พระองค์วรรณฯ ผู้บัญญัติศัพท์ “ประชาธิปไตย” เเละ “รัฐธรรมนูญ” 

พระองค์วรรณฯ ผู้บัญญัติศัพท์ “ประชาธิปไตย” เเละ “รัฐธรรมนูญ” 
“ประชาธิปไตย” เเละ “รัฐธรรมนูญ” เป็นคำที่เราได้ยินกันมานานถึง 87 ปี โดยในตอนเเรกเราไม่มีคำไทยเเละใช้เพียงคำทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ ว่า  “คอนสติติวชั่น”  เเละ “เดโมเครซี่”  พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือที่นิยมเรียกกันว่า “พระองค์วรรณฯ” ่เป็นผู้บัญญัติคำไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “ธนาคาร” (Bank) “สงคราม” (War) เเละคำที่คนไทยโหยหากันอย่าง “รัฐธรรมนูญ” (Constitution) เเละ “ประชาธิปไตย” (Democracy) เช่นกัน  พระองค์วรรณฯ ประสูติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2439 ระดับมัธยมทรงสอบไล่ได้อันดับที่ 1 ในขณะที่ทำการศึกษาอยู่ที่โรงเรียนราชวิทยาลัย จนได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนที่โรงเรียนประจำที่อังกฤษ ชื่อ Marlborough College เเละทรงได้รับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด (University of Oxford) ในสาขาประวัติศาสตร์ จากนั้นเดินทางไปศึกษาวิธีทางการทูตต่อที่ประเทศฝรั่งเศส จนสอบได้ประกาศนียบัตรวิธีทางการทูตใน พ.ศ.2470  หลังจากสำเร็จการศึกษากลับมาก็รับบทบาทด้านการเมืองเเละการระหว่างประเทศมากมาย ความตั้งใจในการบัญญัติคำดังกล่าวคือการที่พระองค์ทรงมองเห็นความสำคัญของภาษาเเละวัฒนธรรมไทย ได้มองว่าถ้าเราใช้คำทับศัพท์จะเป็นการไปเลียนเเบบต่างชาติ เเต่ถ้าเรามีคำไทยเป็นของตัวเองจะเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับประเทศชาติได้เเละเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนควรจะเข้าใจคำทั้งสอง ถ้าเป็นภาษาไทยจะสร้างความเข้าใจได้มากกว่า  ตระหนักได้ดังนั้น จึงตั้งหนังสือพิมพ์ประชาชาติขึ้นมาเพื่อเป็นกระบอกเสียงเเละให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยเเก่ประชาชน เพื่อให้พวกเขาตระหนักถึงสิทธิเเละหน้าที่ของตน  “ข้าพเจ้าเล็งเห็นถึงความจำเป็น ที่จะชี้เเจงให้ประชาชนเข้าใจหลักประชาธิปไตยที่ว่า รัฐบาลเป็นของประชาชน โดยประชาชน เเละเพื่อประชาชน หรือว่าอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชนชาวไทย”  พระองค์วรรณฯ ทรงกล่าว ในฐานะผู้บัญญัติคำจึงทำให้พระองค์เเสดงวิสัยทัศน์ที่มีต่อประชาธิปไตยเสมอ อย่างการเเสดงความไม่เห็นด้วยกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เรื่องการตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นมาเป็นคณะที่ปรึกษาในพระองค์ ตามเเบบอย่างของเกนโร อันเป็นที่ปรึกษาของจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงได้ให้อำนาจเเก่อภิรัฐมนตรีในการเข้าร่วมประชุมในสภาเเละมีอำนาจเหนือเสนาบดีสภา ซึ่งถึงเเม้ว่าเป็นส่วนน้อยในสภาเเต่ก็สามารถส่งผลต่อการตัดสินใจของเสียงส่วนมากได้  “ทั้งนี้ผิดหลักความรับผิดชอบโดยเเท้ การที่อภิรัฐมนตรีเป็นเจ้านายชั้นสูง เเละพระชนม์ก็อาจจะสูงด้วย จึงห่างเหินออกไปในการเป็นไปในบ้านเมือง ห่างเหินจากความทันสมัยเเละความทุกข์สุขของราษฎร”  คำกล่าวของพระองค์ข้างต้นทำให้สะท้อนถึงการสนับสนุนประชาธิปไตย จากการที่ได้นำหลักหนึ่งในประชาธิปไตยคือ หลักความรับผิดชอบ (Accountability) ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ในการใช้อำนาจใด ๆ ต้องสามารถอธิบายเเละตรวจสอบได้ มาใช้เป็นข้อโต้เเย้งการตั้งอภิรัฐมนตรี  นอกจากนั้นยังถวายความเห็นให้รัชกาลที่ 7 เตรียมรับการเปลี่ยนเเปลงไปสู่ “การปกครองในระบอบประชาธิปไตย” เนื่องจากเชื่อว่ากระเเสการปกครองเเบบนี้จะเข้าสู่ประเทศไทยในอีกไม่นานนี้ ซึ่งตอกย้ำความเห็นด้วยกับประชาธิปไตยเเละความคาดการณ์ว่าสุดท้ายเเล้วประชาธิปไตยจะเกิดขึ้น เเต่กระนั้นพระองค์ทราบดีว่ารัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยไม่สามารถเกิดได้ในชั่วข้ามคืน เพราะฉะนั้นต้องดำเนินอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามหลักการเเละต้องอาศัยการสร้างนักการเมืองที่รอบรู้เเละเข้าใจในหลักวิชาทางการเมืองอย่างเเท้จริง  “ระบอบรัฐธรรรมนูญไม่ใช่ระบอบโลดโผน เเต่เป็นระบอบที่ต้องการความมั่นคงถาวร เเละดำเนินการด้วยความสุขุม ละเอียดลออ งานบางอย่างอาจจะทำได้ช้า เเต่สิ่งใดทำไปเเล้วต้องเเน่ใจว่าเราได้พินิจพิเคราะห์โดยรอบข้าง” มาจนถึงปัจจุบันนี้ก็อาจจะพิสูจน์หลักความคิดของพระองค์วรรณฯ เเล้วว่า ประชาธิปไตยเองต้องใช้เวลา อย่างไทยเราเองก็ได้ฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ มากมายในการสร้างประชาธิปไตย เเต่ไม่ใช่เพียงเเค่นั้นต้องเป็นประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศไทยด้วย หรือเรียกอีกอย่างว่า “ประชาธิปไตยเเบบไทย” ดังที่พระองค์เคยกล่าวไว้ว่า “ประชาธิปไตยเป็นเเนวคิดที่มาจากต่างประเทศ เเต่เมื่อนำมาใช้ในประเทศก็ต้องหาเเบบที่เหมาะสมให้กับประเทศไทยเเละคนไทย จะต้องมีการดัดเเปลงให้เหมาะสม ไม่ใช่ถ่ายเอาของต่างประเทศมาเป็นดุ้น ๆ ด้วยเหตุนี้เเหละเรื่องของประชาธิปไตยเเบบไทย จึงไม่ใช่เเค่เรื่องของไทยเท่านั้น เเต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบอบการปกครองที่มีมาเเล้ว หรือที่มีอยู่ในต่างประเทศด้วย”   กล่าวคือต้องประสานเเนวคิดระหว่างประชาธิปไตยเเบบไทยเเละสากล อย่างรัฐธรรมนูญเองประเทศไทยเราก็ยังมีความพยายามที่จะหาฉบับที่ใช่อยู่ ตอนนี้เราก็ได้ลองผิดลองถูกกันมาเเล้วถึง 20 ฉบับ เเละต้องคอยดูกันต่อไปว่าฉบับล่าสุดจะตอบโจทย์ประเทศไทยหรือไม่  ความคิดสนับสนุนประชาธิปไตยของพระองค์ไม่ได้ถูกยอมรับ ด้วยความที่พระองค์มีความคิดเเตกต่างจาก “เจ้า” คนอื่น ๆ ในสมัยนั้น สำหรับชนชั้นสูงมองว่าการที่ผู้มีฐานะเป็นหม่อมเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นล่างสุดของเจ้า มาสนับสนุนประชาธิปไตยเเละรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการทรยศต่อสายเลือด เป็นสาเหตุสำคัญให้พระองค์ต้องออกจากข้าราชการไปก่อนช่วงเปลี่ยนเเปลงการปกครองไม่นาน (ก่อนกลับมารับราชการอีกครั้งในภายหลัง และสร้างความชอบจนได้เลื่อนฐานันดรขึ้นตามลำดับ)  สุดท้ายแล้วการแสดงความคิดเห็นในเรื่อง “ประชาธิปไตย” ของพระองค์ สะท้อนถึงความสำคัญของประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญและความใส่ใจที่มีต่อประชาชน ด้วยความหวังที่อยากให้ประชาชนเข้าใจถึงความหมายและความสำคัญของประชาธิปไตย ซึ่งในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบใหม่นี้ถือว่าเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่คุ้นเคยและเชื่อว่าการปฏิวัติไม่ได้เปลี่ยนแค่รูปแบบการปกครองเท่านั้นยังเปลี่ยนวิถีชีวิตของประชาชนอีกด้วย “พอเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ฉันก็เล็งเห็นว่าไม่ใช่เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาติไทยทีเดียว มีหลักมูลแห่งวัฒนธรรมของเรา จะเปลี่ยนแปลงไปในทางประชาธิปไตย”   เรื่อง : อนัญญา นิลสำริด (The people junior)   ที่มา : โครงการตำราสังคมศาสตร์เเละมนุษย์ศาสตร์ วรรณ ไวทยากร ประวัติศาสตร์เเละวัฒนธรรม โดย พระยามานวราชเสวี นางเเถมสุข นุ่มนนท์ นายเตช บุญนาค เเละนายพัทยา สายหู  ความคิดทางการเมืองของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ โดย นายกีรติ กล่อมดี  https://1th.me/43h8 https://1th.me/iiBY https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1077360/the-prince-of-diplomacy https://1th.me/jDNW http://www.mfa.go.th/asean/EBOOK/files/basic-html/page62.html https://1th.me/zGee