครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ชื่อเพลง ‘แม่สาวคนโก้’ ‘สาละวันรำวง’ ซึ่งเพลงหลังนี้ ยอดจำหน่ายแผ่นเสียงมากถึง 70,000 แผ่น เป็นสถิติการจำหน่ายสูงสุดในยุคนั้น จนไวพจน์สามารถซื้อบ้านหลายแสนบาท มีฐานะมั่นคง และเพลงนี้ได้รับรางวัลพระราชทานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยครั้งที่ 1 วงดนตรีไวพจน์ มีนักร้องดังมากมาย อาทิ อาทิ ชัยชนะ บุญนะโชติ, ขวัญจิต ศรีประจันต์, ยงยุทธ  เชียวชาญชัย, ก้าน แก้วสุพรรณ, นิยม มารยาท, ขวัญใจ ศรีประจันต์, ทรายทอง ณ โคราช, พิกุล บุญนะโชติ, โชคดี ทวีชัย และเพชร โพธาราม ซึ่งคนหลังสุดนี้ ไวพจน์แต่งเพลง ‘ตชด.ขอร้อง’ ให้ขับร้องจนโด่งดัง  ช่วงปลาย ๆ ก่อนปิดวง พุ่มพวง ดวงจันทร์ (ใช้ชื่อขณะนั้นว่าน้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ) ได้มาอยู่ด้วยโดยไวพจน์เลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม ไวพจน์ได้แต่งเพลง ‘แก้วรอพี่’ ‘นักร้องบ้านนอก’ ให้น้ำผึ้งขับร้อง พุ่มพวงเคยกล่าวว่า ถ้าไม่มีไวพจน์ ก็ไม่มีพุ่มพวงในวงการอย่างแน่นอน ไวพจน์มีเพลงดังหลายยุค หลายครูเพลง เช่นเพลงของทองใบ รุ่งเรือง อย่างเพลง ‘แตงเถาตาย’ (รางวัลพระราชทานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยครั้งที่ 2) แต่ในช่วงที่ดังสุด ๆ ชีวิตก็มาสะดุด ในราวปี 2517 เมื่อถูกกรมสรรพกรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังหลักล้าน แต่ในที่สุดศาลก็เมตตาให้ผ่อนชำระ และพ้นจากการสั่งเป็นบุคคลล้มละลาย ช่วงนั้นไวพจน์ จึงมีเพลงชื่อ ‘ประนอมหนี้’ ออกมาแสดงความบริสุทธิ์ใจ ชีวิตช่วงนั้นถึงกับทรุดลงไป แต่แล้ว ปี 2520 ก็มีเพลง ‘หนุ่มนารอนาง’ ของครู สนิท มโนรัตน์ มาทำให้โด่งดังอีกครั้ง พร้อมกับเพลง ‘ลำเลาะทุ่ง’ โดยครูสุรินทร์ ภาคศิริ ที่ล้วนแต่เป็นเพลงดังที่ทำให้เกิดใหม่อย่างเต็มตัว และได้แสดงภาพยนตร์หลายเรื่อง จุดเปลี่ยนของชีวิตอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ ทองใบ รุ่งเรือง ได้ให้คำแนะนำไวพจน์ว่า ควรประกอบเป็นหมอทำขวัญนาคไปด้วย จนทำให้ไวพจน์กลายเป็นหมอทำขวัญอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย และเคยเป็นนายกสมาคมนักเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทยสมัยแรก จึงเป็นที่รักใคร่นับถือของคนในวงการ จนเรียกกันติดปากว่า ‘พ่อไวพจน์’ ของลูกๆทั้งวงการ โดยมีทายาทสืบสกุล 9 คน ชาย 4 หญิง 5 ‘พ่อไวพจน์  เพชรสุพรรณ’ กลับบ้านเก่าอย่างถาวรที่อำเภอบางปลาม้า ห่างเพียง 20 กิโลเมตรจากบ้านเกิดของ ‘อาศรเพชร ศรสุพรรณ’ นักร้องรุ่นน้องที่สนิทกันที่กลับบ้านเก่าไปก่อนหน้าเพียง 5 วัน     ***ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต  เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ที่โรงพยาบาลตากสิน กรุงเทพฯ ทางผู้เขียนและกองบรรณาธิการ The People ขอแสดงความเสียใจแด่ครอบครัวและวงการเพลงลูกทุ่งการสูญเสีย ‘เพชร’ แห่งวงการเพลงลูกทุ่งในครั้งนี้   เรื่อง: เคน สองแคว