วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี : เส้นทางชีวิตผู้ว่าฯ สมุทรสาคร จากดนตรีและน้ำหมึก สู่การเป็นนักปกครอง 

วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี : เส้นทางชีวิตผู้ว่าฯ สมุทรสาคร จากดนตรีและน้ำหมึก สู่การเป็นนักปกครอง 

“พี่สุรชัย ทับยา ขนส่งจังหวัดกำแพงเพชร

ส่งแผ่นเสียงวงดนตรี กอไผ่ ชุดสาวพาณิชย์ ซึ่งเป็นต้นฉบับ Original ในสภาพสมบูรณ์เกือบ 100% มาให้

เล่นเอาผมสุดงงมากว่า พี่สุรชัยเก็บมาจากไหน

เพราะที่ตัวผมเองยังไม่มีเลย คนอื่น ๆ ในวงที่มี ล้วนเป็นสภาพบอบช้ำตามกาลเวลาที่ผลิตมาแล้ว เกือบ 40 ปี

ขอบคุณพี่สุรชัยที่ยังไม่ลืมกัน ส่งของขวัญสุด Surprise มาให้

บอกไม่ถูกว่าดีใจมากขนาดไหน #วันนี้ฝนไม่ตกฟ้าสว่างไสวดีมาก”

วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี บอกกล่าวความรู้สึกผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค Sakravee Srisangdhrama (สักระวี ศรีแสงธรรม) เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2563 พร้อมโพสต์ภาพที่ตัวเขาถือแผ่นเสียงอัลบั้ม “สาวพาณิชย์” ผลงานของโฟล์คซองคณะกอไผ่ แวดวงนักปกครอง คงรู้จักนามปากกา ‘สักระวี ศรีแสงธรรม’ ของ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร จากผลงานการเขียนบทกวี บทความ และความเรียง จนรวบรวมเป็นเล่มชื่อ ‘เดินต่อไป’ สมัยที่เขาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก เอก ประทุมรัตน์ ได้เขียนถึง ‘ผู้ว่าฯ ปู’ หรือ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ในมุมที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน “อาเจ๊กปู เรียนจบ ม.บูรพา เป็นสิงห์ไม่มีสี ราชสีห์ไม่มีสังกัด ตามธรรมเนียมมหาดไทย เป็นผู้ว่าฯ คนเดียวที่จบจากสถาบันแห่งนี้ สมัยเรียนเป็นสมาชิกวงดนตรี ‘วงกอไผ่’ เป็นคนเฮฮา รักการอ่าน รักพวกพ้อง เป็นมือกิจกรรม” คำว่า “สิงห์ไม่มีสี ราชสีห์ไม่มีสังกัด” หมายถึง ‘ผู้ว่าฯ ปู’ ไม่ได้เป็นสิงห์แดง สิงห์ดำ สิงห์ทอง สิงห์ขาว...เพราะจบปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (มนุษยศาสตร์) มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2526 หรือรุ่น 25 ตฤณสีห์ ตามชื่อทำเนียบรุ่นของชาวเทา-ทอง (สีประจำสถาบัน)    นักเพลงบางแสน ปี 2522 วีระศักดิ์ ผู้เป็นลูกชายเจ้าของร้านถ่ายรูปแห่งตลาดศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ได้เข้าเรียนที่คณะศิลปศาสตร์ (มนุษยศาสตร์) มหาวิทยาลัยบูรพา (มศว.บางแสน) ด้วยความรักในการเล่นดนตรี การอ่าน และการเขียนหนังสือมาแต่สมัยเรียนมัธยมฯ เขาจึงรวบรวมเพื่อนร่วมคณะ ตั้งวงดนตรีโฟล์คซอง ‘กอไผ่’ โดยมีสมาชิกทั้งหมด 5 คน วงกอไผ่ บางแสน เป็นวงโฟล์คซองแนวเพื่อชีวิต ที่ได้รับอิทธิพลมาจากเพลงเพื่อชีวิตยุคแรก (ก่อน 6 ต.ค. 2519) สมัยผู้ว่าฯปู เป็นนักเรียนขาสั้น เขาได้เข้าร่วมทำกิจกรรม ‘กำแพงข่าว’ กลางตลาด อ.วิเศษชัยชาญ โดยมีรุ่นพี่-สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล คนบ้านเดียวกันซึ่งเรียนรามคำแหง เป็นผู้นำความคิดก้าวหน้า มาเผยแพร่ในกลุ่มเด็กอ่างทอง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ วงดนตรีเพื่อชีวิตอย่าง คาราวาน, กรรมาชน, กงล้อ, รวมฆ้อน, โคมฉาย, คุรุชน และต้นกล้า ต้องหลบหนีภัยเผด็จการไปอยู่ในเขตป่าเขา จนช่วงต้นปี 2522 สถานการณ์การเมืองเริ่มผ่อนคลาย วงเพื่อชีวิตยุคที่ 2 ในรั้วมหาวิทยาลัยเริ่มปรากฏ อย่างวงน้ำค้าง, ประกายดาว, พิราบ, หยาดฝน, ทานตะวัน,ฟ้าสาง รวมถึงวงกอไผ่ (มศว.บางแสน)  ผู้ใช้ชื่อแอ็กเคานต์ tantawan099 ได้เขียนถึงวงดนตรีกอไผ่ ไว้ในชุมชนออนไลน์โอเคเนชัน (OKNation) เมื่อเดือนมกราคม 2554 ว่า “วงกอไผ่เป็นนักศึกษา มศว.บางแสน เมื่อจบการศึกษา ต่างก็แยกตัวไปประกอบอาชีพตามความถนัด บ้างเป็นคุณครู เป็นนักพัฒนา เป็นผู้อำนวยการ เป็นนายอำเภอ และบางคนก็เล่นดนตรีเลี้ยงชีพ วงกอไผ่จึงถือเป็นวงดนตรีในยุคเพลงเพื่อชีวิตวงหนึ่ง” ไม่นานมานี้ ‘ต้น ลาดพร้าว’ เจ้าของช่องยูทูบ ‘Ton Ladprao Retro’ นักสะสมเพลงเก่า ได้โพสต์เฟซบุ๊ก รำลึกเส้นทางของวงกอไผ่ ที่มีโอกาสผลิตอัลบั้มเพลง 2 ชุด ‘สาวพาณิชย์’ และ ‘ดวงทิพย์’ ทั้งในรูปแบบแผ่นเสียงและเทปคาสเซต “ช่วงเรียนมัธยมฯ ต้น เพลงสาวพาณิชย์โด่งดังมาก ๆ เสียงกีตาร์โปร่งใสมาก ๆ ดีใจครับ ท่านผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ท่านเป็นสมาชิกคนหนึ่งในวงที่ไม่ได้ร้องเพลง แต่ท่านรักการเล่นดนตรี เอาเพลงมาเปิดเพื่อให้คิดถึง และขอคุณความดีคุ้มครองให้ท่านปลอดภัยด้วย”   นักเขียนนักปกครอง ‘ผู้ว่าฯ ปู’ เป็นนักเขียนที่มีผลงานรวมเล่มมาแล้ว สมัยที่เขาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เขาได้รวบรวมข้อเขียนที่เรียกว่า ‘รอยบันทึกแห่งแรงบันดาลใจของชายผู้ก้าวไปอย่างแช่มช้า แต่ทว่าไม่เคยหยุดเดิน…’ จัดพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือชื่อ ‘เดินต่อไป’ โดยใช้นามปากกาว่า ‘สักระวี ศรีแสงธรรม’  “วันนี้อาจไม่สมหวังช่างมันเถิด อะไรเกิดก็ต้องเกิดแม้ผิดหวัง ชีวิตยังไม่สิ้นยังมีพลัง อย่าหยุดยั้งคุณค่าของตัวเรา” กวีบทหนึ่งของสักระวี ศรีแสงธรรม ที่หลายคนจำได้ หนังสือ ‘เดินต่อไป’ ของผู้ว่าฯ ปู ยังได้บันทึกผลงานการสร้าง ‘พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์’ ต.ป่ามะคาบ อ.เมืองพิจิตร จ.พิจิตร ซึ่งเรื่องของบ้านดงโฮจิมินห์ เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างไทย-เวียดนาม ครั้นย้ายจากพิจิตรมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ สักระวี ศรีแสงธรรม ได้เขียนหนังสือชื่อ ‘ทุกที่...คือที่ทำงาน’ บันทึกเหตุการณ์ที่ได้สัมผัสสมัยเป็นพ่อเมืองศรีนครลำดวน และยังมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เรียบเรียงไว้สมัยเป็นนายอำเภอเดิมบางนางบวช ชื่อ ‘บึงฉวากกับบรรหาร ศิลปอาชา’   จากมือเขียนสคริปต์สู่นักปกครอง เมื่อเรียนจบศิลปศาสตรบัณฑิต ‘ผู้ว่าฯ ปู’ รับราชการครั้งแรกในตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี หลายคนอาจสงสัยว่า เขาเปลี่ยนเส้นทางจากนักพัฒนาชุมชนมาเป็นนักปกครองได้อย่างไร ? ปี 2358 บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้แต่งตั้ง สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายกฯ คนสุพรรณปรารภอยากได้คนมาช่วยงานเขียนสคริปต์คำปราศรัย คำแถลงข่าว และข่าวประชาสัมพันธ์ สมศักดิ์จึงนึกถึง ‘ผู้ว่าฯ ปู’ เพราะเห็นฝีมือกันในการเขียนหนังสือมาแต่สมัยที่เขาเป็นเด็กนักเรียนมัธยมฯ หัวก้าวหน้า และยังมีความสัมพันธ์อันดีในฐานะคนบ้านเดียวกัน สมศักดิ์ทำเรื่องขอตัวผู้ว่าฯ ปูมาช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาลอยู่พักหนึ่ง ต่อมาสมศักดิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ว่าฯ ปูก็ตามไปช่วยเขียนสคริปต์อยู่อีก 2 ปี ระหว่างนั้นสมศักดิ์แนะให้เขาไปสมัครเรียนนายอำเภอ จนเรียนจบหลักสูตรนายอำเภอ รุ่นที่ 41 วิทยาลัยการปกครอง และได้เป็นนายอำเภอครั้งแรกที่ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ปี 2544 ช่วงหนึ่ง อดีตนายกฯ บรรหาร ต้องการพัฒนาบึงฉวาก อ.เดิมบางนางบวช เขาอยากได้นักปกครองมีฝีมือมาลุยงานหนัก สมศักดิ์จึงเสนอชื่อผู้ว่าฯ ปู ให้มาเป็นนายอำเภอเดิมบางนางบวช เขาทำงานหามรุ่งหามค่ำ จนล้มป่วยเส้นโลหิตในสมองแตก แต่ฟื้นกลับมาได้ราวปาฏิหาริย์  ผู้ว่าฯ ปูรับราชการอยู่ในเมืองสุพรรณ นานนับสิบปี เป็นนายอำเภอเดิมบางนางบวช, ศรีประจันต์ และเมืองสุพรรณ ก่อนขยับขึ้นเป็นปลัดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ สุพรรณ กลับไปเป็นผู้ว่าฯ พิจิตร ซึ่งวันที่เดินทางไปรับตำแหน่งผู้ว่าฯ พิจิตร มีชาวสุพรรณตามไปส่งนับพันคน รวมถึงนักการเมืองดังอย่างจองชัย เที่ยงธรรม และสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เส้นทางชีวิตของ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี นักปกครอง ผู้รักดนตรีและการขีดเขียนจึงมีสีสันครบทุกรสชาติ  สมกับการเป็นสิงห์ไม่มีสีที่มีแต่ประชาชนอยู่ในหัวใจ   เรื่อง: ชน บทจร