02 เม.ย. 2562 | 15:42 น.
เมื่อใดก็ตามที่มีการเสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแล้วให้หันไปใช้ระบบสมัครใจ นอกจากจะมีคนค้านว่าการเกณฑ์ทหารเป็นหน้าที่ของ ชายชาติทหาร (แม้หญิงชายจะเท่าเทียมในสังคมยุคใหม่) หรือเป็นระบบที่เป็นธรรมต่อทั้งคนจนคนรวยแล้ว อีกหนึ่งในเหตุผลสำคัญก็คือ ถ้าเปลี่ยนจากการเกณฑ์ทหารไปสู่การรับสมัครอย่างเดียว กองทัพจะต้องจ่ายเงินค่าจูงใจที่สูงมากถึงจะสามารถโน้มน้าวให้ประชาชนยอมละทิ้งหน้าที่การงานมาสมัครงานเข้ากองทัพ
ที่สหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน ในช่วงสงครามเวียดนามกองทัพสหรัฐฯ ต้องพึ่งพากำลังทหารเกณฑ์นับล้านนาย แม้ว่ากำลังทหารในพื้นที่สู้รบจะมาจากกลุ่มทหารเกณฑ์เพียงหนึ่งในสี่ แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์ต่อต้านสงครามขึ้นมา ระบบการเกณฑ์ทหารก็ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ และมีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกหันไปใช้ระบบสมัครใจแทน
แน่นอนว่า ตอนแรกบรรดาทหารระดับสูงและผู้กุมนโยบายกลาโหมสมัยนั้นได้ฟังแล้วก็ได้แต่ส่ายหัวบอกว่าข้อเสนอดังกล่าว ทำไม่ได้ในเชิงปฏิบัติ เพราะมันจะสร้างภาระด้านงบประมาณอย่างมหาศาล
จนกระทั่ง วอลเตอร์ โอย (Walter Oi) นักเศรษฐศาสตร์ตาบอดเชื้อสายญี่ปุ่นกับเพื่อนร่วมวิชาชีพได้พิสูจน์ให้เห็นว่า จริง ๆ แล้วการเกณฑ์ทหารนั้นมีค่าใช้จ่ายแฝงที่สูงกว่า และยังมีประสิทธิภาพต่ำกว่าระบบสมัครใจ จนสุดท้ายรัฐสภาสหรัฐฯ ก็เห็นชอบให้ยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารไปในปี 1973
โอยเป็นคนที่โชคร้ายคนหนึ่ง เขาเกิดเมื่อปี 1929 ขึ้นชั้นประถม 4 ก็เริ่มมีปัญหาสายตา เข้าสู่วัยรุ่นญี่ปุ่นประกาศสงครามกับสหรัฐฯ จึงทำให้เขาซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นถูกเพ่งเล็งด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจและถูกส่งตัวเข้าไปใช้ชีวิตในค่ายกักกัน
และด้วยปัญหาสายตาที่ย่ำแย่จึงเป็นส่วนจำกัดเส้นทางในการประกอบอาชีพของเขาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เขาเคยคิดที่จะเรียนด้านวิทยาศาสตร์แต่กลัวว่าสายตาจะเป็นอุปสรรค ด้วยความถนัดในวิชาเลขทำให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนด้านเศรษฐศาสตร์แทน ก่อนจบดอกเตอร์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโกในปี 1961 โอยเริ่มงานด้านวิชาการเป็นงานแรก ๆ กับมหาวิทยาลัยไอโอวา
เดวิด เฮนเดอร์สัน ที่เคยได้ร่วมงานกับเขาที่มหาวิทยาลัยรอเชสเตอร์ (University of Rochester) เล่าว่า ตอนนั้นโอยได้รับตำแหน่งในสัญญาระยะสั้นแต่ก็มีโอกาสได้ต่อสัญญาระยะยาว ในขณะเดียวกันสายตาของโอยเริ่มแย่จนแทบบอดสนิท ซึ่ง ณ ตอนนั้นการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการไม่ใช่อาชญากรรม ทำให้เขามีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างได้ง่าย ๆ แต่เขาก็ไม่ได้สนใจในความเสี่ยงดังกล่าว และนั่นก็ก่อให้เกิดปัญหาด้วย
ขณะนั้นเพื่อน ๆ ในคณะพากันเชียร์ให้นักศึกษาเลือกเรียนในสาขาธุรกิจการเกษตร ด้วยการบอกว่าธุรกิจนี้จะมีอนาคตที่สดใสยิ่งนัก
เมื่อมีการประชุมคณะเขาก็ซัดผู้ที่เชียร์เรื่องนี้ว่าไม่จริงใจและหมกเม็ด เพราะธุรกิจการเกษตรกำลังเข้าช่วงขาลงแล้ว และจากการไปฟาดฟันกับเพื่อนร่วมคณะ ปีการศึกษาต่อมาเขาก็ตกงาน
ส่วนเรื่องที่เขามาทำงานวิเคราะห์ระบบเกณฑ์ทหารนั้น เบื้องต้นถือเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะตอนปี 1964 เขาอยู่กับมหาวิทยาลัยวอชิงตันและพยายามหาทุนวิจัยเรื่องการท่องเที่ยวในฮอนโนลูลูอยู่ แต่เรื่องเงียบ ๆ ไป
เมื่อเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมมาทาบทามให้ศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ของการเกณฑ์ทหาร เขาจึงรับงานนี้ไว้ งานวิจัยของเขาเสร็จสิ้นในปี 1965 แต่ทางกลาโหมเมื่อได้เห็นรายงานแล้วก็เอาหมกไว้ ด้วยกลัวว่าหากเผยแพร่ออกไปจะทำให้ทางกระทรวงลำบากเสียเอง เพราะตอนนั้นสงครามเวียดนามกำลังคุกรุ่น เมื่อทางกลาโหมต้องแจ้งรายงานการศึกษาชิ้นนี้ต่อคณะกรรมการกิจการทหารของสภาผู้แทนราษฎร จึงมีการเปิดเผยเพียงเนื้อความบางส่วนของรายงาน
โดยเฉพาะข้อที่ว่า การยกเลิกเกณฑ์ทหารจะนำไปสู่การเพิ่มรายจ่ายกว่า 8 ถึง 9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทางกลาโหมมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ ผลงานของเขามาเป็นที่รับรู้ต่อภายนอก เมื่อทางมหาวิทยาลัยชิคาโกจัดงานประชุมว่าด้วยเรื่องเกณฑ์ทหาร ซึ่งมีนักวิชาการดัง ๆ หลายคนมาร่วมงาน รวมถึงตัวแทนของกระทรวงกลาโหม
ในงานนี้ฝ่ายสนับสนุนระบบเกณฑ์ทหารพยายามชี้ถึงข้อเสียว่าระบบสมัครใจจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ขณะเดียวกันก็ยังทำให้กองทัพกลายเป็นกองทัพคนดำที่ยากจน สมรรถภาพการรบของกองทัพจะต่ำลง และยังขาดบุคคลากรที่มีความชำนาญบางสาขามาร่วมกองทัพ
เมื่อได้ขึ้นเวที โอยจึงมีโอกาสได้โต้แย้งข้อบกพร่องของข้ออ้างด้านค่าใช้จ่าย โดยชี้ว่า การเกณฑ์ทหารนั้นยังมีค่าใช้จ่ายทางสังคมและภาษีซ่อนเร้นอยู่ กล่าวคือ ทหารเกณฑ์แม้จะมีค่าแรงต่ำกว่าทหารอาสาสมัคร แต่นั่นก็เพราะเงินเดือนทหารเกณฑ์มิได้คำนวณค่าเสียโอกาสที่บุคคลดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้ได้ในช่วงเวลาที่ต้องเข้าประจำการ
เงินจำนวนนี้ที่ทหารเกณฑ์พึงได้แต่กลับไม่ได้ ก็เหมือนเป็น “การจ่ายภาษี” ให้กับรัฐเป็นจำนวนมหาศาล ส่วนผู้ที่ไม่อยากเป็นและหาทางประวิงเวลาออกไป ก็จะทำให้พวกเขาถูกนายจ้างเลือกปฏิบัติและมักตกงาน
ขณะที่ระบบอาสาสมัครนั้น เมื่อมีการเสนอเงินเดือนโดยบวกค่าชดเชยที่พวกเขาพึงได้เพื่อจูงใจให้คนสมัครเข้ากองทัพอย่างเพียงพอแล้ว จำนวนผู้สมัครก็จะเพิ่มมากขึ้นจนทดแทนระบบเดิมได้ โอกาสที่ทหารอาสาสมัครจะรับใช้ชาติต่อระยะยาวเกินกว่า 4 ปี ก็จะเพิ่มขึ้นราว 25% กองทัพจึงสามารถลดกำลังพลลงได้อีก เนื่องจากไม่จำเป็นต้องฝึกทหารใหม่แทนรายเก่าที่ลาทัพ ขนาดของกองทัพก็จะไม่เทอะทะและมีความพร้อมรบยิ่งกว่าการพึ่งพาทหารใหม่ไร้ประสบการณ์
เหตุผลของโอยได้รับการยอมรับและสามารถเปลี่ยนใจบรรดานักวิชาการผู้ที่สนับสนุนระบบเกณฑ์ทหารได้หลายคน และในปี 1970 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ก็ได้ยื่นร่างกฎหมายต่อสภาคองเกรสเพื่อบังคับใช้ระบบอาสาสมัคร แต่ตอนนั้นสมาชิกสภาจำนวนมากยังต่อต้านความพยายามนี้อยู่ทำให้ยังไม่สามารถผ่านสภามาได้
จนกระทั่งปีต่อมา โอยได้ขึ้นเบิกความกับคณะกรรมการกิจการทหารของสภาผู้แทนฯ ซึ่ง จอห์น เจ. ฟอร์ด หนึ่งในคณะกรรมการเล่าว่า ความรอบรู้และแม่นยำในข้อมูลของโอย ทำให้เขาสามารถโต้แย้งตัวแทนของกลาโหมได้หมดจด จนทำให้ทางคณะกรรมการฯ วางใจ และสามารถผ่านกฎหมายกองทัพอาสาสมัครมาได้ในปลายปี 1971 ก่อนที่ระบบเกณฑ์ทหารจะยกเลิกไปในปี 1973
หลังมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบคัดเลือกกำลังพลของกองทัพแล้ว โอยยังคงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐต่อมาในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานทั้งหน่วยงานกลาโหม กิจการสนับสนุนแรงงานคนพิการ และสิทธิสตรี ก่อนเสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยวัย 84 ปี ที่บ้านพักในไบรตัน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2013
ที่มา:
https://www.rochester.edu/news/show.php?id=8002 https://www.rand.org/content/dam/rand/pubs/monographs/MG265/images/webS0236.pdf
https://bfi.uchicago.edu/news/news/remembering-walter-oi-1929-2013 https://www.hoover.org/research/legacy-walter-oi-1929-2013
https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/10242694.2015.1111602