watch
22 เม.ย. 2565 | 19:47 น.
หมอบอน - ทพ.วิเวก มานตาลา ทันตแพทย์สายร็อค เจ้าของ ‘VP Dental Clinic’ ผู้ทุ่มเทชีวิตให้กับการเรียนรู้และรักษาคนไข้ ‘รากฟันเทียม’
หมอบอน - ทพ.วิเวก มานตาลา
เกิดและเติบโตที่จังหวัดเชียงใหม่ เรียนจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของอาชีพทันตแพทย์ว่า เกิดจากที่คุณแม่ไม่มีโอกาสได้เรียนด้านแพทย์ที่ชอบ จึงส่งต่อความฝันมายังลูกชาย ซึ่งสอบติดคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“ตอนแรกผมไม่แน่ใจว่าจะชอบวิชาทันตกรรมไหม แต่พอเรียนแล้วก็สนุกมาก ๆ โดยเฉพาะช่วงปี 4 - ปี 6 ที่ต้องลงคลินิกรักษาคนไข้ ซึ่งไม่ได้ใช้แค่ทฤษฎีในหนังสืออย่างเดียว แต่ต้องมีทักษะอื่นด้วย เช่น การสื่อสารกับคนไข้ที่ต้องการทั้งการรักษา และคนที่ช่วยอธิบายให้เขาอุ่นใจ ซึ่งผมทำได้ค่อนข้างดี”
หลังจากเรียนจบปริญญาตรี ทันตแพทย์ต้องทำงานใช้ทุนราชการเป็นเวลา 3 ปี หมอบอนเลือกโรงพยาบาลที่ไม่ไกลจากบ้าน เพื่อกลับมาหาครอบครัวได้ทุกสัปดาห์ เขาจึงเริ่มต้นชีวิตทันตแพทย์ที่โรงพยาบาลเชียงคำ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา โดยต้องรักษาคนไข้ รวมทั้งออกตรวจตามอนามัย และลงพื้นที่ในชุมชนด้วย
‘รากเทียม’ คำถามที่มาพร้อมความหลงใหล
เมื่อตัดสินใจเลือกอาชีพทันตแพทย์ หมอบอนอยากหาความพิเศษเฉพาะด้าน แต่ตอนแรกยังไม่มีสิ่งที่เขาสนใจจริงจัง มีเพียงเรื่องหนึ่งที่ยังไม่เคยรู้ นั่นคือ ‘รากฟันเทียม’ เนื่องจากสมัยเรียนปริญญาตรีมีสอนเรื่องนี้เพียง 2 ชั่วโมง แต่ที่สุดแล้วหมอบอนก็ได้คำตอบนั้น เพราะหลังจากเรียนจบไม่กี่เดือน สมาคมทันตกรรมรากเทียมแห่งประเทศไทยได้จัดการประชุมสัญจรที่จังหวัดเชียงราย หมอบอนจึงสมัครเข้าร่วมอบรม
“วันนั้นมีคุณหมอหลายท่านเล่าถึงการผ่าตัดรากฟันเทียม ผมรู้สึกว้าวมาก มีเคสหนึ่งที่ไม่เคยลืมเลย เป็นฟิล์มเอ็กซเรย์ของคนไข้ที่มีรากเทียมอยู่เต็มปาก พร้อมขั้นตอนการรักษาที่ซับซ้อนสุด ๆ พอผมเห็นแล้วรู้สึกชาเลนจ์มาก บอกตัวเองว่าวันหนึ่งจะรักษาเคสยาก ๆ แบบนั้นให้ได้
และตัดสินใจทันทีว่าจะเรียนต่อด้านนี้ พอหาข้อมูลก็พบว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เปิดสอน จึงสมัครเรียนต่อปริญญาโท สาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแมกซิลโลเฟเชียล วิชาเอกศัลยกรรมรากเทียม ที่นั่นมีเคสคนไข้เยอะ เพราะเป็นแห่งแรก ๆ ของประเทศที่ทำรากเทียมมาตั้งแต่ 20-30 ปีก่อน ในระหว่างเรียน ผมได้ทำรากเทียมมากกว่า 150 เคส พอเรียนจบก็ทำได้คล่องเลย”
หลังจากเรียนจบ หมอบอนกลับไปทำงานที่จังหวัดพะเยา ก่อนจะย้ายมาทำงานที่คลินิกแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ควบคู่กับงานสอนที่คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กระทั่งวันหนึ่งที่คลินิกทันตกรรมที่กรุงเทพฯ ได้ติดต่อให้เขาไปร่วมงาน ในบทบาททันตแพทย์ที่ทำการรักษาเฉพาะด้านทันตกรรมรากเทียม และหมุดหมายนั้นได้กลายเป็นการเดินทางครั้งสำคัญ ที่ทำให้หมอบอนได้ร่วมงานกับคลินิกทันตกรรม และโรงพยาบาลชั้นนำหลายแห่งของประเทศไทย
“ตั้งแต่นั้น รากเทียมคืองานหลักที่ผมทำเกือบทุกวัน มีเคสยาก ๆ เข้ามาท้าทายให้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา โดยขณะนี้รากเทียมถือเป็นฟันปลอมชนิดที่ดีที่สุด ฟันจะติดแน่นอยู่ในปาก โดยไม่ต้องถอดเข้าถอดออก คนไข้สามารถเคี้ยวอาหารได้เต็มที่ และสามารถทำเสร็จโดยใช้ระยะเวลาไม่นาน
“สิ่งสำคัญคือ ขั้นตอนการรักษาที่ต้องเป๊ะ เพราะถ้าปักรากเทียมไม่ตรงกับแกนรับแรงของฟัน หรือทำในคนไข้ที่กระดูกบาง โดยไม่เสริมความแข็งแรง จะส่งผลเสียในระยะยาว โดยเฉพาะกรณีซับซ้อน เช่น คนไข้มีโรคประจำตัว หรือต้องปลูกกระดูกใหม่ ยิ่งต้องวางแผนให้ละเอียด เหมือนการลงเสาเข็มบ้าน ถ้าทำไม่ดีตั้งแต่แรก กำแพงบ้านก็อาจร้าวได้”
คลาสเรียนล้ำค่ากับ Paulo Malo ทันตแพทย์ระดับโลก
นอกจากประสบการณ์ทำงานกว่า 14 ปี หมอบอนได้เข้าร่วมสัมมนา และอบรมคอร์สต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยหนึ่งในคอร์สที่เป็นไฮไลต์คือ เทคนิคการทำรากเทียมกับ ‘เปาโล มาโล’ (Paulo Malo) ทันตแพทย์ระดับโลก เจ้าของทฤษฎี All-On-Four หรือการรักษาคนไข้ที่สูญเสียฟันทั้งปาก และอยากใส่รากเทียม
4-6 ราก
โดยยึดกับฟันปลอมไปเลย ถือเป็นการรักษาที่นิยมในทวีปยุโรป และมีปรมาจารย์ด้านนี้หลายท่าน แต่คนที่มีชื่อเสียงเป็นลำดับต้น ๆ และมักถูกเชิญให้เข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติก็คือ เปาโล มาโล
ในปี 2560 บริษัทรากเทียมยี่ห้อหนึ่ง ได้โควตาพิเศษให้กับทันตแพทย์ไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านรากเทียมไปเรียนคอร์ส All-on-Four กับมาโร ที่สถาบันของเขาในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส หมอบอนได้รับการติดต่อจากบริษัทนั้น เพื่อเดินทางไปฝึกเทคนิคพิเศษฉบับต้นตำรับ ซึ่งเจ้าตัวตอบตกลงทันที
“คอร์สนั้นใช้เวลาเรียน 1 สัปดาห์ ผมได้เรียนทั้งภาคทฤษฎี และดูมาโรผ่าตัดจริง หลังจากนั้นในปี 2562 ผมก็สมัครเรียนคอร์สที่แอดวานซ์ขึ้นกับมาโรที่โปรตุเกสอีกครั้ง ถือเป็นประสบการณ์ที่สุดยอดมาก”
หลังจากทำงานด้านทันตกรรม โดยเฉพาะการทำรากเทียมมากว่า 14 ปี หมอบอนตัดสินใจเปิดคลินิกทันตกรรมของตัวเองในปี 2564 นั่นคือ
‘VP Dental Clinic’
โดยมี ‘ทญ.ปวีณา มานตาลา’ ภรรยาที่เป็นทั้งหุ้นส่วนชีวิต และทันตแพทย์เช่นเดียวกัน หมอบอนเล่าถึงเรื่องนี้ว่า “การมีภรรยาเป็นหมอฟันเหมือนกัน ผมว่าเป็นพรหมลิขิตนะ นอกจากช่วยกันทำงาน ผมยังได้ขูดหินปูนบ่อยกว่าคนอื่นด้วย (หัวเราะ)”
การทำงานในห้องผ่าตัดของคุณหมอสายร็อค
หมอบอนเล่าว่า ทันตแพทย์เป็นอาชีพที่ต้องใช้จิตวิทยาสูง โดยเฉพาะการทำรากเทียม ซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็ก ๆ ที่คนไข้ไม่ได้วางยานอนหลับ บ่อยครั้งที่คนไข้จะรู้สึกเครียดและกลัวเจ็บ
โดยเฉพาะคนไข้รากเทียมกลุ่มใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งในสมัยที่หมอบอนยังอยู่กับครอบครัวที่เชียงใหม่ เขาก็มีหน้าที่ขับรถพาคุณย่าไปหาหมอฟัน ทำให้ได้เห็นและเข้าใจว่า ผู้สูงอายุมีความกลัวและกังวลในการรักษาฟันมากกว่าคนในวัยอื่น ๆ
“สำหรับผม ทันตแพทย์ไม่ได้มีหน้าที่แค่รักษาอย่างเดียว โดยเฉพาะคนไข้ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการทั้งคำแนะนำ และความเข้าใจของอาการเจ็บปวด ทันตแพทย์จึงมีทั้งหน้าที่รักษา และทำให้บรรยากาศในห้องผ่าตัดให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยพูดให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลายและมั่นใจ”
แล้วหมอฟันมีวิธีคลายเครียดอย่างไร... สำหรับหมอบอน ‘เสียงเพลง’ คือคำตอบ ไม่เพียงเพลงสากลเท่านั้นที่เขาชอบฟังมาตั้งแต่เด็ก
หมอบอนยังชอบฟังเพลงไทยสายร็อคอย่าง Silly fools และ Slot Machine ที่เป็นวงโปรด
รวมถึงดนตรีสายหนัก ๆ อย่างวง Korn หรือ System of a Down
“เวลาขับรถ ผมชอบเปิดเพลงร็อค ฟังแล้วรู้สึกมีสมาธิ แปลกไหมครับ (หัวเราะ)
ส่วนลำโพงในห้องผ่าตัดจะเชื่อมกับ Spotify อยู่ตลอด แต่ไม่เปิดแนวฮาร์ดคอร์มาก ที่ฟังบ่อยคือ เพลง Paradise City กับ Sweet Child O’ Mine ของ Guns N’ Roses หรือไม่ก็แนวคันทรียุค 70
อย่าง Crosby, Stills, Nash & Young
คนไข้ที่สูงอายุชอบถามว่า หมอเปิดเพลงเอาใจคนไข้หรือ ผมก็บอกว่า เปล่าครับ ผมเอาใจตัวเอง (ยิ้ม)”
14 ปี ชีวิตทันตแพทย์
“สำหรับผม ทันตกรรมเป็นเหมือนงานศิลปะ ทันตแพทย์แต่ละคนอาจวางแผนการรักษาไม่เหมือนกัน ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว
อย่างเวลาทำรากเทียม นอกจากทฤษฎีในตำรา ผมจะมองด้วยว่าคนไข้อายุเท่าไร เขามีปัญหาอะไร มีความต้องการอะไรบ้าง เรามีกี่ทางเลือกที่จะช่วยให้เขาเคี้ยวอาหารได้ เพราะถ้าปลายทางคนไข้กลับมาใช้ฟันได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง นั่นก็คือความสุขที่สุดของทันตแพทย์แล้ว
“ยกตัวอย่างเคสหนึ่ง ผมได้ใส่รากฟันเทียมให้คุณแม่ของหมอฟันท่านหนึ่ง ที่เชื่อใจให้ผมดูแล เคสนี้ผมได้ทำการถอนชุดฟันหน้าที่ผุออกทั้งหมด รวมทั้งฝังรากฟันเทียม และเสริมกระดูกไปในคราวเดียวกัน ก่อนจะจบงานด้วยชุดสะพานฟัน และฟันครอบซี่เดี่ยวที่ผลิตด้วยวัสดุเซอร์โคเนีย รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ที่สำคัญที่สุดคือ เสร็จทันเวลาที่คุณแม่จะไปร่วมพิธีแต่งงานของลูกสาวพอดี (ยิ้ม)”
จากสถิติปัจจุบัน มีคนไทยจำนวนมากที่มีปัญหาด้านรากฟัน ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยในขณะนี้ประเทศไทยยังมีทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านรากเทียมไม่มาก นอกจากการพัฒนาตนเองในฐานะทันตแพทย์อย่างต่อเนื่องแล้ว หมอบอนจึงทุ่มเทกับบทบาทครูผู้สอน เพื่อช่วยพัฒนาทันตแพทย์รุ่นใหม่ ซึ่งปลายทางสำคัญคือ การช่วยให้คนไทยได้รับการรักษาที่มีคุณภาพกับทันตแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
“ถึงแม้จะเป็นหมอฟันมา 14 ปี แต่ทุกวันนี้ผมยังศึกษาเทคนิคใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพราะนอกจากบทบาททันตแพทย์ ผมยังสอนหนังสืออยู่ 2 แห่ง โดยเป็นหนึ่งในไดเรกเตอร์คอร์สของ Advanced Dental Implant Research & Education Center บริษัทรากเทียมของประเทศเกาหลีใต้ รวมทั้งสอนคอร์สรากเทียมให้กับสมาคมทันตกรรมรากเทียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อตอบแทนที่องค์กรนี้ได้จุดประกายให้ผมอยากทำงานนี้ สมัยไปสัญจรที่เชียงรายเมื่อ 14 ปีก่อน
“ภาพฟิล์มเอ็กซเรย์ของคนไข้ที่ทำรากเทียมในวันนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเลือกทำงานแขนงนี้ และเป็นมิชชั่นที่อยากชาเลนจ์ตัวเองให้พัฒนาขึ้นในทุก ๆ วัน (ยิ้ม)”
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
PartnerContent
Business
รากเทียมทั้งปาก
วิเวก_มานตาลา
VPDentalClinic
รากฟันเทียม
related
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
‘มาเด้อฝันเอย’ บทเพลงสะท้อนชีวิตจริงของ ‘มนต์แคน แก่นคูน’
เมื่อสองมหาเศรษฐีติดอันดับโลก ‘แจ็ค หม่า’ และ ‘เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์’ มาพบปะกัน
1
2