เหยื่อผู้บริสุทธิ์และโทษประหาร: ผลจากสงครามกระแสไฟ "เอดิสัน - เวสติงเฮาส์, เทสลา"

เหยื่อผู้บริสุทธิ์และโทษประหาร: ผลจากสงครามกระแสไฟ "เอดิสัน - เวสติงเฮาส์, เทสลา"
ในปี 1884 นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) นักประดิษฐ์หนุ่มเชื้อสายเซอร์เบียพกเงินติดตัวสี่เซนต์มุ่งหน้าอพยพมาทำมาหากินในสหรัฐฯ และได้มาเป็นลูกจ้างให้กับ โทมัส เอดิสัน (Thomas Edison) ที่ตอนนั้นได้ชื่อว่าเป็นยอดนักประดิษฐ์แห่งยุคแล้ว ด้วยผลงานจากสิ่งประดิษฐ์มากมาย โดยเฉพาะ การ "พัฒนา" หลอดไฟให้สามารถใช้งานได้จริง (เขาไม่ใช่คนต้นคิด แต่มีส่วนพัฒนาให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ)  เทสลาชื่นชมเอดิสันมาก ในหนังสืออัตชีวประวัติเขาพูดถึงเอดิสันว่า "การได้พบกับเอดิสันเป็นหนึ่งในจังหวะชีวิตที่น่าจดจำของผม ผมรู้สึกทึ่งในชายที่แสนมหัศจรรย์คนนี้ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย ทั้งที่ช่วงต้นของชีวิตเต็มไปด้วยอุปสรรค และยังขาดการอบรมศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์"  แต่เทสลาทำงานให้เอดิสันได้ไม่นานก็ลาออก โดยเขาให้เหตุผลว่าเขาโดนหลอกให้ออกแบบเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้ารุ่นใหม่ ซึ่งเขาก็ทุ่มเทออกแบบแบบหามรุ่งหามค่ำจนได้แบบร่างกว่า 24 แบบ แต่สุดท้ายกลับไม่ได้ค่าตอบแทนพิเศษตามสัญญาสักแดงเดียว  "ผู้จัดการให้สัญญากับผมว่า ถ้าทำงานเสร็จจะให้เงิน 50,000 ดอลลาร์ แต่สุดท้ายกลายเป็นการแกล้งกันเสียอย่างนั้น ผมนี่ช็อกเจ็บอกมากเลยตัดสินใจลาออก" เทสลากล่าว หลังออกจากบริษัทของเอดิสันไปแล้ว เทสลาก็มุ่งมั่นพัฒนาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและระบบกระแสสลับ ซึ่งตรงกันข้ามกับระบบเดิมของเอดิสันเจ้านายเก่าที่เป็นแบบกระแสตรง ก่อนขายสิทธิบัตรให้ จอร์จ เวสติงเฮาส์(George Westinghouse) ในปี 1888 คู่แข่งคนสำคัญของเอดิสันเอาไปใช้ผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ จนกลายเป็นที่มาของ  "สงครามกระแสไฟ" (War of the Currents) สงครามกระแสไฟเป็นการต่อสู้ทางการค้าที่รุนแรง ชนิดที่คู่แข่งทางการค้าสมัยปัจจุบันเทียบไม่ติด (ซึ่งคงเทียบกับกรณีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับ Huawei ผู้ผลิตมือถือรายใหญ่จากจีนไม่ได้ ด้วยไม่ใช่คู่แข่งทางการค้าโดยตรง) เพราะเอดิสันนั้นได้ชื่อว่าเป็นคนที่อีโก้จัดยอมแพ้ใครไม่เป็น (ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จได้) เมื่อเห็นคู่แข่งลุกขึ้นมาท้าทาย เขาจึงใช้โฆษณาชวนเชื่อทำลายภาพลักษณ์ของคู่แข่ง  ก่อนหน้าที่ระบบไฟฟ้ากระแสสลับจะได้การยอมรับอย่างปัจจุบันนั้น เอดิสันที่สามารถผลิตหลอดไฟเพื่อการพาณิชย์ได้สำเร็จในช่วงต้นทศวรรษ 1880 ได้กลายมาเป็นผู้ผูกขาดสินค้าที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ตั้งแต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้า สายไฟ และหลอดไฟ โดยมีนครนิวยอร์กเป็นฐานลูกค้าแห่งแรก (ปี 1882 ที่เขาเปิดตัวที่นี่เขาหาลูกค้าได้ 59 ราย) และเขาก็คาดหวังว่าทั่วทุกเมืองจะสว่างไสวด้วยแสงไฟจากระบบไฟฟ้ากระแสตรงของเขา แต่ระบบไฟฟ้ากระแสตรงของเอดิสันมีข้อบกพร่องสำคัญก็คือ การส่งกระแสไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังไอน้ำไปยังถนนหนทางหรือบ้านเรือนทำได้ไกลเต็มที่ก็แค่หนึ่งถึงสองกิโลเมตรเท่านั้น ขณะที่ระบบไฟฟ้ากระแสสลับที่พัฒนาโดยเทสลาที่สร้างแรงดันกำลังสูงสามารถส่งไฟฟ้าไปได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตรโดยแทบไม่สูญเสียพลังงาน  ดังนั้นถ้าจะใช้ระบบไฟฟ้ากระแสตรงก็จำเป็นที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าในทุก ๆ เมือง เมืองละหลายแห่ง แต่ถ้าใช้ระบบไฟฟ้ากระแสสลับก็สามารถสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สามารถส่งกระแสไฟเป็นระยะทางไกลไปถึงต่างเมืองได้ เอดิสันที่เป็นเจ้าตลาดอยู่หลายปีเมื่อเห็นผู้ท้าชิงอนาคตไกลขึ้นสังเวียนก็รีบสกัดดาวรุ่งด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่า ไฟฟ้ากระแสสลับอันตรายกว่าไฟฟ้ากระแสตรงของเขาหลายเท่า โดยเฉพาะการวางสายไฟยกสูงในที่สาธารณะ ในขณะที่ระบบของเอดิสันเน้นความปลอดภัยและใช้การวางสายใต้ดินเป็นหลัก ซึ่งในทางทฤษฎีก็เป็นเรื่องจริง (ต้องเสริมด้วยว่าอันตรายของไฟฟ้านั้นอยู่ที่กระแส [แอมแปร์] ไม่ใช่แรงดัน [โวลต์] ไฟฟ้าแรงดันต่ำก็เป็นอันตรายต่อชีวิตได้เช่นกัน - Ohio State University) แต่เขาไม่จบลงแค่นั้น เขายังให้การสนับสนุนการพิสูจน์ต่าง ๆ เพื่อให้สาธารณะได้เห็นถึงอันตรายของกระแสไฟฟ้าอย่างสุดโต่ง แฮโรลด์ บราวน์ (Harold Brown) ผู้ช่วยของเอดิสันเริ่มทำการทดลอง "ประหารด้วยกระแสไฟ" ต่อหน้าสาธารณะ เขาจ้างให้เด็ก ๆ ไปจับหมาแมวเร่ร่อนมาให้ รวมไปถึงการหาสัตว์ใหญ่อย่างม้ามาฆ่าด้วยการปล่อยไฟฟ้ากระแสสลับเข้าร่างของสัตว์ที่โชคร้ายจนถึงแก่ความตาย เพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้เห็นถึงอันตรายของกระแสไฟฟ้าของคู่แข่ง  ไม่เพียงเท่านั้น เอดิสันที่ประกาศต่อสาธารณะว่าเขาไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร กลับให้การสนับสนุนการผลิตเก้าอี้ไฟฟ้าที่ใช้ในการประหารนักโทษ เพียงเพื่อเอาชนะในเกมการค้าคราวนี้ เรื่องราวเริ่มมาจาก อัลเฟรด เซาธ์วิก (Alfred Southwick) หมอฟันจากบัฟฟาโลไปได้ยินข่าวมาว่า มีคนเมาเดินไปจับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแล้วตายคาที่ เขาที่ต้องการหาวิธีประหารชีวิตนักโทษด้วยวิธีการที่มี "มนุษยธรรม" มากกว่าการแขวนคอรู้เข้าก็เกิดความสนใจ จึงเขียนจดหมายไปถามเอดิสันว่า ถ้าจะประหารมนุษย์ด้วยไฟฟ้าต้องทำอย่างไรจึงจะได้ผลดีที่สุด ตอนแรกเขาตอบไปว่า เรื่องนี้เขาไม่ขอยุ่งเนื่องจากต้องการเห็นโทษประหารหมดไป แต่เซาธ์วิกไม่ยอมแพ้ส่งจดหมายตื๊อมาอีก เอดิสันเลยบอกว่า เครื่องมือที่ดีที่สุดเห็นจะเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับของจอร์จ เวสติงเฮาส์ นั่นเอง "วิธีคิดของเอดิสันช่างวิปริต มันทั้งป่าเถื่อนขณะเดียวกันก็ถือได้ว่าฉลาดล้ำ ถ้าเขาทำให้โลกเห็นว่ากระแสสลับของเวสติงเฮาส์คือเครื่องสังหารที่รวดเร็วและทรงประสิทธิภาพ ระบบของเขาก็จะถูกมองว่าปลอดภัยกว่า และยังช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของเขาขึ้นไปอีก" ไมเคิล โรเซนวัลด์ (Michael Rosenwald) แสดงความเห็นใน The Washington Post  เพื่อให้เป็นไปตามแผน เครก แบรนดอน (Craig Brandon) ผู้เขียนเรื่อง "The Electric Chair: An Unnatural American History" หนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเก้าอี้ประหารไฟฟ้า อ้างว่า เอดิสันได้แอบสนับสนุนวิศวกรรายอื่นให้เร่งประดิษฐ์เก้าอี้ประหารไฟฟ้านี้ขึ้นมา เพื่อให้แน่ใจว่ามันจะต้องใช้ไฟฟ้ากระแสสลับของคู่แข่ง (เพราะจริง ๆ แล้วไฟฟ้ากระแสตรงก็เป็นอันตรายต่อชีวิตได้เช่นกัน หากมันถูกส่งผ่านหัวใจ - Science Focus เมื่อทางเวสติงเฮาส์รู้เรื่อง จึงดิ้นรนพยายามให้เก้าอี้ไฟฟ้ากระแสสลับไม่ถูกนำมาใช้ในการประหาร โดยเขาหมดเงินเพื่อช่วยจำเลยสู้คดีไปกว่า 100,000 ดอลลาร์ (The Washington Post แต่ฝ่ายที่สมหวังก็คือ เอดิสัน หลังการทดสอบด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าฆ่าสัตว์น้อยใหญ่จนเป็นที่พอใจแล้วทางการนิวยอร์กจึงตัดสินใจใช้เก้าอี้ไฟฟ้าจากไฟฟ้ากระแสสลับมาเป็นเครื่องมือประหารชีวิตแทนการแขวนคอ เหยื่อรายแรกของเครื่องประหารรุ่นใหม่ (ที่ได้เอดิสันเป็นสปอนเซอร์) คือ วิลเลียม เคมม์เลอร์ (William Kemmler) นักโทษประหาร อดีตพ่อค้าหาบเร่ขี้เมาจากสลัมในย่านบัฟฟาโลที่ใช้ขวานจามภรรยาโดยพฤตินัย (คืออยู่กินกันฉันสามีภรรยาแต่ไม่ได้แต่งงานตามกฎหมาย) จนถึงแก่ความตาย เขาถูกพาขึ้นเก้าอี้ประหารในวันที่ 6 สิงหาคม 1890 ถูกมัดแขนขาด้วยเข็มขัดหนัง และถูกโกนศีรษะอย่างเกลี้ยงเกลาเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคกับการเดินทางของกระแสไฟ ที่ถูกปล่อยจากขั้วโลหะที่ทำเป็นหมวกครอบศีรษะ  เมื่อมีการให้สัญญาณลงมือประหาร ทันทีที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ชันสูตรบันทึกว่า "ไหล่ของเขาค่อย ๆ ยกขึ้น ซึ่งเป็นอาการที่พบบ้างในคนที่ถูกแขวนคอ" ก่อนที่กระแสไฟฟ้าจะหยุดจ่ายหลังระยะเวลาผ่านไปประมาณ 17 วินาที เมื่อแพทย์สองรายที่เป็นสักขีพยานเข้าไปตรวจชีพจรก็ประกาศว่า นักโทษประหารถึงแก่ความตายแล้ว แต่ทันใดนั้น สักขีพยานรายอื่น ๆ กลับสังเกตเห็นว่า เคมม์เลอร์นักโทษประหารหาได้สิ้นลมแล้วไม่ ดร.ลูอิส บัลช์ (Lewis Balch) เลขาธิการคณะกรรมการสาธารณสุขรัฐนิวยอร์กที่อยู่ในเหตุการณ์ได้บันทึกไว้ว่า "ไม่กี่วินาทีหลังตัดการเชื่อมต่อกระแสไฟ สัญญาณชีวิตของเขาก็กลับมา สติยังไม่มี แต่หัวใจและปอดเริ่มกลับมาทำงานอย่างอ่อน ๆ หายใจลำบาก ต้องหายใจทางปาก ขณะเดียวกันก็เห็นน้ำมูกน้ำลายไหลฟูมออกจากปาก" ผู้ชมรายอื่นพากันแตกตื่นโหวกเหวกบอกให้ปล่อยกระแสไฟซ้ำ บ้างก็ร้องไห้ออกมา แต่เครื่องปั่นไฟต้องใช้เวลาพักตัวนานหลายนาที ก่อนที่จะปล่อยกระแสไฟได้ใหม่อีกครั้ง คราวนี้พวกเขาปล่อยกระแสไฟนานเป็นนาที สักขีพยานบางคนอ้างว่านานถึง 4 นาที แต่แพทย์ที่ร่วมสังเกตการณ์ระบุว่ามันกินเวลาราวหนึ่งนาทีครึ่ง ถึงอย่างนั้นภาพที่เห็นก็เป็นที่สยดสยองต่อผู้ชมเป็นอย่างมาก ระยะเวลาที่ยาวนานทำให้ร่างของเคมม์เลอร์มีกลิ่นเนื้อและเส้นขนไหม้คละคลุ้งห้องประหารเล็ก ๆ แพทย์ต้องรอเวลานาน 3 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างของเคมม์เลอร์เย็นตัวลงแล้วจึงได้ทำการชันสูตรร่างของเขา  สื่อรายงานเหตุการณ์คราวนั้นด้วยความเวทนานักโทษประหาร ประจักษ์พยานบางรายให้ความเห็นว่า การประหารเช่นนี้เลวร้ายเสียยิ่งกว่าการแขวนคอ เช่นเดียวกับ จอร์จ เวสติงเฮาส์ คู่แข่งทางการค้าของเอดิสันที่บอกว่า แทนที่จะทรมานนักโทษแบบนี้ พวกเขาน่าจะใช้ขวานจามให้นักโทษไปดีน่าจะดีกว่า แต่ทางเอดิสันที่เคยอยากเห็นโทษประหารหมดไปกลับมองโลกในแง่ดีว่า นักโทษประหารรายต่อไปที่จะถูกจับขึ้นเก้าอี้ไฟฟ้าจะต้องตายแบบแทบจะทันทีอย่างแน่นอน พร้อมให้ข้อเสนอว่า ควรให้นักโทษเอามือจุ่มแล้วแล้วปล่อยกระแสไฟจากโถน้ำแทน ชัยชนะของเอดิสันคราวนั้นทำให้สังคมเกิดความกังวลในความปลอดภัยในระบบไฟฟ้ากระแสสลับเป็นอย่างยิ่ง แต่ถึงที่สุดแล้วในทางปฏิบัติไฟฟ้ากระแสสลับถือว่ามีความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงกว่ามากสำหรับการนำไปใช้ในสเกลใหญ่ โดยศึกชี้ขาดของสงครามกระแสไฟก็คืองาน Chicago World’s Fair ในปี 1893 ซึ่งกลายเป็นค่ายกระแสสลับของเทสลาและเวสติงเฮาส์ที่ได้ชัยชนะ รับสัญญาผลิตและจ่ายไฟฟ้าให้กับงาน และอีกสามปีพวกเขาก็สร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้ากระแสสลับจากน้ำตกไนแองการาลากสายไฟมาจ่ายให้กับท้องถนนในเมืองบัฟฟาโล ซึ่งถึงตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า ไฟฟ้ากระแสตรงพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง (Cosmos) สงครามคราวนี้ทำให้คนเห็นอีกด้านของอัจฉริยะอย่างเอดิสัน ที่พร้อมจะทำทุกทางในการเอาชนะคู่แข่งทั้งเทสลา และเวสติงเฮาส์ ตั้งแต่การคร่าชีวิตของสัตว์ต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้สร้างความหวาดกลัวให้กับสังคม ยอมแม้กระทั่งละทิ้งอุดมการณ์เดิมที่เคยต่อต้านการใช้โทษประหาร กลายมาเป็นผู้สนับสนุนการสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการประหาร โดยที่เขาเองก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าไฟฟ้าทำให้มนุษย์ถึงแก่ความตายได้อย่างไร (เพราะสมัยนั้นคนเข้าใจว่าไฟฟ้าไปทำลายการทำงานของสมอง แต่สาเหตุการตายจริง ๆ ส่วนใหญ่เกิดจากหัวใจล้มเหลว) จนทำให้นักโทษประหารรายแรก ๆ ต้องทนทรมานเป็นเวลานาน ทั้งที่เจตนาของการใช้การประหารด้วยวิธีการนี้ก็เพราะเชื่อว่ามันเป็นวิธีการที่มี “มนุษยธรรม” มากกว่าการแขวนคอ