Whiplash: จากชาร์ลี ปาร์คเกอร์ ถึงเสียงกลอง คำด่า และจิตวิทยาแห่งการไม่ยอมแพ้

Whiplash: จากชาร์ลี ปาร์คเกอร์ ถึงเสียงกลอง คำด่า และจิตวิทยาแห่งการไม่ยอมแพ้
“ชาร์ลีย์ ‘เบิร์ด’ ปาร์คเกอร์ กลายเป็นศิลปินแจ๊สระดับตำนานได้เพราะโดน ‘โจ โจนส์’ ขว้างฉาบใส่หัว” นั่นคือถ้อยสนทนาที่ถูกย้ำแบบต้องขีดไฮไลต์ ภายในภาพยนตร์คนดนตรีที่ตีกลองจนเลือดกระเซ็นอย่าง ‘Whiplash’ (2014) โดยเป็นบทสนทนาระหว่าง ‘แอนดรูว์ นีแมน’ มือกลองฝึกหัด พระเอกของเรื่อง และ ‘เทอเรนซ์ เฟล็ตเชอร์’ ครูผู้คุมวงแจ๊สประจำโรงเรียนดนตรีที่ดีที่สุดในประเทศ ท่ามกลางเสียงกลองที่ถูกตีกระหน่ำในซีนเปิด หนังเรื่องนี้ได้ฉายภาพชีวิตของเด็กหนุ่ม ‘นีแมน’ ที่ฝันใฝ่เป็นมือกลองผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคต และได้พบกับ ‘เฟล็ตเชอร์’ ครูจอมโหดที่เห็นแววบางอย่างระหว่างนีแมนและไม้กลอง จนต้องคว้าตัวเด็กหนุ่มไปร่วมวงประกวดที่เขาเป็นวาทยกรอยู่   ครู ศิษย์ และเลือดที่เปื้อนหนังกลอง แต่ก้าวแรกของนีแมนในวงดนตรี ไม่ได้สวยหรูอย่างที่เด็กหนุ่มคิด เมื่ออุปสรรคใหญ่คือความกดดันจากครูผู้สอน - หลังจากเฟล็ตเชอร์ตะล่อมถามเขาในครั้งแรก ๆ ที่พบจนได้รู้ว่าเด็กหนุ่มโตมากับพ่อเลี้ยงเดี่ยว ‘ไอ้ลูกไม่มีแม่’ ก็กลายเป็นสรรพนามที่ครูคนดังกล่าวมักจะหยิบมาเหยียดหยามเขาทุกครั้งที่นีแมนตีกลองพลาด เก้าอี้ตัวเขื่องลอยละลิ่วข้ามหัว คงเจ็บหนักทีเดียวถ้าหลบไม่ทัน นีแมนถูกขว้างเก้าอี้ใส่ โดนดูถูก โดนตวาดซ้ำ ๆ ว่า ‘นี่ไม่ใช่จังหวะของฉัน’ แถมยังต้องพบกับความกดดันเมื่อต้องแข่งขันกับมือกลองคนเก่า และมือกลองที่เข้ามาหลังจากเขา เพื่อแย่งกันเป็น ‘ตัวจริง’ ประจำวง วิธีสอนลูกศิษย์ของเฟล็ตเชอร์นั้นบ้าคลั่ง และหลายครั้งก็ออกจะทารุณกรรมทั้งร่างกายและจิตใจ นอกจากการโยนเก้าอี้ที่นีแมนหลบได้อย่างเฉียดฉิวแล้ว เฟล็ตเชอร์มักจะสอนเด็กหนุ่มด้วยการดุด่า ตบหน้าซ้ำ ๆ ระหว่างนับจังหวะ และสั่งเด็กหนุ่มให้ตีจังหวะสี่ร้อยต่อไปอย่าได้หยุด แม้ว่าสองมือที่รัวไม้กลองของเขาจะเต็มไปด้วยเลือดก็ตาม Whiplash เป็นภาพยนตร์ดนตรีที่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังดูหนังแอ็กชัน แม้จะมีการเบรกจังหวะด้วยฉากสวีทหวานระหว่างนีแมนกับ ‘นิโคล’ เด็กสาวคนขายตั๋วหนังแทรกอยู่บ้าง แต่ฉากที่เสียงกลองเลือนหาย เหล่านั้นก็เป็นไปเพื่อตอกย้ำถึงบุคลิกบ้าล่าฝันของนีแมน ที่ตัดสินนิโคลซึ่งไม่มีฝันว่าเธอจะเป็นตัวถ่วงในชีวิตเขา ก่อนจะไต่ระดับความบ้าขึ้นไปอีกในซีนถัด ๆ ไปนั่นเอง   ***ต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญภายในเรื่อง   ความโหดร้ายที่พรากชีวิตเด็ก ความโหดใจหินของเฟล็ตเชอร์เป็นสิ่งที่คุ้นตาคนดูตลอดครึ่งแรกของหนัง แต่กระนั้นครูจอมเนี้ยบคนนี้ก็ยังมีความเป็นมนุษย์ ครั้งหนึ่งระหว่างการฝึกซ้อม เฟล็ตเชอร์ไม่ได้เข้ามาแล้วสั่งให้ทุกคนเล่นทันทีอย่างทุกครั้ง แต่เขากลับตรงไปที่เครื่องเล่นแผ่นซีดี และเปิดเพลงเพลงหนึ่งให้นักเรียนฟังแทน แว่วหวานเพลงแจ๊สเหล่านั้นเป็นฝีมืออดีตลูกศิษย์ของเฟล็ตเชอร์ เขาเล่าให้นักเรียนฟังทั้งน้ำตาว่า เขาเพิ่งรู้ข่าวเมื่อเช้า ลูกศิษย์คนดังกล่าวได้จากไปแล้วเพราะโดนรถชน แต่นั่นคือคำโกหก เรื่องจริงก็คือนักดนตรีคนนั้นประสบภาวะเครียดเรื้อรังมาตั้งแต่เรียนกับเฟล็ตเชอร์ จนสุดท้ายเขาก็เลือกที่จะแขวนคอตัวเองในห้องนอน การโกหกครั้งนั้นตีความได้หลากหลาย แต่ผู้เขียนก็อยากจะเข้าใจว่าเฟล็ตเชอร์กำลังเสียใจและหลอกตัวเอง เขาไม่ได้เปิดเพลงนั้นให้นักเรียนฟังโดยไร้เหตุผล ไม่ได้กล่าวคำชื่นชม (ที่ปกติแทบไม่เคยพูด) อดีตลูกศิษย์ว่าเป็นนักดนตรีที่ดีออกมาโดยไร้เป้าหมาย และไม่ได้กล่าวคำเท็จเรื่องสาเหตุการตายโดยไร้ที่มา แต่หลังจากความวูบไหวในอารมณ์เพียงครู่ บทบาทครูโหดก็กลับมาอีกครั้ง คราวนี้เล่นเอานีแมนเลือดเต็มตัว แม้ครึ่งหนึ่งของเรื่องร้าย ๆ ก่อนไคลแม็กซ์จะเกิดจากความเลือดร้อนไล่ฝันของตัวเด็กหนุ่มเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่พาเขาไปถึงจุดเดือด จนนีแมนถูกไล่ออกจากโรงเรียนก็คือวาทยกรแจ๊สคนนี้นี่เอง   ชาร์ลีปาร์คเกอร์คนถัดไป “ไม่มีคำไหนในโลกเลวร้ายเท่า ‘ทำดีแล้ว’ อีกแล้วละ” คือประโยคที่เฟล็ตเชอร์พูดกับนีแมน ในวันที่สองคู่แค้นครูกับศิษย์วนมาพบกันอีกครั้งในบาร์แจ๊สยามค่ำ บทสนทนาของพวกเขาย้อนรำลึกไปถึงครั้งที่เฟล็ตเชอร์ยังเป็นครู ส่วนนีแมนยังเป็นศิษย์ ส่วนปัจจุบันพวกเขามีสถานะเป็น ‘คนที่ถูกไล่ออก’ เหมือนกัน “ไอ้บ้าหน้าไหนก็แกว่งมือไปมาแล้วเป็นวาทยกรได้ แต่หน้าที่ของฉันไม่ได้มีแค่นั้น” เฟล็ตเชอร์พูดเมื่อทั้งคู่ย้อนคุยถึงเรื่องราวที่ผ่านมา อดีตครูบอกว่าหน้าที่ของเขาไม่ใช่วาทยกรคุมจังหวะ แต่คือคนที่จะตบตี ผลักดันให้นักเรียนทุกคนทะลุจุดเดือด ทำลายเพดานเพื่อพบศักยภาพที่เขาไม่รู้ตัวว่ามี และกลายเป็น ‘ชาร์ลี ปาร์คเกอร์’ คนต่อไป ชาร์ลี ปาร์คเกอร์ ยังอายุไม่ถึง 15 ปีตอนที่นักดนตรีแจ๊สมืออาชีพ ‘โจ โจนส์’ ขว้างฉาบจากกลองเข้าใส่เขาเพราะทนฟังสำเนียงแซกโซโฟนไม่ได้ความจากเด็กชายไม่ไหว เหตุการณ์นั้นทำให้ปาร์คเกอร์โกรธและเสียใจจนซุ่มซ้อมไม่ยอมหยุด นั่นคือจุดกำเนิดของ ‘เบิร์ด’ (ชื่อกลางของชาร์ลี ปาร์คเกอร์) ตำนานดนตรีและบิดาแห่งเสียงเพลงแนว Be-bop ตามตำรา แต่ทว่าเวอร์ชันของเฟล็ตเชอร์จะโอเวอร์กว่านั้นหน่อย เมื่อเขาเริ่มเล่าว่าโจ โจนส์เกือบทำเบิร์ดคอขาดด้วยฉาบนั้น ซึ่งจุดนี้แสดงให้เห็นตัวตนของเฟล็ตเชอร์ที่เชื่อมั่นในการกระตุ้นที่รุนแรง เฟล็ตเชอร์ต้องการสร้างชาร์ลี ปาร์คเกอร์คนถัดไป เขาจึงแปรตัวเองให้กลายเป็นโจ โจนส์เวอร์ชันโหดร้าย ที่ขว้างฉาบแบบกะบั่นคอลูกศิษย์คนใดก็ตามที่เขาเห็นแวว   สังเวียนสุดท้ายและเป้าหมายที่บรรลุ ฉากสุดท้ายใน Whiplash ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าเฟล็ตเชอร์เจอชาร์ลี ปาร์คเกอร์ของเขาแล้ว และเสียงกลองจากเด็กหนุ่มนีแมนคือเครื่องยืนยันคำตอบนั้น เพราะรู้ดีว่านีแมนนี่แหละคือคนที่ปูดเรื่องการใช้ความรุนแรงกับลูกศิษย์ของเขาให้ผู้ใหญ่ทราบ เฟล็ตเชอร์หลอกนีแมนไปฆ่าบนเวที ด้วยการมอบโอกาสให้แสดงที่เจวีซี ซึ่งจะมีแมวมองจากทั่วสารทิศมาร่วมรับชม แต่ดันไม่ให้โน้ตเพลงแผ่นที่ต้องเล่นกับเด็กหนุ่ม เพื่อให้เขาเล่นผิดจนไม่มีสิทธิ์แจ้งเกิดในโลกดนตรีอีก แต่การแก้แค้นเด็กหนุ่มที่ปูดกับโรงเรียนว่าเขาใช้อำนาจ abuse จิตใจเด็กก็ต้องเปลี่ยนแผนกะทันหัน เมื่อนีแมนมีลูกบ้ามากกว่าที่คิด เสียงกลองเพลงที่วาทยกรไม่ได้สั่งดังก้อง ระรัวไปทั่วหอประชุม แถมยังเล่นได้ดีมากเสียด้วย นีแมนตีกลองเต็มที่ราวกับมันเป็นโอกาสสุดท้าย และท้ายที่สุด ครูคู่แค้นอย่างเฟล็ตเชอร์ก็ยอมรับว่าเขาทำได้และคอยให้จังหวะวงดนตรี ปล่อยให้เสียงไม้กลองของนีแมนเป็นตัวนำ เสียงกลองสุดท้ายใน Whiplash จบไปแบบชวนตื่นเต้นจนแทบลืมหายใจ และทิ้งความรู้สึกบางอย่างไว้ให้ทบทวนเมื่อ end credit ของหนังได้ฉายจนจบลง   จิตวิทยาแห่งการไม่ยอมแพ้? แม้มวยบนสังเวียนแจ๊สนัดนี้จะมีแอนดรูว์ นีแมนเป็นผู้เล่นหลัก แต่ผู้เขียนกลับนึกถึงนักดนตรีที่ฆ่าตัวตายอยู่เสมอในฐานะเหรียญอีกด้านจากการกระทำของเฟล็ตเชอร์ - สำหรับเฟล็ตเชอร์ นีแมนอาจเป็นภาพแทนแห่งความสำเร็จ ส่วนนักดนตรีผู้จากไปเป็นตัวแทนแห่งการถอดใจ เป็นคนที่เฟล็ตเชอร์เคยชมว่าเก่ง แต่ไม่ใช่ ‘ชาร์ลี ปาร์คเกอร์’ ที่เขาเฝ้าฝันอยากสร้าง แต่ความตายของเขาก็เป็นเรื่องจริงพอ ๆ กับความสำเร็จของนีแมน การขว้างฉาบบั่นคอของเฟล็ตเชอร์นั้นสร้างชาร์ลี ปาร์คเกอร์คนใหม่ได้ แต่ก็ทำลายชีวิตอีกคนได้เช่นกัน หลักจิตวิทยาที่เฟล็ตเชอร์ใช้กับนักเรียนคือการแปลงความโกรธแค้นให้เป็นพลังฮึด หรือใช้การจูงใจทางลบนั้นได้ผลกับเด็กบางคน แต่กับบางคน การใช้แรงจูงใจทางบวก อย่างคำชม หรือการบอกว่า ‘ทำดีแล้ว’ ก็อาจไม่ได้เป็น ‘คำที่เลวร้ายที่สุดในโลก’ เสมอไป Whiplash เป็นหนังตีกลองล่าฝัน แต่เรื่องราวในนั้นกลับทำงานมากกว่าแค่สร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าวัยคะนองฮึดสู้มาทำอะไรสักอย่าง แต่มันสะท้อนประเด็นที่หลากหลายและแฝงสัญญะมากมายเอาไว้ในหนึ่งเรื่อง ทั้งการถูกยอมรับบนโต๊ะอาหารที่บ้าน เป้าหมายที่มุ่งมั่นของมนุษย์บางคน ความหลักลอยที่ไม่ได้ผิดอะไรของมนุษย์อีกคน รวมไปถึงกระซิบกับเหล่าคุณครูหรือคนที่อยากปั้นศิษย์สักคนให้รู้ว่า ไม่ใช่วิธีสอนแบบเดียวกัน และความกดดันปริมาณเท่ากันจะใช้ได้ผลกับเด็กทุกคนอีกด้วย