วอร์เรน บัฟเฟตต์: อภิมหาเศรษฐีใจบุญ ทำไมช่วยเหลือสังคมแล้วต้องมีเงื่อนไข ‘หวังผลตอบแทน’

วอร์เรน บัฟเฟตต์: อภิมหาเศรษฐีใจบุญ ทำไมช่วยเหลือสังคมแล้วต้องมีเงื่อนไข ‘หวังผลตอบแทน’
เป็นหน้าที่ของคนรวยที่ต้องช่วยเหลือสังคม… จริงหรือเปล่า?
ในโลกที่ระบบทุนนิยมขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำและปัญหาสังคมมากมาย เชื่อว่าคำถามที่นำไปสู่การเปิดประเด็นแลกเปลี่ยนในข้างต้นจะนำไปสู่คำตอบที่หลากหลายในใจแต่ละคน บางคนอาจเห็นด้วย หรือบางคนอาจคัดค้าน บางคนคิดว่านี่คือปัญหาเชิงโครงสร้าง ควรแก้ที่โครงสร้างก่อน มากกว่าที่จะรอปัจเจกชนที่พร้อมกว่าลงมาโปรด คำตอบก็เลยมีมากมายแตกต่างกันไป แต่ก็มีหลากหลายตัวอย่างต่างปรากฏให้โลกได้เห็น เมื่อการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือจากคนรวยสามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมได้ไกลกว่าที่เคยมี ไม่ว่าจะเป็นบิลล์ เกตส์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์, จอร์จ โซรอส ผู้บริจาคเงินเพื่อการศึกษาทั่วโลก หรือคุณปู่ผมขาวอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffet) เจ้าของอาณาจักรการลงทุนเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) ที่เหล่าสาวกการเงินรู้จักเป็นอย่างดี เรื่องราวความใจบุญของบัฟเฟตต์จะไม่น่าตื่นเต้นนัก หากเขามีมุมมองการบริจาคเหมือนเศรษฐีส่วนใหญ่ที่บริจาคด้วยใจ แต่เมื่อเราบอกว่า การบริจาคเงินในมุมมองของบัฟเฟตต์ตามมาด้วยเงื่อนไขสำคัญ คือมันจำเป็นต้องมีผลตอบแทน คุณอาจจะเริ่มสงสัย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? หลักฐานยืนยันต่าง ๆ ถูกเล่าในหนังสือ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์ อภิมหาเศรษฐีใจบุญ’ ชีวประวัติเต็มรูปแบบที่เจาะประเด็นชีวิตและแนวคิดมากกว่าแค่การลงทุน และหนังสารคดี ‘Becoming Warren Buffet’ ที่เผยแพร่ในปี 2017 ทาง HBO Go ชีวิตของบัฟเฟตต์ ผู้ครองอันดับ 4 ในฐานะคนรวยที่สุดในโลกจาก Forbes 2020 เริ่มด้วยต้นทุนไม่สูงนัก ยามเด็กชายบัฟเฟตต์อายุเพียง 1 ขวบ ความลำบากเดินทางมาถึงบ้านของเขาในเมืองโอมาฮา เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก่อตัวทำให้พ่อ ผู้มีอาชีพขายหลักทรัพย์ในธนาคารตกงาน ไร้เงิน จนในบางครั้งครอบครัวต้องยอมอดอาหารบางมื้อ และชีวิตวัยเด็กของบัฟเฟตต์เริ่มต้นด้วยการเดินเท้าไปโรงเรียนถึง 8 ช่วงตึกในฤดูหนาวที่เย็นยะเยือกจับใจ แม้จะอายุไม่มาก หากแต่ความแร้นแค้นในครั้งนั้นฝังอยู่ในใจยาวนาน จนเมื่อธุรกิจของพ่อเริ่มดีขึ้น บัฟเฟตต์เติบโตมาด้วยแรงขับเคลื่อนอย่างมุ่งมั่นว่าจะต้องร่ำรวยมหาศาลก่อนจะอายุครบ 5 ขวบ และนับจากวันนั้น เขาก็ไม่เคยหยุดคิดอีกเลย ครั้งหนึ่งเขาเคยบอกหุ้นส่วนธุรกิจของพ่อว่า “ผมจะเป็นเศรษฐีตอนอายุ 30 ถ้าทำไม่ได้ ผมจะกระโดดตึกสูงสุดในโอมาฮา” และเมื่อได้รับคำถามสวนกลับว่า เพราะเหตุใดหนุ่มน้อยวัย 12 ปีถึงอยากมีเงินทองมากนัก บัฟเฟตต์ให้คำตอบเพียงสั้น ๆ “ผมไม่ต้องการเงิน แต่เป็นความสนุกที่หาเงินได้ และได้เห็นเงินงอกเงยเป็นก้อนโต” ณ เวลานั้น เขาเริ่มทำเงินจากการเล่นหุ้น และสนุกกับเกมการลงทุนแบบไม่อาจละสายตา เกมการลงทุนไปได้ด้วยดีจากความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลหุ้นมหาศาลและความกล้าในการก่อตั้งหุ้นส่วนบัฟเฟตต์ (Buffet Partnership) เขาเคยเขียนจดหมายถึงผู้ถือหุ้นสะท้อนให้เห็นความสำคัญของเงินว่า เงินลงทุนบางครั้งไม่ว่าน้อยนิดแค่ไหน แต่ก็ควรลงทุนด้วยความใส่ใจ เพราะในสายตาของเขา การผลาญเงิน 30,000 เหรียญไม่ได้เสียหายแค่ 30,000 แต่หมายถึงการหันหลังให้เงิน 2 ล้านล้านเหรียญที่อาจได้หากหุ้นตัวนั้นมีกำไรสั่งสมปีละ 4 เปอร์เซ็นต์ และแม้จะมีทรัพย์สินมากมายจนไม่มีวันใช้หมด บัฟเฟตต์กลับเลือกใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายและสมถะกว่าใคร ไม่มีรถยนต์หรูหรา ไม่มีการสะสมงานศิลปะ ไม่มีออฟฟิศสุดทันสมัย รวมถึงไม่มีแม้แต่คอมพิวเตอร์ในห้องทำงานส่วนตัว เขาอยู่ในบ้านหลังเก่าที่ซื้อมาในปี 1958 ด้วยราคา 31,000 ดอลลาร์ บนถนนสายเดียวกับที่เขาเริ่มต้นอาชีพมาจนถึงปัจจุบัน โลกการเงินที่ร้อนรุ่มช่างขัดแย้งกับภาพความเรียบง่ายของอาณาจักรบัฟเฟตต์ เมื่อสก็อตต์ ฮอร์ด รองประธานดาต้า ด็อกคิวเมนส์ บริษัทบัตรเจาะคอมพิวเตอร์ในโอมาฮาเคยถามเขาว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้เป็นมหาเศรษฐี เขากลับตอบเพียงแค่ว่า “ได้ทุกอย่างเท่าที่เงินซื้อได้ แต่ผมไม่อยากได้อะไรเลย” ฝันหวานของบัฟเฟตต์มีเพียงอย่างเดียวคือการนั่งทำกำไรก้อนโต เรียกเงินให้ไหลเข้ามาในห้องทำงาน เพราะความสะดวกสบายเชิงวัตถุไม่ใช่เหตุผลที่เขาต้องการเงิน เพียงแต่เงินนั้นคือข้อพิสูจน์หลักฐานยืนยันคะแนนในการเล่นเกมของเขาเท่านั้นเอง แตกต่างจากเศรษฐีหลายคนบนโลก ความสนใจทางการเมืองของบัฟเฟตต์ไม่เคยอยู่ในกรอบของการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเข้าตัวเอง เขาไม่เคยร้องขอสิทธิพิเศษจากนักการเมือง แม้ธุรกิจสิ่งทอที่เขาบริหารจะอ้อนวอนให้บัฟเฟตต์ช่วยล็อบบีการนำเข้าสิ่งทอให้ หากแต่จริยธรรมที่เด็ดขาดพาให้เขาไปไกลกว่าคนอื่น กลายเป็นไอคอนของสังคมที่ผลักดันสิทธิพลเมืองด้วยการลาออกจากสมาคมโรตารีโอมาฮาเพื่อประท้วงนโยบายเหยียดผิวและเชื้อชาติ ต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในโอมาฮา เมืองที่มีประชากรอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันมากมายถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม สำหรับบัฟเฟตต์แล้ว เขาไม่คิดว่ามันถูกต้องที่ลูกคนรวยจะได้แต้มต่อ ได้เปรียบเหนือคนอื่นในสังคม และเมื่อประกอบกับอุดมการณ์ทางสังคมจากภรรยาอย่าง ซูซี นักรณรงค์ที่ทำงานในกลุ่มสตรีจากต่างเชื้อชาติและศาสนาแล้ว เขาจึงมีจุดยืนแข็งแรงในการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบของตัวเอง ทั้งการเป็นตัวตั้งตัวตีบุกเบิกกฎหมายทำแท้งถูกกฎหมายในโอมาฮา ร่วมรณรงค์เรื่องการเป็นแม่ผ่านการวางแผนแล้ว และการเข้าร่วมสโมสรชาวยิวในปี 1969 เพื่อแสดงออกถึงปัญหาการกีดกันเชื้อชาติ เมื่อสังคมผิวขาวในยุคนั้นไม่อนุญาตให้คนยิวเข้าร่วมสโมสรโอมาฮา ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมของนักธุรกิจของคนขาว จนสโมสรโอมาฮาต้องยอมเปิดรับชาวยิวในที่สุด แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมทำให้โลกชื่นชมและแสงไฟสาดส่องไปหาบัฟเฟตต์มากกว่าเดิม แต่หากพูดถึงเรื่องเงินเมื่อไหร่ ความมัธยัสถ์ของเขามักกลายเป็นประตูบานใหญ่ที่ล็อกอย่างหนาแน่นโดยทันที ทั้งในครอบครัวและองค์กรการกุศลเพื่อสังคม ภาพครอบครัวเศรษฐีทั่วไปอาจเต็มไปด้วยความสุขสบายจากเงินทอง แต่ไม่ใช่กับบ้านบัฟเฟตต์ เขาไม่คิดว่าลูกสมควรได้รับเงินที่เขาสั่งสมมาทั้งชีวิต เพราะมันเป็นการให้อำนาจเกินไปและอาจทำให้ลูกเสียคน เขาอยากให้ลูก ๆ เติบโตมาดำเนินชีวิตปกติเหมือนคนทั่วไป และนั่นทำให้บรรยากาศภายในครอบครัวเต็มไปด้วยความสบาย ๆ ไม่ได้เต็มไปด้วยกลิ่นเงิน ทว่าตัวอย่างสุดโต่งเกิดขึ้นเมื่อลูกสาวคนเล็กของเขาต้องการเงินค่าจอดรถ 20 เหรียญ หากเป็นพ่อทั่วไป คงหยิบยื่นให้ทันทีแบบไม่คิดมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือลูกสาวของเขาต้องเขียนเช็ค ลงชื่อในสัญญากู้ยืมเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อยืมเงินจากพ่อของตัวเอง และยิ่งมองลึกไปถึงคนรวยมากมายที่ทิ้งสมบัติก้อนโตไว้ให้ลูกหลานแล้ว บัฟเฟตต์ยิ่งส่ายหน้าแรงทันที ในปี 1980 เขาเขียนบทความเชือดเฉือนพวกร่ำรวยล้นฟ้าที่ทิ้งมหาสมบัติก้อนโตไว้ให้ลูกหลาน เช่น ทายาทตระกูลดูปองต์ ลงในหนังสือพิมพ์โอมาฮา เวิลด์-เฮรัลด์ ระบุว่าพวกเขา ‘ไม่เคยกระดิกตัวทำอะไรเพื่อสังคม แต่อ้าแขนรับส่วนแบ่งชิ้นโตจากผลผลิตของสังคม’ อาจเป็นเพราะสังคมของบัฟเฟตต์มีทั้งญาติผู้ขับแท็กซี มีหลานชายเป็นนักดนตรีแจ๊ส มีญาติผู้ถือหุ้นเบิร์กเชียร์ ซึ่งเขาไม่เคยมอบสิทธิพิเศษให้สักครั้ง เพื่อรักษาความสัมพันธ์ไม่ให้บิดเบี้ยวด้วยเงิน บัฟเฟตต์มีเป้าหมายสูงสุดคือการคืนเงินให้แก่สังคม ยามเงินมา ปัญหาเกิด… วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยถูกวิจารณ์ว่ามีเงินตั้งมากมาย แต่บริจาคแบบตระหนี่เหลือเกิน ปี 1979 บัฟเฟตต์ ผู้มีทรัพย์สินกว่า 150 ล้านเหรียญฯ บริจาคให้มูลนิธิบัฟเฟตต์ที่ดำเนินโดยครอบครัวของตนเองไม่ถึง 40,000 เหรียญฯ และมูลนิธิฯ กลับได้เงินรวมเพียง 725,000 เหรียญฯ เป็นตัวเลขที่ห่างไกล จนเขาตัดสินใจเปลี่ยนไปบริจาคด้วยหุ้นเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (คิดมูลค่าจากสัดส่วนของหุ้น) แทนใน 2 ปีถัดมา โดยไม่ต้องควักเงินจากกระเป๋าตัวเอง แต่หากมองตัวเลขบริจาค 3 ล้านเหรียญฯ ในปี 1990 เทียบกับทรัพย์สินของเขาที่เพิ่มสูงถึง 4 พันล้านเหรียญฯ ณ เวลานั้นแล้ว สัดส่วนมูลค่าการบริจาคก็ยังถือว่าน้อยนิดอยู่ดี แท้จริงแล้ว บัฟเฟตต์มองการบริจาคเงินเพื่อการกุศลไม่ต่างไปจากการนำเงินไปลงทุน แม้โลกของเงินบริจาคจะแตกต่างจากโลกธุรกิจชัดเจน และผลลัพธ์ทางสังคมก็ไม่อาจวัดได้ง่ายเหมือนผลกำไรของหุ้น แต่มูลนิธิของเขาจะต้องมีผลลัพธ์สูงสุดจากเงินบริจาคแต่ละเหรียญ มี ‘ผลลัพธ์ที่จับต้องได้’ แม้จะไม่ใช่ในรูปแบบของกำไร แต่เขาต้องการการวัดผลอยู่ดี หนึ่งเหตุผลมาจากการมองเห็นองค์กรการกุศลหลายแห่งที่เงินบริจาคไหลไปบำเรอผู้บริหารและการหว่านเงินบริจาคที่หลายครั้งไม่ได้เกิดผลจริง โดยที่ความรังเกียจการหว่านโปรยเงินของเขาไม่ได้มาจากแนวคิดอนุรักษนิยมส่วนตัวแต่อย่างไร แต่เพราะเขาเชื่อสุดใจว่ารัฐบาลควรเป็นตัวแทนของผู้คนในการดูแลสังคม มากกว่าจะแจกจ่ายของฟรีให้เปล่าแก่สมาชิกรายบุคคล เกิดเป็นวิธีการช่วยสังคมแบบปิดกระเป๋าตังค์ฉบับตนเอง เพราะบัฟเฟตต์มักจะเขียนบทความเสนอแนะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เป็นครั้งคราว และเลือกที่จะสร้างเกณฑ์การคัดเลือกด้วยตัวเอง ดังเช่นโครงการบริจาคเงินประจำปีให้แก่ครูในโรงเรียนรัฐโอมาฮา 15 คน คนละ 10,000 ดอลลาร์ ที่เขาคัดเลือกครูด้วยมาตรวัดที่ตนเองพอใจ จนกระทั่งช่วงเวลาพลิกผันของบัฟเฟตต์เดินทางมาถึงในปี 2004 เมื่อภรรยาอย่างซูซีจากไปอย่างสงบด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก เกิดเป็นแผลใจและปัญหาเงินมรดก เพราะลึก ๆ แล้ว บัฟเฟตต์มักเชื่อว่าภรรยาผู้ดูแลเขามาตลอดชีวิตจะคอยจัดการทรัพย์สมบัติของเขาได้ ในยามที่เขาจากไปก่อนเธอ แต่แล้วเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้บัฟเฟตต์ ผู้ใช้ชีวิตสันโดษจมดิ่งลงไป เก็บตัวหายเงียบ และเปลี่ยนมุมมองครั้งสำคัญ การสูญเสียภรรยาในครั้งนี้นำไปสู่อะไร? คำตอบอยู่ในงานประกาศเปิดตัวครั้งสำคัญในปี 2006 ที่โลกต้องตกตะลึง เมื่อบุคคลผู้ร่ำรวยอันดับ 2 ของโลกในเวลานั้นประกาศบริจาคเงินด้วยหุ้นเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ให้แก่มูลนิธิของเพื่อนสนิทอย่าง มูลนิธิบิลล์-เมลินดา เกตส์ ของบิลล์ เกตส์และภรรยา ซึ่งมีภารกิจหลักต่อสู้โรคร้ายในประเทศกำลังพัฒนา และมอบเงินอีกส่วนแก่มูลนิธิของครอบครัว 4 แห่ง เรียกได้ว่าเป็นเงินบริจาคที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์เพื่ออุทิศแด่ภรรยา
“ตลอดชีวิตของผม ทุกอย่างที่ผมใช้จ่ายจะมีค่าน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ผมหาได้อยู่พอสมควร ส่วนอีก 99 เปอร์เซ็นต์จะนำไปให้กับคนอื่น ๆ เพราะมันไม่สร้างประโยชน์กับผม ดังนั้นมันคงเป็นเรื่องโง่มากหากผมไม่มอบประโยชน์เหล่านั้นให้กับผู้ที่ใช้ประโยชน์จากมันได้”
ไม่ต่างจากหลักการมองหาผู้นำในธุรกิจที่มีฝีมือและเชื่อใจได้ก่อนเลือกซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ บัฟเฟตต์ใช้สายตามองเห็นความสามารถในการจัดการมรดกของเขาในตัวสองสามีภรรยาเกตส์ ซูเปอร์สตาร์แห่งการบริจาค มอบเงินให้คนที่รู้วิธีใช้เงินให้เกิดประโยชน์ และตัดสินใจเสียสละครั้งสำคัญ หลังจากวันนั้น คำปฏิญาณที่จะบริจาค 99 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินทั้งหมดที่เขาเสาะหาด้วยความรักมาตลอดช่วงชีวิต หลังจากเขาเสียชีวิต และการก่อตั้งโครงการ The Giving Pledge ในปี 2010 ร่วมกับครอบครัวเกตส์ ที่เชิญชวนให้มหาเศรษฐีชื่อดังทั่วโลกมาร่วมบริจาค เช่น มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก กลายมาเป็นจุดหมายสำคัญที่สอนชาวอเมริกันให้รู้ว่าการบริจาคแบ่งปันจะนำไปสู่สังคมที่ดีได้จริง ๆ มาถึงตรงนี้ เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าโลกทุนนิยมแสนดุเดือดยังคงทำให้คนรวยรวยขึ้น และคนจนก็ยิ่งจนลง ยังมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำอีกมากมาย และหากมองบัฟเฟตต์จากภายนอก เขาอาจจะเป็นคนใจบุญที่ไม่เข้าท่าที่สุด เพราะกลัวว่าจะไม่ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าจากเงินบริจาค แต่หากมองย้อนกลับมาที่คำถามเดิม เป็นหน้าที่ของคนรวยที่ต้องช่วยเหลือสังคม… จริงหรือไม่? คำตอบอาจชัดขึ้นอีกนิด เพราะวันนี้น้ำใจที่แสนจริงใจในรูปแบบของชายนาม วอร์เรน บัฟเฟตต์ กับชีวิตที่เรียบง่ายในวัย 90 ปีของอภิมหาเศรษฐีคนนี้ เป็นตัวยืนยันว่าสังคมยังมีความหวังดี ๆ อยู่เสมอ   ที่มา: หนังสือ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์ อภิมหาเศรษฐีใจบุญ’ เขียนโดย Roger Lowenstien, สำนักพิมพ์: Earnest และภาพยนตร์สารคดี Becoming Warren Buffet (2017) https://finance.yahoo.com/.../warren-buffett-on-what...