วาสนา ลาทูรัส อดีตแม่ค้าขายไข่ไก่ ปั้น ‘นารายา’ กระเป๋าผ้าพันล้าน จากเห็นโอกาสในวิกฤต

วาสนา ลาทูรัส อดีตแม่ค้าขายไข่ไก่ ปั้น ‘นารายา’ กระเป๋าผ้าพันล้าน จากเห็นโอกาสในวิกฤต

NaRaYa (นารายา) ร้านที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติและในไทย ปลุกปั้นโดย วาสนา ลาทูรัส อดีตแม่ค้าขายไข่ไก่ เธอกลายมาผู้ปั้น นารายา กระเป๋าผ้าพันล้านได้อย่างไร

วาสนา ลาทูรัส อาจไม่คิดไม่ฝันว่าเงิน 8,000 บาทที่ได้จากการขายกระเป๋าผ้าวันแรกเมื่อปลายปี 2536 จะงอกเงยมาเป็นรายได้กว่า 1 พันล้านบาทต่อปีอย่างทุกวันนี้ และยังโตต่ออย่างไม่หยุดยั้ง

ไม่ต้องแปลกใจหากเดินผ่านร้าน NaRaYa (นารายา) โดยเฉพาะสาขาที่อยู่ในย่านช็อปปิ้งใจกลางเมืองหรืออยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง แล้วจะเห็นภาพนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้ง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ เดินเข้าออกกันอย่างไม่ขาดสาย ในมือหอบหิ้วถุงใบโตที่อัดแน่นด้วยกระเป๋าผ้านารายาอย่างน้อยคนละถุง

รูปทรงกระเป๋าที่เน้นฟังก์ชันการใช้สอย ทนทาน แต่ก็ไม่ทิ้งความน่ารักอย่างลวดลายที่มีให้เลือกมากมาย พร้อมซิกเนเจอร์เด่นอย่าง “โบว์” บวกกับราคาย่อมเยาตั้งแต่หลักสิบถึงหลักร้อย ทำให้กระเป๋านารายาขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในของที่ระลึกสุดฮิตจากเมืองไทยที่ชาวต่างชาตินิยมซื้อกลับบ้านไปแล้วเรียบร้อย

เบื้องหลังความสำเร็จของนารายา คือความลำบากและคราบน้ำตาของ “วาสนา” หญิงแกร่งที่ฟันฝ่าทุกอุปสรรคมาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อล้มก็เลือกที่จะลุก มองเห็นโอกาสมากกว่าวิกฤต ทำให้แบรนด์กระเป๋าผ้าที่เธอสร้างมีชื่อเสียงทั้งในไทยและดังไกลถึงต่างแดน

ไม่ยอมแพ้โชคชะตา

"ความใฝ่รู้" เป็นคุณสมบัติเด่นของวาสนามาตั้งแต่ยังเด็ก หลังจบ ป.4 วาสนาซึ่งเป็นลูกคนที่ 7 ในจำนวน 9 คน ต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยที่บ้านค้าขาย ขณะที่พี่น้องผู้ชายยังได้โอกาสไปโรงเรียน

แม้ต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อไปขายไข่ไก่และถุงพลาสติกที่ตลาดประตูน้ำ ปิดร้านก็ 4-5 โมงเย็น แต่วาสนาก็ยังไปลงเรียนกวดวิชาภาคค่ำ นั่งรถเมล์จากประตูน้ำไปแถวปากคลองตลาด กว่าจะกลับถึงบ้านก็ 4 ทุ่มกว่า ทำกิจวัตรประจำวันและทบทวนหนังสือถึงเกือบตี 1 แล้วจึงนอนเอาแรง ก่อนที่อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาจะต้องตื่นตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางเพื่อไปขายของอีกครั้ง 

ในที่สุด ความพยายามของวาสนาก็เห็นผล เธอสอบเทียบ ม.ศ.3 ได้เป็นผลสำเร็จ และด้วยความที่ชอบภาษาอังกฤษ เพราะความฝันลึกๆ คืออยากเป็นแอร์โฮสเตส หรือไม่ก็มัคคุเทศก์ วาสนาจึงไปเรียนภาษาอังกฤษที่สถานสอนภาษา AUA แต่เรียนได้สักพักก็ต้องออกมาช่วยงานที่บ้านต่อ ถึงอย่างนั้นก็ไม่ทิ้งการฝึกภาษาอังกฤษ เพราะระหว่างที่ขายของไปด้วยก็ฟังเพลงฝรั่งไปด้วย

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของวาสนาคือการเสียชีวิตของแม่ เธอให้พี่สะใภ้เซ้งร้านที่ตลาดประตูน้ำ แล้วเลือกจะเดินตามความฝันของตัวเอง แบบที่ไม่ต้องมีใครมาขีดเส้นให้เดินดังเช่นหลายปีที่ผ่านมาอีกต่อไป

วาสนาลงเรียนภาษาอังกฤษที่ AUA อีกรอบ พอถึงวันเสาร์อาทิตย์เมื่อไหร่ ก็จับกลุ่มกับเพื่อน 4-5 คนไปวัดพระแก้วเพื่อฝึกภาษา บางทีก็พานักท่องเที่ยวนั่งเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว 2 ฝั่งแม่น้ำ เป็นการฝึกภาษาไปในตัว แต่อยู่ๆ ไป ตำรวจก็มาตักเตือนเพราะเห็นว่ายังไม่มีใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์

วาสนาที่ไม่ชอบอยู่เฉย จึงหันไปทำโรงเพาะเห็ดนางฟ้ากับพี่สาวและพี่เขยอยู่ 3-4 ปี เพื่อเก็บเงินไว้เป็นทุนรอน และฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษไปเรื่อยๆ เมื่อมั่นใจว่าพอไหวแล้วก็ไปสมัครเป็นมัคคุเทศก์ที่เมืองโบราณ ก่อนไปสอบมัคคุเทศก์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร 

ชีวิตการเป็นมัคคุเทศก์นี่เองที่ทำให้วาสนาพบกับ วาสสิลิโอส ลาทูรัส (Vassilios Lathouras) นักธุรกิจชาวกรีกที่เดินทางมาหาสินค้าที่เมืองไทย ก่อนพัฒนาเป็นความรักและตกลงใช้ชีวิตร่วมกันในปี 2532  

วิกฤตสู่โอกาส

วาสสิลิโอสต้องการใช้ชีวิตครอบครัวที่เมืองไทย จึงก่อตั้ง บริษัท นารายณ์อินเตอร์เทรด จำกัด ขึ้นในปีเดียวกับที่แต่งงาน ทำธุรกิจเทรดดิ้งอะไหล่รถยนต์และอะไหล่รถมอเตอร์ไซค์ เพราะตอนนั้นไทยส่งออกอะไหล่รถยนต์ไปยังประเทศกรีซเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาเริ่มเกิดเมื่อลูกจ้างบางคนเห็นว่าเขาเป็นฝรั่งฟังภาษาไทยไม่ออก จึงบวกราคาสินค้าเพิ่มจากราคาจริงและเก็บส่วนต่างไว้ อีกทั้งเมื่อลูกค้าซื้อของจากบริษัทไปแล้ว ครั้งต่อไปก็ซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง ทำให้บริษัทขาดรายได้ จนเงินทุนที่มีเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ 

จังหวะนั้น เพื่อนชาวกรีกของวาสสิลิโอสถามหากระเป๋าผ้า วาสนาจึงพาเพื่อนสามีไปแหล่งผลิต แต่ทำออกมาแล้วไม่ได้มาตรฐาน จึงขอให้เธอช่วยทำให้ วาสนาที่เป็นคนชอบผ้าและชอบการจับคู่สีอยู่แล้ว จึงชวนน้องสะใภ้ที่เป็นช่างเย็บเสื้อมาทำกระเป๋าผ้า และชวนพี่สาวอีกคนมาร่วมหุ้นทำธุรกิจด้วยกัน ลงทุนคนละ 40,000-50,000 บาท เอาไปซื้อจักร 15 ตัว และซื้อผ้าจากสำเพ็งมาทำกระเป๋า ส่วนสามียังคงทำธุรกิจเทรดดิ้ง

ธุรกิจของวาสนาไปได้ดีในช่วงแรก แต่ผ่านไปสักพักก็ไม่ค่อยมีงาน เพราะลูกค้าหลักคือเพื่อนสามีซื้อสินค้าปีละ 2 ครั้ง วาสนาจึงแก้ปัญหาด้วยการเอากระเป๋าผ้าไปออกงานแฟร์ที่สิงคโปร์ ปรากฏว่ากระแสตอบรับดีกว่าที่คาด มีออร์เดอร์เข้ามาอย่างล้นหลาม แต่เหตุการณ์กลับพลิกผันเมื่อกระเป๋าผ้าเสียหายระหว่างกระบวนการผลิต  

ถึงจะเสียใจแค่ไหน แต่วาสนาก็ไม่ท้อถอย เธอวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของกระเป๋าผ้าที่มีในท้องตลาดอย่างจริงจัง และพบว่าสินค้าส่วนมากไม่ได้คุณภาพ ฝีมือการตัดเย็บไม่เนี้ยบ วาสนาจึงเน้นทำกระเป๋าผ้าที่ใส่ใจทุกรายละเอียด ไล่ตั้งแต่ฝีมือการตัดเย็บไปจนถึงคุณภาพการใช้งานที่ต้องทนทาน และต้องขายในราคาเอื้อมถึง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าวงกว้าง

ปั้น “นารายา” โดนใจขาช็อป

แม้แทบไม่มีเงินติดกระเป๋า แต่ ณ จุดนั้น วาสนาจำเป็นต้องมีหน้าร้าน เธอตัดสินใจควักเงินเช่าพื้นที่ที่ นารายณ์ภัณฑ์ ตรงแยกราชประสงค์ ด้วยค่าเช่าเดือนละ 8,000 บาท เปิดร้านวันแรกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ปี 2536 โดยให้พี่สาวกับน้องสะใภ้ไปดูแลความเรียบร้อย ซึ่งในวันเดียวกันนั้น เธอก็ไปคลอดลูกชายที่โรงพยาบาล พร้อมได้รับข่าวดีว่าในวันแรกที่เปิดร้าน สามารถขายกระเป๋าได้เงินถึง 8,000 บาท!

นารายณ์ภัณฑ์เป็นทำเลทองของวาสนา เพราะเป็นแหล่งช็อปปิ้งของนักท่องเที่ยวต่างชาติและแอร์โฮสเตส เมื่อซื้อกลับไปใช้ก็เกิดการบอกปากต่อปาก กระเป๋าผ้าของวาสนาจึงขายดีในเวลาอันรวดเร็ว และสินค้าเลียนแบบแต่คุณภาพไม่เลียนแบบก็ตามมาในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน วาสนาจึงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในชื่อ “NaRaYa” มาจากชื่อบริษัทคือ “นารายณ์อินเตอร์เทรด” เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าสับสน

จุดเด่นของนารายาที่ทุกคนยอมรับ คือ การมีสินค้าให้เลือกราว 3,000 แบบ สีสันกว่า 100 สี รวมแล้วมีสินค้าหลากหลายราว 30,000-40,000 รายการ และนอกจาก “กระเป๋าผ้าติดโบว์” ซึ่งเป็นภาพจำของแบรนด์ไปแล้ว ยังมีสินค้าที่ใช้ในห้องนอน ห้องครัว ห้องรับแขก เครื่องใช้สำหรับเด็ก ฯลฯ รวมทั้งสินค้าตามเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นตรุษจีน คริสต์มาส เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งแต่ละเดือน นารายาใช้ผ้ามากกว่า 1 ล้านหลาเลยทีเดียว 

จากสาขาแรกที่นารายณ์ภัณฑ์ นารายาก็ขยายเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะๆ เช่น พัฒน์พงศ์ สุขุมวิท 24 หน้าพระลาน บ้านสีลม เอเชียทีค เซ็นทรัลเวิลด์ โตคิว ฯลฯ เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป ฯลฯ ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติคือลูกค้าหลักของนารายา คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70%

ไม่เพียงแค่แบรนด์นารายา แต่วาสนายังปั้นแบรนด์ใหม่แบรนด์อื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการ อย่าง NARA เจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ชาย LaLaMa เป็นแบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องประดับสำหรับผู้หญิงที่มีกลิ่นอายโบฮีเมียน Aphrodite แบรนด์กระเป๋าและเครื่องประดับสำหรับผู้หญิง และ Evangelisa แบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องประดับจากผ้าไหม ที่นำมาตีความให้ทันสมัยและสามารถสวมใส่ได้ทุกวัน 

ความมุ่งมั่น ทำงานหนัก และไม่หยุดมองหาโอกาสเพื่อสร้างเส้นทางให้ยาวไกลยิ่งขึ้น คือส่วนผสมอันกลมกล่อมของวาสนา ที่สร้าง "นารายา" ให้เป็นแบรนด์กระเป๋าผ้าที่ครองใจลูกค้าได้อยู่หมัดเช่นทุกวันนี้

ภาพ: แบรนด์ NaRaYa

เรื่อง: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์