Where to Invade Next: สิ่งดี ๆ ที่ ‘ประเทศกูไม่มี’ ในประเทศอื่นที่อเมริกามองหา

Where to Invade Next: สิ่งดี ๆ ที่ ‘ประเทศกูไม่มี’ ในประเทศอื่นที่อเมริกามองหา
ประเทศที่มีสวัสดิการแรงงาน ประเทศที่ภาษีไม่เทน้ำหนักให้ทหาร ประเทศที่มีความปลอดภัยในสังคม ประเทศที่ให้บริการการศึกษาฟรี ประเทศที่สิทธิสตรีมีความสำคัญ ประเทศกูไม่มี ประเทศกูไม่มี
ไมเคิล มัวร์ไม่ได้กล่าวไว้ แต่นี่อาจจะเป็นความในใจของเขาที่มีต่อสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ประเทศนี้ทุ่มงบทางการทหารอย่างยาวนานแล้วไม่ตอบโจทย์ความกินดีอยู่ดีของประเทศ จนเป็นที่มาของการทำภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Where to Invade Next (2015) ก่อนหน้านี้ไมเคิล มัวร์ ได้กำกับภาพยนตร์ Sicko (2007) ที่วิพากษ์ระบบสาธารณสุขของอเมริกาอย่างรุนแรง โดยเปรียบเทียบกับการให้บริการด้านสุขภาพในประเทศอย่าง ฝรั่งเศส อังกฤษ คิวบา ไปจนถึงคุกกวนตานาโม ว่าดูแลสุขภาพของคนในสังคมนั้นดีกว่าประเทศตัวเองอย่างไร Where to Invade Next ที่เขากำกับในเวลาต่อมา จึงเหมือนภาคต่อของ Sicko ในการเข้าไปสำรวจประเทศต่าง ๆ ในเรื่องสวัสดิการด้านอื่น ๆ ว่าดีกว่าประเทศตัวเองอย่างไรบ้าง สารคดีเรื่องนี้เลยเปิดเรื่องด้วยการตีความคำว่า ‘บุกรุก’ เสียใหม่  Where to Invade Next เปิดเรื่องเพื่อพูดถึงผลพวงความล้มเหลวของนโยบายทางการทหารตั้งแต่ช่วงสงครามเวียดนามในยุค 50s-70s ไปจนถึงสงครามที่ตะวันออกกลางทั้งช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 911 ที่ไม่เคยชนะประเทศอะไรเลย หนังเลยทำประเด็นนี้ให้ดู ‘ตลก’ ด้วยการทำเหมือนว่า กลุ่มทหารที่บริหารทางด้านนโยบายต่างประเทศมาขอคำปรึกษาไมเคิล มัวร์ ว่า ในเมื่อเราทำสงครามกับประเทศต่าง ๆ ไม่ได้ผล ‘แพ้’ อยู่ร่ำไป เราจะแก้เกมนี้อย่างไร? ไมเคิล มัวร์เลยอาสานำทัพไป ‘บุกรุก’ ประเทศอื่นเพื่อ ‘ยึดครอง’ อะไรบางอย่างในประเทศนั้นกลับคืนสู่ประเทศตัวเอง ท้ายที่สุดหลังจากภาพยนตร์จบลง เราจะมองเห็นว่า การบุกรุกที่ว่า ไม่ใช่การบุกโดยใช้กำลังทัพ แต่เป็นการเข้าไปทำความเข้าใจในเรื่อง ‘สวัสดิการ’ ของประเทศต่าง ๆ (ไมเคิล มัวร์ ออกตัวในหนังว่า คำหนึ่งที่รัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างอเมริกาไม่ชอบก็คือคำว่า ‘สวัสดิการ’) แล้วยึดครองแนวคิดนี้กลับมาที่ประเทศของตน เป็นการบุกรุกที่ไม่เสียเลือดเนื้อคนในกองทัพ ซ้ำยังได้สิ่งดี ๆ เพื่อมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอีกด้วย เขาบุกไปประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ สโลวีเนีย เยอรมนี โปรตุเกส นอร์เวย์ ตูนีเซีย ไอซ์แลนด์ แล้วสิ่งที่ยึดกลับมาหากดูกว้าง ๆ เขาเข้าไปยึดครองสวัสดิการแรงงาน นโยบายด้านการศึกษา ความปลอดภัยของคนในรัฐ การศึกษาด้านประวัติศาสตร์ และความเสมอภาคทางเพศ “ภารกิจของผมคือเก็บดอกไม้ ไม่ใช่วัชพืช” ไมเคิล มัวร์ บอกกับผู้ชม ที่อิตาลี สิ่งที่ไมเคิล มัวร์พบเห็นก็คือ สวัสดิการแรงงานที่แข็งแรงมากจากการไปดูโรงงานเย็บผ้า ‘ลาร์ดินี’ ไปจนถึงโรงงานผลิตรถเจ้าดังอย่าง ‘ดูคาติ’ ที่ผู้คนทำงานช่วงเช้าเสร็จ มีเวลาพักเที่ยง 2 ชั่วโมงเพื่อกลับไปกินข้าวที่บ้าน มีการจ่ายเงินวันลาสำหรับลาวันหยุด, ลาช่วงฮันนีมูน, ลาคลอดเพื่อเลี้ยงบุตร ไปจนถึงมีเงินเดือนเดือนที่ 13 ให้เป็นพิเศษกับพนักงาน พนักงานของประเทศนี้จึงมีเวลาที่จะรื่นรมย์กับชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ การไม่มีความขัดแย้งระหว่างความกินดีอยู่ดีของบริษัทและการอยู่ดีกินดีของลูกจ้าง ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่มันมาจากการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน “ต้องสู้ถวายหัวเลย คนงานสหภาพยุคก่อน ถูกเล่นงานหนัก ถูกจับขังคุก ถูกตัดสินลงโทษ กว่าที่เงื่อนไขตรงนี้จะกลายเป็นกฎหมาย” มาที่ฝรั่งเศส ที่เด่นชัดมากในเรื่องการดูแลเด็ก ๆ ในระบบการศึกษา ไมเคิล มัวร์บุกขึ้นฝั่งนอร์มังดี เพื่อไปสำรวจอาหารกลางวันของโรงเรียนในท้องถิ่น ที่นี่ใส่ใจรายละเอียดในการดูแลโภชนาการของเด็กสูงมาก อาหารจึงออกมาดูน่ากินและมีคุณค่าทางอาหารสูงเมื่อเทียบกับอาหารเที่ยงของเด็กอเมริกัน “เชฟของโรงเรียนจะประชุมเดือนละหนกับเจ้าหน้าที่ของเมืองและโรงเรียน และนักโภชนาการเพื่อตรวจเมนู” นี่คือความใส่ใจของคนทำงานฝั่งรัฐเพื่ออนาคตของเด็ก ๆ ในประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเพศศึกษาที่ทางโรงเรียนสอนให้เด็กเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่ยังเด็กเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศอีกด้วย Where to Invade Next ตั้งคำถามว่า สวัสดิการที่รัฐมอบให้กับเด็กฝรั่งเศสมากมาย มาจากที่ไหน? คำตอบก็คือ มาจากฐานการเก็บภาษีที่สูงลิ่ว แต่ภาษีที่เก็บมานั้นคืนผลประโยชน์กลับสู่สาธารณะอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ลงไปกับนโยบายสวัสดิการมากมายเมื่อเทียบกับอเมริกาที่ใช้ภาษีไปกับบริการพื้นฐานเท่านั้น ส่วนเรื่องฝั่งสวัสดิการบางอย่าง เช่นเรื่องสุขภาพ ต้องเป็นฝั่งประชาชนที่ร่วมจ่ายเงินในรูปแบบประกันสุขภาพ อย่างที่รู้กัน ภาษีของคนอเมริกันถูกใช้ไปที่งบประมาณทางการทหารในลำดับต้น ๆ มาที่ฟินแลนด์ ยังอยู่ที่ระบบการศึกษา ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีการจัดให้ครองอันดับหนึ่งของประเทศที่มีนักเรียนดีเยี่ยมที่สุดในโลก ทั้งที่เมื่อก่อนในภาพยนตร์เล่าว่า โรงเรียนฟินแลนด์ห่วยมากพอกันกับสหรัฐอเมริกาแต่ปัจจุบันกลับทิ้งห่างประเทศบ้านเกิดของไมเคิล มัวร์ อย่างไม่เห็นฝุ่น ไมเคิล มัวร์สงสัย จึงไปหาคำตอบที่กระทรวงศึกษาธิการ ความลับง่าย ๆ ของระบบการศึกษาที่นี่ก็คือ ที่นี่ไม่มีการบ้าน! ประเด็นก็คือ ฝ่ายจัดการการศึกษาของเด็กอยากให้นักเรียนมีเวลารื่นรมย์กับชีวิตเพื่อค้นหาตัวเอง นอกจากนี้ การเข้าถึงการศึกษานั้นเป็นไปอย่างเท่าเทียมเสมอภาค โรงเรียนที่ดีที่สุดคือโรงเรียนที่ใกล้บ้าน เพราะทุกโรงเรียนในประเทศนี้มีความเท่าเทียมกัน และมองการสอนว่าเด็กต้องการอะไรมากกว่ายัดหลักสูตรไปให้เด็กเรียนรู้เลย แม้แต่การทำสนามเด็กเล่นก็ยังต้องให้สถาปนิกมาคุยกับเด็กเพื่อออกแบบสนามร่วมกัน “เพราะชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่โรงเรียน” พอมาที่สโลวีเนีย แนวคิดหลักด้านการศึกษาของประเทศนี้ สำคัญเลยก็คือ นักศึกษาที่นี่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยฟรี ซึ่งต่างจากที่อเมริกา ที่หลายครอบครัวต้องเป็นหนี้สินจากการส่งเสียให้ลูก ๆ ของพวกเขาเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งในหนังมีตลกร้ายตรงที่ไปตามหาคนอเมริกันที่มาเรียนที่นี่เพราะไม่อยากแบกภาระการเงินหากต้องเรียนที่ประเทศเกิด เมื่อไมเคิล มัวร์บุกประเทศนี้เสร็จ เขาเปิดใจว่า “มีแค่ผม...ที่กลับไปพร้อมสิ่งที่ดียิ่งกว่าน้ำมัน” ที่เยอรมนี ยังอยู่ที่เรื่องสวัสดิการของฝั่งแรงงาน คนทำงานที่บริษัทผลิตดินสอเฟเบอร์คาสเทล ทำงาน 36 ชั่วโมง แต่ได้ค่าจ้าง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำงานเลิกบ่ายสอง กลับถึงบ้านบ่ายสองครึ่งเพื่อไปใช้ชีวิต ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะกฎหมายของที่นี่กำหนดให้บริษัทต้องมีกรรมการกำกับดูแลเป็นตัวแทนของคนฝั่งแรงงาน ทำให้นายจ้างต้องฟังลูกจ้างหากจะกำหนดนโยบายอะไรในองค์กรในระดับที่อาจจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายสำหรับที่นี่ หากบริษัทติดต่อลูกจ้างในระหว่างที่พวกเขาลาพักร้อน มาเยอรมนีทั้งที นอกจากเรื่องการดูแลสวัสดิการแรงงานแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ วิธีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของคนเยอรมัน พวกเขาสอนให้เด็กนักเรียนเรียนรู้ถึงความโหดร้ายของกองทัพนาซีที่ทำกับชาวยิวนับล้านในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 “ครูจะสอนให้รู้ว่าคนรุ่นก่อนหน้าทำอะไรไว้” เด็กจะต้องเรียนรู้ความจริงของประวัติศาสตร์ เพราะความจริงเท่านั้นที่จะทำให้พวกเขาตระหนักถึงความโหดร้ายในอดีต เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นในอนาคต ไมเคิล มัวร์ ย้อนกลับมาดูการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อเมริกา  “พวกเราอยากบอกให้เด็ก ๆ ของเรา ได้รู้เรื่องราวทั้งหมดของความเป็นอเมริกัน? การชดใช้แบบไหนที่เราจะทำ พวกเราเปลี่ยนแปลงแล้วจริงหรือ นับจนถึงปี 2015 อเมริกาไม่เคยมีพิพิธภัณฑ์เรื่องค้าทาส ทำไมต้องปิดบังบาปของเรา คือแนวคิดที่ว่า หากคุณยอมรับด้านมืดของตนเอง และหาทางชดใช้มัน คุณก็จะปลดปล่อยตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้นได้ และทำสิ่งที่ดีกับคนอื่นได้” ไมเคิล มัวร์ไปต่อในอีกหลายประเทศ ที่มีคุณค่าบางอย่างที่เขาอยากยึดกลับอเมริกา อย่างเช่น โปรตุเกสพลิกมุมกลับในการจัดการปัญหายาเสพติดด้วยการปล่อยให้การใช้ยาเสพติดเป็นเรื่องไม่ผิดกฎหมาย เมื่อยาอยู่ในที่แจ้ง คนเสพน้อยลง สิ่งที่ตามมาก็คือปัญหาอาชญากรรมลดลง และที่สำคัญคือ ที่นี่ยึดหลักการ ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือแกนหลักของสังคมเรา อยู่เหนือทุกสิ่ง’ ที่นี่จึงไม่มีโทษประหารชีวิต ส่วนที่นอร์เวย์ คุกที่นั่นไม่ได้มีกฎระเบียบเพื่อการดัดนิสัยนักโทษ แต่คุกของประเทศนี้เหมือนบ้านทั่ว ๆ ไป อยู่บนหลักการฟื้นฟูนักโทษ ไม่ใช่แก้แค้น เมื่อพ้นโทษ ระบบต่าง ๆ ในเรือนจำทำให้นักโทษเรียนรู้อะไรมากมายเพื่อกลับมาเป็นพลเมืองปกติของรัฐเมื่อพ้นโทษ แม้แต่คดีที่เขย่าขวัญคนทั้งประเทศ ฆาตกรที่เป็นนีโอนาซีสังหารคนบริสุทธิ์หลายสิบคนนั้นรับโทษจำคุกสูงสุดในนอร์เวย์ 21 ปี แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฆาตกรรมน้อยที่สุดในโลก คุณพ่อของหนึ่งใน ‘เหยื่อ’ จากเหตุการณ์ร้ายแรงในข้างต้นพูดถึงความรู้สึกของตัวเองว่า "“ฉันก็มีสิทธิฆ่านาย แบบเดียวกับที่นายทำ แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ผมมีสิทธิยิงเขาหรือฆ่าเขา ตั้งแต่นายกฯ จนถึงราชวงศ์ เราดูแลประเทศเรากันเถอะ เหมือนที่เราเคยดูแลกันและกัน เราจะดูแลนอร์เวย์ของเรา เราจึงผนึกกำลังกัน เราเปิดใจ เปิดสังคมของเรา เราต้องมีประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น มีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น เพราะการกักขังควบคุมไม่อาจช่วยเราได้” ในส่วนของการส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียมของสตรี ที่ตูนิเซียมีคลินิกสุขภาพสตรีที่ฟรีด้วยทุนรัฐบาล และการทำแท้งก็ด้วยทุนรัฐบาลเช่นกัน “เพราะการให้บริการแบบนี้ ช่วยให้ผู้หญิงเท่าเทียมผู้ชาย เมื่อผู้หญิงได้รับการศึกษาที่ดี พอทำงาน ก็จะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีอายุเฉลี่ยมากขึ้น และการวางแผนครอบครัวก็สำคัญมาก” และการประท้วงโค่นล้มเผด็จการเพื่อนำสังคมไปสู่ประชาธิปไตย นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2014 มาตรา 46 ว่าด้วยสิทธิสตรี  “รัฐจะคุ้มครองสิทธิสตรีและพัฒนาสิทธิเหล่านั้นให้เข้มแข็ง “รัฐจะรับรองโอกาสอันเท่าเทียมกันระหว่างชายกับหญิงในทุกด้าน “รัฐจะผลักดันให้หญิงและชายมีตัวแทนเท่ากันในสภา “รัฐจะใช้ทุกมาตรการเพื่อกำจัดความรุนแรงต่อผู้หญิง” จนมาถึงประเทศสุดท้าย ไอซ์แลนด์ เป็นประเทศที่วิกดิส ฟินบอกาดอททีร์ กลายเป็นประธานาธิบดีหญิงจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยคนแรกของโลก ประเทศนี้ส่งเสริมสิทธิสตรีสูงมาก ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในการบริหารทั้งในวงการการเมืองและธุรกิจสูงมาก “มีงานวิจัยระดับนานาชาติชี้ว่า ถ้าห้องประชุมมีผู้หญิง 3 คน เมื่อนั้นวัฒนธรรมจะเริ่มเปลี่ยนแปลง” ฮอลลา โทมัสดอททีร์ อดีต ผอ.หอการค้าไอซ์แลนด์ Where to Invade Next อธิบายว่าที่ไอซ์แลนด์เคยมีช่วงเศรษฐกิจถดถอยมาจากบรรดานายธนาคารซึ่งต่อมาถูกดำเนินคดี แล้วหลังจากนั้นมีการมอบอำนาจการตัดสินใจทางการเงินให้ผู้หญิง เศรษฐกิจของเขาจึงฟื้นตัวได้สำเร็จ เมื่อไมเคิล มัวร์เดินทางไปในประเทศที่เขาต้องการครบแล้ว สิ่งที่สำคัญที่เขาได้เรียนรู้ก็คือ บรรดาเรื่องดี ๆ ของประเทศอื่นทั้งหมดที่เขาเรียกว่า ‘ความฝันแบบอเมริกัน’ ครั้งหนึ่งนั้นเคยเป็นคุณค่าวิธีคิดในแบบอเมริกันเองนั่นแหละ ที่ประเทศเหล่านี้หยิบยืมมาใช้ ครั้งหนึ่งคนรุ่นเขาก็เคยเรียนระดับมหาวิทยาลัยฟรีซึ่งเป็นแนวคิดที่รัฐมนตรีศึกษาฯ ของฟินแลนด์บอกว่า แนวคิดนี้เป็นของอเมริกัน หรือวันแรงงานไม่ได้เกิดขึ้นที่โปรตุเกส แต่กำเนิดขึ้นที่ชิคาโกเมื่อปี 1886 ซึ่งต่อสู้เรียกร้องการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ส่วนการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศ เริ่มต้นก่อนที่ไอซ์แลนด์จะมีประธานาธิบดีหญิงคนแรก แนวคิดการไม่ลงโทษอย่างโหดร้ายของนอร์เวย์ พัศดีเรือนจำที่นอร์เวย์ก็บอกว่ามาจากอเมริกา ทั้งยังมีคุณค่าดี ๆ อีกหลายอย่างในหลายประเทศที่มาจากอเมริกา “เหล่านี้ไม่ใช่แนวคิดของยุโรป ไม่ใช่แนวคิดใหม่ มันเคยเป็นวิธีคิดของเรา เราไม่จำเป็นต้องบุกประเทศเหล่านี้ เพื่อที่จะยึดความคิดของพวกเขาเลย มันเป็นของเราอยู่ก่อนแล้ว เราไม่จำเป็นต้องบุกใครที่ไหน เราเพียงต้องขุดค้นคลังที่สูญหายของเรา บางทีนั่นอาจจะคือคำตอบ” ความแหลมคมของ Where to Invade Next คือการอุปมาว่า การเดินทางไปหลายประเทศในครั้งนี้ เหมือนกับโดโรธี เด็กสาวชาวแคนซัส จากนวนิยายอเมริกันสำหรับเด็กที่ชื่อว่า พ่อมดมหัศจรรย์แห่งเมืองออซ (The Wonderful Wizard of Oz) ถูกพายุพัดพาไปยังดินแดนอื่น เธอต้องเดินทางกลับบ้าน ไม่ต่างอะไรจากไมเคิล มัวร์ การเดินทางที่ยาวนานของเขา เป็นการเดินทางเพื่อค้นพบว่า สิ่งดี ๆ เหล่านี้ ‘ประเทศกูก็มี’ ซึ่งเป็นภาระที่ต้องกลับไปดึง ‘คุณค่า’ ที่ดีที่เคยมีอยู่ในประเทศนั้นกลับคืนมา ฉากจบของ Where to Invade Next จึงเหมือนกับฉากจบของ The Wonderful Wizard of Oz ที่โดโรธีเคาะรองเท้าทับทิมที่แสนวิเศษเพื่อกลับบ้าน แม้ว่าจะดีจะเลว บ้านก็คือบ้านของเรา “กลับแคนซัสกันไหมครับ?”